bloggang.com mainmenu search

ช่วงนี้เริ่มคลายล็อคในบางพื้นที่บางธุรกิจแล้ว แต่ขอทุกท่านอย่าได้การ์ดตกนะครับ โควิดยังคงวนเวียนอยู่รอบตัวเรา บล็อกเที่ยววันนี้ขอลงที่ซึ่งหลายคนก็ไปกันมาแล้ว อย่างอุทยานราชภักดิ์ ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2558 มีวัตถุประสงค์เพื่อเทิดทูนพระเกียรติกษัตริย์สยามในประวัติศาสตร์ 7 พระองค์


แนวคิดในการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์คล้ายคลึงกับการสร้างอนุสาวรีย์ 3 มหาราชที่เนปิดอว์ เมืองหลวงใหม่ของพม่า โดยสร้างอนุสาวรีย์ของกษัตริย์ที่ชาวพม่านับถือมากที่สุดในประวัติศาสตร์ 3 องค์ ได้แก่
1. พระเจ้าอโนรธามังช่อ (ครองราชย์ พ.ศ.1044-1077) ผู้รวบรวมชาติพม่าเป็นปึกแผ่นเหนือพวกพยูและมอญซึ่งมีอำนาจก่อนหน้านั้น สร้างอาณาจักรพุกามขึ้น
2. พระเจ้าบุเรงนอง (ครองราชย์ พ.ศ.2093-2124) ผู้ชนะสิบทิศที่ขยายอาณาเขตปกครองของอาณาจักรตองอูให้กว้างใหญ่ไพศาลที่สุดเหนือกว่าทุกอาณาจักรที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์อุุษาคเนย์
3. พระเจ้าอลองพญา (ครองราชย์ พ.ศ.2295-2303) ผู้รวมชาติพม่ากลับมาอีกครั้งหลังเสื่อมอำนาจไปพักใหญ่ และกลายเป็นชนชาติที่มีอำนาจปกครองประเทศมาจนถึงปัจจุบัน สร้างย่างกุ้งเป็นเมืองหลวง


รูปปั้นบูรพกษัตริย์ทั้งสามมีความสูง 10 เมตร วางบนฐานสูง 5 เมตร ได้มีการจัดพิธีสวนสนามด้วยทหาร 12,000 นาย หน้าอนุสาวรีย์ในปี 2006 และเผยแพร่ภาพอันยิ่งใหญ่อลังการให้ชาวโลกได้รับรู้

หากประเทศไทยทำแบบเดียวกันย่อมทำได้เหนือกว่าทั้งกำลังทรัพย์และขนาดของกองทัพ แต่ผมสนใจในแง่มุมของประวัติศาสตร์มากกว่าการแสดงแสนยานุภาพกองทัพนะครับ หากบ้านเรามีสถานที่ซึ่งรวบรวมกษัตริย์องค์สำคัญๆ ของดินแดนต่างๆในอดีต เพื่อเป็นศูนย์รวมในการสร้างความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติก็คงดีไม่น้อย

เมื่อครั้งที่เริ่มมีการระดมทุนก่อสร้างผมตื่นเต้นมากที่ประเทศไทยจะมีอนุสรณ์สถานถึงกษัตริย์ในอดีตที่ยิ่งใหญ่เหมือนที่กรุงเนปิดอว์ แต่เมื่อแจกแจงรายละเอียดถึงองค์กษัตริย์ที่ไม่รู้ว่าเลือกมาจากอะไร ระบบการคัดเลือกมหาราชของเราว่าแย่แล้ว จนมีมหาราชเต็มไปหมดเหมือนซูเปอร์ไซย่าเลหลัง อุทยานนี้ยังมีมหาราชและไม่มหาราชปนกันแบบงงงวย และยังดึงเฉพาะกษัตริย์ในประวัติศาสตร์สายหลักที่บรรจุในแบบเรียนทั้งที่ในอดีตมีกษัตริย์จากรัฐที่ยิ่งใหญ่กว่านี้แต่ไม่ถูกกล่าวถึงอีกมาก จนขาดวัตถุประสงค์ในการสร้างความรู้สึกมีส่วนร่วมของผู้คนจากภาคอื่นๆ ก็ทำให้รู้สึกว่าเป็นการลงทุนที่เสียเปล่าสิ้นดี

บล็อกนี้จะไม่พูดถึงประเด็นทุจริตในการก่อสร้างอุทยานนะครับ ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนรูปปั้นที่แพงกว่าราคาจากโรงหล่อที่รับงาน 50 เท่า ราคาต้นปาล์มประดับพื้นที่ที่อยู่ในงบประมาณทั้งที่เอกชนบริจาคให้ฟรีๆ พอจ่านิวจะตรวจสอบก็โดนตรวจสอบยกบ้านเพื่อยัดข้อหารัวๆ สุดท้ายคุณแม่จ่านิวต้องโดน 112 ไปเพราะตอบไลน์เพื่อนที่ด่าเจ้าว่า "จ้า" จนเป็นตำนานดีจ้ามาจนทุกวันนี้ และจบด้วยการฟอกขาวโดย ป.ป.ช. เจ้าเก่าที่ไม่เคยเอาผิดอะไรกองทัพเลย ครับบล็อกนี้จะไม่พูดถึงเรื่องทุจริต (ไอ้ตะกี้ยังไม่พูดรึ??) แต่คงเล่าในมุมมองทางประวัติศาสตร์ว่ามันน่าเสียดายยังไงมากกว่า

ก่อนอื่นมาพูดถึงการเรียก
"มหาราช" กันก่อน ธรรมเนียมการเรียกมหาราชนี้องค์แรกคือพระเจ้าไซรัสมหาราช กษัตริย์ผู้สร้างอาณาจักรอะคาเมนิด ซึ่งนับเป็นอาณาจักรที่รุ่งเรืองที่สุดในกลุ่มอาณาจักรของชาวเปอร์เซียเมื่อ 550 ปีก่อนคริสตกาล หลังจากนั้นเปอร์เซียได้เข้ายึดอียิปต์และอีกหลายพื้นที่ และใช้คำมหาราชสำหรับกษัตริย์เปอร์เซียที่ยิ่งใหญ่ในยุคถัดมา เช่น ดาริอุสและเซอร์ซีส (ตัวโกงในเรื่อง 300) จนกระทั่งพระเจ้าอเล็กซานเดอร์แห่งมาซิโดเนียเข้าพิชิตเปอร์เซีย คติการใช้คำว่ามหาราชสำหรับกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ก็ถูก apply มาใช้กับอเล็กซานเดอร์ด้วย หลังจากนั้นก็มีการนำคำว่ามหาราชไปเรียกกษัตริย์ที่ปกครองอาณาจักรต่างๆ ทั้งก่อนและหลังยุคพระเจ้าอเล็กซานเดอร์กลายเป็น pop culture ไป โดยไม่มีกฎกติกาที่ชัดเจน เพราะยูเนสโกก็ไม่ได้ให้ประเทศต่างๆ ส่งกษัตริย์เข้าประกวดเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมหาราชแต่อย่างใด ใครอยากตั้งอยากเรียกกษัตริย์ตัวเองเป็นอภิมหาราชาซูเปอร์ไซย่าก็อดร่างสามก็ทำได้โดยไม่มีตำรวจโลกมาจับกุม

สำหรับประเทศไทยเองเริ่มมีการใช้คำว่ามหาราชต่อท้ายชื่อกษัตริย์ในสมัยจอมพล ป. และกลายเป็นธรรมเนียมในยุคหลังจากนั้นที่คณะรัฐมนตรีจะเสนอชื่อกษัตริย์เพื่อส่งให้ในหลวงประกาศให้กษัตริย์คนนั้นเป็นมหาราช จึงเกิดธรรมเนียมการจัดแรงค์กษัตริย์อย่างโอหังโดยกลุ่มคนที่ไม่รู้ว่าเข้าใจประวัติศาสตร์มากน้อยเพียงใด แทนที่จะปล่อยให้เป็นการยกย่องจากการรับรู้ของคนทั่วไป ในแวดวงประวัติศาสตร์จึงไม่นิยมอ้างคำมหาราชต่อท้ายชื่อกษัตริย์ และกษัตริย์ในอดีตที่ได้รับแรงค์มหาราชมี 8 พระองค์ ดังนี้
พ่อขุนรามคำแหงมหาราช สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
เดิมมหาราชมี 7 องค์ ล่าสุดในปี พ.ศ.2562 หลังสร้างอุทยานราชภักดิ์ ก็เพิ่ม ร.4 เป็นมหาราชเข้าไปอีกองค์ เรียกว่าพระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช นั่นคือมหาราชไทย 8 องค์ เป็นราชวงศ์จักรีไปเสียครึ่งหนึ่ง เป็นความพยายามขยายให้เห็นสิ่งดีงามในอดีตของราชวงศ์เพื่อสร้างความมั่นคงของสถาบัน ซึ่ง propaganda พวกนี้หนักข้อขึ้นเรื่อยๆ ในรัชกาลปัจจุบัน เรียกว่าเมื่อหาความดีงามในปัจจุบันไม่ได้ก็กลับไปโหนความดีงามในอดีตเพื่อปกป้องระบอบที่ให้ประโยชน์กับกลุ่มพรรคพวกตัวเองมายาวนานแบบนี้ไว้

ในขณะที่ประเทศอื่นที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานและเคยมีความยิ่งใหญ่ยิ่งกว่าอาณาจักรในดินแดนแถบนี้ก็ยังมีมหาราชที่เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางแทบนับองค์ได้ (จีน 7 อินเดีย 4 โรมัน-ไบแซนไทน์ 4 เปอร์เซีย 4 รัสเซีย 2 อียิปต์ 1) ตลกที่บางคนยังภาคภูมิใจอีกนะว่าประเทศไทยมีมหาราชมากที่สุดในโย้กกกก~ โถๆ... *เอามือตบบ่า*

ครับ และกษัตริย์ที่เลือกมาสร้างอุทยานราชภักดิ์ก็คือ 7 มหาราช ที่เลือกกันขึ้นมาเองตามแต่รัฐมนตรีของยุคนั้นๆ เดิมทีเป็นมหาราช (ในนาม) ซะ 6 แล้วก็มี ร.4 ไม่รู้ว่าตั้งใจเลื่อนแรงค์ ร.4 เป็นมหาราชอยู่ตั้งแต่ตอนนั้นแล้วหรือเปล่าเลยใส่เข้ามาด้วย แต่ป้ายอธิบายต่างๆ มีการต่อชื่ออีก 6 องค์ด้วยมหาราช ในขณะที่ ร.4 ยังไม่มีครับ ก็เลยงงเข้าไปอีกว่าตกลงเลือกด้วยอะไร? หากจะให้ถกว่าทั้ง 8 องค์นี้คุณงามความดีหรือเรื่องเสื่อมพระเกียรติหักล้างกันแล้วเหมาะสมที่จะเชิดชูเหนือกว่ากษัตริย์องค์อื่นๆหรือไม่ บล็อกนี้คงต้องร่ายยาวยิ่งกว่าซีรี่ยส์อยุธยา


ในอนาคตมีแผนสร้างรูปปั้น ร.9 เพิ่มอีกองค์ รวมทั้งสิ้น 8 พระองค์

พระนารายณ์ ขึ้นต้นและลงท้ายรัชกาลไม่สวย (ชิงอำนาจเขามา และถูกเขาชิงอำนาจไป) สร้างความขัดแย้งในหลายแวดวงทั้งศาสนาที่เชิดชูศาสนาคริสต์จนเกิดปัญหากับหมู่พระสงฆ์ ให้ประโยชน์ฝรั่งเศสจนมีปัญหากับมิตรประเทศอื่นๆ สร้างความขุ่นเคืองในหมู่ชนชั้นสูง ที่ยกคนนอกกระแสอย่างพระปีย์หรือฟอลคอนขึ้นมาเหนือขุนนางสายหลักคนอื่น และอื่นๆอีกมากมาย แต่ก็สร้างความเจริญด้วยการค้านานาชาติและมีการรับอิทธิพลของต่างประเทศเข้ามามากทำให้วิทยาศาสตร์และการศึกษาเจริญขึ้นแบบก้าวกระโดดด้วย

พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ถูกเชิดชูวีรกรรมที่สร้างกรุงเทพเป็นเมืองหลวงปัจจุบัน ทั้งที่การสร้างบ้านแปงเมืองหรือรวบรวมผู้คนหลังกรุงแตกเป็นมรดกของพระเจ้าตากสิน การตั้งรับพม่าที่อ่อนแอลงหลังพระเจ้ามังระสวรรคตก็ไม่เข้มข้นเท่าช่วงปลายกรุงศรีหรือยุคธนบุรีแล้ว ต่อให้ไม่นับเรื่องการชิงบัลลังก์พระเจ้าตากสิน คุณงามความดีของ ร.1 ก็ยังเป็นที่สงสัยว่าเหมาะสมกับการเป็นมหาราชอย่างไร หากจะนับว่าสำคัญเพราะเป็นต้นราชวงศ์จักรี เราคงต้องเพิ่มกษัตริย์ต้นราชวงศ์อื่นๆเป็นมหาราชเพิ่มอีก 6 องค์ (นับเฉพาะประวัติศาสตร์สายหลัก)

พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีบทบาทสำคัญต่อการสร้างความสัมพันธ์ต่างประเทศและการศึกษาประวัติศาสตร์ ช่วยให้สยามตั้งรับการล่าอาณานิคมได้อย่างเข้มแข็ง แลกกับการเสียดินแดนบางส่วนเช่นเดียวกับ ร.5 แต่ความโดดเด่นของผลงานให้พูดตามตรงแล้วเทียบกับกษัตริย์ระดับมหาราชองค์อื่นๆไม่ได้ ลองสอบถามคนนอกแวดวงประวัติศาสตร์ดูสิครับว่าผลงานเด่นของ ร.4 คืออะไร คนทั่วไปอย่างเก่งก็คงตอบว่าดูสุริยุปราคาที่หว้ากอ

พ่อขุนรามคำแหง มีวีรกรรมและบทบาทที่ส่งผลสำคัญต่อแคว้นสุโขทัยเป็นอย่างยิ่ง ทั้งการร่วมกับบิดาชนช้างชนะขุนสามชนปกป้องสุโขทัยตั้งแต่ทรงพระเยาว์ การสร้างความสัมพันธ์กับรัฐที่เข้มแข็งทางเหนือทำให้รักษาอธิปไตยของสุโขทัยไว้ได้ และการประดิษฐ์ลายสือไทยที่เป็นรากฐานของอักษรไทยอยุธยาในเวลาต่อมา แต่อาจมีข้อครหาเรื่องการใส่พ่อขุนรามเข้ามานั่นหมายความว่าประวัติศาสตร์แบบ canon ของภาครัฐได้คงระดับสุโขทัยให้ยังคงเทียบเคียงรัฐอื่นๆในยุคหลัง แต่กลับยังไม่รวมรัฐที่ประสบความสำเร็จมากกว่าอย่างล้านนาเข้ามา (อันนี้เป็นประเด็นสำคัญมากที่จะพูดถึงในย่อหน้าถัดๆไปครับ)

สำหรับองค์อื่นๆ ทั้ง พระนเรศวร พระเจ้าตากสิน และพระจุลจอมเกล้า เป็นที่ยอมรับโดยกว้างขวางมากกว่า และหากพิจารณากษัตริย์ที่อยู่นอกบัญชีมหาราชเพิ่มเติมแล้ว บูรพกษัตริย์อย่างพระบรมไตรโลกนาถก็ควรได้รับการยกย่องให้เป็นที่รู้จักมากกว่านี้

พระบรมไตรโลกนาถ เป็นกษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดของกรุงศรีอยุธยา (40 ปี) ท่านขึ้นไปประทับที่พิษณุโลกถึง 25 ปีเพื่อคานอำนาจล้านนาที่เข้มแข็งที่สุดในยุคพระเจ้าติโลกราช จนช่วยปกป้องอยุธยาไว้ได้ ปฏิรูประบบการปกครองทั้งการตราพระราชกำหนดศักดินา แบ่งงานฝ่ายทหารออกจากฝ่ายพลเรือน แบ่งการปกครองหัวเมืองใหม่ ตั้งกฎมณเฑียรบาล ซึ่งระบบต่างๆ ถูกใช้ในการปกครองระบอบกษัตริย์มาอย่างยาวนาน แต่กลับไม่มีกระทั่งอนุสาวรีย์พระบรมไตรโลกนาถทั้งที่อยุธยาและพิษณุโลก อย่างพิษณุโลกนี่แทบจะเป็นเมืองพระนเรศวรไปเลย

ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่อุทยานราชภักดิ์ตีปัญหาความรับรู้ของผู้คนที่มีต่อประวัติศาสตร์ชาติไทยไม่แตก ก็คือการมีส่วนร่วมของผู้คนกับเนื้อหาประวัติศาสตร์ในตำรา เราเรียนประวัติศาสตร์ฉบับที่ดัดแปลงจากประวัติศาสตร์ยุคสร้างชาติของหลวงวิจิตรฯ ซึ่งเน้นการร้อยเรียงเรื่องราวเป็นเส้นตรงให้เข้าใจง่าย แทนที่จะบรรยายให้เห็นภาพว่าดินแดนนี้เคยมีแคว้นน้อยใหญ่มากมาย และค่อยๆสูญสลายบ้าง ควบรวมกันบ้าง จนกลายเป็นอยุธยาสืบทอดมาเป็นกรุงเทพธนบุรีเช่นทุกวันนี้ แต่ไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์สายหลักเขียนให้เป็นเส้นเดียวให้ต่อเนื่องกันเพื่อความเข้าใจง่าย ซ้ำร้ายหลวงวิจิตรฯ ยังเริ่มสายธารประวัติศาตร์จากกรุงสุโขทัย อันเป็นสาระประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้างขึ้นในสมัย ร.6 ให้ประวัติศาสตร์ไทยเริ่มต้นจากกรุงสุโขทัย เพราะจะเชื่อมโยงกับราชวงศ์สุโขทัยซึ่งขึ้นมามีอำนาจช่วงกลางอยุธยาหลังเสียกรุงครั้งที่ 1 และเชื่อมโยงมาที่ราชวงศ์จักรีได้ ทำให้นักเรียนประวัติศาสตร์จำแบบมึนๆกันไปถ้วนหน้าว่าทำไมประวัติศาสตร์มันเริ่มที่สุโขทัยวะ? ถ้าจะบอกว่าเก่าแก่กว่าอยุธยา รัฐที่เก่าแก่กว่านั้นก็มีอีกมากมาย ถ้าจะบอกว่าสืบทอดมาเป็นอยุธยา อันที่จริงอยุธยาเป็นลูกผสมของลพบุรีกับสุพรรณบุรีเสียมากกว่า ถ้าจะบอกว่าเริ่มต้นอักษรไทย วิวัฒนาการของอักษรมันก็สาวย้อนไปได้เรื่อยๆ เพราะลายสือไทยเองก็มาจากขอมโบราณซึ่งมาจากปัลลวะอีกที สรุปว่าไม่มีเหตุผลที่ดีพอที่จะยกสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย ตามที่บทเรียนคร่ำครึกล่าวอ้างนะครับ แวดวงประวัติศาสตร์มีความพยายามแก้ความเข้าใจผิดนี้กันมายาวนาน จนการยกสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกถูกถอดออกจากบทเรียนไปแล้ว แต่อุทยานราชภักดิ์และซีรี่ยส์ตำราคู่มือที่เกี่ยวข้องทั้งหลายก็พาเรากลับไปท่องสุโขทัย-อยุธยา-ธนบุรี-กรุงเทพ กันอีกรอบอย่างน่าสลดใจ...

และการมีส่วนร่วมของดินแดนอื่นๆ นอกเหนือจากสุโขทัย-อยุธยา-ธนบุรี-กรุงเทพ แล้วก็นับว่ามีความสำคัญมากที่จะช่วยกระตุ้นการรับรู้ประวัติศาสตร์และสร้างความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ คนเหนือเขามีประวัติศาสตร์กับ หริภุญชัย-โยนก-ล้านนา-ล้านช้าง คนใต้เขามีประวัติศาสตร์กับ ไชยา-ตามพรลิงค์-ลังกาสุกะ คนอีสานเขามีประวัติศาสตร์กับ ศรีโคตรบูร-ล้านช้าง-ขอม ฯลฯ จะให้คนภาคอื่นๆมานั่งท่องประวัติศาสตร์อยุธยาเขาก็ไม่อินไม่เข้าใจว่ามันเกี่ยวข้องกับบรรพบุรุษหรือดินแดนที่พวกเขาอยู่ในปัจจุบันนี้ยังไง บางคนดูแคลนว่าอาณาจักรพวกนี้เป็นแค่แคว้นเล็กแคว้นน้อย ถ้าต้องเอาใจคนทุกจังหวัดประวัติศาสตร์ไทยคงต้องนับว่ามีกษัตริย์สักสามร้อยคน โน่ววว!! เอาเฉพาะบางอาณาจักรอย่างล้านนาเอง เคยมีอำนาจและรุ่งเรืองยิ่งกว่าสุโขทัยที่ถูกบรรจุในประวัติศาสตร์สายหลักอย่างมึนๆ ด้วยซ้ำไปนะครับ จำคำของ อ.นิธิ ไว้นะครับ "การรวมกลุ่มของคนตั้งแต่ยุคหินมีสี่ประเภท คือพรรคพวก เผ่าพันธุ์ แคว้น และรัฐ ในอดีตดินแดนนี้มีกลุ่มคนที่ยกระดับขึ้นไปถึงระดับรัฐแค่สองแห่ง คือล้านนาและอยุธยา ก่อนจะมีธนบุรีและรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นรากฐานของรัฐไทยในปัจจุบัน" ลองมานึกกันดีกว่าว่าหากรวมกลุ่มสังคมระดับรัฐหรือแคว้นขึ้นไปทั้งหมดในดินแดนนี้ กษัตริย์องค์ใดจะมีผลงานความดีบุญบารมีพอที่จะยืนเคียงข้างกษัตริย์องค์อื่นๆ ในอุทยานราชภักดิ์ได้บ้าง...

พญามังราย ย่อมขึ้นมาเป็นลำดับแรกๆ สำหรับผู้ศึกษาประวัติศาสตร์เหนือมาบ้างนะครับ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์มังรายผู้นี้เป็นกษัตริย์จากเมืองเงินยาง ได้สร้างเมืองเชียงรายเป็นศูนย์กลางในการขยายอำนาจลงใต้ ต้านทานการรุกรานของมองโกลจากตอนเหนือ พิชิตอาณาจักรหริภุญชัยและเขลางค์นครซึ่งครองอำนาจเป็นพี่ใหญ่ของภาคเหนือมาหกร้อยปี สร้างเวียงกุมกาม และสร้างเมืองเชียงใหม่เป็นราชธานีของล้านนา

พระเจ้าติโลกราช เป็นกษัตริย์ล้านนาอีกพระองค์ที่ได้รับการยกย่องเหนือกษัตริย์องค์อื่นถึงกับขนานนามว่าพระเจ้าด้วยความเป็นหนึ่งทั้งทางโลกและทางธรรม ท่านทำการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 ที่วัดเจ็ดยอดในปี พ.ศ.2020 ด้านการศึกก็ขยายอาณาจักรล้านนาออกไปกว้างใหญ่ไพศาลที่สุด ควบรวมแพร่และน่าน ทางเหนือจรดเชียงรุ้งและเมืองยอง ตะวันตกไปถึงรัฐฉาน ทางใต้ลงไปถึงพิษณุโลก (แต่ติดบล็อคของพระบรมไตรโลกนาถ เลยพิชิตอยุธยาไม่สำเร็จ เสมอกันไป)

พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ผู้สร้างเมืองนครศรีธรรมราชเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดบนคาบสมุทรไทย รายล้อมด้วยเมืองบริวารเรียกว่า 12 เมืองนักษัตร และนำพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์เข้ามาในดินแดนนี้ ก่อนเผยแพร่ไปที่รัฐอื่นๆในเวลาต่อมา และเชื่อว่าลังกาวงศ์ที่พญาลิไทรับจากลังกาผ่านพม่าก็ผสมผสานกับลังกาวงศ์ที่ขอมรับจากนครศรีธรรมราชไปก่อนหน้านั้น 200 ปี จนเป็นลัทธิหลักของชาวไทยในปัจจุบันด้วย

อีกหลายพื้นที่เคยเป็นดินแดนของอาณาจักรอื่นๆมาด้วย อย่างอีสานตอนล่างก็เคยเป็นอาณาจักรขอม อีสานตอนบนก็เคยเป็นล้านช้าง ภาคใต้บางส่วนก็เคยเป็นศรีวิชัย เอาจริงๆจะนับว่ากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ในอดีตของดินแดนเหล่านี้ เช่น พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 พระไชยเชษฐาธิราช ฯลฯ นับเป็นอดีตกษัตริย์ของไทยก็ยังพอได้นะครับ นี่แหละประวัติศาสตร์ร่วมแบบอุษาคเนย์ เพียงแต่ศูนย์กลางของอาณาจักรพวกนี้ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ซึ่งปัจจุบันเป็นประเทศไทยเท่านั้นเอง ไม่เหมือนล้านนากับตามพรลิงค์


สรุปว่าความพยายามในการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้คนกับประวัติศาสตร์ชาติไทย ก็คงต้องพยายามกันต่อไปอีกพักใหญ่ๆ และอุทยานราชภักดิ์ที่ควรเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการรับรู้นั้น ก็ทำหน้าที่ในส่วนนี้ล้มเหลวไปแล้วอย่างน่าเสียดาย ในช่วงที่สถาบันเสื่อมความนิยมเช่นนี้ประวัติศาสตร์โดยภาครัฐคงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความมั่นคงให้ระบอบกษัตริย์มากกว่าการสร้างความเข้าใจในประวัติศาสตร์จริงๆ

ขอตัดจบบล็อคก่อนพวกอุลตร้ารอยัสลิสต์จะพาไปเข้าคุก...


 

เดี๋ยวจะมีคนหาว่าบล็อกนี้เป็นบล็อกท่องเที่ยว แต่ดันไม่เห็นเชียร์ให้ไปเที่ยวอุทยานราชภักดิ์เท่าไหร่เลย... งั้นแถมให้หน่อยนึงครับ จากอุทยานราชภักดิ์ขับรถเข้ามาที่ชายหาดจะเป็นสวนสนประดิพัทธ์ มีโครงกระดูกวาฬบรูด้ายาว 14 เมตร ให้ชมหน้าหาดด้วยนะครับ พบซากที่หาดในปี พ.ศ.2520 ใหญ่กว่าตัวที่พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำบางแสนนะ (10 เมตร)







 
Create Date :17 พฤษภาคม 2563 Last Update :18 พฤษภาคม 2563 22:38:16 น. Counter : 5111 Pageviews. Comments :40