bloggang.com mainmenu search
เมืองที่ 5 จาก 10 เมือง นับว่ามาได้ครึ่งทางแล้วนะครับ สำหรับทริปโบราณคดียุคทวารวดีเดือนนี้ หลังจากพาเที่ยวรอบๆปริมณฑลมาหลายจังหวัดแล้ว วันนี้จะพาไปชมเมืองโบราณทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือกันบ้าง ขอแนะนำทุกท่านไปพบกับเมืองโบราณเสมา อ.สูงเนิน จังหวัดนครราชสีมาครับ

เมืองเสมาอยู่เลยวัดสรพงษ์มานิดเดียว ไม่ไกลจากกรุงเทพเลยครับ จุดที่ไม่ควรพลาดชมเป็นอย่างยิ่งคือวัดธรรมจักรเสมาราม ซึ่งมีพระนอนสมัยทวารวดีองค์ใหญ่อยู่ สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 สลักจากหินทรายหลายก้อนเรียงซ้อนกัน ยาว 13.3 เมตร นับเป็นพระนอนที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย



รอบวิหารมีหินตั้งล้อมอยู่ แสดงวิวัฒนาการจากหินตั้งที่ใช้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในยุคดึกดำบรรพ์เป็นใบเสมาในยุคทวารวดี น่าเสียดายวันที่ผมไปเช้าไปหน่อย อาคารที่มีธรรมจักรตั้งแสดงอยู่ยังไม่เปิด อดดูครับ Smiley

เข้ามาในบริเวณเมืองเสมาซึ่งเมืองชั้นในยังคงเหลือร่องรอยชัดเจนมาจนถึงปัจจุบัน (ตามเส้นสีแดง) เพราะคูน้ำที่ล้อมเมืองกว้างถึง 10-20 เมตร แบ่งโซนออกเป็นเกาะกลางน้ำไปเลย แต่เมืองชั้นนอกมีขอบเขตไม่ชัดเจนครับ คาดกันว่าขนาดเมือง (นับจากกำแพงเมืองชั้นนอก) น่าจะราวๆ 1000 เมตร x 2000 เมตร น้องๆเมืองนครชัยศรีเลย





คูน้ำรอบเมืองชั้นใน

ที่นี่มีโบราณสถานทั้งสิ้น 9 แห่ง โบราณสถานหมายเลข 1 อยู่ใจกลางเมืองครับ มีฐานศิวลึงค์วางอยู่กลางอาคาร



โบราณสถานหมายเลข 2-3 เป็นฐานเจดีย์และฐานอาคาร อยู่ใกล้สระกลางเมือง





โบราณสถานหมายเลข 4 เป็นฐานอาคาร



นอกจากนี้ยังพบเศษโบราณสถานกระจัดกระจายอยู่เป็นจำนวนมาก หลายแห่งก็โดนโจรขุดกรุทะลวงจนเละเทะหมดแล้วครับ พื้นที่นี้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานไปแล้ว ชาวบ้านเข้ามาทำไร่ไถนาไม่ได้แล้วนะ

นักโบราณคดีพบหลักฐานกล่าวถึงอาณาจักรศรีจนาศะ ซึ่งระบุพระนามกษัตริย์ของอาณาจักรแห่งนี้ไม่ตรงกับนามกษัตริย์ขอม และถูกจารึกว่าอยู่ "นอกกัมพุเทศ" จึงน่าจะเป็นอาณาจักรอีกแห่งหนึ่งที่เป็นเอกเทศจากกัมพูชา และคาดว่าอยู่บริเวณที่ราบสูงโคราช โดยพบจารึกในโบราณสถานบ่ออีกาบริเวณเมืองเสมานี้ว่าพระราชาแห่งศรีจนาศะทรงถวายสิ่งของแก่พระภิกษุสงฆ์ และภายหลังบุคคลชื่ออัศเทพได้รับดินแดนที่ถูกละทิ้งไว้นอกกัมพุเทศแห่งนี้ แล้วสร้างศิวลึงค์ตัวแทนพระศิวะขึ้นในปี พ.ศ. 1480 จึงสันนิษฐานได้ว่าเมืองเสมาน่าจะเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรดังกล่าว และเปลี่ยนจากเมืองของพุทธศาสนาเป็นเมืองที่บูชาพระศิวะในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15 ก่อนจะตกอยู่ใต้อำนาจของขอมช่วงพุทธศตวรรษที่ 16

ด้วยความที่ช่วงหลังเมืองเสมารับอิทธิพลศิลปะขอมเข้ามา จึงเกิดปราสาทขอมในบริเวณนี้ ทั้งในเมืองเสมา และนอกเมืองอย่างที่ปราสาทเมืองแขก และปราสาทโนนกู่ (จะพามาเปิดตัวในซีรี่ยส์ปราสาทหินครับ) พบจารึกปี พ.ศ.1514 สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 ที่สั่งให้พราหมณ์ทำจารึกไว้ที่เมืองเสมาซึ่งตอนนั้นอยู่ภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรขอมแล้ว แต่หลังเกิดเมืองพิมายขึ้นช่วงปลายพุทธศตรวรรษที่ 16 และเกิดอโรคยาศาลนับร้อยแห่ง (ปราสาทเมืองเก่าในบริเวณนี้ก็ถูกสร้างขึ้นมาในยุคนี้) ศูนย์กลางอำนาจขอมบริเวณนี้ก็ย้ายไปที่พิมาย แล้วเมืองเสมาก็เสื่อมความสำคัญและถูกปล่อยร้างลงในที่สุด


ในโคราชยังมีร่องรอยชุมชนยุคดึกดำบรรพ์อีกแห่งหนึ่งที่น่าสนใจคือแหล่งโบราณคดีบ้านปราสาทที่ อ.โนนสูงครับ น่าจะเป็นหล่งที่ขุดพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณมากที่สุดแล้ว และพบในหลายช่วงชั้นดิน ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ยุคทวารวดี และยุคขอม นับเป็นที่จัดแสดงนิทรรศการประวัติศาสตร์กลางแจ้งแห่งที่สองต่อจากบ้านเชียง และทำได้เจ๋งขนาดได้รางวัลนานาชาติมาการันตีถึงสองรางวัลคือ รางวัลชนะเลิศ PATA GOLD AWARDS 1994 ในประเภท PATA HERITAGE & CULTURE จาก PACIFIC ASIA TRAVEL ASSOCIATION (PATA.) และ
รางวัลชนะเลิศ THE ASEANTA AWORDS FOR EXCELLENCE IN TOURISM 1996 ในประเภท THE BEST ASEAN CULTURAL PRESERVATION EFFORT เข้าชมฟรี แต่สามารถบริจาคได้นะครับ



พิพิธภัณฑ์บ้านปราสาท จัดแสดงโครงกระดูกและวัตถุโบราณที่ขุดพบ พร้อมจำลองวิถีชีวิตของผู้คนในสมัยก่อนให้ชมด้วย



ที่นี่มีหลุมขุดค้นสามหลุมครับ หลุมขุดค้นที่ 1 มีโครงกระดูกฝังในชั้นดินต่างสมัย ตั้งแต่ชั้นลึกสุดคือมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์เมื่อ 3,000 ปีก่อน, 2,500 ปีก่อน, 2,000 ปีก่อน, 1,500 ปีก่อน ซึ่งแต่ละยุค ของใช้ที่ฝังพร้อมผู้ตายก็จะแตกต่างกันตามพัฒนาการของอารยธรรม ตั้งแต่ลูกปัดหิน กำไลสำริด จนถึงเครื่องปั้นดินเผา



หลุดขุดค้นที่ 2 บริเวณนี้เป็นโบราณสถานสมัยทวารวดีที่เรียกว่ากู่ธารปราสาท พบเศียรพระพุทธรูปและโบราณวัตถุสมัยทวารวดีหลายชิ้นครับ แต่ตัวโบราณสถานถูกทำลายจนเหลือแต่เศษอิฐกระจัดกระจายแล้ว





ชิ้นส่วนฐานรูปเคารพที่พบบริเวณนี้

หลุดขุดค้นที่ 3 ส่วนใหญ่จะฝังพร้อมเครื่องปั้นดินเผาที่ทุบให้แตกแล้ว บางศพก็ฝังพร้อมกระดูกตีนหมู หรือก้อนดินสี




ไหนๆก็พาเถลไถลย้อนมายุคก่อนประวัติศาสตร์แล้ว ขอพาไปชมภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์อีกแห่งในโคราช ที่วัดเขาจันทร์งามครับ วัดนี้อยู่ั่ฝั่งขากลับกรุงเทพก่อนถึงลำตะคลองนิดหน่อย เพิงผาบริเวณวัดพบภาพเขียนสีอายุ 3,000 - 4,000 ปี วาดสวยคมชัดกว่าฝีมือมนุษย์หินแถวภูพระบาทเยอะเลยครับ



ด้านบนสุดแกะสลักภูเขาหินเป็นรอยพระพุทธบาทสี่รอยขนาด 5 เมตร x 9 เมตร ลวดลายงดงาม อันนี้ไม่ใช่ฝีมือมนุษย์หินครับ ฝีมือช่างแถวๆนี้แหละ





จบแล้วครับกับทริปเมืองเสมา โคราช สำหรับที่เที่ยวในโคราชยังเหลือบรรดาสารพัดปราสาทหินที่จะพามาแนะนำในซีรี่ยส์ปราสาทหิน ดินแดนอีสานใต้ เร็วๆนี้ (ทีเซอร์)

แต่ก่อนอื่นผมขอลาพักร้อนไปอียิปต์สองอาทิตย์ครับ จะไปชมอารยธรรมที่เก่าแก่ที่สุดในโลกตั้งแต่เมื่อ 3-4 พันปีก่อน ใช่แล้ว! ยุคเดียวกับที่มนุษยืหินบ้านเรายังวาดรูปเล่นอยู่บนเขาจันทร์งามนี่แหละครับ อียิปต์เขาสร้างเมืองใหญ่โตไปมากมายแล้ว

ฝากบล็อกด้วยจ้า Smiley


Create Date :11 เมษายน 2557 Last Update :11 เมษายน 2557 19:32:47 น. Counter : 9470 Pageviews. Comments :37