bloggang.com mainmenu search

บล็อกสุดท้ายของซีรี่ยส์ "เส้นทางปราสาทหิน ดินแดนอีสานใต้" แล้วครับ หลังจากลุยปราสาทหินตามเส้นทาง 24 ตอนใต้สุดของอีสาน และ 226 ที่ผ่านตัวเมืองจังหวัดทางใต้ของอีสานมาแล้ว คราวนี้มาชมปราสาทหินริมเส้นทาง 202 ที่อยู่เหนือขึ้นมาอีกหน่อย สายนี้ค่อนข้างรกร้างกว่าสองเส้นที่ผ่านมา เพราะมันไม่ได้ผ่านตัวเมืองหรือสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมอะไร มันเป็นเส้นที่ผมใช้ขากลับของการเดินทางเยือนอุบลเมื่อปี 2013 ครับ ขามาแล่นเส้นล่างไปแล้ว ขากลับเลยแล่นเส้นบนเพื่อเที่ยวจังหวัดที่มีโอกาสน้อยนิดที่จะได้ไปอย่าง ยโสธร-ร้อยเอ็ด-มหาสารคาม

แผนที่เก่า เอามาใช้อีกแล้ว (จิ้มที่ภาพเพื่อชมภาพใหญ่) หนนี้ดูเส้น 202 ด้านบนเลยครับ

ขอเล่าตามเส้นทางที่เดินทางจริงๆ ดังนั้นจะย้อนจากอุบลกลับไปกรุงเทพนะ หลังจากเราเที่ยวอุบลจนหนำใจ (เปลี่ยนยางไปเส้นนึงเพราะถนนที่โขงเจียมมันพิการ) ก็เข้ามานอนที่อำนาจเจริญ จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำที่สุดในประเทศไทย แต่ดันลืมแวะที่เที่ยวของจังหวัดนี้อย่างพระมงคลมิ่งเมือง ถ้าผมจะทำลิสต์ที่เที่ยว 77 จังหวัดสงสัยต้องไปอำนาจเจริญอีกรอบ

หลังขับผ่านอำนาจเจริญมาแล้วเราก็มาถึงเมืองยโสธร ขอแวะพระธาตุก่องข้าวน้อยสักหน่อย อยู่ห่างจากตัวเมืองแค่ 5 กม. ครับ ถึงจะเป็นศิลปะล้านช้าง ไม่เข้ากับซีรี่ยส์ปราสาทขอม แต่ถ้าไม่เล่าในบล็อกนี้ก็คงไม่มีที่ให้เล่าอีกแล้ว

เรารู้จักพระธาตุก่องข้าวน้อยกันตั้งแต่เด็กๆเพราะคุณครูสอนในแบบเรียนมานี-มานะ ไม่รู้ว่าสมัยนี้ยังสอนเรื่องเกี่ยวกับก่องข้าวน้อยอยู่หรือเปล่านะครับ ตำนานเล่าว่าแม่ทำกับข้าวใส่ก่องข้าวมาให้ลูกที่ทำนาเหน็ดเหนื่อย ด้วยความหิวพอเห็นก่องข้าวมันเล็กเลยโมโหตบตีแม่จนตาย แต่พอลองกินดูก็พบว่าข้าวที่แม่เตรียมไว้ให้ไม่ได้น้อยเลย เมื่อสำนึกได้ดังนั้นเขาจึงสร้างเจดีย์เพื่อไถ่บาปที่ฆ่าแม่ (ฉากนี้คุณครูต้องเล่าไปพยายามบิลท์อารมณ์ไป แต่ทั้งห้องผมเห็นครูอินอยู่คนเดียว) ซึ่งก็เหมือนตำนานท้องถิ่นอื่นๆละครับ มันเกิดมาทีหลังจากโบราณสถานถูกสร้างไปแล้ว แต่เจดีย์ก่องข้าวน้อยแห่งนี้ก็ไม่ได้เก่าแก่อะไรนัก มันสร้างขึ้นในสมัยพุทธศตวรรษที่ 24 ยุครัตนโกสินทร์แล้ว มีลักษณะศิลปะแบบลาว ซึ่งคนไทยดูแล้วก็คิดถึงก่องข้าว เลยแต่งตำนานที่ว่าขึ้น แต่เดิมแถวนี้มีเพียงเจดีย์ตั้งอยู่กลางทุ่งนา แต่พอเจดีย์มีชื่อเสียง คนเริ่มเข้ามากราบไหว้บูชา ร้านค้าขนาดย่อมๆก็ตามมาครับ วันนี้พวกเรามาถึงกันตั้งแต่แปดโมงเช้า ได้เป็นลูกค้าเจ้าแรกของคุณยายขายของที่ระลึกข้างๆเจดีย์ด้วย

จากเจดีย์ก่องข้าวน้อย ลงมาตามเส้น 23 ต่อ จนถึงเขตเมืองโบราณเมืองเตย จากลักษณะศิลปะของโบราณสถานที่พบในบริเวณนี้สัญนิษฐานได้ว่าถูกสร้างตั้งแต่ช่วงแรกๆก่อนอาณาจักรขอมจะรุ่งเรือง เป็นศิลปะแบบสมโบร์ไพรกุกที่หาได้ยากยิ่งในประเทศไทยครับ และนักโบราณคดีเคยเชื่อว่านี่คือสิ่งก่อสร้างภายใต้อิทธิพลขอมที่เก่าแก่ที่สุดที่พบในประเทศไทย จนกระทั่งค้นพบซากสิ่งก่อสร้างที่ดอนขุมเงิน อ.หนองฮี จ.ร้อยเอ็ด ที่สร้างตั้งแต่สมัยพระเจ้าจิตรเสน รัชกาลแรกสุดของอาณาจักรเจนละ (พ.ศ. 1150-1159) ต้นกำเนิดของอาณาจักรขอมอันยิ่งใหญ่ในยุคต่อมา ...แต่น่าเสียดายที่ผมหาแหล่งโบราณคดีดอนขุมเงินไม่เจอ ชมภาพโบราณสถานที่เมืองเตยไปก่อนแล้วกัน (แป่ว!)


โบราณสถานดงเมืองเตย อ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร


ทุ่งกุลาร้องไห้ ครอบคลุมบริเวณที่ค้นพบโบราณสถานขอมยุคก่อนเมืองพระนครหลายแห่ง

โบราณสถานยุคพระเจ้าจิตรเสนนับว่าเป็นมรดกทางโบราณคดีที่ล้ำค่าและหายากยิ่ง เพราะในยุคแรกนี้ยังไม่นิยมสร้างปราสาทมากเหมือนสมัยหลังๆ ส่วนใหญ่ยังใช้ถ้ำเป็นศาสนสถาน ดังที่พบคำจารึกในถ้ำเป็ดทอง จ.บุรีรัมย์กล่าวถึงพระเจ้าจิตรเสนว่า "พระเจ้าจิตรเสนผู้มีเกียรติภูมิแห่งผู้ครองแผ่นดินอันยิ่งใหญ่ แผ่ไปสุดแผ่นดินผืนฟ้า" (เนื้อหาส่วนใหญ่ลบเลือนไป เลยแต่งเติมบางส่วนน่าจะมีนัยราวๆนี้)

ไหนๆก็มาถึงดินแดนที่มีแหล่งโบราณคดียุคก่อนเมืองพระนครแล้ว ว่าแล้วก็ได้ฤกษ์เล่าถึงประวัติศาสตร์ขอมตั้งแต่ต้นกำเนิดกันเสียที...

อาณาจักรฟูนันที่มีศูนย์กลางที่เมืองออกแก้วประเทศเวียดนามนับว่าเป็นที่แรกๆที่พ้นจากความเป็นยุคหินและก่อตั้งขึ้นในพื้นที่สุวรรณภูมินี้ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 7-8  กษัตริย์คนแรกของฟูนันคือโกณฑัญญะพราหมณ์จากอินเดียซึ่งได้สมรสกับนางพญาโสมา (เป็นคนพื้นเมืองเดิมไม่สวมเสื้อผ้า) หลังแต่งงานโกณฑัญญะได้นำอารยธรรมมาเผยแพร่ในดินแดนนี้ และถ่ายทอดวัฒนธรรมมายังอังกอโบเรยในพื้นที่ประเทศกัมพูชาในเวลาต่อมา

หลังจากนั้นหลายร้อยปี ในพุทธศตวรรษที่ 12 เจ้าชายจิตรเสนร่วมกับภววรมันที่ 1 แห่งภวปุระได้โจมตีฟูนันจนล่มสลาย และก่อตั้งเป็นอาณาจักรเจนละขึ้นมา ในตอนล่างของลาวคาบเกี่ยวกับพื้นที่ในอุบลราชธานี และเติบโตแผ่อิทธิพลเข้าไปในพื้นที่อีสาน ลาวตอนล่าง และบางส่วนของกัมพูชา หลังครองราชย์ เจ้าชายจิตรเสนได้พระนามว่ามเหนทรวรมัน มีกษัตริย์ปกครองเจนละต่อมาหลายองค์จนกระทั่ง พ.ศ.1250 เจนละได้แบ่งเป็นสองส่วน คือเจนละบกทางตอนเหนือ และเจนละน้ำที่ติดชายทะเล แต่พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ก็สามารถรวมเจนละทั้งสองเข้ากันได้ และสร้างเมืองพระนครขึ้นในปี พ.ศ.1350 เรียกว่าเป็นจุดเริ่มต้นของอาณาจักรขอมอันยิ่งใหญ่โดยแท้จริง ขอมขึ้นเป็นมหาอำนาจของพื้นที่นี้ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15-18 และยิ่งใหญ่ที่สุดในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ผู้สร้างปราสาทบายนเป็นศูนย์กลางเมืองพระนครแห่งใหม่ และสร้างปราสาทหินอื่นๆอีกมากมาย นับว่าขอมเป็นอาณาจักรโบราณที่รุ่งเรืองอยู่เป็นเวลานาน ก่อนจะค่อยๆเสื่อมอำนาจลงเมื่อผู้นำในดินแดนต่างๆตั้งตนเป็นอิสระ ไม่ว่าจะเป็นสุโขทัย ล้านนา สุพรรณบุรี อโยธยา นครศรีธรรมราช ฯลฯ เป็นการเปิดศักราชของชนชาติไทยหลังสิ้นยุคของขอมไป

บางคนเคลมว่าขอมไม่ใช่เขมร ซึ่งมันก็พอๆกับการพูดว่าอาณาจักรพระนครศรีอยุธยาไม่ใช่ประเทศไทยนั่นละครับ จะว่าผิดก็ไม่ผิด ชาติพันธุ์ที่ปะปนผ่านกาลเวลาที่ยาวนานก็ทำให้ยากที่จะสืบค้นได้ว่าคนเขมรปัจจุบันเป็นลูกหลานของชาวอาณาจักรขอมที่ยิ่งใหญ่มากน้อยเพียงใด การอ้างสิทธิ์ทางวัฒนธรรมเลยกำหนดเอาตามพื้นที่ๆประเทศนั้นครอบครองในปัจจุบัน เหมือนกับที่คนอียิปต์เป็นเจ้าของอารยธรรมอียิปต์โบราณ ทั้งที่คนอียิปต์ปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นอิสลามที่เข้ามาภายหลังจากที่อียิปต์โบราณล่มสลายไปเกือบสองพันปีแล้ว ในยุคที่อาณาจักรขอมรุ่งเรืองนั้นศูนย์กลางอยู่ในเขมรปัจจุบัน ในขณะที่โบราณสถานของขอมหลายๆแห่งปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ๆครอบครองโดยประเทศอื่นๆ เราก็ถือเอาปราสาทขอมที่อยู่ในพื้นที่ประเทศไทยเป็นสมบัติของคนไทยตามกฎกติกาสากล ส่วนปราสาทบนพื้นที่ทับซ้อนก็เป็นสมบัติของทั้งสองชาติไป แต่ไม่ต้องไป offense เขมรว่าขอมไม่ใช่เขมรหรอกนะ

กลับมาเส้น 202 ขับมาทางตะวันตกเข้าเขตจังหวัดร้อยเอ็ด ยังคงอยู่ในโซนทุ่งกุลาร้องไห้ที่กินพื้นที่หลายจังหวัดในแถบนี้ครับ พูดถึงปราสาทขอมยอดนิยมของร้อยเอ็ดก็ต้องกู่พระโกนาและกู่กาสิงห์ที่ตั้งอยู่ห่างกันไม่มาก

กู่พระโกนาอยู่ในเขตวัดกู่พระโกนาที่เลี้ยงลิงไว้มากมาย เป็นปราสาทขอมสมัยบาปวน อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 ที่ถูกวัดดัดแปลง โดยเฉพาะเจดีย์องค์กลางถูกฉาบเป็นสถูปแบบพุทธมีซุ้มพระพุทธรูป แล้วจับพระพุทธบาทยัดเข้าไป ดูไม่จืดเลยครับ



กู่กาสิงห์ อายุรุ่นราวคราวเดียวกับกู่พระโกนา แต่นับว่าโชคดีกว่าเพราะยังคงสภาพเดิมไว้ กู่นี้ตั้งอยู่ในเขตวัดบูรพากู่กาสิงห์ที่มีพื้นที่มากมาย ไม่มีการต่อเติมอะไรมารุกล้ำ/รบกวน/บดบังตัวโบราณสถานครับ



ดิ่งมาทางกรุงเทพ เข้าเขตมหาสารคาม จุดเที่ยวหลักของที่นี่สำหรับผมคือพระธาตุนาดูน โบราณสถานยุคทวารวดีที่แม้จะถูกสร้างของใหม่ทับไปแล้ว แต่ของใหม่ก็ดูสวยงามใหญ่โต เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูดผู้คนได้ไม่น้อย ...ซึ่งแปะรูปไปหมดแล้วในบล็อกเมืองโบราณจำปาศรีครับ เป็นเซ็ตทวารวดี ไม่เกี่ยวข้องกับขอมน่ะ แต่ในบริเวณเดียวกันหลังสิ้นยุคทวารวดีไปแล้วขอมก็แผ่อิทธิพลเข้ามา ใกล้ๆกับพระธาตุนาดูนก็มีกู่สันตรัตน์เป็นโบราณสถานสมัยขอมรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 วันนี้ฝนตกพรำๆ แถมรั้วลวดหนามล้อมซะจนหาทางเข้าไม่เจอ อันนี้เลยถ่ายห่างๆ


ปรางค์กู่สวนแตง อยู่ในบุรีรัมย์ อ.บ้านใหม่ไชยพจน์ ตรงส่วนที่ยื่นเลยตัวจังหวัดมาแบบโด่ๆนี่ละครับ ทำไมไม่ทำตรงนี้เป็นโคราชไปเลยฟะ? ปราสาทนี้เป็นศิลปะแบบนครวัด ยุคขอมรุ่งเรืองเลยครับ หน้าตาเลยสวยงามสมฐานะปราสาท ตรงกลางมีปรางค์สามหลัง และมีทับหลังที่สวยงามจำนวนมาก แต่ย้ายเข้าพิพิธภัณฑ์ไปหมดแล้วน่ะ



อีกนิดเดียวครับอีกนิดเดียว... พอเข้าเขตโคราชก็รู้สึกเหมือนหลุดจากเส้นทางร้างผู้คนมาใกล้บ้านที่กรุงเทพแล้ว Smiley

ปราสาทนางรำ อยู่ที่ อ.ประทาย จ.นครราชสีมา สร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ประกอบด้วยปราสาทสองหลัง หลังที่เรียกว่าปราสาทนางรำเป็นอโรคยาศาล


ห่างไป 80 เมตรมีปราสาทอีกหลังที่ชาวบ้านเรียกว่ากู่พราหมณ์จำศีล เป็นปราสาทสามหลังตั้งบนฐานศิลาแลงเดียวกัน ...วันนี้ฝนตกเดินยากสักหน่อย


คืนนี้เรานอนที่โคราช วันต่อมาก็แวะเที่ยวสวนสัตว์โคราชและพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน แล้วค่อยกลับกรุงเทพ

หมดแล้วครับ สำหรับเส้นทางที่มีปราสาทหินชุกชุมที่สุดในประเทศไทยทั้งสามสายในดินแดนอีสานใต้ แต่ยังไม่ได้กล่าวถึงปราสาทหินยอดนิยมอย่างพิมาย พนมรุ้ง เมืองต่ำ เมืองสิงห์ และอื่นๆอีกมากมายเลย เดี๋ยวจะค่อยๆทยอยตามมาจนครบซีรี่ยส์ปราสาทหินครับ

Smiley



Create Date :23 กันยายน 2558 Last Update :23 กันยายน 2558 20:41:13 น. Counter : 6655 Pageviews. Comments :26