bloggang.com mainmenu search

หลังจากพาไปชมวิวทะเลสวยๆที่จังหวัดกระบี่แล้วหนนี้ก็ขอกลับมาต่อซีรี่ยส์ปราสาทหินอีกครั้ง เดือนก่อนไล่เก็บปราสาทหินรายทางของถนนสาย 24 226 และ 202 ไปแล้ว คราวนี้มาชมปราสาทหินที่เด็ดพอจะเป็นเป้าหมายหลักของการเดินทางบ้างครับ ก่อนอื่นก็ขับดุ่ยๆผ่านลำตะคลอง เข้ามายังถนนสาย 24 ที่ อ.สีคิ้ว ผ่านโคราชมาจนถึง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์



ที่นี่มีจุดหมายหลักของการเดินทางมายังอีสานใต้ของผม นั่นก็คือร้านข้าวขาหมู

...อืม พิมพ์ไม่ผิดหรอก ผมมาอีสานใต้เพื่อกินข้าวขาหมูนางรอง ปราสาทหินอะไรนั่นน่ะผลพลอยได้ Smiley และที่ อ.นางรองนี้ก็มีร้านขาหมูที่เก่าแก่และโด่งดังอยู่สองเจ้าหันหน้าเข้าหากันเลย

จิ้งนำขาหมู อยู่ฝั่งขาออกจากกรุงเทพ ร้านนี้มีตราเปิบพิศดารรับประกันรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ เมนูเด็ดคือขาหมูตุ๋นยาจีนทั้งขา 320 บาท กินกับหมั่นโถวก้อนละ 10 บาท ขาหมูเปล่า/คากิ จานละ 120 บาท หรือถ้ากินน้อยจะสั่งข้าวขาหมูธรรมดาๆก็ได้นะครับ จานละ 45 บาท หรือถ้าไม่กินขาหมูเขาก็มีอาหารตามสั่งนะ หรือถ้ากินเจ... ไม่ต้องกินร้านนี้ครับ ไปหาอาหารเจที่อื่นกินเอา สมัยเด็กๆพ่อเคยพามากิน จำได้ว่าร้านนี้อร่อยกว่าอีกฝั่งนึง แต่ครั้งที่ไปทริปปราสาทหินล่าสุดเมื่อต้นปี 2014 รู้สึกว่ามันจืดชืดไร้รสชาติสิ้นดี ถึงจะเป็นขาหมูตุ๋นยาจีนเหมือนกันแต่จืดกว่าขาหมูหินดาดซะอีก พอมันหมูเยอะแล้วไม่มีกลิ่นเครื่องพะโล้ข่มเลยต้องใส่น้ำจิ้มเยอะๆช่วยตัดมัน แต่หมั่นโถวอร่อยเหนียวนุ่มดีครับ



ลักษณาขาหมู อยู่ฝั่งขากลับกรุงเทพ ร้านนี้ได้เชลล์ชวนชิมรับประกันความอร่อย เมนูเด็ดคือขาหมูเช่นเดียวกันครับ แต่เน้นแบบกับข้าวหรือราดข้าวมากกว่ายกขากิน (แต่สาขาสองเห็นว่ามีเสิร์พทั้งขาเหมือนกัน) ขาหมูร้านนี้กลิ่นพริกไทยแรง แต่กับข้าวตัวประกอบอื่นๆนอกจากขาหมูกลับอร่อยเหลือเชื่อครับ เขาจะจัดไว้ในตู้เป็นจานๆไม่ได้ตักจากถาดนะ เห็นจานไหนน่ากินก็ชี้เอา ที่สำคัญเจ้าของร้านต้อนรับแขกดีน่าอุดหนุน



อิ่มไปเลยครับ หลังกลับจากทริปนี้น้ำหนักขึ้นมาอีกสองกิโลเพราะขาหมูแท้ๆ ว่าแล้วก็ขอจบเอ็นทรี่แต่เพียงเท่านี้ ...//เฮ้ย! ยังไม่ได้เที่ยวปราสาทหิน!! Smiley

อะ ลืมๆ... แต่ก่อนเที่ยวปราสาทหินขอพาไปชมวัดสมัยอยุธยาที่อยู่แถวๆนี้เหมือนกันสักหน่อย

วัดขุนก้อง อยู่เลยร้านขาหมูจิ้งนำมากิโลเดียว วัดนี้สร้างในสมัยพระนเรศวร ผู้สร้างคือขุนกอง นายทหารคุมกองเสบียงที่ตามสเด็จพระนเรศวรและพระเอกาทศรถไปรบเขมรในปี พ.ศ.2150 แต่ชื่อวัดเพี้ยนเป็นขุนก้องภายหลัง โบสถ์หลังเก่ามีฐานเป็นศิลาแลง อาจเป็นโบราณสถานอโรคยาศาลอะไรของขอมมาก่อนก็ได้นะ ถือว่ารวมไว้ในซีรี่ยส์ปราสาทหินได้ อิอิ





ได้เวลาเที่ยวพนมรุ้งแล้วครับ จากถนนสาย 24 ขับมาแล้วเลี้ยวเข้า 2117 จากนั้นต่อ 2221 ไปประมาณ 6 กม. จะพบปราสาทหินที่งดงามสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย ปราสาทเขาพนมรุ้ง ซึ่งเคยเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวสำคัญของ อ.นางรอง แต่พื้นที่ส่วนนี้โดนแบ่งไปทำ อ.เฉลิมพระเกียรติตามโครงการตั้ง อ.เฉลิมพระเกียรติชื่อซ้ำๆกันใน 5 จังหวัด ฉลองในหลวงครองราชย์ครบ 50 ปี (อยากรู้ว่าใครเป็นต้นคิดวะ? -__-) อะ สรุปว่าปัจจุบันปราสาทเขาพนมรุ้ง อยู่ใน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ นะครับ ตอนที่ผมมาที่นี่กับรถบัสสมัยเรียนวิชาเสริมต้องจอดด้านล่างแล้วเดินขึ้นบันไดมา แต่รอบนี้เอารถยนต์มาสามารถขับขึ้นมาได้ถึงด้านหลังปราสาท เสียค่าจอดรถ 20 บาทครับ



ที่บุรีรัมย์ถูกเรียกว่า "เมืองปราสาทหิน-ถิ่นภูเขาไฟ" เป็นเพราะแผ่นเปลือกโลกที่ผุดขึ้นมาเป็นแนวเทือกเขาพนมดงรักบริเวณนี้ส่งมวลดินร้อนใต้โลกขึ้นมาปะทุเป็นภูเขาไฟเมื่อนานแสนนานมาแล้ว เขาพนมรุ้ง สูง 380 เมตร เป็นภูเขาไฟที่สูงที่สุดในบุรีรัมย์ และมอดดับไปตั้งแต่เมื่อ 9 แสนปีที่แล้ว จากการพบปราสาทหินจำนวนมากและแหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่ถึงสองแห่งคือหนองบัวรายและสระโคกเมือง ทำให้สันนิษฐานว่าแถวนี้มีเคยชุมชนโบราณสมัยขอมที่ใหญ่โตมาก

"พนมรุ้ง" มาจากรากศัพย์ภาษาเขมรที่แปลว่าภูเขาอันกว้างใหญ่ และชาวขอมเมื่อ 900 ปีที่แล้วก็สร้างศาสนสถานขนาดใหญ่บนภูเขาแห่งนี้ ให้ชื่อว่าปราสาทเขาพนมรุ้ง และนี่คือหนึ่งในปราสาทหินไม่กี่แห่งที่เราเรียกมันด้วยชื่อจริงๆของมันครับ ปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อบูชาพระศิวะ แบ่งการก่อสร้างออกเป็นสี่สมัยคือเกาะแกร์ (พุทธศตวรรษที่ 15) บาปวน (พุทธศตวรรษที่ 16) นครวัด (พุทธศตวรรษที่ 17) และบายน (พุทธศตวรรษที่ 18)





ปรางค์อิฐสององค์ทางทิศเหนือของปรางค์ประธานนี้คือส่วนที่เก่าแก่ที่สุดของปราสาทเขาพนมรุ้งครับ สร้างในพุทธศตวรรษที่ 15 ศิลปะแบบเกาะแกร์ ตอนนี้เหลือแต่ฐานแล้ว





ปรางค์น้อย เก่าแก่รองลงมา สร้างในพุทธศตวรรษที่ 16 อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของปรางค์ประธานครับ



บรรณาลัยสองหลัง อยู่ทางเหนือปรางค์ประธานหนึ่งหลัง และทางใต้หนึ่งหลัง เป็นส่วนที่สร้างหลังสุดสมัยพุทธศตวรรษที่ 18 สร้างด้วยศิลาแลง ใช้สำหรับเก็บคัมภีร์ทางศาสนาครับ



ส่วนปรางค์ประธานและส่วนอื่นๆส่วนใหญ่สร้างในสมัยนครวัด พุทธศตวรรษที่ 17 ปรางค์ประธานสร้างจากหินทราย สูง 27 เมตร ภาพสลักต่างๆเป็นภาพเทพเจ้าในศาสนาฮินดูและเนื้อหาเรื่องรามายณะและมหาภารตะตอนต่างๆ









ประธานของปราสาท ก็ศิวลึงค์น่ะสิ ถือเป็นตัวแทนของพระศิวะเหมือนชาวพุทธยุคแรกๆไหว้สถูปแทนพระธรรมและชาวคริสต์บูชาไม้กางเขนแทนพระเยซู ห้องนี้เรียกว่าห้องครรภคฤหะ มีร่องน้ำหล่อศิวลึงค์ต่อออกไปด้านนอกให้คนนำน้ำไปดื่มกิน



มณฑปติดกับปรางค์ประธานมีรูปสลักโคนนทิพาหนะของพระศิวะหมอบอยู่กลางห้องโถง

แต่ที่น่าสนใจก็คือซุ้มประตูด้านนอกมณฑปนี้มีทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่โด่งดังเพราะเคยมีคดีถูกโจรกรรมแล้วมีคนไทยไปพบที่หอศิลปะเมืองชิคาโก (แบบแตกเป็นสองเสี่ยงไปแล้ว) จนเกิดกระแสเรียกร้อง และคาราบาวเอาไปแต่งเพลง เอาไมเคิลแจ็คสันคืนป๊าย~ เอาบร๊ะ นารายณ์คืนมา ♫

กรมศิลปากรติดต่อขอคืนและได้คืนในปี พ.ศ.2531 ซึ่งรัฐบาลนำไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครอยู่เดือนนึง ก่อนจะส่งคืนไปติดที่เดิมในวันที่ 2 ธ.ค. 2531 และมันก็อยู่ตรงนี้มาตั้งแต่นั้น ถึงจะมีข่าวเต้าว่าที่ส่งคืนมาเป็นของปลอมบ้าง เจ้าหน้าที่นำของจริงไปเก็บไว้ในห้องลับบ้าง บลาๆๆ แต่ผู้เชี่ยวชาญทั้งจากสหรัฐและกรมศิลป์ตรวจสอบยืนยันว่าที่แขวนอยู่นี่ละครับของจริงแล้ว

ส่วนด้านบนของทับหลังคือหน้าบันสลักรูปศิวนาฏราชที่สวยงาม ถ้าตอนปราสาทสมบูรณ์ในยุคนั้นมีทวารบาลยืนครบสองข้าง มุมนี้คงสวยน่าดู

โคนนทิ







ใกล้ลานจอดรถด้านล่างมีศูนย์บริการข้อมูลที่มีโบราณวัตถุบางส่วนจากปราสาทหินพนมรุ้ง แต่เหลือแต่เศษๆน่ะ ชิ้นเด็ดๆเขาเอาไปไว้พิพิธภัณฑ์หมดแล้วครับ ที่นี่จัดแสดงประวัติความเป็นมาของบุรีรัมย์ตั้งแต่ยุคหินจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ รวมทั้งแผนที่ปราสาทหินในอีสานใต้ทั้งหมด



ลงมาทางไปปราสาทเมืองต่ำ จะพบอโรคยาศาลที่เรียกว่ากุฏิฤาษีบ้านโคกเมือง สร้างสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7



สระโคกเมือง หรือทะเลเมืองต่ำ เป็นบารายใช้เก็บน้ำดื่มน้ำใช้สำหรับชุมชนโบราณแถวปราสาทเมืองต่ำ ผมว่าบารายอันนี้กว้างใหญ่ไพศาลที่สุดเท่าที่เที่ยวปราสาทหินในประเทศไทยมาแล้ว ขนาด 510 เมตร x 1090 เมตร ลึก 3-4 เมตร ใหญ่พอๆกับเมืองๆหนึ่งเลย สมฐานะบารายของปราสาทเมืองต่ำที่เป็นปราสาทหินที่ใหญ่อันดับสองรองจากปราสาทหินพิมายจริงๆ



ด้านหน้าปราสาทเมืองต่ำมีศูนย์ข้อมูลอยู่เหมือนกัน แต่มีแค่ภาพกับแบบจำลองนิดๆหน่อยๆ



ก่อนเดินถึงตัวปราสาทมีทับหลังตั้งโชว์ให้ดูใกล้ๆ



ปราสาทเมืองต่ำเป็นศาสนสถานสำหรับบูชาพระศิวะ ศิลปะขอมแบบบาปวน พุทธศตวรรษที่ 16-17 เนื่องจากปราสาทแห่งนี้ตั้งอยู่บนพื้นราบ ส่วนปราสาทพนมรุ้งตั้งอยู่บนเขา คนรุ่นหลังก็เลยเรียกปราสาทแห่งนี้ว่า "ปราสาทเมืองต่ำ" ไม่ใช่ชื่อเดิมของปราสาทนี้แต่อย่างใด

ภูมิทัศน์ของปราสาทนี้สวยนะครับ รอบโคปุระชั้นในล้อมด้วยสระหัวนาครูปตัว L สี่ด้าน ใช้สำหรับประกอบพิธีกรรม



ช่วงที่ไปเป็นเดือน ก.พ. 2557 ดอกทองกวาวกำลังบานสีแสดไปทั่วแคว้นแดนอีสาน





ด้านในมีกลุ่มปราสาทห้าหลัง ปรางค์ประธานหลังกลางพังทลายเหลือแต่ฐานไปแล้ว ทับหลังของปรางค์แต่ละหลังล้วนมีลวดลายแกะสลักสวยงาม ส่วนใหญ่จะทำเป็นรูปหน้ากาลคายพวงอุบะ ซึ่งเชื่อว่าสามารถต่อต้านสิ่งชั่วร้ายได้








จบไปแล้วครับ สำหรับอีกสองปราสาทที่โด่งดังและทรงสเน่ห์ (บวกกุฏิตัวแถมข้างทางนิดหน่อย) เอ็นทรี่ต่อไปจะพาขึ้นปราสาทหินพิมายที่โคราช แต่ผมยังไม่เคยไปพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมายเลยครับ ปิดซ่อมนานมาก ไปเที่ยวโคราชรอบนี้จะไปเก็บภาพพิพิธภัณฑ์แล้วปิดจ๊อบปราสาทหินถิ่นอีสานใต้เสียที





Create Date :19 ตุลาคม 2558 Last Update :22 ตุลาคม 2558 9:14:41 น. Counter : 5077 Pageviews. Comments :39