<<
มกราคม 2553
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
18 มกราคม 2553

แผนยุทธศาสตร์การป้องกันการทุจริต

โดย รัตพงษ์ สอนสุภาพ
ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

การทุจริตเป็นปัญหาใหญ่ไม่เพียงแต่ในประเทศไทย เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่ปัญหาดังกล่าวได้เป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของโลกไปแล้ว ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าปัญหาความยากจน หรือปัญหาโลกร้อนที่โลกกำลังเผชิญอยู่

แต่เดิมนั้น ปัญหาการทุจริตมักจะจุกตัวอยู่ในหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะในระบบข้าราชการ ตัวอย่างเช่น การจ่ายค่าน้ำร้อนน้ำชา หรือค่าอำนวยความสะดวกสำหรับการติดต่อหน่วยงานราชการต่างๆ และอาจรวมถึงค่าเปอร์เซ็นต์จากเงินงบประมาณดำเนินการก่อสร้าง หรือพัฒนาในโครงการต่างๆ เป็นต้น การทุจริตแบบนี้ถือเป็นการทุจริตแบบเก่าที่ดำรงอยู่คู่สังคมมานาน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการทุจริตแบบนี้ก็มีพื้นที่จำกัดลง เนื่องจากเงื่อนไขทางการเมืองและสังคมได้เปลี่ยนแปลงไปมาก

การพัฒนาที่ผ่านมา ในหลายๆ ประเทศไร้ความสมดุล และผลอันเกิดจากโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ผูกโยงเข้าด้วยกันมากขึ้น กลไกราคาหรือกลไกตลาดถูกมองว่าเป็นเครื่องมือจัดสรรทรัพยากร ที่มีประสิทธิภาพมากกว่ากลไกของรัฐ ทำให้องค์กรธุรกิจเอกชนเข้ามามีบทบาทในการผลิตสินค้าและบริการ เพื่อตอบสนองความต้องการของคนในสังคมแทนกลไกภาครัฐที่มีข้อจำกัดในการให้ บริการ ด้วยเหตุนี้ องค์กรธุรกิจจึงมีความสำคัญเพิ่มขึ้นตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายขององค์กรธุรกิจ คือ การแสวงหากำไรสูงสุดจากการดำเนินงาน ดังนั้นไม่ว่าจะทำโดยวิธีไหนก็ตาม เพื่อทำให้ธุรกิจมีกำไรสูงสุดก็มักจะทำ หลายบริษัทไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ กลไกการตรวจสอบก็น้อยลง หลายบริษัทก็อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ แน่นอนว่า กลไกการตรวจสอบการทำงานของบริษัทก็จะมีเพิ่มขึ้น แต่มีหลายกรณีที่พบว่า แม้ว่าบริษัทเหล่านั้นจะเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้วก็ตาม ยังมีเจตนาทุจริตอยู่ดี อาทิเช่น การตกแต่งบัญชีเพื่อให้งบการเงินดูดี หรือการสร้างลูกค้าเทียมให้ดูว่าบริษัทมีธุรกรรมจำนวนมาก หรือการจ่ายสินบนให้นักการเมือง หรือข้าราชการ เพื่อให้ได้งานหรือโครงการต่างๆ ของรัฐ ดังนั้น แนวโน้มของการทุจริตในภาคธุรกิจเอกชนในระยะหลังๆ จึงมีเพิ่มขึ้น ทำให้พื้นที่ของการทุจริตไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในภาครัฐดังเช่นในอดีตแล้ว แต่การทุจริตได้ไหลบ่ามายังภาคธุรกิจเอกชนแล้ว

ด้วยเหตุนี้ ทำให้ประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้า จึงได้ร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศหลายองค์กร แสวงหาแนวทางหรือยุทธศาสตร์ร่วมกัน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในกรอบความร่วมมือต่างๆ อาทิเช่น กรอบขององค์การสหประชาชาติ ของธนาคารโลก ของกลุ่มประเทศโออีซีดี หรือของธนาคารพัฒนาตามภูมิภาคต่างๆ เป็นต้น ผลักดันกฎระเบียบเพื่อการควบคุมการทุจริตทั้งในภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชน อย่างเช่น อนุสัญญาว่าด้วยความร่วมการต่อต้านการทุจริตของ UN หรือข้อตกลงว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างในหน่วยงานภาครัฐ (GPA) ของประเทศต่างๆ รวมถึงการรณรงค์ให้นำหลักธรรมาภิบาล หรือบรรษัทภิบาลไปใช้ในการปกครองและบริหารองค์กรมากขึ้นเป็นลำดับ แม้ว่าการดำเนินการภายใต้กรอบต่างๆ เหล่านี้ ได้มีผลบังคับใช้ในประเทศสมาชิกบางระดับแล้ว ผลปรากฏว่า ปัญหาการทุจริตในประเทศต่างๆ ยังคงมีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง
สำหรับประเทศไทย ปัญหาการทุจริตมีความรุนแรงและซับซ้อนมาก ความรุนแรงของปัญหาสะท้อนในเชิงปริมาณจากดัชนีชี้วัดความโปร่งใสของประเทศ ที่จัดทำโดยองค์กรความโปร่งใสระหว่างประเทศที่จัดทำในแต่ละปี จากข้อมูลได้ชี้ว่าในช่วง 8 ปี คือ ตั้งแต่ปี 2544-2551 ประเทศไทยมีดัชนีความโปร่งใสเฉลี่ยเพียงร้อยละ 3.0 โดยอยู่ในอันดับที่ 70 ในปี 2546 และอันดับที่ 80 ในปี 2551 ในขณะที่เป้าหมายของแผนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการ ทุจริตของ ป.ป.ช.กำหนดไว้ว่าภายในปี 2555 ดัชนีความโปร่งใสของประเทศไทย จะต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ซึ่งเป็นระดับเดียวกันกับประเทศมาเลเซียและเกาหลีใต้ในปัจจุบัน จึงนับเป็นการท้าทายอย่างยิ่งยวดสำหรับประเทศไทย รัฐบาลไทย และประชาชนคนไทยทุกคนต่อภารกิจสำคัญอันนี้
อย่างไรก็ตาม หากมองในเชิงคุณภาพแล้ว ปัญหาการทุจริตในประเทศไทยเป็นเรื่องที่น่าห่วงใย เพราะมีรูปแบบที่เปลี่ยนไปและมีพัฒนาการมากขึ้น ทำให้รูปแบบการทุจริตในปัจจุบัน จึงยากแก่การทำความเข้าใจของสังคม อาทิเช่น คำว่า การทุจริตเชิงนโยบาย การมีผลประโยชน์ทับซ้อน และการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ เป็นต้น ซึ่งรูปแบบการทุจริตเหล่านี้เป็นรูปแบบการทุจริตที่ร่วมสมัย ด้านหนึ่งเป็นการดำรงอยู่ของการทุจริตแบบเก่า แต่อีกด้านหนึ่งเป็นการขยายตัวขององคาพยพด้านการทุจริตแบบใหม่ที่มาพร้อมกับ สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมแบบใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

ในขณะที่สังคมไทยไม่ได้ตอบสนองกับปัญหาเหล่านี้ มากนัก เนื่องจาก ประการแรก สังคมไทยขาดองค์ความรู้เกี่ยวกับการทุจริต รัฐบาลเองก็ขาดการเอาใจใส่ในการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนอย่างเพียงพอ ประการที่สอง การทุจริตในสังคมไทยและเอเชียมีพื้นฐานมาจากค่านิยมทางวัฒนธรรมที่คล้ายคลึง กัน เพราะเกิดจากระบบพวกพ้อง (Cronyism) ซึ่งเป็นประเด็นที่นักวิชาการได้ให้ความสนใจมากขึ้นในการนำมาวิเคราะห์แง่ มุมของการทุจริต อาทิเช่น ในงาน ฮัน (Han : 1998) หรือของกัทรี จอห์นสัน และอเมด (Khatri,Johnson and Ahmed : 2003) เป็นต้น ประการที่สาม พื้นที่ของการทุจริตและคนทำการทุจริตมีจำนวนเพิ่มขึ้น จนสังคมไทยในปัจจุบันไม่อาจจะแยกแยะได้ว่าใครคือพระเอกและใครเป็นผู้ร้าย หรือทั้งพระเอกและผู้ร้ายก็ทุจริตเหมือนกัน และประการสุดท้าย ผลพวงจากสามประการที่กล่าวมา ได้ส่งผลทำให้การแก้ปัญหาการทุจริตในสังคมไทยทำได้ยากยิ่ง

ดังนั้น ภาครัฐ สังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องแสวงหามุมมองใหม่ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างเป็นระบบ มองจากข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่ให้มากที่สุดในการกำหนดยุทธศาสตร์ โดยอาจจะมองมิติทางสังคมวัฒนธรรมมากขึ้น (Cultural Approach) มองมิติทางเศรษฐกิจ (Economic Approach) และมองมิติทางสถาบัน (Institutional Approach) ด้วย เพื่อให้การแก้ไขปัญหาการทุจริตมีความรัดกุมรอบด้านมากขึ้น



ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ 18-01-2553




 

Create Date : 18 มกราคม 2553
1 comments
Last Update : 18 มกราคม 2553 10:33:33 น.
Counter : 558 Pageviews.

 

เห็นด้วยกับบทความของคุณค่ะ
มีโอกาส น่าจะเผยแพร่ไปทุกหน่วยงานค่ะ เป้นประโยชน์มาก

 

โดย: ศรีนวล IP: 125.24.56.225 6 กุมภาพันธ์ 2553 19:51:53 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


good governance
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add good governance's blog to your web]