bloggang.com mainmenu search

ลมหนาวมาแล้ว ได้เวลาท่องเที่ยว แต่สถานการณ์โควิดก็ยังไม่น่าไว้วางใจ โดยเฉพาะตัวใหม่โอไมครอน ที่เก่งกาจยิ่งกว่าตัวเก่าขึ้นเรื่อยๆ สไตล์ผู้ร้ายในการ์ตูนโชเน็น ท่องเที่ยวด้วยความระมัดระวังนะครับ ควรนำรถยนต์ของท่านไปต้มฆ่าเชื้อก่อนใช้งานทุกครั้ง

เอ็นทรี่นี้พาเดิน กทม. นี่แหละ ช่วงปลายปีแบบนี้ขึ้นเหนือไปรับลมหนาวกันซะให้หมด กทม. จะเงียบสงบน่าเดินมาก โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลครับ ภาพชุดนี้ถ่ายไว้ตั้งแต่ ธ.ค. ปีที่แล้ว เพิ่งจะมีโอกาสได้ลง เพราะปีใหม่ปุ๊บโควิดมาปั๊บ สถานที่เที่ยวปิดตัวรัวๆ ลงบล็อกไปเพื่อนๆ ก็เที่ยวตามกันไม่ได้ เลยขอกั๊กไว้ก่อน เพราะสถานที่ในบล็อกนี้อยากให้ทุกคนตามรอยไปเที่ยวจริงๆ มันดีม้าก-มาก! นั่นคือการเดินเที่ยวรอบ ม.ศิลปากรครับ มีหลายอาคารเป็นที่เก็บงานศิลปะและเปิดให้คนภายนอกเข้าชม ซึ่งบล็อกนี้จะพาไปชมสามที่ครับ คือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี หอประติมากรรมต้นแบบ และตึกถาวรวัตถุ



ม.ศิลปากร เป็นมหาวิทยาลัยศิลปะแห่งแรกของประเทศไทย ถือกำเนิดจากโรงเรียนประณีตศิลปกรรม สังกัดกรมศิลปากร ก่อตั้งโดยหลวงวิจิตรวาทการในปี พ.ศ.2476 โดยมี ศ.ศิลป์ พีระศรี ชาวอิตาลีที่เดินทางมารับราชการในประเทศไทยเป็นผู้สอนหลัก สถานที่ตั้งของโรงเรียนประณีตศิลปกรรมตั้งอยู่ในวังท่าพระ ซึ่งเดิมเป็นวังของกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ แต่ท่านไปประทับที่ตำหนักปลายเนินแล้ว รัฐบาลคณะราษฎร์จึงรับซื้อมาจากทายาท เปิดเป็นโรงเรียนให้ประชาชนโดยไม่เก็บค่าเล่าเรียน และต่อมาได้ยกระดับขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากรในปี พ.ศ.2486

อาคารสำนักบริหารกลางของกรมศิลปากรก็ตั้งอยู่ในเขตมหาวิทยาลัยนะครับ
กรมศิลปากร ตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2454 สมัย ร.6 และโอนจากกระทรวงศึกษาธิการมาขึ้นตรงกระทรวงวัฒนธรรมในปี พ.ศ.2545 ดูแลทั้งโบราณคดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอจดหมายเหตุ หอสมุดแห่งชาติ ฯลฯ สิ่งร้อยอันพันอย่างที่บล็อกนี้เฝ้าติดตาม ส่วนใหญ่ก็ล้วนอยู่ภายใต้การดูแลของกรมศิลปากรแห่งนี้เองครับ วงการประวัติศาสตร์ไทยจะรุ่งเรืองมากน้อยแค่ไหนขึ้นกับฝีมือหน่วยงานนี้เป็นหลักเลยครับ อย่าทำผลงานน่าผิดหวังแบบหนังสือประวัติศาสตร์ชาติไทย (2558) ออกมาอีกนะ เอ้า เด็กๆ ช่วยกันตะโกนเชียร์ให้พลังกรมศิลปากรหน่อยครับ กรมศิลป์สู้เค้า~ 119 กรมศิลป์สู้เค้าน้า~ 119


จอดรถที่วัดมหาธาตุน่าจะสะดวกสุด เดินเข้าประตูฝั่งสนามหลวงมา (ช่วงนี้มีก่อสร้างนะครับ) ผ่านหน้ากรมศิลปากรมาจะพบอาคารเล็กๆ เป็นออฟฟิศเดิมของ อ.ศิลป์ พีระศรี ที่ตอนนี้เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ครับ
 
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
ศิลป์ พีระศรี
(Silp Bhirasri National Museum)

 

ศ.ศิลป์ พีระศรี (ชื่อเดิมคอร์ราโด เฟโรจี) เกิดที่เมืองฟลอเรนซ์ อิตาลี เมื่อปี พ.ศ.2435 และเป็นศาสตราจารย์ตั้งแต่อายุ 23 รัฐบาลไทยได้ตกลงกับรัฐบาลอิตาลี ว่าจ้างเข้ามารับตำแหน่งช่างปั้นของศิลปากรสถาน (ต่อมาคือกรมศิลปากร) และแสดงฝีมือเป็นที่น่าพอใจ จนได้รับความไว้วางใจให้ออกแบบและปั้นอนุสาวรีย์สำคัญของประเทศมาตลอด ท่านได้ริเริ่มให้รัฐบาลตั้งโรงเรียนศิลปะแห่งแรกในประเทศไทยขึ้น และต่อมาได้ยกระดับเป็น ม.ศิลปากร โดย ศ.เฟโรจีเป็นคณบดีคณะจิตรกรรมและประติมากรรมคนแรก ท่านเป็นผู้ริเริ่มให้จัดงานแสดงศิลปกรรม และเป็นผู้บุกเบิกศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังอิตาลียอมแพ้ต่อสัมพันธมิตร  รัฐบาลให้ท่านโอนสัญชาติเป็นไทยเพื่อไม่ให้ถูกญี่ปุ่นคุมตัวไปเป็นเชลย ท่านเปลี่ยนชื่อเป็น ศิลป์ พีระศรี และสมรสกับคนไทยคือ น.ส.มาลินี เคนนี ท่านเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจในปี พ.ศ.2505 รวมอายุได้ 69 ปี

หลายครั้งที่สยามเจริญก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดด้วยการเปิดรับวิทยาการจากภายนอก แม้แต่โลกแห่งศิลปะก็เรียกได้ว่า อ.ศิลป์ พีระศรี คือบิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยของไทยเลยก็ว่าได้

 


นอกจากผลงานศิลปะแล้ว ยังมีคติพจน์มากมายที่ อ.ศิลป์ พีระศรี ทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลัง เป็นแนวคิดที่ผลักดันให้งานศิลปะมีความก้าวหน้าและพลิกแนวคิดดั้งเดิมของคนไทยยุคนั้นไปหลายอย่าง แม้แต่คนนอกวงการอย่างเราๆ ก็น่าจะคุ้นเคยกับคำพูดเหล่านี้ดีนะครับ
 
"ชีวิตสั้น ศิลปะยืนยาว"

"พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว"

"นายไม่อ่านหนังสือ นายจะรู้อะไร"

"พวกเธอต้องเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ก่อน... จึงจะเรียนศิลปะ"

"ถ้านายรักฉัน นายทำงาน"


พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี ตั้งขึ้นโดยเหล่าลูกศิษย์ของ อ.ศิลป์ เพื่อรำลึกเกียรติคุณของท่าน โดยเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.2527 แบ่งเป็นสองห้อง ห้องแรกจัดแสดงผลงานจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ ของเหล่าลูกศิษย์ ซึ่งนับเป็นศิลปะร่วมสมัยยุคแรกของประเทศไทยตามแนวทางที่ อ.ศิลป์วางรากฐานไว้
 

รูปสำริด "ศ.ศิลป์ พีระศรี"
ผลงานคุณสนั่น ศิลาภรณ์ (2509)

 

รูปสำริด "มาลินี พีระศรี" (ภรรยา)
หล่อจากต้นแบบปลาสเตอร์ฝีมือศิลป์ พีระศรี (2538)

 

รูปสำริด "เสียงขลุ่ยทิพย์" ผลงานคุณเขียน ยิ้มศิริ
ชนะเหรียญทองการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 1 ปี 2492

 

รูปหล่อปลาสเตอร์ "มาลีแรกแย้ม" ผลงานคุณแสวง สงฆ์มั่งมี
ชนะเหรียญทองการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 2 ปี 2493

 


ห้องชั้นในแสดงโต๊ะ เครื่องมือทำงาน และของใช้ส่วนตัว ของ อ.ศิลป์ โดยจัดแสดงเหมือนครั้งที่ อ.ศิลป์ยังใช้งานอยู่จริงๆ มีหนังสือหายากที่ อ.ศิลป์ใช้หาข้อมูลศิลปะตะวันตก รวมทั้งมีผลงานศิลปะฝีมือ อ.ศิลป์จัดแสดงอยู่ด้วย


แม้จะเป็นพิพิธภัณฑ์เล็กๆ แต่การจัดวางและการใช้สีทำให้มู้ดแอนด์โทนออกมาสวยงามลงตัว สมศักดิ์ศรีเหล่าศิษย์ผู้เป็นมืออาร์ตชั้นนำของประเทศจริงๆ ครับ ที่นี่เวลาเปิด-ปิดเหมือนพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอื่นๆ คือปิดวัน จ.-อ. นะครับ

นี่เป็นทริปแรกที่ทดลองใช้กล้องใหม่ Cannon EOS M50 MkII ตัวเล็กกว่าเดิม เพราะขี้เกียจแบกกล้องใหญ่ คุณภาพก็ลดลงไปตามขนาดและราคา ไม่แน่ใจว่าที่ถ่ายๆ ไป พอลงในคอมแล้วจะสวยมั้ย ออกจากพิพิธภัณฑ์ได้ก็ขอลองมาโครกับกระถางบัวดูสักภาพ


โอเค... ผ่าน


ต่อไปคือหอประติมากรรมต้นแบบ อยู่ตึกถัดเข้าไปข้างในครับ
  หอประติมากรรมต้นแบบ
(Hall of Sculpture)

หอประติมากรรมต้นแบบ เดิมเป็นโรงหล่อของกรมศิลปากรที่สร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2499 ใช้ขึ้นรูปประติมากรรม และอนุสาวรีย์ต่างๆ จนกระทั่งย้ายไปที่ใหม่ที่อาคารประติมากรรมและหล่อหลอมโลหะ ถนนพุทธมณฑลสาย 5 ในปี พ.ศ.2530 ส่วนโรงหล่อเก่าถูกเปลี่ยนเป็นที่จัดแสดงผลงานประติมากรรมต้นแบบของอนุสาวรีย์และงานปั้นชิ้นสำคัญต่างๆ ก่อนขึ้นรูปจริง มีทั้งผลงานของ อ.ศิลป์ พีระศรี ผู้สร้างพื้นฐานงานปั้นให้แก่ประเทศไทย และผลงานของศิษย์เอกมากมาย ต้นแบบของอนุสาวรีย์ที่เราคุ้นเคยกันเกือบทั้งประเทศ อยู่ที่นี่แล้วครับ! 117


ตัวอาคารเป็นอาคารสูงสองชั้นเปิดโล่ง อยู่ในความดูแลของสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ที่นี่เปิดเวลาราชการ ปิดเสาร์-อาทิตย์ ถ้าจะมาก็หาวันลาพักร้อนเหมาะๆ นะครับ เข้าชมฟรี




มาชมตัวอย่างชิ้นงาน เด่นๆ กันเลยครับ ทุกคนต้องรู้จักอนุสาวรีย์เหล่านี้...
 
 
ต้นแบบรูปพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ประดิษฐาน: วัดราชนัดดา กรุงเทพ
ประติมากร: นายสุภร ศิระสงเคราะห์
ปี: 2533

 
 
ต้นแบบรูปพระยาพิชัยดาบหัก
ประดิษฐาน: ศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์
ประติมากร: นายสนั่น ศิลากรณ์
ปี: 2511

 
 
ต้นแบบรูปท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร
ประดิษฐาน: อนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร ภูเก็ต
ประติมากร: นายสนั่น ศิลากรณ์
ปี: 2507

 
 
ต้นแบบรูปพระนางจามเทวี
ประดิษฐาน: อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี ลำพูน
ประติมากร: นายสุภร ศิระสงเคราะห์
ปี: 2525

 
 
ต้นแบบพระศรีศากยะทศพลญาณ
ประดิษฐาน: พุทธมณฑล นครปฐม
ประติมากร: ศ.ศิลป์ พีระศรี
ปี: 2500

 
 
ต้นแบบรูปท้าวสุรนารี
ประดิษฐาน: อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี นครราชสีมา
ประติมากร: ศ.ศิลป์ พีระศรี
ปี: 2477

 

แต่ละรูปมีประวัติเบื้องหลังมากมายเลยนะครับ เช่น อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีนับเป็นอนุสาวรีย์แรกในประเทศไทยที่ไม่ใช่ของเชื้อพระวงศ์ เป็นการกระตุ้นจิตสำนึกให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสร้างชาติของคณะราษฎรที่พยายามแสดงให้เห็นว่าประชาชนมีส่วนสำคัญในการสร้างชาติมาตลอด ไม่ได้จำกัดบทบาทอยู่เฉพาะเชื้อพระวงศ์อย่างที่เขียนในประวัติศาสตร์ราชสำนัก หรือพระประธานพุทธมณฑลก็มาจากความสนใจศึกษาศิลปะสุโขทัยของ อ.ศิลป์ พีระศรีอย่างลึกซึ้ง และสร้างพระพุทธรูปรูปแบบใหม่ที่ถือเป็นผสมผสานลัทธิสัจนิยมของตะวันตกเข้ากับศิลปะไทยประเพณีแบบดั้งเดิม เนื่องในวโรกาสพระพุทธศักราชเวียนมาบรรจบครบรอบ 2,500 ปีด้วย

อีกชิ้นงานที่สำคัญคือพระพักตร์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่ง อ.ศิลป์ พีระศรี ได้รับมอบหมายให้สร้างอนุสาวรีย์ที่วงเวียนใหญ่ ไม่มีใครทราบว่าหน้าตาของพระเจ้าตากเป็นเช่นไร อ.ศิลป์ จินตนาการว่าท่านมีลักษณะไทยปนจีนที่ค่อนไปทางไทย มีความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว เกรี้ยวกราด และอายุอยู่ในช่วง 30-40 ปี (ช่วง prime) ท่านนำแบบหน้าตาของศิษย์สองคนคือคุณทวี นันทขว้าง และคุณจำรัส เกียรติก้อง มาผสมผสานกัน แล้วภาพจินตนาการที่ถูกปั้นออกมานี้ก็กลายเป็นภาพจำของพระเจ้าตากสินในใจผู้คนส่วนใหญ่มานับแต่นั้น


ที่นี่ยังคงมีผลงานประติมากรรมต้นแบบชิ้นสำคัญทยอยเข้ามาเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องนะครับ อย่างต้นแบบอนุสาวรีย์ที่อุทยานราชภักดิ์ก็ถูกเก็บไว้ที่ชั้นสอง ปลาสเตอร์ชิ้นใหม่ๆ สีขาวจ๋องแบบนี้เลยครับ ต้องเก็บไว้นานๆ ถึงจะคลาสสิคเหมือนชิ้นอื่น



ไหนๆ มาโซนนี้แล้วเที่ยวตึกถาวรวัตถุแถมด้วยครับ อยู่ในเขตวัดมหาธาตุติดกันพอดี หลังตึกมีอนุสาวรีย์เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ โอรสรัชกาลที่ 5 ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นสยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรกของประเทศไทย แต่สรรคตด้วยไข้รากสาดน้อยในปี พ.ศ.2437 ขณะอายุได้เพียง 15 พรรษา ทำให้บัลลังก์รัชกาลที่ 6 เลื่อนไปเป็นของบุคคลลำดับถัดๆลงไป

 
ตึกถาวรวัตถุ
(Thawon Watthu Building)

 

หลังเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศสวรรคต ร.5 ได้บูรณะวัดมหาธาตุ และเพิ่มคำสร้อย "ยุวราชรังสฤษฎิ์" ในชื่อวัด พร้อมใช้พื้นที่กุฏิสงฆ์ด้านตะวันออกของวัดสร้างเป็นตึกถาวรวัตถุแทนอาคารประกอบพระเมรุ เพื่ออัญเชิญศพมาบำเพ็ญกุศล หลังจากนั้นก็ใช้เป็นมหาธาตุวิทยาลัย ที่เล่าเรียนของพระสงฆ์ แต่การก่อสร้างมาแล้วเสร็จในสมัย ร.6 ปี พ.ศ.2459 ปัจจุบันใช้สำหรับจัดแสดงนิทรรศการพระราชกรณียกิจ ร.5 มีแบบจำลองอาคารสำคัญๆ ที่ก่อสร้างในยุคนั้น เอกสารสำคัญในประวัติศาสตร์ โปสการ์ดและแสตมป์ที่ระลึกที่เกี่ยวข้องกับ ร.5 รวมถึงภาพถ่ายเก่าๆ ด้วย

ที่นี่ปิดวัน จ.-อ. เช่นเดียวกับพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่นะครับ






....

วันนั้นเดินเที่ยวในพระนครไปซะค่อนวัน ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งผ่านมาไม่นานยังเหลือร่อยรอยให้ติดตามแบบไม่ต้องใช้จินตนาการมากมายเลยครับ ช่วงปลายปีลมหนาวคงช่วยให้เดินกรุงเทพได้สนุกขึ้น แล้วจะทยอยเอาเรื่องราวของรัตนโกสินทร์มาเล่าสู่กันฟังในเอ็นทรี่ถัดๆไป ถ้าโอไมครอนไม่ระบาดหนักจนต้องปิดเมืองไปอีกรอบอะนะ 118



 
Create Date :28 พฤศจิกายน 2564 Last Update :10 ธันวาคม 2564 21:36:03 น. Counter : 3002 Pageviews. Comments :43