bloggang.com mainmenu search

มาต่อทริปยะลา-นราธิวาสช่วงปลายปีกันต่อครับ  ใน 77 จังหวัด นราธิวาส เป็นจังหวัดสุดท้ายที่ผมได้ไป (ถ้าไม่นับอำนาจเจริญที่ขับรถผ่านนอนค้างคืนนึงแต่ยังไม่ได้เที่ยวนะ) เป็นจังหวัดที่อยู่ไกลจากกรุงเทพมากที่สุด เป็นจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นจังหวัดที่สถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจน้อยกว่าจังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้ ผมมาถึงนราธิวาสวันที่ 24 ธ.ค. เป็นช่วงที่มรสุมเข้าสองจังหวัดนี้พอดิบพอดี หลังจากออกจากเบตงฝนก็ยังตกไม่หยุด วันเที่ยวที่เหลือจึงเต็มไปด้วยการวิ่งฝ่าฝนเข้าไปถ่ายสถานที่ที่ชีวิตนี้อาจไม่ได้มาอีกแล้ว

ที่แรกที่แวะมาคือ
มัสยิดวาดีลฮูเซ็น อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ไม่ให้เอารถเข้า ต้องจอดรถไว้ในซอยแถวนั้นแล้วเดินเข้ามานิดนึงครับ ไม่ไกลเท่าไหร่ แต่ความยากคือฝนมันตกน้ำขัง ต้องเดินบนผิวน้ำเข้าไปแบบจิงโจ้น้ำและนินจาฮาโตริ มัสยิดแห่งนี้สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2167 ปัจจุบันอายุ 400 ปีเข้าไปแล้ว (แต่เรียกติดปากกันมาว่ามัสยิด 300 ปี) เป็นอาคารไม้สองหลังติดกัน และเป็นที่เก็บคัมภีร์**ฺBloggang แบนชื่อคัมภีร์หลักของอิสลามครับ ไม่รู้ทำไม -_-** ซึ่งวันฮุซเซน อิหม่ามผู้ก่อตั้งมัสยิดเขียนขึ้นด้วยมือ




แวะกินข้าวที่ครัวสองฤดู อ.เมืองนราธิวาสครับ ไม่รู้เป็นเพราะฝนตกหนัก หรือบรรยากาศท่องเที่ยวของจังหวัดนี้มันเงียบเหงาอยู่แล้ว ร้านเลยไม่มีคนเลย ร้านนี้ขายเมนูท้องถิ่นของแถบนี้คือข้าวเหนียวมะพร้าวปลาเค็ม ฟังแล้วก็ไม่น่ากินด้วยกันได้ แต่อร่อยเหลือเชื่อเลยครับ ข้าวเหนียวมูลหวานมันตัดกับความเค็มของปลา เมนูนี้มีชื่อท้องถิ่นว่า ปูโล๊ะยออีแกกือริง จานขวาคือข้าวเหนียวหวานโรยน้ำตาลกินเป็นของหวานได้ด้วย จานละ 30 บาทเท่านั้น


มาที่ วัดเขากง บริเวณนี้เคยเป็นพุทธสถานสมัยทวารวดีของนิกายมหายาน เช่นเดียวกับที่บ้านยะรัง จ.ปัตตานี จึงเหมาะสมที่จะสร้างเป็นวัดพุทธที่มีอยู่น้อยแห่งในภาคใต้ตอนล่าง และที่นี่ยังเป็นพุทธมณฑลแห่งเดียวในภาคใต้ ประดิษฐานพระพุทธทักษิณมิ่งมงคล สูง 23 เมตร เป็นพระพุทธรูปที่สูงที่สุดในภาคใต้ สร้างเสร็จในปี พ.ศ.2512 ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และดินจากสังเวชนียสถาน


นอกจากพุทธมณฑลที่ศาลายาแล้ว ประเทศไทยมีพุทธมณฑลประจำภูมิภาคอีก 9 แห่ง  คือ พิษณุโลก, นครสวรรค์, สมุทรสาคร, ลำปาง, พะเยา, นครพนม, ขอนแก่น, เพชรบุรี และนราธิวาสนี้ รัฐบาลที่แล้วเคยมีแนวคิดจะสร้างพุทธมณฑลภาคใต้ที่ จ.ปัตตานี แต่ถูกคัดค้านจากคนในพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และเป็นสัญลักษณ์ของมุสลิมที่เข้มแข็งที่สุดในประเทศจนได้รับการยอมรับทั้งการเป็นฮับการส่งออกอาหารฮาลาลและอื่นๆ การฝืนยัดความพุทธเข้ามาในพื้นที่จะทำลายคุณค่านี้ไปด้วย

ขับต่อลงมาที่ อ.สุไหงโกลก ซึ่งเป็นอำเภอที่ไกลที่สุดจากกรุงเทพ นี่คือปลายทางของการเดินทางนี้แล้วครับ แค่อยากมาเพราะมันไกลเท่านั้นจริงๆ เอาจริงตรงนี้ก็ไม่ค่อยมีที่เที่ยวเท่าไหร่ แวะมาที่
ศาลเจ้าแม่โต๊ะโมะ ในเขตเทศบาลเมืองสุไหงโกลก เจ้าแม่โต๊ะโม๊ะเป็นเทพธิดาแห่งท้องทะเล องค์เดียวกับเจ้าแม่ทับทิม เดิมเคยมีศาลอยู่ที่เขาโต๊ะโม๊ะ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ซึ่งชาวอังกฤษที่เข้ามาสัมปทานเหมืองแร่ทองคำได้สร้างขึ้นเพื่อสักการะบูชา ศาลถูกทิ้งร้างในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง หลังสงครามสิ้นสุดแล้ว ร่างทรงเจ้าแม่ขอให้ย้ายองค์เจ้าแม่ไปประดิษฐานที่สุไหงโกลก จึงสร้างศาลใหม่แห่งนี้ขึ้นในปี พ.ศ.2495


ภายในจะมีลำดับการไหว้ 9 จุด มีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำคล้ายศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวที่ปัตตานีครับ ค่าวัตถุมงคลสามารถจ่ายได้ทั้งเงินไทยเงินมาเล


แถวนี้ไม่ค่อยมีร้านใหญ่ๆ แต่ก็อยากลองกินอาหารท้องถิ่นแบบที่คนแถวนี้เขากินกันเหมือนกัน จบที่ร้านแถวที่พักครับ ข้าวหมกไก่จีระพันธ์ ไม่มีความเกี่ยวข้องอะไรกับไก่ย่างจีระพันธ์นะ ร้านอยู่ตรงข้ามโรงเรียนบ้านสุไหงโก-ลก จอดรถข้างถนนแล้วเดินฝ่าฝนเข้ามา มีทั้งข้าวหมก ข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยว ข้าวแกงมีเมนูให้เลือกเป็นสิบอย่างเลย เสียดายเป็นมื้อเย็นแล้วไม่มีถาดอุ่น อาหารเลยชืดหมด เท่าที่ลองดูกูเกิ้ลสาขา 2 น่าจะดังที่สุดครับ


คืนนี้นอนที่ Green View Boutique Hotel คืนละ 993 บาทรวมอาหารเช้า ถือว่าไม่แพงเลยครับ wifi ดี มีลิฟต์สะดวก พื้นที่ส่วนกลางทำเป็นสวนหย่อมดูโล่งโปร่งสบาย ถ้ามาสุไหงโกลกอีกก็จะมาพักอีก แต่โอกาสมาอีกก็น้อยนิด

 

วันถัดมา (25 ธ.ค. 66) หลังกินข้าวเช้าที่โรงแรมแล้วก็ออกไปสถานีรถไฟกันแต่เช้า แน่นอนว่าฝนก็ยังคงตกแบบไม่เกรงใจนักท่องเที่ยว ทำให้บรรยากาศของสถานีสุดท้ายของประเทศไทยดูเหงาขึ้นไปอีก
  สถานีรถไฟสุไหงโก-ลก สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2464 จากนั้นจึงปรับปรุงเป็นอาคารคอนกรีตสองชั้นในปี พ.ศ.2509 เป็นสถานีสุดท้ายของทางรถไฟสายใต้ ห่างจากกรุงเทพ 1,142 กิโลเมตร และไปสุดทางที่เมืองรันตูปันยัง ประเทศมาเลเซียครับ ที่นี่เป็นสถานีร่วมไทย-มาเลเซีย มีคนมาเลเซียมาใช้บริการด้วย
 

กลับมาที่ อ.ตากใบ ใกล้ถึงอ่าวไทยจะมี ตลาดตาบา เป็นตลาดชายแดนและมีของสดขายด้วย หลังโควิดเดิมทีก็เงียบเหงาอยู่แล้ว ช่วงนี้พายุเข้าอีก ที่เห็นอีกฝั่งนั่นคือประเทศมาเลเซียกั้นด้วยแม่น้ำโกลก เหนือตลาดขึ้นไปนิดเดียวก็เป็นปากน้ำสู่อ่าวไทยแล้วครับ
 
 
 

ขับขึ้นมาทางเหนือจนถึงทะเลตรงนี้คือหาดใต้สุดของไทย หาดเสด็จ มีหาดทราย และสวนสาธารณะ ถ้าอากาศดีคงน่าเที่ยวอยู่นะครับ หน้าหนาวแกนโลกเอียงไปในองศาที่ทำให้ตรงนี้เป็นจุดแรกของประเทศไทยที่จะเห็นแสงแรกของปีใหม่ด้วยนะครับ ไม่ใช่ตะวันออกสุดอย่างโขงเจียมแบบที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ อยากให้ส่งเสริมการท่องเที่ยวเป็นเรื่องเป็นราวไปเลยเหมือนกัน


จบภารกิจกับนราธิวาสแล้วครับ ขับรถกลับขึ้นมาว่าจะเที่ยวเมืองยะลากับวัดคูหาภิมุข แต่ถนนโดนน้ำท่วมขาดไปเลย ตอนนี้อย่าว่าแต่เข้ายะลาเลยครับ หาทางกลับไปที่หาดใหญ่ให้ได้ก๊อน!! ...ว่าแล้วก็เปลี่ยนเส้นทาง ไปเส้นเลียบทะเล เข้าตัวเมืองปัตตานี ไหนๆ ก็มานอกแผนแล้ว ก็ขอแวะกินมื้อเที่ยงร้านที่อยากกินแต่ไม่ได้อยู่ในแพลนครับ โรงปี๊บ จ.ปัตตานี ร้านอยู่ในซอยน้ำใส ทางเข้าออกจะแคบสักหน่อย จอดรถริมถนน แต่ในร้านโอ่โถงผิดคาด ดัดแปลงจากโรงผลิตปี๊บเก่าเป็นร้านอาหารแบบโรงเตี๊ยมจีน มีของเก่าแต่งร้านให้ชมเพียบ เมนูชูโรงคือราดหน้าโรงปี๊บ แกงปู แกงมัสมั่น และชาโรงปี๊บ ร้านนี้มีเบเกอรี่ด้วยนะ แต่มื้อนี้จุกจริงจัง เลยไม่ได้ลองครับ


คืนสุดท้ายนอนที่หาดใหญ่ ก่อนจะบินกลับในวันถัดมา เป็นประสบการณ์ท่องเที่ยวด้วยสายการบินในประเทศที่ไม่ค่อยได้ใช้บริการ เพราะชอบขับรถไกลๆ นั่งเครื่องบิน+เช่ารถมันประหยัดเวลาประหยัดแรงได้เยอะจริง แต่ค่าใช้จ่ายก็สูงขึ้นมาอีกครับ

 

ปีนี้น่าจะได้กลับมาบินเที่ยวต่างประเทศสักที ตั้งแต่โควิดไม่ได้ออกนอกประเทศมาห้าปีแล้ว

20



 
Create Date :16 มีนาคม 2567 Last Update :19 มีนาคม 2567 1:16:32 น. Counter : 1044 Pageviews. Comments :31