bloggang.com mainmenu search
ได้ฤกษ์อัพบล็อกทริปปีใหม่สักทีครับ ปกติสิ้นปีบ้านผมจะไปท่องเที่ยวไทยที่จังหวัดเด็ดๆ ที่คัดสรรแล้วในแต่ละปี
2011 - อีสานเหนือ (อุดร-หนองคาย-ขอนแก่น) 3 วัน
2012 - เชียงราย 5 วัน
2013 - กาฬสินธุ์ อุดร 3 วัน
2014 - ภาคใต้ (ชุมพร พังงา ภูเก็ต กระบี่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์) 7 วัน
2015 - แม่ฮ่องสอน 5 วัน
2016 - อุตรดิตถ์ น่าน แพร่ 4 วัน
2017 - อีสานเหนือ (เลย-หนองคาย-บึงกาฬ) 4 วัน

และเป้าหมายปี 2018 ....ไม่มีครับ เลยไปเที่ยวที่ที่เล็งไว้นานแล้วยังไม่ได้ไปสักทีอย่างเส้นขึ้นเพชรบุรณ์แล้วลงทาง อ.นครไทย พิษณุโลก เป็นทริปที่ตั้งใจจะไปช่วงหยุด 3 วันก็ยังไม่ได้ไปสักที เลยไปเอาปีใหม่นี้แหละ เป็นทริปที่เดินทางวันที่ 27-29 ธ.ค. 61

สาเหตุที่สนใจหล่มสัก-นครไทย เพราะบริเวณนี้เคยเป็นเมืองเก่า (พออ่านถึงย่อหน้านี้หลายท่านก็รู้สึกได้ว่ามันเกี่ยวกับซากอิฐอีกแล้ว จึงรีบปิดบล็อกกันโดยพลัน!) และเป็นเมืองของสองบรรพกษัตริย์ที่ร่วมกันต่อสู้ปลดปล่อยสุโขทัยจากการครอบครองของขอม นั่นคือเมืองบางยางของพ่อขุนบางกลางหาว (อ.นครไทย) และเมืองราดของพ่อขุนผาเมือง (เคยเชื่อกันว่าเป็น อ.หล่มสัก แต่จากหลักฐานใหม่น่าจะเป็น อ.ลับแล ในอุตรดิตถ์มากกว่า)
 
พ่อขุนผาเมือง
 
พ่อขุนบางกลางหาว
 

**หมายเหตุ: หลัง bloggang ปรับปรุง คำสั่งจัด cell ตารางอยู่โคตรลึก แถมบาง cell ทำยังไงก็จัดกลางไม่ได้ครับ

เริ่มคุ้นๆชื่อกษัตริย์กันขึ้นมาบ้างแล้วใช่ไหมครับ ก็เพราะหนังสือเรียนประวัติศาสตร์ของเราเริ่มต้นกันจากตรงนี้ไงล่ะ ประวัติศาสตร์กระแสหลักเราเคยสอนกันว่าราชธานีแห่งแรกของไทยคือกรุงสุโขทัย (ถึงจะมีหลายๆอาณาจักรเก่าแก่กว่าสุโขทัย และอยุธยาสืบสานมาจากลพบุรีและสุพรรณบุรีก็เถอะ หลังๆเขาแก้ไขเนื้อหากันแล้วนะ อัพเดทแพทช์กันด้วยจ้า) เมืองสุโขทัยมีการรวมกลุ่มของผู้คนอยู่มานานนม แต่เริ่มมีประวัติศาสตร์ชัดเจนเมื่อพ่อขุนศรีนาวนำถุม เจ้าเมืองเชลียง (ทางใต้ของศรีสัชนาลัย) ได้ขยายอำนาจเข้าไปในสุโขทัย และสร้างนครสองอัน ปกครองแบบเมืองคู่ เชลียง-สุโขทัย ต่อมาพ่อขุนศรีนาวนำถุมสวรรคต ขอมสบาดโขลญลำพง ผู้มีอำนาจชาวขอมได้นำกองกำลังขอมเข้ายึดกรุงสุโขทัย ฝั่งพ่อขุนผาเมือง โอรสของพ่อขุนศรีนาวนำถุมที่ปกครองเมืองราดในขณะนั้น ได้ผนึกกำลังกับพ่อขุนบางกลางหาว เจ้าเมืองบางยาง ช่วยกันขับไล่ขอมสบาดโขลญลำพงชิงเมืองสุโขทัยกลับมา พ่อขุนผาเมืองมีมเหสีเป็นธิดาของกษัตริย์ขอมเกรงว่าจะไม่ได้รับการยอมรับจากคนไทย จึงได้ยกเมืองสุโขทัยให้พ่อขุนบางกลางหาว พร้อมพระแสงขรรค์ชัยศรี และนามศรีอินทรบดินทราทิตย์ที่ได้รับจากกษัตริย์เมืองพระนครให้ ในปี พ.ศ.1792 พ่อขุนบางกลางหาวจึงขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์สุโขทัยนามว่า "พ่อขุนศรีอินทราทิตย์"

ทริปนี้เดินทางจากกรุงเทพขึ้นมาทางเพชรบูรณ์ เป็นจังหวัดที่ไม่ไกลมาก แต่ผมเคยเที่ยวแค่ศรีเทพและแวะกินไก่ย่างวิเชียรบุรีเท่านั้นเองครับ เขาค้อหรือภูทับเบิกที่ฮิตกันหนักหนาก็ยังไม่เคยเที่ยวเลยด้วยซ้ำ ไหนๆก็มาแล้วหนนี้ขอเที่ยวตัวเมืองเพชรบูรณ์ แวะขึ้นเขาค้อ ลงทางหล่มสัก ขึ้นพระธาตุผาซ่อนแก้วไปทางพิษณุโลก แล้วตีขึ้นนครไทย+เที่ยวภูหินร่องกล้าต่อ รูทนี้ได้สักการะทั้งพ่อขุนผาเมืองและพ่อขุนบางกลางหาวในทริปเดียวครับ (ได้เที่ยวเขาค้อ+ภูหินร่องกล้าแถมด้วย)


เส้นทางกรุงเทพ-เพชรบูรณ์-หล่มสัก-นครไทย ในทริปนี้
 
เมืองราดนั้นเดิมเคยสันนิษฐานว่าตั้งอยู่ในเขต อ.หล่มสัก แต่จากการศึกษาพบว่าไกลจากสุโขทัยมากเกินไป พ่อขุนผาเมืองไม่น่าจะยกทัพลงมาช่วยพ่อขุนบางกลางหาวได้ทัน และจากจารึกต่างๆ ดูตามตำแหน่งเมืองแล้วคิดว่าเมืองราดเดิมน่าจะอยู่ที่ ต.ทุ่งยั้ง อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์เสียมากกว่า ซึ่งเมืองทุ่งยั้งนั้นถูกทำลายในช่วงสงครามระหว่างล้านนาและอยุธยาในรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราชและพระบรมไตรโลกนาถ จึงไม่เหลืออนุสรณ์อะไรไว้ให้ชมกันเป็นชิ้นเป็นอัน วัดที่มีอย่างวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้งก็บูรณะจนไม่เหลือความเก่า จากความเชื่อดั้งเดิมจนมีอนุสาวรีย์พ่อขุนผาเมืองขึ้นที่หล่มสัก เราก็ขอเที่ยวเมืองหล่มสักแทนซะเลยแล้วกันครับ

เราออกจากกรุงเทพตีห้านิดๆ แวะกินข้าวที่ปั๊มแถวสระบุรี แล้วขับต่อถึงเมืองเพชรบูรณ์ตอนสิบโมงครับ จังหวัดนี้เราคิดถึงมะขามหวาน แต่อันที่จริงของน่าสนใจของเพชรบูรณ์มีอีกมากมายเลยครับ ทั้งอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพที่กำลังขอมรดกโลก เกือบได้เป็นเมืองหลวงในยุคจอมพล ป. มีแหล่งท่องเที่ยวดังอย่างเขาค้อ มีอาหารดังอย่างไก่ย่างวิเชียรบุรี สำหรับจารึกใต้หอนาฬิกากลางเมืองนี้คือแชมป์โลกคู่แฝด เขาทราย-เขาค้อ ซึ่งเรารู้จักกันดีก็เป็นคนเพชรบูรณ์และเป็นความภาคภูมิใจของจังหวัดด้วย



เมืองเพชรบูรณ์เดิมชื่อเพชรบุระ (เมืองที่อุดมด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร) มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย และมีวัดที่สร้างสมัยสุโขทัย-อยุธยาจำนวนมากเลยนะครับ แต่ไม่ได้มีบทบาทในหน้าประวัติศาสตร์สักเท่าไหร่ เป็นเส้นทางเดินทัพเสียมากกว่า ศูนย์กลางเมืองเพชรบูรณ์เก่าก็เช่นเดียวกับเมืองโบราณอื่นๆ คือมีมหาธาตุเป็นศูนย์กลางซึ่งมหาธาตุของเมืองเพชรบุระก็อยู่ที่ วัดมหาธาตุ นี้เอง
  วัดมหาธาตุเป็นวัดสมัยสุโขทัย ในวิหารหลวงวัดนี้เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อเพชรมีชัย พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองเพชรบูรณ์ที่หล่อพร้อมการสร้างวัด ชาวบ้านถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มาก เดิมเรียกว่าหลวงพ่อเพชร ในช่วงศึกอะแซหวุ่นกี้ พระยาจักรีได้ขอพรหลวงพ่อเพชรพร้อมตะโกน "มีชัย" เพื่อเอาฤกษ์เอาชัย จึงเป็นที่มาของชื่อหลวงพ่อเพชรมีชัย องค์จริงคือองค์หลังนะครับ ห้ามปิดทอง อยากปิดปิดที่องค์จำลองด้านหน้าโลด


ด้านหลังมีพระธาตุเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระพิมพ์ และจารึกบนแผ่นทองไว้ องค์เจดีย์สร้างในปี พ.ศ.1926 สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น เคยยอดหักลงมาครั้งนึง บูรณะใหม่แล้วดูไม่จืดเลยครับ

  ขับมาเส้นเลียบแม่น้ำป่าสักมี วัดไตรภูมิ เป็นวัดเก่าแก่สมัยสุโขทัยก็จริง แต่ไม่ค่อยเหลือร่องรอยเท่าไหร่นอกจากซากเจดีย์ที่ตอนนี้บูรณะมีโครงเหล็กค้ำเต็มไปหมด น่าเกลียดเกินจะเอามาลง ตัวโบสถ์เป็นโบสถ์เก่าแก่ประดิษฐานหลวงพ่อใหญ่ แต่ไม่ได้เปิดให้เข้าไปชมครับ
 
ที่สำคัญคือมณฑปหน้าวัดนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหาธรรมราชา พระพุทธรูปสำริดทรงเครื่องปางสมาธิสมัยลพบุรี ชาวบ้านไปพบบริเวณแม่น้ำป่าสัก จึงเชิญมาประดิษฐานที่วัดนี้ แต่ต่อมาก็หายไปอยู่ในแม่น้ำอีก จึงเชื่อว่าเมื่อถึงเวลาท่านจะกลับไปที่แม่น้ำป่าสัก จึงเกิดเป็นประเพณีอุ้มพระดำน้ำ ให้ผู้ว่าจังหวัดเพชรบูรณ์อุ้มพระพุทธมหาธรรมราชาลงดำน้ำ 4 ทิศ ถือเป็นประเพณีที่สำคัญที่สุดของจังหวัดเพชรบูรณ์ จัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี องค์ที่อุ้มคือองค์นี้ซึ่งจำลองขึ้นมาจากองค์จริงครับ องค์จริงเก็บอยู่ในศาลาวัด เนื่องจากเก่าแก่มาก เอาไปดำน้ำทุกปีเดี๋ยวจะพังไปเสียก่อน


ในสวนสาธารณะเพชรบุระมี หอเกียรติยศเมืองเพชรบุระ เดิมเป็นจวนเจ้าเมืองเพชรบูรณ์เก่าที่สร้างในสมัย ร.5 นายดิเรก ถึงฝั่ง ผู้ว่าเพชรบูรณ์ได้ปรับปรุงเป็นหอประวัติศาสตร์ในปี พ.ศ.2548 และเพิ่มหุ่นบุคคลสำคัญปรับปรุงเป็นหอเกียรติยศในปี พ.ศ.2558 ครับ ภายในมีหุ่นแสดงประวัติศาสตร์และบุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเพชรบูรณ์ ตั้งแต่กรมพระยาดำรงราชานุภาพที่มาตรวจราชการและสยบข่าวลือเรื่องเพชรบูรณ์เป็นเมืองแห่งความตายช่วงที่มาลาเรียระบาด ทำให้เมืองฟื้นตัวกลับมาอีกครั้ง มีนักมวยดังชาวเพชรบูรณ์ระดับแชมป์โลกทั้งแสนศักดิ์ เมืองสุรินทร์ เขาทราย และเขาค้อ กาแลกซี่ จอมพล ป. นายกผู้มีดำริในการย้ายเมืองหลวงมาเพชรบูรณ์ และหุ่นบุคคลมีชื่อเสียงชาวเพชรบูรณ์อื่นๆ เช่น อัครเดช ทองใจสด ปัญจะ เกสรทอง กำนันจุล หลวงพ่อกบ หลวงปู่เขียน ฯลฯ ชั้นบนเป็นห้องนอนของเจ้าเมืองเพชรบูรณ์เดิมที่ยังคงสภาพไว้ด้วย
 

 

ติดกันด้านหลังมี หอภูมิปัญญาและวิถีชาวบ้านเพชรบูรณ์ เป็นศูนย์การเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน โดยจัดแสดงอาชีพที่สำคัญของชาวเพชรบูรณ์ 6 เรื่องคือข้าว ข้าวโพด ยาสูบ มะขามหวาน และชีวิตริมแม่น้ำป่าสักและบนป่าเขา คุณเจ้าหน้าที่ตั้งใจอธิบายเนื้อหาดีมาก
 

ขับออกมาตามถนนเพชรเจริญมาทางตะวันออก 600 เมตร จะถึงศาลากลางหลังเก่าที่ปรับปรุงเป็น หอโบราณคดีเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย ทีแรกไม่อยู่ในแพลนนะครับเพราะเพิ่งเปิดมาไม่นาน พอดีเจ้าหน้าที่ที่หอภูมิปัญญาฯแนะนำมา พอเข้ามาก็เด็ดสะระตี่ ดีแล้วที่ไม่พลาดไป เพราะที่นี่น่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุดของจังหวัดเพชรบูรณ์แล้ว

ร.5 จะตั้งชื่อลูกหลานตามชื่อเมืองเหมือนกับได้ไปปกครองเมืองนั้นๆ เช่น กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิจ และได้แต่งตั้งกรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย ซึ่งได้รับที่ดินจาก ร.6 สร้างวังเพชรบูรณ์ขึ้นบริเวณที่เป็นเซ็นทรัลเวิลด์ในปัจจุบัน ท่านสิ้นพระชนม์ด้วยโรคบิดและโรคไตในปี พ.ศ.2466 ขณะอายุได้ 31 ปีเท่านั้นเอง สำหรับชื่อหอโบราณคดีเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย ก็ตั้งตามชื่อท่านเพื่อเป็นที่ระลึกว่าครั้งหนึ่งเคยมีเจ้านายชั้นสูงตั้งชื่อตามเมืองเพชรบูรณ์ด้วยนะ ส่วนด้านหน้าหอเป็นอนุสาวรีย์ ร.5 ครับ (เพราะเป็นพ่อของเจ้าของชื่อตึก?)
 
  สมเด็จพระเทพฯ เพิ่งเสด็จมาเยี่ยมชมหอนี้เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2561 โต๊ะประทับลงพระนามาภิไธยยังคงจัดแสดงไว้หน้าหอ

ที่นี่มีสองชั้น แบ่งการจัดแสดงเป็นหมวดหมู่ ตั้งแต่แหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ โบราณสถานเมืองศรีเทพ โบราณสถานสมัยอยุธยา และโบราณวัตถุต่างๆ โซนร้านค้าแสดงวิถีชีวิตยุคก่อน ตำนานและการละเล่นพื้นบ้าน จำลองสมรภูมิเขาค้อ และอาหารพื้นบ้าน
 

   

โซนเพชรบูรณ์ในวันวาน มีของเก่ายุค 50-100 ปีจัดแสดงวิถีชีวิตสมัยก่อนไว้ พวกหุ่นจำลองกับร้านค้าจัดไว้สวยเลยครับ
 
 
 
 

โซนนี้มีหุ่นและอาวุธจำลองเหตุการณ์สมรภูมิเขาค้อ ช่วงปราบคอมมิวนิสต์

อาหารพื้นบ้านและอาหารชื่อดังของเพชรบูรณ์ เช่นไก่ย่างวิเชียรบุรี ปลาเผาป่าแดง ลืมกลืนนางัว ลาบเป็ดหล่มสัก หนมเส้นหล่มเก่า ข้าวปาด ฯลฯ บางเมนูก็หากินยากมากๆแล้วครับ
 

เจ้าหน้าที่ทั้งที่หอภูมิปัญญาและหอโบราณคดีมีความภูมิใจตอนเล่าเรื่องราวของเพชรบูรณ์นะครับ วันหยุดพวกเราก็เที่ยวกันชิล แต่เป็นช่วงงานหลักของเจ้าหน้าที่ตามแหล่งท่องเที่ยวเลยครับ นี่เป็นช่วงที่จะได้เผยแพร่สิ่งดีๆ ในท้องถิ่นเขา

แวะกินข้าวเที่ยงสุ่มๆแล้วเดินทางออกจากเมืองเพชรบูรณ์ จะเห็น พุทธอุทยานเพชรบุระ มีพระพุทธมหาธรรมราชาองค์ใหญ่โดดเด่นเป็นสง่า เคยขับรถผ่านอยู่บ้างแต่ไม่เคยแวะ หนนี้ไหนๆทำคอนเท้นต์เพชรบูรณ์แล้วก็จัดสักหน่อย
 

อุทยานแห่งนี้ นายกองเอก วิลาศ รุจิวัฒนพงศ์ ผู้ว่าราชการเพชรบูรณ์ในขณะนั้นเป็นผู้ริเริ่มให้สร้างขึ้น โดยหล่อทองเหลืองสร้างพระพุทธมหาธรรมราชาองค์จำลองขึ้น เฉพาะองค์พระสูง 16.6 เมตร ให้ชื่อว่าพระพุทธมหาธรรมราชาเฉลิมพระเกียรติฯ เพราะสร้างเนื่องในโอกาสในหลวง ร.9 ครบ 84 พรรษา ในปี พ.ศ.2554 สมัยก่อนเห็นแต่ในภาพเห็นพระขนาดใหญ่ปางประหลาดองค์สีดำแล้วก็ดูน่าสะพรึง! คิดว่าลัทธิอะไรแปลกๆ ที่แท้ก็พระพุทธมหาธรรมราชาพระคู่บ้านคู่เมืองที่เขาเอาดำน้ำทุกปีๆนี่เอง พระพุทธรูปศิลปะขอมก็แบบนี้
 

ในฐานพระเป็นห้องมีองค์พระพุทธรูปสำคัญที่จำลองมาจากที่ต่างๆทั่วประเทศ อาคารใต้ฐานพระมีบอร์ดนิทรรศการแสดงความเป็นมาของจังหวัดเพชรบูรณ์นิดหน่อย แต่ไปหอโบราณคดีมาแล้วอันนี้ข้ามไปก็ได้ครับ ส่วนด้านบนองค์พระเป็นลานมองเห็นทั่วพื้นที่อุทยาน
 

จะไปตามเส้น 21 ขึ้นหล่มสักต่อเลยก็ย่อมได้ แต่ไปๆมาถึงเพชรบูรณ์แล้วขอแวะเที่ยวเขาค้อสักหน่อยครับ ได้ไปพิพิธภัณฑ์อาวุธ-อนุสรณ์ผู้เสียสละ-เจดีย์กาญจนาภิเษก-Amazing Dinosaur แล้วลงตรงทางเข้าหล่มสักพอดี ขอยกเขาค้อไปอีก entry นึงแล้วกันครับ มันไม่เข้าพวก

 

ตัดมาตอนถึงหล่มสักเลยละกัน time skip ชะแว้บ! ข้ามมาตอนบ่ายสามครึ่ง กลับจากเขาค้อมาที่เส้น 21 ขาเข้าหล่มสัก จะเห็น หลักเมืองนครบาลเพชรบูรณ์ อยู่ริมถนน นี่คือเสาหลักเมืองที่จอมพล ป. ปักไว้ ในวันที่ 23 เม.ย. 2487 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีดำริย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพมาที่เพชรบูรณ์โดยใช้หล่มสักเป็นศูนย์กลาง เพราะมีชัยภูมิที่ดี ศัตรูโจมตีได้ยาก และแยกศูนย์ราชการต่างๆออกจากกรุงเทพที่เป็นแหล่งเศรษฐกิจด้วย แต่สภาตีตกวาระนี้และจอมพล ป. ลาออกจากตำแหน่ง ชาวเพชรบูรณ์ก็ฝันค้างไปตามๆกัน จนถึงทุกวันนี้ทุกสิ่งทุกอย่างยังคงแออัดยัดอยู่ใน กทม. ครับ
 

หน้าศาลหลักเมืองมี อนุสาวรีย์จอมพล ป. พิบูลสงคราม ขนาดเท่าตัวจริง ชาวเพชรบูรณ์เคารพยกย่องจอมพล ป. ที่ปกป้องบ้านเมืองจากภัยสงครามและตั้งใจย้ายเมืองหลวงมาที่นี่ด้วย (แต่ไม่ได้ย้าย) จึงสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นในปี พ.ศ.2541 ชาวเพชรบูรณ์จะถือเอาวันปักเสาหลักเมือง (23 เม.ย.) ของทุกปี เป็นวันบวงสรวงศาลหลักเมืองนครบาลเพชรบูรณ์และวางพวงมาลาอนุสาวรีย์จอมพล ป.
 

สำหรับคนที่ชาวเพชรบูรณ์นับถือที่เป็นคลาส legend ต้องคนนี้เลยครับ "พ่อขุนผาเมือง" ที่เล่ามาตั้งแต่ต้นบล็อก (เพิ่งจะเข้าเรื่อง) ตามเส้น 21 ขึ้นมาอีกหน่อยจะมาถึงแยกพ่อขุนผาเมืองที่มี อนุสาวรีย์พ่อขุนผาเมือง ตั้งอยู่ นอกจากความเคารพในฐานะวีรกษัตริย์แล้ว ยังเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านนิยมมาขอพรกันด้วยนะครับ
 

ด้านหลังมีตลาดขายของ ทางเข้าออกบางทางก็ผ่านได้เลย บางทางก็เก็บค่าเข้าตลาด (จะจ่ายไปทำไมฟะ??) จอดรถริมถนนแล้วเดินมาที่อนุสาวรีย์โดยตรงไม่ต้องผ่านตลาดก็ได้นะครับ จอดได้ตลอดแนวยาวๆเลย


ส่วนในหล่มสักเป็นที่ค้างคืน+กินข้าวเย็นเฉยๆครับ ไม่ได้เที่ยวอะไรเลย อันที่จริงมีโบราณสถานอยู่แถววัดโพนชัยและในเขตโรงเรียนพ่อขุนผาเมืองอุปถัมภ์ที่อยู่ติดกัน อยู่ทางตะวันออกของแม่น้ำป่าสักครับ แต่ตอนนั้นไม่ได้ไป (เวรกรรม!) ถึงยังไงก็มีหลักฐานบ่งชี้น้อยมากว่าเป็นเขตเมืองราดเก่าจริงหรือเปล่า อาจเป็นซากอิฐที่กระเด็นจากเพชรบุระมาไกลหน่อยก็ได้

คืนนี้นอนที่นี่ครับ บ้านวรฉัตร หล่มสัก ที่จอดรถเยอะดี ชอบที่ผ้าขนหนูปักเลขห้องแยกเป็นห้องๆเลย ไม่รู้มันดียังไง แต่ดูใส่ใจ ไม่มีสบู่ให้นะครับ ใครไม่ได้เอามารีบออกไปซื้อหน้าปากซอยโลด ไม่รู้เก็บงานไม่ดีหรือทำความสะอาดทิ้งไว้นานไป ผ้าห่มมีรอยสกปรกบนเตียงก็มีเศษขี้ผง จองผ่าน booking 754 ราคาจริงที่แปะอยู่ที่เคาน์เตอร์คืนละ 500 เวรกรรม แต่จากคุณภาพห้องก็ควรจะคืนละ 500 แหละนะ ไปรีวิวลง booking ว่า walk in ถูกกว่า ก็โดนลบรีวิวอีก ทางเว็บบอกว่าให้รีวิวโรงแรมได้ แต่รีวิวเว็บไม่ได้จ้ะ ชะลาล่า~ แหม่... ทำเว็บพวกนี้มันง่ายดีจัง 112

 

 

 

ออกไปเดินเล่นยามเย็นสักหน่อย ริมน้ำป่าสักมีตลาดริมน้ำและถนนคนเดินไทหล่ม แต่เปิดเฉพาะวันเสาร์อะนะ วันอื่นๆโล่งโจ้งจ้า
 
มื้อเย็นขับมั่วเจอร้านเฮียธนูบนถนนวจี 8 เอาร้านนี้ละครับ
 

ปรากฏว่าถึงจะเป็นร้านตามสั่งเล็กๆ แต่กับข้าวหลากหลาย แถมอร่อยเหลือเชื่อ!! แม่ผมอยากกินกระเพาะหมูผัดเกี้ยมฉ่ายที่ตามหามานาน ร้านนี้ทำอร่อยไม่มีกลิ่นเลย ต้มยำก็เป็นรสชาติแบบที่ชอบที่สุด ไม่เผ็ดมากและหอมกลิ่นเครื่องต้มยำสดใหม่ ยกให้เป็นร้านที่อร่อยที่สุดในทริปนี้ไปเลย ร้านแบบนี้หาตามรีวิวไม่เจอจริงๆ ต้องให้โชคชะตานำพามา แต่กินไปแค่สองเมนู มิอาจรีวิวให้ดาวนะครับ

 

เข้านอนเสร็จเช้าวันที่ 28 ธ.ค. ก็รีบออกจากที่พักไปหาข้าวกินข้างทางแล้วไปเส้น 12 ขึ้นเขาค้อตอนบนไปวัดพระธาตุผาซ่อนแก้วครับ (ขอเอาไปรวมกับบล็อกเขาค้อรอบหน้านะจ๊ะ) จากนั้นขับมาตามสาย 12 ต่อไปทางเมืองพิษณุโลก ระหว่างทางฉีกออกมาเส้น 2013 เพื่อลงที อ.นครไทยครับ

อันที่จริงจะขึ้นไปภูทับเบิก ไปต่อจนถึงภูหินร่องกล้า แล้วลงอีกฝั่งทางนครไทย จะใกล้กว่า แถมได้เที่ยวภูทับเบิกด้วย แต่ได้ข่าวว่าเส้นทางระหว่างภูหินร่องกล้ากับภูทับเบิกอย่างโหด รถเก๋งอย่าริไป ก็เลยเจียมตัวขับอ้อมไปขึ้นนครไทยจากฝั่งพิษณุโลกแทนครับ

และนี่คืออีกเมืองหนึ่งที่เรามาตามรอยบรรพกษัตริย์ผู้กอบกู้กรุงสุโขทัยมา นั่นคือ เมืองบางยาง ของพ่อขุนบางกลางหาวครับ อันนี้ไม่ต้องพิสูจน์หลักฐานให้มากมาย เล่มไหนๆก็บอกว่านครไทยนี่แหละคือเมืองบางยาง แถมมีร่องรอยให้ตามกันมากมายเลยด้วย

แรกสุดเส้นที่เข้ามาที่นครไทยจะมี อนุสาวรีย์พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ โดดเด่นเป็นสง่า สมัยก่อนถ้าจะไหว้พ่อขุนศรีฯ ต้องไปที่วัดกลางนะครับ อนุสาวรีย์นี้เพิ่งสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2555 ชื่อพ่อขุนบางกลางท่าวที่เห็นในบางที่คือชื่อที่อ่านผิดนะครับ ตามหลักศิลาจารึกเขียนชื่อว่า "พ่อขุนบางกลางหาว"


ด้านหลังอนุสาวรีย์มีพิพิธภัณฑ์เมืองนครไทย เพิ่งสร้างเช่นกัน เป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่รวมแหล่งท่องเที่ยวใน อ.นครไทย และวิถีชีวิตชุมชนของชาวนครไทยไว้ ประเพณีที่สำคัญคือประเพณีปักธงชัย ที่ชาวบ้านนำธงขึ้นแห่ก่อนปักบนเขาช้างล้วง อันเป็นสถานที่ที่พ่อขุนบางกลางหาวปักธงประกาศชัยชนะเหนือพวกขอม


เข้ามาสู่ตัว อ.นครไทยเสียที มีวัดเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์คู่เมืองบางยางอยู่ 3 วัดคือวัดกลาง วัดหัวร้อง และวัดหน้าพระธาตุ เรียงกันตามถนนหลักเลย


วัดแรกที่จะพาไปคือ วัดหัวร้อง หรือวัดนครไทยวรารามครับ ในวิหารประดิษฐานหลวงพ่อใหญ่เป็นพระแกะสลักจากไม้สัก แต่เอาปูนพอกไว้จนไม่เห็นลักษณะเดิม วัดแถวนี้ไม่ค่อยมีคน โบสถ์และวิหารส่วนใหญ่จะปิด นี่ได้ผู้ดูแลมาช่วยเปิดให้ครับ
 
  ขึ้นมาทางเหนือจะพบ วัดกลางศรีพุทธาราม หรือวัดกลาง อยู่ใจกลางเมืองบางยาง เป็นวัดที่มีอนุสาวรีย์พ่อขุนบางกลางหาวตั้งอยู่เป็นที่นิยมสักการะของชาวนครไทย องค์หน้าแสดงตอนยังเป็นพ่อขุนบางกลางหาว และองค์หลังแสดงตอนที่ขึ้นครองราชย์เป็นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์พระร่วงแห่งกรุงสุโขทัยแล้ว
 


ด้านหลังอนุสาวรีย์คือต้นจำปาขาวที่พ่อขุนบางกลางหาวปลูกไว้เสี่ยงทายก่อนทำศึกว่าหากมีชัยชนะขอให้ต้นจำปาเจริญงอกงามและมีดอกสีขาว ซึ่งดอกก็ออกมาสีขาวเป็นต้นเดียวในโลก แม้จะนำสายพันธุ์ต้นนี้ไปปลูกที่อื่นดอกก็ออกมาสีเหลือง (จริงเท็จแค่ไหนรอเซียนต้นไม้เข้ามาตอบ) จำปาต้นนี้สูง 10 เมตร ปัจจุบันอายุกว่า 770 ปีแล้ว แกนแทบไม่เหลือแล้วครับ ต้องเอาไม้ค้ำยันให้ทรงตัวอยู่ได้


โบสถ์ไม่ได้เปิดให้เข้าชมเลยแอบถ่ายเอาครับ ด้านในประดิษฐานหลวงพ่อศิลา พระพุทธรูปเก่าแก่สมัยลพบุรีอยู่


ผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อที่ทำขายในวัดนี้คือน้ำอ้อยสดวัดกลางครับ มีที่คั้นในวัดเลย เขาจะปอกอ้อยจนเหลือแกนเล็กๆ เพื่อไม่ให้มีกลิ่นโคลนแล้วจึงคั้นออกมา ขวดละ 10 บาทเท่านั้นเอง อร่อยจริงจัง รายได้เข้าวัดด้วย เห็นมีรถตู้มาเหมาไปสิบขวดเลย

วัดหน้าพระธาตุ อยู่เหนือวัดกลางขึ้นมาอีก 500 เมตร สร้างราวปี พ.ศ.1825 ในสมัยสุโขทัย หน้าวัดมีเจดีย์ดอกบัวตูมผุพัง ตอนนี้กำลังบูรณะครับ เมื่อก่อนอยู่ติดแม่น้ำแควน้อย แต่ลำน้ำเปลี่ยนทาง เลยกลายเป็นตั้งอยู่หลังวัด เมื่อ 60 ปีก่อน ชาวบ้านได้ขุดคลองจิกอ้อมผ่านหน้าวัด (ปกติคนสัญจรทางเรือ ด้านหน้าวัดคือด้านติดแม่น้ำ)


ซากวิหารหลวงหน้าเจดีย์เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อเพชร เป็นพระสลักหินศิลปะล้านนาผสมสุโขทัย อายุราวยุคพุทธศตวรรษที่ 19 องค์ด้านข้างเรียกว่าหลวงพ่อเพชรเหมือนกัน แต่เป็นปางลีลา อายุรุ่นราวคราวเดียวกัน ปัจจุบันล็อคไว้ในกรงเหล็กป้องกันขโมย

 

 

 
ข้างพระธาตุมีศาลาไม้มุงสังกะสีแบบโบราณไม่มีการลงเสาเข็ม แต่วางเสาไม้บนพื้นเฉยๆ พอจะย้ายที่ก็ยกไปได้เลยครับ
 
เรือโบราณอายุกว่า 100 ปี ชื่ออีโขนและอีเรไร ขุดจากไม้ตะเคียนทั้งต้น ใช้ในประเพณีแข่งเรือในอดีต แต่ปัจจุบันประเพณีแข่งเรือในแม่น้ำแควน้อยยกเลิกไปแล้วนะครับ
 

พอจุใจกับเมืองนครไทยแล้วก็ขึ้นไปเทึ่ยวลานหินแตกต่อครับ (เดี๋ยวเอาไปรวมกับบล็อกเขาค้อ) ลงมาบ่ายสองกว่าๆ กลับเข้ามาเมืองนครไทย แล้วไปต่อเข้าไปพักที่ตัวเมืองพิษณุโลก

คืนนี้นอนที่นี่ครับ มนต์ระวีพาวิเลียนรีสอร์ต คืนละ 450 ถูกดี ที่พักหน้าตาดีงาม ที่จอดรถเยอะ อยู่ซอยไม่ลึก ใกล้เซ็นทรัลพิษณุโลกด้วย แต่อ่างล้างหน้าตันจ้า ผู้ดูแลก็เรียกช่างมาซ่อมให้เรียบร้อย


มื้อเย็นกินข้าวเย็นที่ Sizzler เซ็นทรัลพิษณุโลกครับ สิ้นคิดจริงๆ มื้อเช้าวันต่อมาลองหาร้านเปิดเช้าๆในท้องถิ่นกินบรรยากาศ มาเจอร้านสกุลเงินใกล้ที่พักอันนี้ก็แจ่มเลย มีทั้งข้าวราดแกง ข้าวคลุกกะปิ ต้มเลือดหมู ก๋วยเตี๋ยว ฯลฯ อร่อยด้วยครับ


ไหนๆก็มาถึงพิษณุโลกก็แวะไหว้พระพุทธชินราชหน่อย แล้วก็ดิ่งกลับครับ ขากลับแวะเที่ยวเมืองโบราณดงแม่นางเมืองและจันเสนที่นครสวรรค์ตามที่อัพบล็อกไปแล้ว แล้วก็ดิ่งกลับจริงจัง จบทริปปีใหม่ปีนี้ไปอย่างรวดเร็ว

เขาค้อที่ค้างไว้เดี๋ยวบล็อกหน้าพาเที่ยวน้า~ 118



 
Create Date :17 มีนาคม 2562 Last Update :17 มีนาคม 2562 20:54:33 น. Counter : 10056 Pageviews. Comments :49