bloggang.com mainmenu search

กลับมาปัดฝุ่นบล็อกประวัติศาสตร์กันสักหน่อย หนนี้มาเที่ยวพนมทวน ที่ จ.กาญจนบุรีครับ เป็นเมืองเก่าสมัยอยุธยา และเป็นหนึ่งในสถานที่ๆ เชื่อว่าเกิดศึกยุทธหัตถีของพระนเรศขึ้น

อยุธยาเสียท่าหงสาในยุคของบุเรงนอง กอปรกับหัวเมืองพิษณุโลกอย่างพระมหาธรรมราชาก็ไปเข้าข้างพม่า พอพม่ายึดอยุธยาได้แล้วก็ตบรางวัลให้พระมหาธรรมราชาจากราชวงศ์สุโขทัยขึ้นครองราชย์ปกครองอยุธยาแทนราชวงศ์สุพรรณที่จบสิ้นไป แต่พอบุเรงนองสวรรคต หงสาก็อ่อนแอลงมาก พระนเรศวรบุตรของพระมหาธรรมราชาได้ประกาศไม่ขอเป็นเมืองขึ้นของหงสาในปี พ.ศ.2126 และรบกับหงสามาหลายศึก จนกระทั่งขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ.2133 ท่านได้ทำศึกใหญ่กับพระมหาอุปราช (มังสามเกียด) บุตรของพระเจ้านันทบุเรง ในปี พ.ศ.2135 และเอาชนะฟันพระมหาอุปราชขาดคอช้างสิ้นพระชนม์ ในศึกเดียวกันพระเอกาทศรถก็ฆ่าเจ้ามังจาปะโรได้ ประกอบกับราชวงศ์ตองอูที่แตกแยกระส่ำระสายจนอาณาจักรต่างๆที่เคยยึดมาได้ต่างพากันแข็งเมืองกระจัดกระจายกันไป และมอญขึ้นมาเป็นใหญ่แทนพม่า กว่าพม่าจะกลับมายึดแผ่นดินได้ก็สมัยพระเจ้าอลองพญา ก่อนอยุธยาเสียกรุงครั้งที่สองแค่หน่อยเดียว


หลังจบศึกยุทธหัตถีครั้งนั้น อยุธยาก็ปลอดศึกจากอาณาจักรทั้งหลายในแผ่นดินพม่ามาเป็นเวลายาวนาน หลายเวทีใช้ศึกนี้เป็นไฮไลต์ของประวัติศาสตร์ชาติไทย และภาพยุทธหัตถีปรากฏทุกหนแห่งที่ต้องการแสดงความภาคภูมิใจของชาติ และแอ๊ดคาราบาวเอาไปร้องเป็นเพลงว่า เสือคืนถ้ำคิดชำระแค้น ปลดปล่อยแดนให้พ้นการจองจำ มังสามเกียดหรือจะสู้องค์ดำ ในสงครามยุทธหัตถี~♪

ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ถึงปัจจุบันว่าสถานที่เกิดศึกยุทธหัตถีคือที่ไหนกันแน่ รู้แต่เพียงว่าพระนเรศได้สร้างเจดีย์ไว้เป็นที่ระลึก ณ จุดเกิดสงครามนั้นก่อนไปสร้างเจดีย์ใหญ่ที่วัดใหญ่ชัยมงคล ได้มีการค้นพบเจดีย์เก่าที่หนองสาหร่าย จ.สุพรรณบุรีในสมัย ร.6 และประกาศไปแล้วว่าตรงนี้คือสถานที่ยุทธหัตถี ต่อมาในสมัยจอมพล ป. ได้มีการสร้างอนุสรณ์ดอนเจดีย์ใหญ่โต กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัด แต่ดูแล้วซากเจดีย์ที่พบเป็นเจดีย์ทรงทวารวดีเสียมากกว่า เพียงแต่มันประกาศไปแล้วก็เปลี่ยนความเชื่อของผู้คนได้ยาก

วันนี้จะพามาชมอีกแห่งหนึ่งที่มีความน่าจะเป็นในการเป็นสถานที่เกิดศึกยุทธหัตถี อย่าง
เจดีย์ยุทธหัตถี ที่บ้านดอนเจดีย์ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นเจดีย์ศิลปะสมัยอยุธยา มีการค้นพบกระดูกทั้งช้าง ม้า และคน รวมถึงอาวุธโบราณมากมายในพื้นที่นี้ จึงเชื่อว่าเคยเป็นที่ทำสงครามใหญ่มาก่อน อีกทั้งจุดนี้ผ่านเส้นทางเดินทัพของพม่าจากด่านเจดีย์สามองค์มุ่งตรงไปทางอยุธยา


มีการสร้างอนุสาวรีย์พระนเรศประทับบนเจ้าพระยาปราบหงสาวดีในบริเวณนี้ ในปี พ.ศ.2542 อีกทั้งชาวบ้านบริจาคที่ดินบริเวณรอบเจดีย์จนกลายเป็นพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ที่กว้างขวาง


ซากกระดูกที่พบในบริเวณนี้ถูกนำมาจัดแสดง เป็นร่างที่ถูกทิ้งไว้กลางสมรภูมิ และถูกชั้นดินทับถมไป 400 กว่าปี พวกชาวบ้านที่ถูกเกณฑ์มารบนี่แหละครับผู้ที่ควรได้รับการเชิดชูอย่างแท้จริง อยู่กองหน้าไปรับคมหอกคมดาบโอกาสไม่ได้กลับบ้านสูงมาก ตายไปก็ถูกทิ้งไว้ไร้คนเผาผี ไม่มีแม้แต่ชื่อแซ่ในทุกพงศาวดาร ตรงทางเข้าอุทยานมีอาคารหลุมขุดค้นให้เข้าไปชมด้วย แต่อันนี้เป็นหลุมสมัยก่อนประวัติศาสตร์นะครับ ไม่เกี่ยวกับยุทธหัตถี


จากพงศาวดารฉบับวันวลิตกล่าวว่าศึกยุทธหัตถีเกิดขึ้นใกล้วัดร้างแห่งหนึ่ง ซึ่งห่างจากเจดีย์ยุทธหัตถีเพียง 1.5 กม. ก็มีวัดบ้านน้อยอยู่ ศิลปะต่างๆในวัดมีอายุสมัยอยุธยาตอนกลาง เชื่อกันว่าเป็นวัดที่พระนเรศให้สร้างขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้คนที่เสียชีวิตในสงคราม แต่หลังจากนั้นไม่นานก็ถูกทิ้งร้าง


 
ปัจจุบันสถานที่เกิดศึกยุทธหัตถีก็ยังไม่ได้ข้อยุติว่าเกิดขึ้นที่ไหนกันแน่ หลักฐานฝั่งพม่าบอกว่าไม่ได้มียุทธหัตถีด้วยซ้ำเพราะพระมหาอุปราชโดนปืนยิงตาย แต่เอาเป็นว่าอย่างน้อยมันก็ต้องมีสถานที่เกิดสงครามตัดสินระหว่างอยุธยากับหงสาในยุคนั้นล่ะน่า และพนมทวนแห่งนี้ก็ดูจะเข้าเค้าที่สุดครับ
 
 

นอกจากเจดีย์ยุทธหัตถีแล้ว โบราณสถานสำคัญอีกแห่งหนึ่งในพนมทวนคือ วัดพระแท่นดงรัง ครับ บริเวณนี้มีแท่งหินบนเนินเขา ซึ่งเชื่อกันมาตั้งแต่สมัยโบราณว่าเป็นเตียงนอนของพระพุทธเจ้า อยู่กลางป่าไม้รัง จึงเรียกว่าพระแท่นดงรัง ตามพุทธประวัติตอนปัจฉิมกาล ท่านได้อาพาธและเสด็จสู่นิพพานบนพระแท่น บริเวณนี้จึงมีการสร้างสถานที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธประวัติมากมาย เช่น บ่อบ้วนพระโอษฐ์ วิหารพระอานนท์ วิหารหินบดยา ฯลฯ แต่สถานที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานจริงอยู่ที่สาลวโนทยาน เมืองกุสินารา นะครับ ลักษณะการก่อสร้างโบราณสถานสันนิษฐานได้ว่ามีมาแต่สมัยทวารวดี และถูกบูรณะครั้งใหญ่สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ปลายยุคกรุงศรีอยุธยา


ข้างพระแท่นมีก้อนหินสีดำสมมุติเป็นก้อนพระโลหิตพระพุทธเจ้า มีมาแต่เดิม แต่แตกบ้าง สูญหายบ้าง ในปี พ.ศ.2545 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว) พระสังฆราช ได้มอบก้อนนิลธรรมชาติให้วัดพระแท่นดงรังเพื่อชดเชยก้อนพระโลหิตส่วนที่สูญหายไป


พระแท่นดงรังเป็นที่นับถือของผู้คนจำนวนมาก มีกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์เสด็จมานมัสการพระแท่นดงรัง ตั้งแต่สมัย ร.4 โดยเฉพาะในหลวง ร.9 เคยเสด็จมาที่นี่สองครั้งในปี พ.ศ.2512 และ 2515 และ ร.10 สามครั้งในปี พ.ศ.2518, 2522 และ 2529
 

รอบวิหารเป็นนิทรรศการแสดงประวัติความเป็นมาและสถานที่สำคัญต่างๆในวัดพระแท่นดงรัง

 

พระอุโบสถใหม่ เป็นอุโบสถจตุรมุข สร้างในปี พ.ศ.2515 ประดิษฐานพระพุทธสาลวิสัยมงคล

 

วิหารพระพุทธมงคล ประดิษฐานหลวงพ่อโตวัดพระแท่นดงรัง เป็นพระสังกัจจายน์สูง 12 เมตร ภายในวิหารเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้เก่าๆ และรูปปั้นหมาแมว

 

วิหารหินบดยา มีพระพุทธรูปปางบำเพ็ญทุกกรกิริยา เบื้องหน้ามีรูปปั้นหมอชีวก หินและแท่นบดยา ซึ่งพระสังฆราชเกี่ยวได้มอบให้วัดพระแท่นดงรังทดแทนของเดิมซึ่งชำรุดเสียหาย

         

พระบฏโบราณ มีสองผืนที่เก่าแก่ถึงยุคพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ยังคงแขวนอยู่ในวิหารห้องเดียวกับพระแท่น

 

พระพุทธบาทไม้ประดับมุกมีลวดลายมงคล 108 ประการ อยู่ที่วัดมาหลายร้อยปี ได้ตรวจสอบอายุพบว่าสร้างสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

 

วิหารพระอานนท์มีมาแต่สมัยสร้างวัด และถูกบูรณะสมัยอยุธยาตอนปลาย

 


ทางทิศตะวันตกของพระแท่นมีเขาถวายพระเพลิงประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลองในมณฑปสร้างสมัยอยุธยาบนฐานหินเรียงยุคก่อน สมมุติเป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธเจ้า

 

เอ็นทรี่นี้ไปแค่สองที่ แต่มีความสำคัญมากมายจริงๆครับ สำหรับเจดีย์ยุทธหัตถีและพระแท่นดงรัง จึงขอเชิญชวนท่านที่จะไปเที่ยวกาญจนบุรี ออกจากเส้นทางหลักหน่อยเดียวแวะเที่ยวพนมทวนกันสักหน่อยน้า~


 
Create Date :26 กุมภาพันธ์ 2564 Last Update :26 กุมภาพันธ์ 2564 15:51:09 น. Counter : 2098 Pageviews. Comments :29