bloggang.com mainmenu search


วันนี้มาพาเที่ยวเวียงกุมกาม เป็นส่วนหนึ่งของทริปเชียงใหม่ที่ผมดองไว้ตั้งแต่เดือน ต.ค. ครับ

เวียงกุมกาม เป็นชื่อที่ได้ยินบ่อยๆเมื่อพูดถึงโบราณสถานภาคเหนือ เหตุเพราะเพิ่งมีการขุดค้นพบเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ และพบว่าเป็นเมืองสำคัญตามที่บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ ที่สำคัญคือมันอยู่ใกล้ตัวเมืองเชียงใหม่มากด้วย

เวียงกุมกาม อยู่ในอำเภอสารภี ทางตอนใต้ของ อ.เมือง เชียงใหม่ พญามังรายเจ้าแคว้นโยนกซึ่งครองเมืองเงินยางได้สร้างเมืองเชียงราย เข้ายึดครองหริภุญชัย (ลำพูน) และย้ายเมืองหลวงจากเชียงรายมาตั้งรกรากที่เวียงกุมกามแห่งนี้ราวปี พ.ศ. 1830 แต่เมืองนี้มีปัญหาน้ำท่วมและน้ำปิงกัดเซาะตลิ่ง จึงถูกใช้เป็นเมืองหลักได้ไม่นาน พญามังรายก็ย้ายไปสร้างเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 1839 แล้วเชียงใหม่ก็ยั่งยืนเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนามายาวนาน ไว้ผมจะเล่าประวัติของล้านนาแบบยืดยาวในบล็อกเชียงใหม่ครับ บล็อกนี้คั่นเวลาสั้นๆ ขอเน้นแปะรูปกินทรานสเฟอร์ชาวบ้านก่อน

แม้จะย้ายเมืองหลวงไปเชียงใหม่ แต่เวียงกุมกามก็มีร่องรอยถูกใช้งานมาเรื่อยจนถึงราวๆพุทธศตวรรษที่ 23 ช่วงที่พม่ายึดครองล้านนา เมืองถูกน้ำท่วมใหญ่ ชาวบ้านทิ้งเมืองหนีน้ำและปล่อยร้างมาจนถึงปัจจุบัน วัดทั้งหลายของเวียงกุมกามถูกฝังอยู่ใต้ดินจนกระทั่งมีการค้นพบในปี พ.ศ. 2527 และทำการขุดแต่งสำรวจเรื่อยมา



แผนที่เวียงกุมกาม (คลิ๊กเพื่อชมภาพขยาย)


โบราณสถานในเวียงกุมกามขึ้นแทรกตามบ้านเรือน (หรือต้องบอกว่าบ้านเรือนมาสร้างซ้อนกับบริเวณกลุ่มโบราณสถานมากกว่า) ยิ่งอำเภอสารภีใกล้อำเภอเมืองมีผู้คนอยู่หนาแน่น ถนนในนี้แคบเพราะเป็นเขตหมู่บ้าน ผิดกับเมืองโบราณเชียงแสนที่มีถนนใหญ่ตัดทะลุทะลวงให้ขับรถชมได้ทุกวัด แถมโบราณสถานของเวียงกุมกามหลายแห่งไปอยู่ในที่ชาวบ้านอีกต่างหาก บางบ้านก็ให้เข้าไปดู บางบ้านก็ปิดบ้านไม่รับนักท่องเที่ยว (ซวยครับ ซื้อบ้านดันแถมโบราณสถาน Smiley) จนถึงปัจจุบันก็ยังคงมีโบราณสถานอีกหลายแห่งรอการขุดค้น อีกหลายแห่งก็ติดกรรมสิทธิ์ที่ดิน เข้าไปขุดไม่ได้



เดินผ่านสวนเข้ามาด้านหลังบ้านนี้เป็นทางลับไปวัดกุมกามหมายเลข 1

เข้ามาในบริเวณเวียงกุมกาม วัดแรกที่เห็นอยู่ข้างทางคือ วัดธาตุน้อย เลยแวะถ่ายรูปสักหน่อย
**ภาพเล็กๆกดขยายได้นะครับ ไม่อยากใส่ภาพใหญ่หมด ไม่งั้นโหลด 5 MB แน่ะ เดี๋ยวเน็ตเสียชีวิต



เข้ามาในเขตวัดช้างค้ำ จะมีป้ายเด่นเป็นสง่าทำให้นักท่องเที่ยวรู้ว่าบริเวณนี้คือเวียงกุมกามละนะ มีรถม้าและรถรางให้บริการ แต่ผมขับรถเองเที่ยวได้อิสระกว่า เพราะสามารถจอดข้างบ้านแล้วขอเจ้าของบ้านเข้าไปดูโบราณสถานได้

วัดช้างค้ำ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1833 เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าวัดกานโถมตามชื่อนายช่างที่สร้างวัดนี้ตามที่ระบุในตำนาน มีการค้นพบพระพิมพ์ดินเผาที่วัดนี้เป็นแห่งแรก ทำให้การสำรวจเวียงกุมกามถูกกระพือขึ้นมา บริเวณวัดมีต้นโพธิ์ที่พญามังรายให้พระเถระนำเมล็ดพันธุ์มาจากลังกาด้วย






วัดกุมกาม




วัดกู่อ้ายหลาน

พวกโบราณสถานขนาดเล็กบางทีจะเรียกว่าเนินโบราณสถานครับ ในแผนที่จะเห็นชื่อ "เนินโบราณสถานกู่อ้ายหลาน" เพราะก่อนขุดแต่งเห็นเป็นเนินดินเท่านั้นเอง




วัดกุมกาม หมายเลข 1

วัดนี้ต้องเข้าไปหลังบ้านคนอื่น ถึงจะเห็น



วัดพันเลา

บางส่วนในวัดอยู่ในบ้านคน ที่เห็นนี่แค่ส่วนเดียวครับ




วัดเจดีย์กู่ขาว

อยู่ข้างถนน




วัดเสาหิน

สร้างในสมัยพญาสามฝั่งแกน ปี พ.ศ. 1973 ด้านหน้าอุโบสถมีวิหารเสาหินจำลองตั้งอยู่ด้วย ส่วนเสาหินจริงปักอยู่ใต้ฐานพระประธานในวิหาร ตามความเชื่อที่ว่าหากเวียงกุมกามล่มสลายไปแล้วมีผู้ขุดพบเสาหิน และกราบไหว้บูชาเสาหินนี้ เวียงกุมกามจะกลับฟื้นขึ้นอีกครั้ง แต่ก็ยังไม่มีคนขุดลงไปดูเสาหินต้นจริงซะที




วัดเจดีย์เหลี่ยม

เจดีย์เหลี่ยมของวัดนี้พญามังรายให้สร้างตามแบบเจดีย์กู่กุดของหริภุญชัยเพื่อบรรจุอัฐิพระมเหสีของพระองค์ในปี พ.ศ. 1831 มีรายละเอียดสวยงามและถูกใช้โปรโมทท่องเที่ยวเวียงกุมกามมาก แต่บูรณะใหม่เอี่ยมไปซะละ






พักยก แวะศูนย์ข้อมูลซะก่อนครับ วันนี้พิพิธภัณฑ์ปิด อดเข้า (เสียจัย ; A ;) แต่ขอโบรชัวร์นำเที่ยวเวียงกุมกามได้ครับ มีแผนที่แนะนำโบราณสถานสำคัญๆด้วย



พอดีวันนี้ได้เวลาที่จะลงจากเชียงใหม่ แต่นึกได้ว่าตั้งแต่มาเชียงใหม่ยังไม่ได้กินข้าวซอยเลย ว่าแล้วก็จัดไปครับ ร้านแม่ลำดวนข้าวซอยชื่อดังก็อยู่ไม่ไกลเท่าไหร่ ต้องขับจากเวียงกุมกามลงไปทางใต้ประมาณ 6 กม. เท่านั้นเอง (คุ้ม!)



กินเสร็จก็ขับกลับขึ้นมาเที่ยวเวียงกุมกามต่อจ้ะ

วัดพญามังราย อยู่ติดกับ วัดพระเจ้าองค์ดำ เรียกรวมกันว่า "วัดพระเจ้าองค์ดำ-พญามังราย" สาเหตุที่เรียกวัดพระเจ้าองค์ดำเพราะขุดพบพระสำริดถูกไฟเผาจนดำที่วัดนี้หลายองค์ ส่วนชื่อวัดพญามังรายก็ตั้งตามชื่อพญามังรายผู้สร้างเวียงกุมกามนั่นแหละ

วัดพญามังราย จากลักษณะวิหารเป็นศิลปะล้านนารุ่นแรกๆ



วัดพระเจ้าองค์ดำ มีหัวบันไดเป็นรูปก้นหอย




วัดธาตุขาว

แต่ก่อนเจดีย์ยังสภาพดีมีปูนฉาบสีขาว เลยเรียกวัดธาตุขาว




วัดปู่เปี้ย

พวกวัดที่ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์จะเรียกตามที่คนท้องถิ่นเรียก ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นชื่อชาวบ้านเจ้าของพื้นที่แถวนั้นละครับ วัดนี้จัดว่าเป็นวัดใหญ่โตสวยงามวัดหนึ่งของเวียงกุมกามที่บูรณะได้สมบูรณ์มากๆ




วัดอีค่าง

หมาบ้านข้างๆดุมาก ชอบเห่าไล่นักท่องเที่ยว น่าจะชื่อวัดอีด่างมากกว่า สาเหตุที่เรียกอีค่างเพราะแต่ก่อนมีฝูงลิงอยู่เยอะ (คนท้องถิ่นเรียกวัดอีก้าง)




วัดกู่ป้าด้อม

ตั้งตามชื่อป้าด้อมเจ้าของที่ดิน วัดนี้จมอยู่ใต้ตะกอนทราย ยังคงมีลวดลายปูนปั้น โดยเฉพาะรูปมกรคายนาคที่หัวบันไดชัดเจนครับ




วัดกู่ไม้ซ้ง

ตั้งชื่อตามต้นไม้ที่ขึ้นแถวๆนี้




วัดกุมกามทีปราม หมายเลข 1

ชาวบ้านเรียกว่าวัดต้นข่อย เพราะมีต้นข่อยเยอะ ตั้งใกล้วัดกุมกามทีปราม แต่ผมหาวัดกุมกามทีปรามไม่เจอ แล้วไม่รู้ด้วยว่ากุมกามทีปรามแปลว่าอะไร




วัดหัวหนอง

วัดที่ใหญ่โตอีกแห่งหนึ่งของเวียงกุมกาม ประกอบด้วยโบราณสถานหลายหย่อม เห็นในหนังสือมีปูนปั้นรูปช้างที่โคนเจดีย์ และปูนปั้นตามซุ้มประตู แต่ตอนผมไปไม่เห็นมี สงสัยไปอยู่พิพิธภัณฑ์หรือไม่ก็บ้านโจรหมดแล้ว








หลังจากนั้นเราก็ดิ่งลงไปพักอีกคืนหนึ่งที่จังหวัดตากก่อนกลับ กทม. จ้า

เวียงกุมกามสำหรับผม ความประทับใจในฐานะแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ยังนับว่าน้อย เพราะโบราณสถานมีขนาดเล็กและส่วนมากอยู่ในบ้านคนครับ เชื่อว่าถ้าเป็นที่หลวงสามารถบูรณะขุดแต่งได้เต็มที่จนได้เห็นตัวโบราณสถานแต่ละแห่งเต็มๆแล้วหลายที่จะใหญ่โตพอสมควร ข้อดีคือที่นี่อยู่ใกล้เมืองเชียงใหม่ สามารถแวะเที่ยวได้หลังออกจากตัวเมืองเชียงใหม่มา การบูรณะ แผนที่และป้ายบอกทางต่างๆก็ทำได้ดีครับ

ก่อนจะขึ้นบล็อกประวัติศาสตร์เชียงใหม่และล้านนา ขอคั่นเวลาด้วยสิ่งที่น่าสนใจสักครู่ ก่อนที่หมวดถ่ายภาพ-ท่องเที่ยวของบล็อกนี้จะกลายเป็นหมวดวัดร้าง-ซากอิฐไปซะก่อน



Create Date :19 กุมภาพันธ์ 2556 Last Update :23 กรกฎาคม 2560 15:18:52 น. Counter : 10900 Pageviews. Comments :44