bloggang.com mainmenu search

[ความเดิมตอนที่แล้ว] อยุธยาถูกแผดเผาคล้ายต้องแสงจากพระอาทิตย์เจ็ดดวงซึ่งปรากฏขึ้นยามโลกใกล้ล่มสลาย พระราชวัง อาคาร สถานที่ต่างๆ ถูกทำลาย แม้แต่บ้านที่สร้างด้วยอิฐก็ถูกเผา เต็มไปด้วยควันไฟปกคลุม คูเมืองและแม่น้ำเต็มไปด้วยซากศพจนน้ำเปลี่ยนเป็นสีเลือดและเต็มไปด้วยกลิ่นแห่งความตาย

มาต่อซีรี่ยส์ประวัติศาสตร์อยุธยากันครับ หลังจากเล่าถึงอวสานกรุงศรีอยุธยาไปเมื่อกลางปีที่แล้ว ขอลงต่อเรื่องของกรุงธนบุรีเพื่อให้ประวัติศาสตร์สายหลักจบลงอย่างสมบูรณ์ (รัตนโกสินทร์คงไม่เขียนอะ ไม่สนใจ 126)

ก่อนหน้าที่อยุธยาจะถูกตีแตก ข้าศึกพม่าได้ทำลายหัวเมืองและเข้าล้อมกรุงยาวนานนับปี ค่ายรอบเมืองถูกตีแตกเกือบหมดแล้ว แม้น้ำหลากจะมาถึงก็ไม่สามารถไล่พม่ากลับไปได้ ความหวังที่อยุธยาจะอยู่รอดริบหรี่ลงไปทุกที พระเจ้าตากสิน ในขณะนั้นคือพระยาวชิรปราการที่ตั้งค่ายนอกเกาะเมืองอยู่ที่วัดพิชัย ดูทรงแล้วจึงตัดสินใจพาพรรคพวกตีฝ่าวงล้อมพม่า ออกจากอยุธยาไปรวบรวมไพร่พลทางตะวันออกเพื่อกลับมาต่อสู้ชิงอยุธยากลับคืนมาภายหลัง


บล็อกนี้จะตามรอยเส้นทางเดินทัพพระเจ้าตากขณะตีฝ่าวงล้อมกัน ทาง อบจ.อยุธยา ได้จัดเส้นทางท่องเที่ยวตามรอบพระเจ้าตากตามที่บันทึกในพงศาวดารตั้งแต่วัดพิชัย อ.พระนครศรีอยุธยา ไปจนถึงวัดสุดท้ายก่อนออกจากเขตจังหวัดอยุธยาที่วัดพรานนก อ.อุทัย โดยทำป้ายและร่วมกับกรมทางหลวงและทางหลวงชนบทปรับปรุงถนนหนทางตลอดเส้นทาง เป็นระยะทาง 28 กม. สถานที่ใกล้เคียงก็จะลงไว้ในบล็อกนี้ด้วยนะครับ หลายที่มีอนุสรณ์ของพระเจ้าตากสินแต่ไม่เกี่ยวอะไรกับเส้นทางเดินทัพนะ


เส้นทางเดินทัพพระเจ้าตากในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (คลิ๊กที่ภาพเพื่อชมภาพขยาย)

จุดเริ่มต้นของบล็อกนี้ขอปักที่แรกที่ วัดเกาะแก้ว ครับ อยู่ตอนใต้ของวัดพิชัย วัดนี้สร้างสมัยอยุธยาตอนต้น เดิมทีบริเวณนี้น่าจะมีลำน้ำสายเล็กแยกออกจากแม่น้ำป่าสักล้อมไว้เป็นเกาะ จึงเรียกว่าเกาะแก้ว แต่น่าจะถูกถมไปนานแล้ว และเนื่องจากวัดอยู่ติดแม่น้ำ วัดนี้ค่อนข้างคึกคักเลย คนมาทำบุญกันเยอะ ที่จอดรถก็เยอะ แต่ไม่มีโบราณสถานอะ มีแต่ของสร้างใหม่



ถึงจะไม่ใช่ที่ตั้งค่ายหลักของพระเจ้าตาก แต่ช่วงน้ำหลากพระเจ้าเอกทัศน์ได้สั่งให้พระยาวชิรปราการและพระยาเพชรบุรีเคลื่อนพลมาปักหลักที่ค่ายวัดเกาะแก้ว เพื่อเตรียมทำยุทธนาวีกับกองเรือของพม่าครับ (แต่ผลคือแพ้ ต้องถอยกลับวัดพิชัยอะนะ) ตำหนักพระเจ้าตากสินของวัดนี้ทำได้อลังการเลย ด้านหน้ามีรูปปั้นทหารเอกอย่างหลวงพิชัยราชา หมื่นราชเสน่หา ขุนอภัยภักดี พระเชียงเงิน หลวงพรหมเสนา อยู่ด้วย

  หน้าวัดเกาะแก้วมีซากวัดปราสาทอยู่ เหลือแค่อุโบสถครับ
รูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย
ถัดจากวัดเกาะแก้วขึ้นมาคือ วัดกล้วย สร้างขึ้นราว พ.ศ.2200 ติดแม่น้ำป่าสัก เป็นที่จอดเรือสินค้า นี่ก็ไม่เหลือร่องรอยโบราณสถานเหมือนกันครับ แต่พอจะมีเศษๆกองอยู่ที่โคนใบเสมา


 
วัดนี้มีศาลาที่รวมรวบพระธาตุของอริยสงฆ์ไว้
สำหรับองค์พระแก้วมรกตของวัดนี้บรรจุพระธาตุจาก 12 แห่ง

ที่ดังกว่าตัววัดเห็นจะเป็น ก๋วยเตี๋ยววัดกล้วย ทำเลดีอยู่ริมแม่น้ำ มีก๋วยเตี๋ยวเรือทั้งเนื้อ-หมู-เป็ด ในรูปนี้คือก๋วยเตี๋ยวเนื้อพิเศษ 50 บาท ให้เยอะอยู่ครับ ผัดไทยกุ้งสดก็อร่อย เป็นที่ฝากท้องตอนที่บ้านมาทำบุญที่อยุธยาหลายครั้ง เพราะร้านเปิดตั้งแต่เช้า 9.00 น.


ลอดใต้สะพานปรีดี-ธำรงมาจะมาถึง วัดพิชัยสงคราม เดิมชื่อวัดพิชัยเฉยๆ สร้างขึ้นราวปี พ.ศ.1900 และในช่วงเสียกรุงครั้งที่สองวัดนี้เป็นสถานที่ตั้งค่ายของพระยาวชิรปราการเพื่อตั้งรับข้าศึกพม่า จึงถือเป็นวัดที่มีความเกี่ยวข้องกับพระเจ้าตากสินมากที่สุดในอยุธยาแล้วครับ ในวันที่ 3 มกราคม พ.ศ.2310 ตกดึก พระยาวชิรปราการร่วมกับทหารเอกคู่ใจ 5 ท่าน คือพระเชียงเงิน หลวงพรหมเสนา หลวงพิชัยอาสา หลวงราชเสน่หา และขุนอภัยภักดี เห็นว่าคงต้านกองทัพพม่าไม่ไหวแน่ จึงนำกองกำลังประมาณ 1,000 นาย ตีฝ่าวงล้อมออกจากค่ายวัดพิชัยไปทางทุ่งหันตรา เพื่อไปยังหัวเมืองตะวันออก

 

พระพุทธพิชัยนิมิตร หรือหลวงพ่อใหญ่พระประธานในพระอุโบสถ
ซึ่งพระยาวชิรปราการได้บวงสรวงขอพรก่อนออกเดินทาง
องค์ที่เห็นปัจจุบันนี้คือองค์ใหม่ที่ปั้นหุ้มองค์เดิมไว้นะครับ
 

เป็นอีกวัดที่มีศาลพระเจ้าตากสินขนาดใหญ่เป็นสง่า
 

หลังกรุงศรีถูกตีแตกวัดนี้ก็ร้างไป เพิ่งถูกบูรณะสมัย ร.4 นี้เองครับ แล้วก็เปลี่ยนชื่อจากวัดพิชัยเป็นวัดพิชัยสงคราม ในวัดมีพิพิธภัณฑ์พระครูวิชัยกิจจารักษ์ หรือหลวงพ่ออุดม เกจิดังของอยุธยา และเป็นเจ้าอาวาสวัดพิชัยปัจจุบันด้วย

ฝั่งตรงข้ามถนนเยื้องกับวัดพิชัยเป็น สถานีรถไฟอยุธยา ถึงจะไม่ได้ใช้บริการรถไฟมาหลายสิบปีแล้วแต่ชอบบรรยากาศริมทางรถไฟนะครับ


ในสถานีมีร้านกาแฟ The Station ผมไม่กินกาแฟ โกโก้ร้านนี้อร่อยดีงาม ราคาโหดเอาเรื่องอยู่ครับ แก้วนี้ 86 บาท คนนั่งรถไฟคงไม่ซื้อกินนอกจากพวกชาวต่างชาติ

  ข้ามทางรถไฟไปจะมี วิหารหลวงพ่อคอหัก
ตั้งชื่อชวนให้เข้าไปดูยิ่งนักว่าหักอย่างไร
(ถ้าชื่อหลวงพ่อหักคอจะไม่ไปดู)

หลวงพ่อคอหักหรือพระสุริยมุนี เป็นพระพุทธรูปโบราณสมัยลพบุรี สลักจากศิลาเขียว สูง 89 ซม. เดิมทีแถวนี้เคยเป็นวัดหัวกระบือ วัดร้างที่ไม่เหลือสภาพ มีชิ้นส่วนพระพุทธรูปหลายองค์แตกหักกระจัดกระจายอยู่ ในปี พ.ศ.2475 ชาวบ้านจึงช่วยกันรวบรวมชิ้นส่วนบูรณะขึ้นเป็นองค์ องค์ที่งดงามที่สุดคือพระสุริยมุนีซึ่งเดิมพระพักตร์หลุดหายไป ที่เห็นนี้ได้ซ่อมแซมขึ้นมาใหม่จากเค้าโครงที่เหลือเลยเรียกว่า "หลวงพ่อคอหัก" และโด่งดังขึ้นมาเนื่องจากมีคนมาขอพรแล้วถูกหวยจึงสร้างวิหารและทำสะพานไม้ถวายให้คนข้ามมาบูชาได้ง่ายขึ้น


ถัดจากวัดพิชัยขึ้นไปอีกนิด ฝั่งเดียวกันมี วัดธรรมนิยม คนท้องถิ่นเรียก "วัดยม" สร้างสมัยอยุธยาตอนต้น ที่โด่งดังคือหลวงพ่อดำที่ศักดิ์สิทธิ์ แม้จะเป็นพระประธาน แต่อยู่ในตู้กระจกหน้าอุโบสถนะครับ เพราะอุโบสถเก่าถูกทำลายทรุดโทรมมากเลยย้ายมาหลังใหม่


ด้านหลังวัดมีตลาดน้ำด้วย แต่ไม่เคยเดินไปดูเลยครับ มาจอดรถวัดนี้เพื่อไปกินร้านนี้มากกว่า หอยทอดย่าชิต เป็นเจ้าดังของอยุธยาที่เปิดขายมานานและเป็นที่รู้จักของคนท้องถิ่นมากแบบที่วงในไม่ต้องมาโปรโมท มีหอยทอดอย่างเดียวไม่มีผัดไทยนะ จานละ 35 บาท เพิ่มไข่ 40 เพิ่มหอย 50 แป้งกรอบหอมอร่อยมาก คนมาต่อคิวซื้อกลับบ้านเป็นสิบๆกล่อง เป็นที่เลื่องลือเรื่องความคอยนาน แต่ตอนผมไปไม่นานเท่าไหร่นะ 10 นาทีทั้งที่คนเยอะ เด็กจดเมนูก็จำแม่นมาก แต่ก่อนขายตั้งแต่เที่ยง แต่เดี๋ยวนี้ย่าชิตอายุมากแล้ว ยืนทอดหอยทั้งวันไม่ไหว เลยขายเฉพาะมื้อเย็นตั้งแต่บ่ายสามเป็นต้นไปครับ


ตั้งแต่เที่ยวยุดยายังไม่เคยมาถนนเส้นทางรถไฟนี้เลยครับ เลยจัดไปซะสุดทางที่ วัดป่าโค เป็นวัดเก่าแก่อายุราว 500 ปี ในโบสถ์มีภาพเขียนพุทธประวัติฝีมือ น. ณ ปากน้ำ

เพิ่งจะมีข่าวไฟไหม้โบสถ์วัดป่าโคไปเมื่อสองปีก่อน แต่ตอนนี้บูรณะเรียบร้อยแล้วครับ เมื่อต้นปีวัดก็เพิ่งจะเปิดจดหมายเหตุกรุงศรีและคัมภีร์ยาโบราณอายุกว่า 200 ปีที่วัดเก็บไว้ให้ประชาชนได้ชมเนื่องในโอกาสโบสถ์ซ่อมเสร็จ


ไปทางตะวันออกต่อ กลับมาที่เส้นทางเดินทัพพระเจ้าตาก ออกมาที่ทุ่งหันตรา เกิดการปะทะกับกองทัพของพม่าครั้งแรกที่นี่และสามารถเอาชนะได้ จากนั้นจึงไปสู่บ้านข้าวเม่า คลองธนู ต่อไป

ที่ทุ่งหันตรามี วัดหันตรา เป็นวัดเก่าแก่ไม่ปรากฏปีที่สร้าง พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้มาปฏิสังขรณ์วัดนี้เมื่อปี พ.ศ.2281 ลักษณะของโบสถ์เป็นมหาอุตม์ ไม่มีหน้าต่าง ไม่มีประตูด้านหลัง ใช้สำหรับปลุกเสกเครื่องรางของขลัง พระประธานคือพระพุทธอนันตชินราช แต่ไม่ได้เข้าไปชมนะครับ โบสถ์ปิดแทบจะตลอดเวลาเพราะไม่มีนักท่องเที่ยวครับ

 

หน้าวัดมีอนุสาวรีย์พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศผู้ปฏิสังขรณ์วัดนี้
 

ทุ่งหันตราที่เคยเป็นสมรภูมิมานับครั้งไม่ถ้วน
เพราะเป็นแหล่งปลูกข้าวส่งเข้าเมืองหลวง
 

เข้าอุโมงค์ลอดข้ามถนนสายเอเชียมาจะมี วัดโกโรโกโส อยู่ฝั่งตรงข้ามคลองข้าวเม่าติดกับวัดสะแก เดิมวัดนี้ชื่อวัดคลังทอง แต่ถูกทิ้งร้างจนปรักหักพัง ชาวบ้านจึงเรียกกันติดปากว่าวัดโกโรโกโส และกลายเป็นชื่อย่างเป็นทางการของวัดนี้ไป ซึ่งก็เรียกแขกได้มากกว่าวัดคลังทองจริงๆครับ บางตำนานเล่าว่าวัดนี้สร้างโดยคนจีนชื่ออาโกโรกับอาโกโส มันก็ดูจะบังเอิญเกินไป ถึงจะโกโรโกโสแต่วัดมีที่จอดรถสะดวกนะ วิวติดริมคลองข้าวเม่าก็งาม แถมข้ามสะพานไปวัดสะแกต่อได้เลย


พระประธานคือหลวงพ่อดำ เป็นพระพุทธรูปสมัยอยุธยาตอนต้น เคยถูกทาสีทองทับ แต่ถูกผู้คนก่นด่า จนต้องลอกออกเป็นสีดำเช่นเดิม ตอนนี้ทำพื้นและกำแพงกันน้ำเสร็จแล้ว แต่ซากอิฐรอบวิหารหลวงพ่อดำก็ยังคงไว้ให้เห็นความโกโรโกโสอันเป็นจุดขายของวัดนี้ครับ


พระเจ้าตากเคยผ่านเส้นทางคลองข้าวเม่าตอนฝ่าวงล้อม แต่ไม่มีบันทึกถึงความเกี่ยวข้องกับวัดคลังทองแต่อย่างใด มีเพียงคำบอกเล่าว่าท่านมาขอพรหลวงพ่อดำบ้าง ได้ข้าวเม่าจากคนแถวนี้เป็นเสบียงจนพม่าโกรธต้องมาเผาวัดบ้าง

มาทางตะวันออกเป็นบริเวณทุ่งชายเคือง แถวนี้มี วัดขุนทราย ไม่เกี่ยวข้องกับเส้นทางเดินทัพ แต่พระบรมธาตุเนรมิตนวทิศรังสีเจดีย์ศรีอโยธยาที่เพิ่งสร้างใหม่สวยเด่นเป็นสง่าอยู่กลางทุ่งเลยครับ


ที่มีบันทึกไว้หลังออกจากวัดพิชัยกลางดึกวันที่ 3 ม.ค. มารบกับพม่าครั้งแรกที่ทุ่งหันตราแล้ว พระเจ้าตากมาถึงบ้านสามบัณฑิตช่วงตีสองของวันที่ 4 ม.ค. นะครับ ต้องหนีจากการตามล่าของพม่าให้เร็วที่สุด ไม่มีเวลาแวะไหว้พระตามที่เส้นทางท่องเที่ยวพยายามใส่ประวัติศาสตร์เข้ามาแน่ๆ ว่าแล้วก็มาถึงสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับเส้นทางเดินทัพแน่ๆอีกแห่งหนึ่งอย่าง วัดสามบัณฑิต ตอนที่กองทัพของพระเจ้าตากมาถึงที่นี่มองกลับไปเห็นไฟไหม้เกาะเมืองอยุธยา ไม่ใช่ว่าอยุธยาถูกตีแตก แต่เป็นเหตุการณ์ไฟไหม้ใหญ่พระนคร ทำให้เสบียงที่มีอยู่ร่อยหรอลงไปอีก นับถอยหลังสู่การล่มสลายของกรุงศรีอยุธยาได้แล้ว

 
ตำนานเล่าว่าภิกษุ 3 รูปจากวัดนี้หรือบ้างก็เล่าว่าเป็นชาวบ้าน 3 คน
ได้ชี้ทางพระเจ้าตากไปยังบ้านพรานนกซึ่งเป็นหมู่บ้านใหญ่
เป็นที่มาของชื่อวัดสามบัณฑิต
ไม่มีใครทราบชื่อเดิม แต่เป็นวัดที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2225

ด้านซ้ายนี้คือศาลพระเจ้าตากสินในบริเวณวัดครับ
 

ระหว่างทางจากบ้านสามบัณฑิตไปยังบ้านพรานนก พม่าได้ตามมาปะทะกับกองทัพของพระเจ้าตากบริเวณทุ่งแห่งหนึ่ง ตำนานเล่าว่ามีสาวสตรีผู้กล้าชื่อนางโพและน้องสาว เข้าช่วยพระเจ้าตากรบจนตายในสมรภูมิ จึงตั้งชื่อบริเวณนี้ว่าทุ่งโพสาวหาญหรือโพสังหารหรือโพสามหาว (เอาสักชื่อเถอะแม่)

 

ทุ่งโพสาวหาญ
 

มีรูปปั้นสองวีรสตรีเพื่อเชิดชูเกียรติในบริเวณวัดโพธิ์สาวหาญ
 

และปลายทางของโครงการเส้นทางเดินทัพพระเจ้าตากคือ วัดพรานนก ซึ่งพระเจ้าตากเดินทางมาถึงในช่วงเย็น และได้ความช่วยเหลือจากพรานล่านกชื่อเฒ่าคำ จัดหาเสบียงให้ และช่วยแจ้งข่าวพระเจ้าตากว่ามีกองทัพพม่ากำลังมุ่งมาทางนี้ ได้มีการปะทะครั้งใหญ่กับกองทัพของพม่าประมาณ 2,000 นายที่นี่ แต่ด้วยความสามารถในการจัดทัพม้า ทำให้กองทัพของพระเจ้าตากสามารถเอาชนะได้ นับเป็นศึกสุดท้ายก่อนออกจากเขตพระนครศรีอยุธยา และวันที่ชนะศึกครั้งนี้ (4 ม.ค.) ถูกกำหนดเป็นวันทหารม้า

ปลายทางของเส้นทางเดินทัพ คาดหวังว่าจะมีตลาดหรืออะไรให้คึกคัก แต่ก็ไม่มีอะไร ไม่รู้พอเสร็จแล้วจะแป้กไหมนะครับ มันอยู่ไกลจากเกาะเมืองพอสมควรเลย




บริเวณวัดก็เช่นเดียวกับวัดเส้นทางเดินทัพอื่นๆครับ คือถูกบูรณะเรียบ มีอนุสรณ์พระเจ้าตากท่กองทัพบกสร้างไว้เป็นรูปปั้นเล็กๆเหมือนศาลพระภูมิ ซึ่งดูแล้วก็ไม่สมเกียรติ อบจ.อยุธยาจึงสร้างใหม่เป็นอนุสาวรีย์พระเจ้าตากพร้อมทหารคู่ใจ 5 นายที่ตีฝ่าวงล้อมออกมาพร้อมกัน (พระเชียงเงิน หลวงพรหมเสนา หลวงพิชัยอาสา หลวงราชสเน่หา และขุนอภัยภักดี) ขนาดครึ่งหนึ่งของคนจริง การก่อสร้างล่าช้าไปมากเพราะขาดงบประมาณ ตอนนี้ก้าวหน้าไปกว่าเมื่อ 2 ปีก่อนหน่อยนึงครับ เริ่มตั้งรูปปั้นแล้ว

 

รูปปั้นพรานนกที่ตั้งอยู่ในเขตวัด แต่รูปปั้นเดิมตอนนี้หายไปแล้ว มีรูปปั้นใหม่ไฉไลกว่าเดิมบริเวณอนุสาวรีย์ครับ ของแท้ต้องมีหมาไล่คาบนก

 

จากนั้นกองทัพของพระเจ้าตากก็เคลื่อนพลต่อไปทางตะวันออก สถานที่ที่มีบันทึกเหตุการณ์สำคัญและมีอนุสรณ์สถานพระเจ้าตากสินตลอดเส้นทางที่เรารู้จักกันดีก็จะมี บ้านดง (นครนายก) ด่านกบแจะ (ปราจีณบุรี) ปากน้ำโจ้โล้ (ฉะเชิงเทรา) บ้านนาเกลือ ทัพพระยา และสัตหีบ (ชลบุรี) วัดลุ่ม (ระยอง) และเข้าตีเมืองจันทบูรได้เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. (ระหว่างนั้นอยุธยาถูกตีแตกไปเมื่อวันที่ 7 เม.ย. แต่ข่าวการเสียกรุงมาถึงพระเจ้าตากหลังจากนั้น) พระเจ้าตากได้ใช้จันทบูรเป็นที่มั่นต่อเรือเพื่อขนกองทัพกลับทางน้ำ รวมถึงเรือที่ชิงมาได้จากพ่อค้าตอนไปตีเมืองตราดด้วย


เส้นทางเดินทัพพระเจ้าตาก ไปทางบกและกลับทางเรือ
(ภาพจากหนังสือประวัติศาสตร์สมัยธนบุรีของสำนักพิมพ์สารคดี)

หลังจากทำลายอยุธยาจนพินาศแล้ว พม่าก็ยกพลส่วนใหญ่กลับไปสู้ศึกกับจีน ทิ้งไว้เพียงกำลังพลกลุ่มเล็กๆ ประมาณ 3,000 คน ที่ค่ายโพธิ์สามต้น และอยุธยาก็ไม่อยู่ในสภาพที่จะฟื้นฟูกลับมาได้อีกแล้ว กองทัพของพระเจ้าตากยกมายึดเมืองธนบุรีจากพม่า และกลับมาถึงอยุธยา รบชนะสุกี้พระนายกองชาวมอญที่พม่ามอบหมายให้รักษาค่ายไว้ และประกาศอิสรภาพเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2310 หลังจากเสียกรุงเพียง 7 เดือน

ค่ายโพธิ์สามต้น อยู่ที่ อ.บางปะหัน ทางเหนือห่างจากเกาะเมืองขึ้นไป 6 กม. และเช่นเดียวกับค่ายใหญ่ของพม่าอื่นๆคือกินพื้นที่กว้างเป็นเมืองย่อมๆเลย แต่ปัจจุบันไม่เหลือร่องรอยอะไรชัดเจน บริเวณค่ายมี วัดโพธิ์พระเจ้าตากสินมหาราช ที่ตอนนี้กำลังสร้างอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินอยู่ครับ


ตอนนี้ภารกิจกอบกู้กรุงศรีก็จบสิ้นลง แต่อยุธยาก็พินาศจนไม่สามารถใช้การได้อีกแล้ว พระเจ้าตากจึงสร้างกรุงธนบุรีเป็นศูนย์กลางชนชาติไทยแห่งใหม่ และปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2310 แต่กลุ่มอำนาจต่างๆที่แตกกระจายไปตอนเสียกรุง ก็ตั้งตัวขึ้นเป็นก๊กเป็นเหล่า

วีรกรรมของของพระเจ้าตากสินจึงไม่ใช่การกอบกู้กรุงศรีอยุธยา แต่เป็นการสร้างรัฐที่รวมตัวของคนไทยขึ้นมาใหม่ งานที่ยากยิ่งกว่าการขับไล่พม่าก็คือการต่อสู้กับก๊กต่างๆ เพื่อรวมคนไทยกลับมาเป็นหนึ่งเดียวเช่นเดิม ซึ่งนั่นจะเป็นเรื่องที่จะได้เล่าถึงในโอกาสต่อไปครับ





 
Create Date :26 พฤศจิกายน 2562 Last Update :1 ธันวาคม 2562 20:02:28 น. Counter : 6725 Pageviews. Comments :31