bloggang.com mainmenu search

วันนี้มาเล่าเรื่องของเมืองทุ่งยั้ง อันนี้อั้นไว้ตั้งแต่ตอนไปทอดกฐินกับเพื่อนที่อุตรดิตถ์เมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมาครับ ไปทอดกฐินที่วัดไผ่ล้อมแล้วเที่ยววัดโบราณในทุ่งยั้งนิดหน่อย ไปวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้งกับเวียงเจ้าเงาะ แต่ในทุ่งยั้งยังมีโบราณสถานอีกมากมาย ว่าแล้วขึ้นเหนือรอบ 5-8 ธ.ค. ที่ผ่านมาก็แวะไปเที่ยวอีกรอบ แวะลับแลที่อยู่ติดกันด้วยครับ


ทุ่งยั้ง เป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่ใน อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ ที่มีผู้คนอยู่อาศัยมาก่อนศตวรรษที่ 18 และเติบโตจากการเป็นเส้นทางคมนาคมการค้ากับจีนและอินเดีย ชื่อทุ่งยั้งถูกเรียกเมื่อไม่กี่ร้อยปีมานี้ มีผู้คาดเดาชื่อเดิมของเมืองไปต่างๆ นานา มีผู้สันนิษฐานว่าเมืองนี้คือเมืองราดในอดีต เป็นเมืองของพ่อขุนผาเมืองผู้ช่วยพ่อขุนบางกลางหาวเจ้าเมืองบางยาง (นครไทย) รบชนะขอมสบาดโขลญลำพงและชิงเมืองสุโขทัยกลับมาเป็นของคนไทย ซึ่งดูแล้วก็เป็นไปได้มากกว่าหล่มสักที่อยู่ห่างจากสุโขทัยมากเกินไป แต่อีกข้อสันนิษฐานก็เป็นไปได้ว่าจะเป็นเมืองที่พัฒนาจากระดับชุมชนขึ้นมาจากการขยายตัวของชุนชนใกล้เคียง และเจริญรุ่งเรืองขึ้นหลังตั้งกรุงสุโขทัยขึ้นมาแล้วทุ่งยั้งถูกใช้เป็นเมืองบริวาร มีสิ่งก่อสร้างสมัยสุโขทัยในทุ่งยั้งหลายแห่ง ทั้งวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง วัดพระแท่นศิลาอาสน์ วัดพระยืน วัดพระนอน ฯลฯ เดี๋ยวเราจะมาตามรอยความสุโขทัยที่นี่กันครับ


ภาพวาดเมืองทุ่งยั้งในอดีต โดยคุณสุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย วารสารเมืองโบราณ เล่ม 45.1

นอกจากประวัติศาสตร์ที่เคียงคู่สุโขทัยแล้ว เมืองนี้ยังเคยเป็นส่วนหนึ่งของล้านนาช่วงสุโขทัยอ่อนแอและถูกอยุธยาควบรวมไปแล้ว ล้านนาในสมัยพระเจ้าติโลกราชเคยขยายอำนาจลงมาถึงศรีสัชนาลัยและเมืองทุ่งยั้งก็ถูกใช้เป็นที่ตั้งทัพของล้านนาด้วย ทำให้ทุ่งยั้งรับอิทธิพลบางอย่างของล้านนามา เช่นตำนานพระเจ้าเลียบโลก ซึ่งเล่าว่าพระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาประทับยับยั้งบริเวณนี้ จึงทำให้เมืองนี้ได้ชื่อว่าเมืองทุ่งยั้ง ท่านได้นั่งพระแท่นกินข้าว (วัดพระแท่นศิลาอาสน์) ประทับรอยเท้า (วัดพระยืน) นอนบนพระแท่นอีกแห่งหนึ่ง (วัดพระนอน) และมองลงไปเห็นหนองน้ำ (หนองพระแล)


แผนที่เมืองทุ่งยั้งดังภาพครับ (คลิ๊กที่ภาพเพื่อชมภาพขยาย)

ถ้ามาจากเมืองอุตรดิตถ์ทางด้านขวาของแผนที่จะเจอ วัดทองเหลือ เป็นวัดแรก มีฐานศิลาแลงที่คาดว่าเคยเป็นเจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์ขนาดใหญ่ แต่เข้าไปใกล้ไม่ได้ครับ หมาเป็นฝูงเลยวัดนี้


ขับมาทางตะวันตกเข้ามาในเมืองทุ่งยั้งจะมาถึงวัดสำคัญที่เป็นศูนย์กลางเมืองทุ่งยั้งแล้วครับ วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง ตำนานวัดกล่าวว่าสร้างขึ้นในสมัยพญาลิไทแห่งสุโขทัย เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนอุรังคธาตุ (หน้าอก)

ด้านหน้าพระบรมธาตุมีวิหารหลวงทรงล้านนา บูรณะสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ช่วงปลายอยุธยา พระประธานคือหลวงพ่อประธานเฒ่าหรีอหลวงพ่อหลักเมือง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่ชาวอุตรดิตถ์เคารพนับถือมาก




พระบรมธาตุทุ่งยั้ง เดิมเป็นเจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์ แต่พังทลายลงและถูกบูรณะใหม่โดยพ่อค้าชาวพม่าในสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมสามชั้น มีเจดีย์บริวาร 4 มุม เดิมมียอดแบบทรงพม่า แต่ในปี พ.ศ.2451 แผ่นดินไหวยอดหักลง จึงบูรณะอีกครั้งเป็นสภาพปัจจุบัน


วัดนี้เป็นที่จัดงานอัฐมีบูชา เป็นงานประจำปีที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองทุ่งยั้งที่จัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 (วิสาขบูชา) ถึงแรม 8 ค่ำเดือน 6 จำลองการถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระพุทธเจ้า มีการแสดงแสงสีเสียงยาว 9 วัน
 

จิตรกรรมฝาผนังตั้งแต่สมัยอยุธยามีทั้งพุทธประวัติและตำนานเจ้าเงาะ
 

เจดีย์รายในบริเวณวัดที่สร้างมาตั้งแต่ครั้งสุโขทัยทำจากศิลาแลง
ส่วนที่สร้างเพิ่มเติมสมัยอยุธยาและหลังจากนั้นจะเป็นอิฐ
 

พระพุทธรูปปางปรินิพพานพร้อมด้วยพระสาวก
 

ทิศเหนือของวัดมีบ่อศิลาแลงขนาดใหญ่สองบ่อ
มีโพรงที่เชื่อกันว่าเป็นทางลับไปที่ไหนสักที่ ไม่แน่ใจว่ามีใครสำรวจไปแค่ไหนแล้ว
 
 
ทางตะวันตกของวัดพระบรมธาตุมีบ่อศิลาแลงและหลุมแลงเล็กๆ กระจายอยู่
คนในพื้นที่เลยเอาไปผูกกับตำนานเจ้าเงาะตอนสังข์ทองตีคลี
ว่าเป็นลานตีคลี ข้างวัดมีศาลเจ้าเงาะอยู่ด้วย
 
  วัดนี้เป็นที่เดียวในทุ่งยั้งที่มาสองรอบครับ รอบแรกมาตอนทอดกฐิน เจอคุณยายแสงดาวที่เฝ้าวัดเล่าประวัติให้ฟังเลยแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ทุ่งยั้งกัน คุณยายสนใจอยากหาเรื่องราวของทุ่งยั้งอ่านเพิ่มเติมมาก เพราะมันเป็นชีวิตของคนเมืองนี้และแกจะเล่าต่อให้คนอื่นๆฟัง ถึงผมจะเขียนบล็อก ส่งไลน์ อัพเฟซ ก็ไม่รู้ว่าคุณยายจะเข้าถึงได้ยังไง สื่อที่คนรุ่นนี้ยังเข้าถึงได้ก็คือหนังสือครับ หนังสือที่เราคิดว่ากำลังจะตายลงไปเรื่อยๆนี่แหละ ผมมีหนังสือวารสารเมืองโบราณเล่มของเมืองทุ่งยั้งโดยเฉพาะอยู่ เขียนรายละเอียดประวัติศาสตร์ของเมืองนี้ไว้ดีมาก อยากหาซื้ออีกเล่มส่งมาให้คุณยาย ไปหาร้านที่ฟิวเจอร์ปาร์คที่เคยซื้อก็หมดแล้ว พลันนึกถึงร้านหนังสือประวัติศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอย่างร้านริมขอบฟ้าของสำนักพิมพ์สารคดีได้ เป็นเจ้าของเดียวกับเมืองโบราณนั่นละครับ มีหนังสือเล่มที่ว่าเต็มชั้นเลย ผมว่าพวกเราโชคดีจริงๆที่อยากเข้าถึงข้อมูลแบบไหนเราก็ทำได้หมด ผมส่งหนังสือให้คุณยายทางไปรษณีย์ แล้วมาอุตรดิตถ์รอบนี้ก็แวะมาวัดนี้ เจอคุณยายแสงดาวอีกครั้ง แกบอกว่าได้รับหนังสือแล้ว อยากอ่านเรื่องราวของเมืองทุ่งยั้งอีกเยอะๆ ถึงปัจจุบันนี้ข้อมูลจะอยู่บนออนไลน์เกือบหมดแล้ว แต่การมีหนังสือดีๆอยู่กับมือมันก็อุ่นใจนะครับ อย่างน้อยหัวหนังสือที่มีคุณภาพที่เรามั่นใจเขาก็เรียบเรียงกลั่นกรองมาอย่างดีแล้วจากผู้เชี่ยวชาญในแวดวง ก่อนสาส์นจะไปถึงคนอ่าน

ส่วนพาดหัว "ทุ่งยั้งคือนครสระหลวง" เป็นการตีความของ อ.ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม ข้ามไปเลยก็ได้ครับ แกเปลี่ยนข้อสันนิษฐานไปเรื่อย นี่ก็จะให้เมืองราดไปอยู่นครไทยอีกแล้ว แต่บทความของคนอื่นๆ ในเล่มนี้ดีมาก
 
 

ทางใต้ของวัดพระบรมธาตุมี วัดกุฏิพระฤาษีทรงธรรม เดิมมีสถูปศิลาแลงครอบโกลนพระพุทธรูปอยู่ แต่ตอนนี้บูรณะรื้อศิลาแลงออกหมด ทำเป็นอาศรมพ่อปู่ฤาษี แล้วปั้นหัวฤาษีเติมเข้าไปบนโกลนพระซะงั้น

 

ในวัดมีบ่อต้มยาสมุนไพรแจกจ่ายให้ผู้ศรัทธา แก้ทุกโรค
มีคำอธิษฐานก่อนกินยาและเคล็ดลับในการกินคือห้ามเป่า
 

ศาลาการเปรียญหลังใหม่ ใหญ่โตสวยงาม
 

ทางเหนือของวัดพระบรมธาตุมี เวียงเจ้าเงาะ เป็นเป็นเวียงขนาดเล็กซ้อนอยู่ในพื้นที่เมืองทุ่งยั้ง ล้อมด้วยคูที่เกิดจากการขุดศิลาแลงไปทำกำแพง สันนิษฐานว่าเป็นป้อมค่ายของเมืองทุ่งยั้ง ชาวบ้านเอาพื้นที่แถบนี้ไปผูกกับวรรณคดีเรื่องสังข์ทอง โดยให้ทุ่งยั้งเป็นเมืองของท้าวสามลและนางรจนา ส่วนเวียงเจ้าเงาะคือบ้านของเจ้าเงาะ หน้าเวียงมีบ่อน้ำโบราณทำจากศิลาแลง ชาวบ้านนับถือกันเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ และบ่อน้ำแห่งนี้ก็เป็นตัวแทนบ่อน้ำศักดิสิทธิ์ของจังหวัดอุตรดิตถ์สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกซึ่งนำน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั่วประเทศ 77 จังหวัด 108 แหล่งน้ำมาใช้เป็นน้ำอภิเษกในพิธีด้วย


แวะกินข้าวที่ ร้านลานโพธิ์ หน้าเวียงเจ้าเงาะครับ เป็นร้านดังของอุตรดิตถ์ที่เพื่อนแนะนำเลย บรรยากาศดีมาก ด้านนอกจัดพื้นที่สวยงาม ด้านในเป็นห้องแอร์ วันที่ไปทอดกฐินไปกัน 8 คน สั่งได้หลายอย่างดี อร่อยทุกอย่างเลยครับ ชอบเมนูที่ทำจากกุ้งแม่น้ำราคาไม่แรงมาก ร้านเด็ดขนาดนี้แม้แต่ในจังหวัดใหญ่ๆ ยังหาได้ยาก


มาเที่ยวต่อสามวัดที่ติดกันและเกี่ยวข้องกับตำนานพระเจ้าเลียบโลกครับ วัดพระนอนพุทธไสยาสน์ ตามตำนานหลังประทับบนพระแท่นศิลาอาสน์แล้วพระพุทธเจ้าจะมานอนที่นี่ คนโบราณจึงสร้างพระแท่นไว้สำหรับเป็นที่นอน ส่วนพระนอนเก่าแก่ของวัดไม่ได้นอนบนพระแท่นนะครับแต่เก็บอยู่อีกวิหารหนึ่ง ตอนไปกำลังก่อสร้างอยู่เลย ไม่มีคนครับวัดนี้
 
 
 
อีกวัดคึกคักขึ้นอีกหน่อย วัดพระยืนพุทธบาทยุคล ทางเข้าสวยงามใหญ่โต มีมณฑปครอบรอยพระพุทธบาทคู่ตามความเชื่อว่าพระพุทธเจ้ามาประทับรอยเท้าที่นี่

 

หลวงพ่อพุทธรังสี เคยพอกด้วยปูน แต่หลุดลอกออกเป็นเนื้อสำริด
เป็นพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยอายุกว่า 600 ปี
แต่มีส่วนผสมของทองมากทำให้องค์พระแวววาวสดใส
 

หลังมณฑปพระพุทธบาทมีเจดีย์ศิลาแลงแบบเดียวกับที่วัดทองเหลือ 3 องค์
คาดว่าเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์สมัยสุโขทัยเช่นเดียวกัน
 

จากวัดพระยืนขับรถผ่านถนนในวัดจะต่อกับวัดพระแท่นศิลาอาสน์เลยครับ และนี่คือวัดที่โด่งดังที่สุดของจังหวัดอุตรดิตถ์ เป้าหมายที่พุทธศาสนิกชนต้องมากราบไหว้สักครั้งในชีวิตเช่นเดียวกับวัดพระพุทธบาทสระบุรี

วัดพระแท่นศิลาอาสน์ มีบันทึกว่าพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสมัยอยุธยาเคยไปบูชา ซึ่งวัดก็คงมีก่อนหน้านั้นมานานมากแล้วโดยเป็นวัดในเขตอรัญญิกของชุมชนโบราณทุ่งยั้ง ในตำนานพระพุทธเจ้าทั้งห้าองค์ในภัทรกัปได้เสด็จมาประทับนั่งภาวนา เช่นเดียวกับพระแท่นดงรัง และการที่ท่านเสด็จมาประทับยับยั้งที่นี่เองทำให้เมืองนี้ได้ชื่อว่า "ทุ่งยั้ง"


วิหารของวัดเคยถูกไฟป่าลามมาไหม้ทั้งหลังในปี พ.ศ.2451 มีเฉพาะกุฏิหลวงพ่อธรรมจักรที่ไม่ไหม้ไฟ วิหารที่เห็นนี้เจ้าเมืองอุตรดิตถ์ยุคนั้นสร้างขึ้นมาใหม่  โดยพยายามคงลักษณะสถาปัตยกรรมแบบเดิมไว้ มณฑปที่ครอบพระแท่นอยู่นี้เป็นสัญลักษณ์ในตราจังหวัดอุตรดิตถ์ด้วยนะ


โชคดีที่พระแท่นไม่ได้ทำจากของติดไฟนะครับ ตัวพระแท่นทำจากศิลาแลงขนาด 8 ฟุต x 10 ฟุต สูง 3 ฟุต แต่ตอนบูรณะวิหารยกพื้นสูงกว่าพระแท่น เลยทำขอบปูนครอบไว้ พระแท่นอยู่กลางหลุมนี้ต้องมองภาพสะท้อนจากกระจกด้านบนเอาถึงจะเห็นพระแท่นศิลาแลงนะครับ ทุกปีจะมีงานนมัสการพระแท่นช่วงขึ้น 8 ค่ำ - ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งพระสงฆ์จากหลากหลายที่จะมาปักกลดใกล้วัดพระแท่น และเข้ามาสวดมนต์ร่วมกันในวิหารในคืนสุดท้ายของเทศกาลซึ่งตรงกับวันมาฆบูชา


ในวัดมีสิ่งสำคัญและศักดิ์สิทธิ์อีกมากมายหลายสิ่ง ทั้งพระพุทธรูป 5 องค์ไว้ยกเสี่ยงทายในแต่ละด้าน (องค์ดำๆเล็กๆนะครับ อย่าไปยกองค์ข้างหลังล่ะ) หลวงพ่อธรรมจักรและพระพุทธบาทสี่รอยที่มีมาแต่โบราณ ต้นมะปรางป่าอายุ 150 ปี อยู่คู่วัดมานาน และหอคำแก้ว สร้างในปี พ.ศ.2550 เนื่องในโอกาสในหลวง ร.9 มีพระชนมายุ 80 พรรษา


คำขวัญของจังหวัดอุตรดิตถ์คือ "พระแท่นศิลาอาสน์ศักดิ์สิทธิ์ เขื่อนสิริกิติ์น่านนที เหล็กน้ำพี้ลือเลื่อง ลับแลหลงหลินลางสาดหวาน บ้านพ่อพระยาพิชัยดาบหัก ถิ่นสักใหญ่ของโลก บ้านโคกภูดู่ ประตูสู่ลาวลานช้าง" จะเห็นว่าพระแท่นศิลาอาสน์ถูกยกขึ้นเป็นสถานที่สำคัญของจังหวัดลำดับแรกเลย

ความสำคัญของวัดนี้ยังไม่หมดแต่เพียงเท่านี้นะครับ ร.5 เคยเสด็จมานมัสการพระแท่นเมื่อปี พ.ศ.2444 และ ร.6 เสด็จมายกช่อฟ้าในปี พ.ศ.2452 มีอนุสาวรีย์ของทั้งสองพระองค์ตรงทางเข้าวิหาร และด้านข้างวิหารมีตำหนัก ร.5 ตำหนักพระเจ้าตากสิน และ แต่น แต๊น... ศาลหลักเมืองอุตรดิตถ์!! มาซ่อนอยู่ตรงเนี้ยนะ???


ข้างที่จอดรถมี พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเมืองลับแลวัดพระแท่นศิลาอาสน์ อยู่ ที่สำคัญตรงทางเข้าพิพิธภัณฑ์มุมซ้ายล่างของภาพที่อยากให้ดูคือบ้วนพระโอษฐ์พระพุทธเจ้า หรือก็คือกระโถนของพระพุทธเจ้าที่ถูกสร้างขึ้นมาตามความเชื่อตั้งแต่ครั้งสร้างวัดนี้ ว่าพระพุทธเจ้ามาประทับกินข้าวบนพระแท่นแล้วบ้วนปากลงกระโถนศิลาแลงข้างพระแท่น เดิมทีด้านข้างวิหารจะมีมุขยื่นออกมาเป็นห้องบ้วนปาก แต่ตอนบูรณะหลังไฟไหม้ได้เอาห้องบ้วนปากออก แล้วกระโถนหินโบราณก็ถูกนำมาทิ้งไว้ข้างทางเช่นนี้เอง...


ไว้อาลัยกระโถนเสร็จแล้วก็เข้ามาชมพิพิธภัณฑ์กันครับ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นแห่งนี้ก่อตั้งโดยพระเฉลิมศิลป์ ชยเปาโล เดิมเป็นศาลาการเปรียญ แต่ดัดแปลงทำเป็นพิพิธภัณฑ์สองชั้น ชั้นล่างเป็นภาพเขียนฝีมือช่างท้องถิ่น ส่วนชั้นบนรวบรวมของเก่าเก็บจากคนในพื้นที่ครับ มีของชิ้นสำคัญ เช่น บุษบกไม้สมัยอยุธยา และธรรมาสน์ไม้จำหลัก จปร. ที่ ร.5 ถวายวัดพระแท่น ครั้งเสด็จมานมัสการพระแท่นเมื่อปี พ.ศ.2444


นอกจากพระนั่ง พระยืน พระนอน แล้วยังมีพระเดินอีกนะครับ เคยมีวัดพระพุทธลีลาทางตะวันออกเฉียงเหนือของวัดพระนอนซึ่งในตำนานเล่าว่าเป็นที่ที่พระพุทธเจ้าเดินจงกรม แต่ตอนนี้ไม่เหลือซากโบราณสถานอะไรให้ดูแล้ว

หนองพระแล เป็นบึงเก็บน้ำกินน้ำใช้ของเมืองทุ่งยั้ง ปัจจุบันทำเป็นสวนสาธารณะให้ประชาชนพักผ่อนหย่อนใจให้อาหารปลา


ข้าวเที่ยงก็กินเอาแถวๆหนองพระแลนี่ละครับ (ร้านลานโพธิ์ตะกี้กินคนละทริปกันนะ อย่าคิดว่าเจ้าของบล็อกกินมื้อละสองร้าน) อยากลองกินหลายๆร้านเลยไม่เอาลานโพธิ์ละ แม้ว่ามันจะดีงาม เปิดกูเกิ้ลแมปดูก็มี ครัวประภัสสร นี่ละครับ ที่คนรีวิวพากันไว้วางใจ ตอนไปไม่มีแขกสักโต๊ะเลยจ้า 5 ธ.ค. วันหยุด คิดว่าคนจะเที่ยวกันเยอะซะอีก รอบนี้มาคนเดียว กินได้สองอย่างก็เต็มกลืนแล้วครับ ปลาลวกจิ้มถ้าไม่สดคือจบกัน แต่ร้านนี้เนื้อปลาและวัตถุดิบทุกอย่างสดสะอาด รสชาติดี กินได้หมดเกลี้ยงแบบไม่ต้องฝืน ราคาไม่แพงครับ


ติดกับหนองพระแลมี วัดฤาษีสำราญ มีสถูปศิลาแลงโบราณพังทลายจนไม่ทราบรูปทรงเดิม แถวนี้เห็นสถูปเป็นไม่ได้ ต้องเอาฤาษีใส่เข้าไป มีการสร้างกุฏิฤาษีสำราญข้างๆสถูปด้วย



โปรแกรมเที่ยวของวันนี้หมดซะแล้ว เพิ่งจะบ่ายโมงเอง ว่าแล้วก็เลยไปเที่ยวเมืองลับแลต่อซะเลยครับ เป็นโซนที่คนนิยมเที่ยวที่สุดของจังหวัดนี้แล้ว แต่ผมไม่สนใจทั้งทุเรียนหลงลับแลและผ้าซิ่นตีนจก เลยไม่คิดไปทีแรก รีบกวาดหาข้อมูลที่เที่ยวน่าสนใจในเมืองลับแลแล้วก็ไปตามกูเกิ้ลท่านว่าเลยจ้า~

เมืองลับแล มีผู้คนเข้ามาตั้งรกรากตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 14 ตามตำนานเหนือบอกว่าเป็นกลุ่มคนที่อพยพมาจากโยนกภายใต้การนำของเจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร (เรื่องแต่งพอๆ กับพระเจ้าไชยศิริเชียงแสนที่สร้างเมืองไตรตรึงษ์นั่นละครับ) ได้รวมกับทุ่งยั้งเป็นอำเภอลับแลในสมัย ร.5

เมื่อเข้าเมืองลับแลจะเห็น อนุสาวรีย์พระศรีพนมมาศ ผู้ว่าราชการเมืองลับแลในสมัย ร.5 ที่สร้างความเจริญให้ลับแลมากมาย ทีแรกเห็นคิดว่าท่านไว้ผมทรงลีเจนด์ เท่สุดๆ.... พอดูดีๆ นั่นมันหมวก!!



ป้ายประกาศห้ามพูดโกหกนี้เป็นตามตำนานเมืองลับแล ว่าชาวเมืองเป็นผู้มีศีลธรรม ไม่พูดจาโกหก ครั้งหนึ่งมีหนุ่มจากเมืองทุ่งยั้งหลงเข้ามาในลับแล และแต่งงานกับหญิงสาวที่นี่จนมีลูก วันหนึ่งแม่ออกไปนอกบ้าน ลูกร้องหาแม่ ชายหนุ่มเลยโกหกว่าแม่มาแล้วให้หยุดร้อง ชาวลับแลได้ยินคำโกหกถึงกับอดรนทนไม่ได้ ต้องขับไล่ชายหนุ่มออกจากเมืองไป (moral flexibility โคตรต่ำ) หญิงสาวรู้ดังนั้นก็เอาของใส่ถุงให้สามีติดตัวออกจากเมืองไปโดยกำชับว่าห้ามเปิดถุงระหว่างทาง แต่ชายหนุ่มอยากรู้เลยเปิดดู พบนางโมรา....ไม่ใช่ๆ พบว่าเป็นขมิ้น! เลยปาทิ้ง เหลือติดถุงไว้หน่อยเดียว พอกลับถึงทุ่งยั้งก็ปรากฏว่าขมิ้นที่เหลือกลายเป็นทอง แต่พอจะกลับไปเก็บขมิ้นที่ปาทิ้งไปก็หาไม่เจอแล้ว รวมทั้งทางเข้าเมืองลับแลด้วย ส่วนหญิงสาวก็กลายเป็นแม่ม่าย ...จบนิทานเด็กดีแต่เพียงเท่านี้...

กลางเมืองมีเนินเล็กๆ เรียกว่า ม่อนจำศีล เจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร เจ้าเมืองลับแลคนแรกใช้เป็นที่บำเพ็ญภาวนาในปี พ.ศ.1513 และในปี พ.ศ.2444 ที่ ร.5 เสด็จประพาสเมืองลับแลก็ใช้ม่อนนี้เป็นที่ตั้งพลับพลารับเสด็จด้วย ร.5 ตั้งใจจะเอาด้านบนม่อนไว้ประดิษฐานพระเหลือ ที่สร้างจากทองชนวนที่เหลือจากการหล่อพระพุทธชินราช แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เอามาไว้ครับ พระเหลือยังอยู่ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุดังเดิม ที่เห็นนี่คือพระพุทธรูปอื่น
 
 
 

วัดสำคัญของเมืองลับแลที่มีมาแต่โบราณคือ วัดเจดีย์คีรีวิหาร สร้างโดยพญาลิไทแห่งสุโขทัยในปี พ.ศ.1897 คาดว่าเดิมเป็นเจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์ที่นิยมสร้างในสมัยสุโขทัย แต่พอล้านนาแผ่อิทธิพลเข้ามาก็เปลี่ยนเป็นทรงล้านนา


แล่นไปเส้น 1041 ทางเข้าเมืองอุตรดิตถ์จะมี พิพิธภัณฑ์และซุ้มประตูเมืองลับแล อันนี้เป็นทางเข้าหลักของลับแลเลยนะครับ แต่เรามาจากทางทุ่งยั้ง เลยไปโผล่ตรงอนุสาวรีย์พระศรีพนมมาศก่อน ซุ้มประตูสร้างในปี พ.ศ.2546 สูง 14 เมตร ยาว 41 เมตร ด้านข้างมีประติมากรรมแม่ม่ายตามตำนานเมืองลับแล


พิพิธภัณฑ์เมืองลับแลอยู่หน้าประตูเลย เพิ่งสร้างในปี พ.ศ.2556 นี้เอง เป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่รวบรวมวิถีชีวิตชาวเมืองลับแลไว้ จัดแสดงในเรือนไทยจำลองสองหลัง เปิดทุกวัน เวลา 9.00 - 16.00 น. เข้าชมฟรี ด้านหลังพิพิธภัณฑ์เป็นร้านค้าตลาดต้องชม ผมไปช่วงบ่ายยังเงียบเหงาครับ ไม่รู้จะคึกคักกี่โมง




จบที่เที่ยวทั้งทุ่งยั้งแถมด้วยลับแลแล้ว ได้เวลาเข้าที่พักครับ รอบที่ไปทอดกฐินเดือน ต.ค. พักที่มาลาดี ใกล้วัดทองเหลือ อันนี้เพื่อนจองให้เพราะเป็นคนท้องที่รู้จักโรงแรมดี โรงแรมนี้ไม่มีให้จองใน booking นะครับ ราคาถูกเหลือเชื่อ ห้องแบบที่เห็นนี้คืนละ 450.- เอง


ส่วนรอบที่ไปเองเมื่อต้น ธ.ค. นี้จอง booking โรงแรม Hobby Hotel อยู่ทางไปตัวเมืองุตรดิตถ์ คุณภาพห้องและสิ่งอำนวยความสะดวกดีกว่ามาลาดีแต่ก็แพงกว่าเช่นกัน คืนละ 650.- รวมอาหารเช้าด้วย ถือว่าไม่แพงมากครับ ที่พักในอุตรดิตถ์ดีๆ ถูกๆ เยอะจริง โรงแรมนี้ถ้าจองเองไม่ผ่าน booking ก็น่าจะถูกกว่านี้ด้วย


ร้านมื้อเช้าที่เพื่อนแนะนำคือ ซามเซียน ใกล้สถานีรถไฟอุตรดิตถ์ ขายทั้งก๋วยเตี๋ยว เกาหลา ข้าวไก่ทอด หมูแดง หมูกรอบ หมูทอด ขนมจีบ ซาละเปา ส่วนซามเซียนก็คือกระดูกหมูตุ๋นยาจีน ใส่ก๋วยเตี๋ยวหรือเกาเหลาก้ได้ อร่อยทุกอย่างครับ มาจังหวัดนี้เจอแต่ร้านดีๆ จนลิ้นชักจะเฉยชากับของอร่อยแล้ว ไว้ไปเจอร้านห่วยๆ ที่จังหวัดอื่นแล้วกันนะ



หลังสุโขทัยถูกอยุธยาควบรวมกิจการไปแล้ว บริษัทในเครือสุโขทัยอย่างทุ่งยั้งก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของอยุธยาไปด้วย ช่วงเสียกรุงครั้งที่ 2 หัวเมืองทั่วอาณาจักรถูกพม่าไล่ทำลายก่อนเข้าถึงกรุงศรีอยุธยา โชคดีที่เมืองทุ่งยั้งอยู่นอกเส้นทางเดินทัพของพม่า และไม่ใช่เมืองที่ใหญ่พอที่จะต้องทำลายเพื่อป้องกันการตลบหลัง แต่เมืองนี้มีบทบาทตอนพระเจ้าตากสินไล่ปราบชุมนุมจนมาเหลือชุมนุมสุดท้ายของเจ้าพระฝาง ที่เมืองฝาง ตอนใต้ของทุ่งยั้งลงไปหน่อยเดียวครับ หลังชนะพระนอกรีตองค์นี้แล้ว พระเจ้าตากก็ได้อาราธนาพระสงฆ์จากธนบุรีมาสั่งสอนพระฝ่ายเหนือ และสมโภชพระธาตุสำคัญในแถบนี้ รวมถึงพระบรมธาตุทุ่งยั้งด้วย แต่ช่วงปลายสมัยธนบุรีที่มีศึกอะแซหวุ่นกี้ เมืองพิษณุโลกและเมืองแถบนี้ที่เคยรอดจากมือพม่าตอนเสียกรุงก็ถูกทำลายลงในที่สุด ทุ่งยั้งกลายเป็นเมืองร้างตั้งแต่ตอนนั้น จนมีผู้คนกลับมาปักหลักในสมัยต้นรัตนโกสินทร์นี้เองครับ

ทุ่งยั้งเป็นส่วนหนึ่งของทริปขึ้นเหนือเมื่อ 5-8 ธ.ค. ที่่ผ่านมานะครับ เป้าหมายต่อไปคือพะเยา and เชียงรายจ้าาาา 117



 
Create Date :11 ธันวาคม 2562 Last Update :14 ธันวาคม 2562 21:38:48 น. Counter : 4068 Pageviews. Comments :28