bloggang.com mainmenu search
แก๊---ง! เริ่มยกที่สอง สำหรับทัวร์โบราณสถานยุคทวารวดีครับ ถัดจากนครปฐมก็มายังราชบุรี อีกหนึ่งเมืองโบราณสำคัญขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นมาเป็นเมืองท่าสำคัญในยุคที่นครชัยศรีเป็นศูนย์กลางของทวารวดีนั่นก็คือเมืองคูบัว ทางตอนใต้ของเขตอำเภอเมืองราชบุรีในปัจจุบันนั่นเอง



เมืองคูบัวอยู่แถวๆวัดโขลงสุวรรณคีรีในแผนที่นี้ครับ ขนาดเมือง 800 เมตร x 2000 เมตร เล็กกว่าเมืองนครชัยศรี ขอบเขตของเมืองคูบัวไม่ได้ชัดเจนเหมือนเมืองโบราณหลายๆแห่ง เพราะคูเมืองที่ล้อมรอบคูบัวในสมัยก่อนตื้นเขินหมดแล้วครับ ส่วนจุดท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่อยู่ใกล้ๆกันผมมาร์คไว้ในแผนที่นี้ นอกจากเขางูแล้ว ที่อื่นๆในเขตอำเภอเมืองจะเป็นโบราณสถานของเมืองราชบุรีในยุคหลังสิ้นทวารวดีไปแล้ว



ในเมืองโบราณคูบัวนับว่ามีซากโบราณหลงเหลือให้ชมอยู่จำนวนมากที่สุดในบรรดาเมืองสมัยทวารวดีแล้วครับ กรมศิลปากรขุดสำรวจไป 44 แห่ง แต่อนิจจา... ผมหาไม่เจอเลย

จึงขอจบบล็อกนี้แต่เพียงเท่านี้
/me บล็อกโดนปาขี้

โบราณสถานที่ใหญ่โตที่สุดและเป็นเหมือนศูนย์กลางของเมืองคูบัวก็คือซากวิหารโบราณในวัดโขลงสุรรณคีรีครับ (ในแผนที่เรียกว่าโบราณสถานหมายเลข 18) ตอนไปกำลังบูรณะอยู่เลย



บริเวณวัดสวยงาม วัดนี้ยังคงเป็นศูนย์กลางของชุมชนคูบัวในปัจจุบันด้วยนะครับ



ใครที่สนใจความเป็นมาของเมืองคูบัวไม่ควรพลาดวัดนี้ด้วยประการทั้งปวง เปล่าครับ ตัวโบราณสถานไม่ได้มีอะไรหรอก เพราะมันเหลือแต่ฐานเหมือนโบราณสถานอื่นๆในคูบัวนั่นละ แต่ในวัดมีมีจิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัว ด้านนอกดูเหมือนอาคารธรรมดาไม่น่าสนใจสักนิด จนเขาต้องติดป้ายไว้ข้างหน้าว่า "ด้านนอกไม่มีอะไร แต่ข้างในมีอะไรๆให้ท่านดู" พอผมเผลอเข้าไปเท่านั้นแหละ ถ่ายรูปเพลินเป็นชั่วโมงเลยครับ ที่นี่ริเริ่มโดย ดร.อุดม สมพร คนบ้านคูบัวโดยกำเนิด และจัดสร้างโดย อบจ.ราชบุรีในปี พ.ศ.2545 เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ภูมิปัญญาไท-ยวนราชบุรี ด้านในจัดแสดงของเก่าทั้งโบราณวัตถุที่พบบริเวณเมืองคูบัว ของใช้ เครื่องแต่งกาย การละเล่นพื้นบ้าน ข้าวสารยุคหินที่ขุดพบ หุ่นจำลองแสดงชีวิตความเป็นอยู่ ฯลฯ ของส่วนใหญ่มาจากการซื้อต่อจากชาวบ้านหรือรับบริจาค ที่นี่ติดแอร์เย็นฉ่ำ แถมเข้าฟรีครับ บริจาคได้ตามจิตศรัทธา



ขึ้นเหนือไปถ้ำฤาษีเขางูกันครับ นี่เป็นสถานที่ยอดนิยมของทัวร์โบราณคดีจังหวัดราชบุรี จำได้ว่าสมัยผมเรียนวิชาเลือก อาจารย์ก็พามาที่นี่กับวัดมหาธาตุราชบุรีนี่แหละ บนเทือกเขางูมีถ้ำที่แกะสลักพระพุทธรูปอยู่สี่ถ้ำสำคัญๆครับ คือถ้ำฤาษี ถ้ำจีน ถ้ำจาม และถ้ำฝาโถ เป็นศิลปะทวารวดีที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดียแบบหลังคุปตะ สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 นอกจากถ้ำฤาษีที่ขึ้นบันไดไม่กี่ขั้นก็ถึงแล้วนอกนั้นผมไม่ได้ไปจ้า

(ใครต้องการชมถ้ำอื่นๆ เชิญบล็อกโบราณคดีขั้นเทพของคุณวรณัยเลยครับ //www.oknation.net/blog/voranai/2013/06/27/entry-2)

วันที่ผมไปถ้ำฤาษีล็อคกุญแจกันขโมยอยู่ ต้องไปขอกุญแจจากป้าที่ขายของอยู่ข้างล่างถ้ำนี่แหละ รู้สึกนโยบายเข้าถ้ำจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆน่ะครับ (สมควรทำ App อัพเดทวิธีการเข้าถ้ำฤาษีให้แฟนพันธุ์แท้ถ้ำนี้ด้วยนะครับ) เข้าไปแล้วก็พบพระพุทธรูปแกะสลักยุคทวารวดีแต่นแต๊น~



ดูแอ็คชั่นของพระพุทธรูปแล้วทีแรกผมไม่เห็นเป็นนั่งเอามือวางบนตักนะ... (แต่จะเห็นเป็นอะไรถ้าโพสต์ผมต้องตกนรกไปอยู่เป็นเพื่อนเบจิต้าแน่ๆ) เป็นพระปางแสดงธรรมสูง 3.55 เมตร



ส่วนจารึกที่ฐาน ที่พูดถึงฤาษีและสมัยคุปตะน่าจะเป็นจารึกปลอมที่สร้างขึ้นมาทีหลัง เพราะรูปแบบตัวอักษรไม่สอดคล้องกับที่ใช้กันในจารึกยุคทวารวดีอื่นๆ แต่คนสลักต้องการสร้างหลักฐานปลอมว่าพระพุทธรูปนี้สร้างในสมัยคุปตะ (ราวพุทธศตวรรษที่ 9) อันที่จริงภาพสลักในหมู่ถ้ำเขางูก็เป็นกลุ่มพระแกะสลักบนหินที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องสร้างหลักฐานปลอมเลยครับ

ภายในถ้ำด้านซ้ายยังมีพระแกะสลักสมัยทวารวดีเป็นโกลนพระที่ยังแกะสลักไม่เสร็จด้วยนะ ใครไม่เห็นลองย้อนกลับไปดูรูปบนอีกทีครับ

...

เมืองคูบัวล่มสลายลงในเวลาไล่เลี่ยกับนครชัยศรี เพราะแม่น้ำเปลี่ยนทางและดินตะกอนตอนใต้ทับถมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเส้นทางการค้า จึงต้องย้ายเมืองไปยังตำแหน่งที่เป็นตัวเมืองราชบุรีในปัจจุบัน

ไหนๆก็เล่าเรื่องของคูบัวไปแล้ว ขอต่อด้วยราชบุรีเลยครับ Smiley เมืองราชบุรีเจริญรุ่งเรืองสืบเนื่องจากเมืองคูบัวมา โดยรับเอาวัฒนธรรมขอมเข้ามา พูดถึงศิลปะขอมในประเทศไทยคนส่วนใหญ่จะนึกถึงปราสาทหินทางอีสานใต้ แต่อันที่จริงแล้วขอมแผ่อิทธิพลมาไกลถึงสุดแดนตะวันตกของไทยที่ปราสาทเมืองสิงห์ จ.กาญจนบุรี ขยายขึ้นเหนือไปถึงสุโขทัย รวมทั้งอีสานตอนบนอย่างขอนแก่นและชัยภูมิ สมัยที่รุ่งเรืองของเขาดีจริงๆ

ในราชบุรีเองก็มีเมืองที่ขอมแพร่อิทธิพลไปสองแห่งคือศัมพูกปัฏฏนะ (เมืองโบราณโกสินารายณ์ อ.บ้านโป่ง) และชยราชปุรี (เมืองราชบุรี) โดยมีวัดมหาธาตุเป็นวัดกลางเมือง แต่เดิมวัดนี้เป็นปราสาทขอม ก่อนจะพังทลายและถูกต่อเติมเป็นองค์ปรางค์ในสมัยอยุธยาตอนต้น



ซุ้มพระที่เคยวางเรียงเป็นแนวกำแพง ตอนนี้เอามาจัดแสดงในอาคารครับ นี่ก็เป็นร่องรอยของศิลปะสมัยขอมที่หลงเหลืออยู่เช่นกัน



ปรางค์ประธานเป็นปรางค์สมัยอยุธยาตอนต้น ล้อมด้วยปรางค์บริวารสามองค์ ระเบียงคดรอบปรางค์มีพระพุทธรูปเก่าหลายองค์ มีพระพุทธรูปสมัยทวารวดีด้วยครับ แต่ตอนไปรอบล่าสุดเขาใส่กรอบไว้แน่นหนา



พระประธานของวัดคือพระมงคลบุรี-พระสัมฤทธิ์ ศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น แกะจากหินทราย เป็นพระปางมารวิชัยสององค์หันหลังชนกัน องค์ที่หันมาทางตะวันออก (หันหน้าออก) คือพระมงคลบุรี องค์ที่หันเข้าหาปรางค์คือพระสัมฤทธิ์



อันนี้ร่องรอยบ่อผสมปูนสมัยอยุธยา



เจดีย์ประธานของวัดเจติยาราม หรือเจดีย์หัก อยู่ข้างถนนบริเวณสี่แยกเจดีย์หัก เป็นเจดีย์ที่สร้างในสมัยสุโขทัย ตอนนั้นราชบุรี เพชรบุรี เมืองสรรค์ และอีกหลายเมืองเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นสุพรรณบุรี ก่อนเกิดอยุธยาขึ้นครับ ด้วยความที่มีลักษณะคล้ายกับเจดีย์ในเมืองสรรค์ที่ชัยนาท ทำให้เจดีย์หักๆนี้เป็นหลักฐานสำคัญให้เราสามารถเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ราชบุรีก่อนยุคกรุงศรีอยุธยาได้



วัดอรัญญิกาวาส มีพระไสยาสน์องค์ใหญ่ เดิมเป็นหินทรายสีแดงแกะสลักขึ้นในสมัยอยุธยา แต่ถูกพอกปูนทับทั้งองค์จนมีขนาดใหญ่กว่าเดิมจาก 15 วา เป็น 30 วา และล่าสุดเพิ่งบูรณะจนเหลืองอร่าม (น... นี่มันชุบแป้งโกกิแล้วทอด!) ผมเคยเห็นภาพเก่าถ่ายจากพระปรางค์เห็นพระนอนสีทึมๆขนาดใหญ่โผล่พ้นระเบียงคดมาครึ่งองค์น่ากลัวเหมือนกันนะ เหมือนเรื่อง Attack on Titan ส่วนปรางค์ประธานสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น พ.ศ. 2035 เดิมมีปรางค์บริวารล้อม 4 ด้าน แต่พังทลายเหลือแค่ด้านเดียวครับ

ด้านหน้าวัดมีเจดีย์สมัยอยุธยาตอนต้นหักพังอยู่ด้วย



ผมเคยทำงานอยู่บ้านโป่ง 3 ปี อาหารที่นั่นอร่อยหลายร้านจริงๆครับ ไว้เขียนบล็อกเมืองโบราณโกสินารายณ์เมื่อไหร่จะได้รีวิวร้านกับข้าวแถวนั้นบ้าง
ส่วนร้านอาหารในตัวเมืองราชบุรีผมไม่สันทัด อาจต้องปรึกษาพี่น้อย newyorknurse อิอิ
แถวๆวัดคูบัวมีร้านที่พอมีชื่อเสียงอยู่บ้างอย่างร้านเจ๊ออน แต่วันที่ผมไปรอกับข้าวนานมากครับ เมนูแรกใช้เวลารอคอย 45 นาที จนต้องขอเอาอย่างสุดท้ายห่อกลับบ้านเพราะมันผลิตช้าเหลือเกิน คงโชคไม่ดีที่วันนั้นมีโต๊ะใหญ่มาจองไว้ด้วย ร้านจึงละเลยลูกค้ารายย่อยไปอย่างน่าฉงฉาน~

อีกแห่งที่น่าไป (แต่ผมไม่ได้ไป) ก็คือพิพิธภัณสถานแห่งชาติราชบุรีครับ มีทั้งประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและโบราณวัตถุสำคัญจากทั้งเมืองคูบัว เมืองราชบุรี และเมืองอื่นๆในเขตจังหวัดราชบุรีอยู่มากมาย สมกับที่เป็นดินแดนที่มีมนุษย์มาปักหลักอยู่ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ทวารวดี ขอม สุโขทัย อยุธยา จนถึงปัจจุบัน




Create Date :31 มีนาคม 2557 Last Update :31 มีนาคม 2557 23:39:45 น. Counter : 16355 Pageviews. Comments :35