bloggang.com mainmenu search

ซีรี่ยส์ประวัติศาสตร์ตอนนี้เดินทางมาถึงกรุงธนบุรีแล้วนะครับ จากความเดิมตอนที่แล้วกรุงศรีอยุธยาได้ถูกทำลายจนพินาศลงไป แต่พระเจ้าตากสินก็ได้รวบรวมกำลังจากหัวเมืองตะวันออก กลับมาขับไล่พม่าออกจากค่ายโพธิ์สามต้นไปได้ ถึงกระนั้นอยุธยาก็บอบช้ำเกินจะนำกลับมาใช้อีก พระเจ้าตากสินจึงพาผู้คนไปสร้างศูนย์กลางอำนาจของชาวไทยแห่งใหม่ และบางกอก เมืองปากอ่าวไทยที่แสนบ้านนอกคอกนาก็ถูกเลือกเป็นที่ตั้งของราชธานีแห่งใหม่ ให้ชื่อว่ากรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร หรือธนบุรีนั่นเอง

บริเวณนี้เป็นแผ่นดินเกิดใหม่ที่เกิดจากการทับถมของดินตะกอนที่ถูกพัดมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง และบางปะกง เหมาะแก่การเพาะปลูกไม้สวน และเริ่มมีผู้คนเข้ามาตั้งหลักแหล่งตั้งแต่สมัยอยุธยา นอกจากความอุดมสมบูรณ์แล้ว ยังเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญเพราะเป็นจุดรวมเส้นทางน้ำจากภายนอกที่จะเข้ามาในแผ่นดิน ควบคุมได้ทั้งเส้นทางเดินกองเรือรบและเส้นทางค้าขาย และทำเลนี้ละครับที่ใช้เป็นเมืองหลวงของประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน (ร.1 เพียงแค่ย้ายวังไปอีกฝั่ง และขีดเส้นแบ่งเมืองกรุงเทพใหม่)

พระเจ้าตากสินได้สั่งให้ขุดคูคลองรอบเมือง ครอบเส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยาไว้ เมืองธนบุรีจึงมีลักษณะเป็นเมืองอกแตกคือมีแม่น้ำผ่ากลาง การสร้างบ้านแปงเมืองและสร้างวัดวาอารามดำเนินไปตลอดรัชสมัย พระเจ้าตากสินไม่คิดสร้างปราสาทหรูหราใหญ่โตเน้นพิธีกรรมแบบอยุธยา แต่กลับอยู่อย่างเรียบง่าย อาคารในเขตวังก็มีเพียงท้องพระโรงที่ขนาดไม่ใหญ่โตนัก อาคารอื่นๆส่วนใหญ่เป็นไม้และถูกรื้อไปหมดแล้ว เดี๋ยวบล็อกแรกของธนบุรีนี้จะพาเที่ยวพระราชวังของธนบุรีกันครับ ซึ่งหลังราชวงศ์จักรียึดอำนาจและไปสร้างพระราชวังใหม่ที่ฝั่งพระนคร วังแห่งนี้ก็ถูกเรียกว่า "พระราชวังเดิม"


แผนผังพระราชวังเดิม (click ที่ภาพเพื่อชมภาพขยาย)

พระราชวังเดิมตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกติดกับป้อมวิไชยเยนทร์ ป้อมสำคัญของบางกอกที่สร้างขึ้นในสมัยพระนารายณ์ (ได้เปลี่ยนชื่อเป็นป้อมวิไชยประสิทธิ์ภายหลัง) ปัจจุบันถูกใช้เป็นกองบัญชาการกองทัพเรือ แต่ในสมัยกรุงธนบุรีที่นี่คือเขตพระราชวังที่พระเจ้าตากสินสร้างขึ้นหลังย้ายศูนย์รวมอำนาจของไทยจากอยุธยาที่พังพินาศลงไปแล้วมาที่กรุงธนบุรี แม้อาณาเขตจะไม่ได้กว้างขวาง อาคารต่างๆ จะไม่ได้หรูหรา แบบพระราชวังในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ก็เต็มไปด้วยเรื่องราวของประวัติศาสตร์ที่อัดแน่นใน 15 ปี ช่วงที่พระเจ้าตากสินครองราชย์ ที่นี่เป็นสถานที่ราชการ หากจะเข้าไปด้านในจะต้องขออนุญาตป้อมด้านหน้า แล้วจะสามารถเข้ามาได้ถึงทางเดินเลียบแม่น้ำที่มีอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน และป้อมวิไชยประสิทธิ์
 


วังเดิมเป็นสถานที่ที่ไปหลายรอบมาก ภาพนี้ถ่ายในรัชกาลที่ 9

อนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน สร้างโดยกองทัพเรือเป็นอนุสรณ์ว่าพระเจ้าตากสินทรงยกกองทัพเรือมาขับไล่ข้าศึกออกจากบริเวณนี้ในปี พ.ศ.2310
 

ฝั่งตรงข้ามพระราชวังเดิมคือวัดโพธิ์ ทางเหนือของวัดโพธิ์เป็นสถานที่ก่อสร้างพระบรมมหาราชวังของกรุงเทพโดยราชวงศ์ปัจจุบัน
 

แต่ถ้าอยากเข้ามาในเขตพระราชวังในหนึ่งปีจะเปิดแค่วันเดียว คือวันตากสิน (28 ธันวาคม) ซึ่งเป็นวันครบรอบที่พระเจ้าตากสินขึ้นครองราชย์ แต่ช่วงหลังจะเปิดยาวหลายวันช่วงปลายปีจนถึงวันตากสิน ต้องลองติดตามข่าวดูเรื่อยๆครับ ส่วนเจ้าของบล็อกเคยเข้ามาสามรอบในปี 2556, 2561 และ 2562 ใครจะมาก็แต่งตัวให้เรียบร้อยแบบที่เข้าวังได้นะ

  พระราชวังเดิม
[Thonburi Palace]

พระราชวังเดิมกรุงธนบุรี สถาปนาขึ้นพร้อมการสร้างกรุงธนบุรีในปี พ.ศ.2310 ใกล้กับป้อมวิไชยประสิทธิ์ปากคลองบางกอกใหญ่ ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ พื้นที่วังรวมอาณาเขตตั้งแต่วัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม) ทางทิศเหนือ ไปจนถึงวัดท้ายตลาด (วัดโมลีโลกยาราม) ทางทิศตะวันตก

ในเขตวังเดิมส่วนที่สำคัญที่สุดคือท้องพระโรง เป็นสถานที่ออกรับราชการและประกอบพิธีสำคัญ ส่วนที่ยกพื้นสูงคือมุขเด็จ เป็นสถานที่กษัตริย์ประทับขณะออกว่าราชการ ด้านหลังคืออาคารพระที่นั่งขวาง เป็นที่ประทับส่วนพระองค์ของกษัตริย์ครับ ห้ามถ่ายรูป แต่ก็เป็นแค่ห้องประชุมธรรมดาๆไปแล้วหละ

 

ของเก่าแก่จากยุคพระเจ้าตากสินมีแค่ท้องพระโรง อาคารอื่นๆ ที่ยังคงเหลืออยู่ในพื้นที่เป็นอาคารที่สร้างสมัยกรุงรัตนโกสินทร์แล้วนะครับ ทั้งศาลสมเด็จพระเจ้าตากสิน ตำหนักเก๋งคู่ และตำหนักเก๋งพระปิ่นเกล้า
 

ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสิน สร้างในสมัย ร.5 แทนศาลหลังเดิมที่ชำรุดทรุดโทรม ประดิษฐานพระบรมรูปพระเจ้าตากสินประทับยืนทรงพระแสงดาบ ด้านข้างมีศาลศีรษะวาฬ เป็นกะโหลกวาฬบรูด้าที่ขุดพบใต้พระราชวัง เนื่องจากสมัยก่อนบริเวณนี้เป็นทะเล

 

ตำหนักเก๋งคู่ สร้างช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นอาคารแบบจีนผสมไทย หลังเล็กสร้างก่อนหลังใหญ่ ใช้เป็นคลัง ปัจจุบันใช้จัดแสดงประวัติศาสตร์และข้าวของเครื่องใช้สมัยธนบุรี

 

ตำหนักเก๋งพระปิ่นเกล้า สร้างตอนพระปิ่นเกล้าสมัยที่ยังมียศเป็นกรมขุนอิศเรศรังสรรค์มาประทับที่วังเดิม (พ.ศ.2367-2394) ถือเป็นตึกทรงตะวันตกหลังแรกในยุครัตนโกสินทร์ ปัจจุบันใช้เป็นพิพิธภัณฑ์แสดงข้าวของพระปิ่นเกล้า

 

เรือนเขียว เป็นสถานพยาบาลของโรงเรียนนายเรือ ตอนนี้ใช้เป็นที่ฉายภาพยนตร์บรรยายความเป็นมาของพระราชวังเดิม

นอกจากศาลแล้วอาคารอื่นๆ ห้ามถ่ายภาพด้านในนะครับ

วังเดิมเป็นที่ประทับของกษัตริย์เพียงพระองค์เดียว คือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (ขอเรียกว่าพระเจ้าตากสินตามที่ถนัด) ตัววังไม่ได้สร้างมาอย่างหรูหราใหญ่โตมากนัก พอสิ้นรัชสมัยของพระเจ้าตากสิน และ ร.1 ย้ายวังไปฝั่งพระนคร ก็สร้างพระบรมมหาราชวังที่ใหญ่โตแบบอยุธยากลับมา และใช้วังเดิมเป็นที่ประทับของเจ้านายองค์อื่นๆ จากนั้นจึงเปลี่ยนเป็นโรงเรียนนายเรือในสมัย ร.5 และหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ใช้เป็นกองบัญชาการกองทัพเรือมาจนถึงปัจจุบัน
  มีอิฐฐานอาคารเก่ากระจายอยู่ทั่วพื้นที่

ออกจากรั้ววังกลับมาที่ท่าน้ำ เดินไปจนสุดเป็นที่ตั้งของป้อมวิไชยเยนทร์ที่สร้างโดยเจ้าพระยาวิไชยเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ในสมัยพระนารายณ์ ใครดูบุพเพสันนิวาสก็คงคุ้นกับชื่อป้อมนี้นะครับ เป็นป้อมที่สร้างไว้คุมจุดยุทธศาสตร์ปากอ่าวไทยที่บางกอก ซึ่งกลุ่มต่อต้านฝรั่งเศสคัดค้านหนักหนา ตอนแรกสร้างมีป้อมสองฝั่งแม่น้ำนะครับ พอสิ้นรัชกาลพระนารายณ์ พระเพทราชาก็ทำลายป้อมฝั่งตะวันออกทิ้ง พอมาถึงสมัยกรุงธนบุรีพระเจ้าตากสินได้บูรณะป้อมฝั่งตะวันตกขึ้นมาใหม่และให้ชื่อว่า ป้อมวิไชยประสิทธิ์ จึงนับได้ว่านี่คือสิ่งก่อสร้างที่เก่าแก่ที่สุดในเขตพระราชวังเดิม

และป้อมวิไชยประสิทธิ์แห่งนี้เองที่เป็นสถานที่ประหารชีวิตพระเจ้าตากสินและขุนนางอีกนับสิบช่วงเปลี่ยนแผ่นดิน ไว้อีกสองบล็อกหน้ามาเล่าถึงตอนอวสานของธนบุรีกันนะครับ




ส่วนบล็อกนี้จะขอพาเที่ยววัดในเขตวังอีกสองแห่ง คือวัดแจ้งและวัดท้ายตลาด
  วัดแจ้ง
[Temple of Dawn]

วัดแจ้ง หรือวัดอรุณราชวราราม เดิมชื่อวัดมะกอกนอก แต่เปลี่ยนชื่อเป็นวัดแจ้ง และหลังสร้างพระราชวังกรุงธนบุรี ก็กลายเป็นวัดประจำพระราชวังที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา เช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ของอยุธยา และวัดพระแก้วของรัตนโกสินทร์  

เนื่องจากเป็นวัดในวัง จึงมีความสำคัญกับประวัติศาสตร์ช่วงกรุงธนบุรีมากครับ หลังไปตีเอาพระแก้วมรกตมาจากเวียงจันทน์ได้ ก็ได้นำมาประดิษฐานที่วัดนี้ ก่อนจะย้ายไปที่วัดพระแก้วในสมัย ร.1 สิ้นสุดการเดินทางของพระแก้วมรกตที่มาจากเชียงรายครับ นอกจากนี้วัดแจ้งยังเป็นวัดที่พระเจ้าตากสินออกบวช หลังถูกพระยาสรรค์ยึดอำนาจ ก่อนพรรคพวกของพระยาจักรีจะทำศึกชนะพระยาสรรค์และยึดกรุงธนบุรี พร้อมสึกพระเจ้าตากสินออกมาประหารชีวิต

ช่วงที่ ร.2 ขณะดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรประทับอยู่ที่วังเดิม ได้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดนี้ และเปลี่ยนชื่อจากวัดแจ้งเป็นวัดอรุณ พร้อมสร้างปรางค์ให้สูงขึ้นจากสมัยอยุธยาที่สูงเพียง 16 เมตร และยังคงสร้างต่อเนื่องจนกระทั่งสูงเท่าปัจจุบันในสมัย ร.5 สูง 82 เมตร เป็นพระปรางค์ที่สูงที่สุดในประเทศไทย ตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบลวดลายต่างๆ และปูนปั้นสัตว์ในวรรณคดี สวยงามมาก แต่บูรณะครั้งล่าสุดแล้วเสร็จปี พ.ศ.2560 ออกมาขาวจ๋องเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันไปหลายยก แต่กรมศิลป์ก็ยืนยันว่าทำตามรูปแบบเดิมแล้วนะ พระปรางค์นี้โด่งดังเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติ ขนาดขึ้นเป็นโลโก้ของ ททท. เลยนะครับ ภาพนี้ถ่ายในปี พ.ศ.2556 ก่อนถูกบูรณะครับ


ซุ้มประตูทางเข้าพระอุโบสถด้านทิศตะวันออกมีรูปปั้นยักษ์ทศกัณฐ์และสหัสเดชะยืนเฝ้าอยู่ เป็นยักษ์ที่สูงใหญ่สวยงามมาก จนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังคงสวยงามที่สุดครับ ยักษ์สุวรรณภูมิหัวแบนๆ พวกนั้นเทียบไม่ติดเลย คนทั่วไปเรียกยักษ์สองตนนี้ว่า "ยักษ์วัดแจ้ง"


พระพุทธธรรมมิศราชโลกธาตุดิลก พระปางมารวิชัย สูง 1.75 เมตร เป็นพระประธานในพระอุโบสถ สร้างสมัย ร.3 ที่ฐานประดิษฐานพระบรมอัฐิของ ร.2


ลงมาทางใต้ของเขตพระราชวังจะมีวัดท้ายตลาด หรือวัดโมลีโลกยาราม สร้างในสมัยอยุธยา เนื่องจากอยู่ติดกับตลาดคลองบางกอกใหญ่ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ตั้งแต่สมัยอยุธยา จึงทำให้มีชื่อเรียกว่าวัดท้ายตลาด วัดนี้ถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวัง ทำให้เป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาในสมัยธนบุรี ก่อนจะมีพระสงฆ์ปกติเช่นเดียวกับวัดแจ้งในสมัย ร.1 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดพุทไธสวรรย์ในสมัย ร.2 และเปลี่ยนชื่อเป็นวัดโมลีโลกยาราม ในสมัย ร.3
 
 
  วัดท้ายตลาด
[Wat Molilokkayaram]

 

พระประธานในอุโบสถคือพระพุทธโมลีโลกนาถ สร้างในสมัย ร.1 ด้านใต้ของวัดติดกับคลองบางกอกใหญ่ ไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยา
 
ที่นี่เป็นสำนักเรียนพระปริยัตติธรรมแผนกธรรมและแผนกบาลีที่มีผู้สอบได้เปรียญธรรมมากเป็นระดับต้นๆของประเทศ ไปกี่ครั้งก็เห็นพระและสามเณรนั่งท่องหนังสือบ้าง นั่งสอบบ้าง มีบรรยากาศของความเป็นที่เรียนศาสนาสูงมาก
 
 


วันนี้ตระเวนแถวรอบๆวังก่อนครับ เดี๋ยวบล็อกหน้าไปเที่ยววัดเก่าทั่วฝั่งธนกัน 124



 
Create Date :18 มีนาคม 2563 Last Update :19 มีนาคม 2563 22:05:50 น. Counter : 3785 Pageviews. Comments :33