<<
เมษายน 2552
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
30 เมษายน 2552

ธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม

สังศิต พิริยะรังสรรค์ โครงการปริญญาเอก การพัฒนาธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏ จันทรเกษม

ข้อเสนอแนะเรื่องการสร้างธรรมาภิบาลด้านสิ่งแวดล้อมในภาคอุตสาหกรรมของภาคประชาชนไทยที่เสนอต่อการประชุมสุดยอดอาเซียนที่ชะอำในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นการเรียกร้องให้สมาชิกอาเซียนสร้าง "ธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม"

โดยเปลี่ยนแนวความคิดในการลงทุนและการพัฒนาอุตสาหกรรมเสียใหม่ เช่น ลดและเลิกการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ นำหลักการผลิตที่สะอาดมาใช้ ปฏิบัติตามหลักการป้องกันไว้ก่อน และเน้นการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ

นอกจากนี้ ภาคประชาชนยังเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกอาเซียนสร้างกระบวนการที่ช่วยให้เกิดความยุติธรรมทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ดีของประชาชนด้วย โดยการจัดตั้งกองทุนระหว่างประเทศ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาอุตสาหกรรม ขอให้มีการไต่สวนพฤติกรรมของบรรษัทข้ามชาติที่กระทำย่ำยีต่อสิ่งแวดล้อม และช่วงส่งเสริมให้เกิดการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น

ทันทีที่การประชุมอาเซียนสิ้นสุดลงเมื่อ วันที่ 1 มีนาคม 2552 ในวันที่ 3 มีนาคม ศาลปกครองจังหวัดระยองได้ตัดสินคดีให้ "คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ" ไปประกาศให้พื้นที่จังหวัดระยองในเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุดทั้งหมด พื้นที่ในเขตตำบลเนินพระ ตำบลมาบข่าและตำบลทับมา อำเภอเมืองระยอง และตำบลบ้านฉาง ในอำเภอบ้านฉาง เป็นเขตควบคุมมลพิษตามกฎหมายว่าด้วยสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ภายใน 60 วัน

และถัดมาอีกเพียงหนึ่งวันศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ได้ตัดสินคดีที่กลุ่มชาวบ้านแม่เมาะฟ้อง กฟผ.จำนวน 35 คดี ให้ กฟผ.จ่ายค่าเสียหายจากปัญหาคุณภาพอากาศของโรงไฟฟ้าและเหมืองแม่เมาะ ที่ไม่สามารถจัดการก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในระหว่างปี 2535-2541 ในวงเงินความเสียหาย 3,000 ล้านบาท รวมทั้งให้ปลูกป่าทดแทนในพื้นที่ที่มีการนำไปใช้เป็นสนามกอล์ฟ ฯลฯ

ทั้งสองคดีที่ศาลปกครองตัดสินเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า ที่ผ่านมาการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและด้านชุมชนของภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมล้มเหลวอย่างแท้จริง

ข้อคัดค้านของสภาอุตสาหกรรมที่จะให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด โดยให้เหตุผลว่าพวกเขาได้ปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมปี พ.ศ.2535 รวมทั้งได้ปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการและขจัดมลพิษในพื้นที่จังหวัดระยอง ที่ตั้งขึ้นในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ แล้ว

นอกจากนี้ พวกเขายังโต้แย้งว่าการยอมรับคำตัดสินของศาลปกครองจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน จะทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนออกไป ซึ่งจะส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจในภาพรวม

ข้อคัดค้านของกลุ่มธุรกิจในกรณีนี้อาจมองได้ว่าเป็นเพียงความพยายามต่อรองที่จะยืดเวลาในการดำเนินการกับการเจ็บป่วยของประชาชนในชุมชนออกไป

เป็นความโชคดีที่ภายหลังจากได้มีการพิจารณาในเรื่องนี้แล้ว นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้มีมติไม่ให้อุทธรณ์

ซึ่งเป็นการตอกย้ำถึงความ "ล้มเหลว" ของรัฐบาลในอดีต

รวมทั้งได้แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องจัดการกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดระยอง อันเป็นพันธกิจร่วมกันของภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม

ผู้เขียนเห็นว่านี่เป็นปัญหาเร่งด่วนที่ภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมควรน้อมรับใน "ความบกพร่อง" ต่างๆ ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ โดยยึดเอาคุณภาพของสิ่งแวดล้อม ชุมชน และชีวิตของ "คนเป็นๆ" เป็นเป้าหมาย

ภาคอุตสาหกรรมควรจะขานรับกับการประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษในครั้งนี้ เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อ "ความบกพร่อง" เพื่อแลกเปลี่ยนกับความเป็นพลเมืองที่ดีและระดับความรับผิดชอบต่อสังคมที่แต่ละบริษัทดำเนินการอยู่

ซึ่งเท่ากับเป็นการวัดประสิทธิภาพและประสิทธิผลของ CSR (Corporate Social Responsibility) ในสถานการณ์ภาคปฏิบัติที่ท้าทายเป็นอย่างยิ่ง

ทั้งสองกรณีที่กล่าวถึงข้างต้นเป็นเรื่องของศาลปกครองที่สามารถอธิบายความเป็นนิติรัฐ ที่ใช้เป็นหลักการพิจารณในคดีได้เป็นอย่างดี

เพราะเป็นกรณีที่ศาลไม่ได้คำนึงเฉพาะแต่การดำเนินงานตามตัวบทกฎหมาย ว่าผู้ปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคอุตสาหกรรมได้กระทำตามกฎหมายที่มีอยู่แล้ว

แต่ศาลยังให้ความสำคัญกับผลของการปฏิบัติและความเดือดร้อนของประชาชนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญด้วย

ที่สำคัญก็คือ การตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่ไม่อุทธรณ์เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงหลักการบริหารจัดการที่ดี (Good Governance) ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่กลไกของรัฐควรสนใจสร้าง "ธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม" ให้ปรากฏเป็นจริงในภาคปฏิบัติ

เรื่องเหล่านี้ใช่หรือไม่ที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และกรมโรงงานอุตสาหกรรมหรือแม้กระทั่งองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น ควรทำหน้าที่เป็นผู้กระตุ้น รณรงค์ รวมถึงกำกับ ดูแลประสานงานให้โรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต้องแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างเคร่งครัด

เรื่องเหล่านี้ใช่หรือไม่ที่รัฐวิสาหกิจชั้นนำ เช่น ปตท.ในฐานะที่เป็นกลไกของรัฐอีกรูปแบบหนึ่ง และในฐานะที่มีหน่วยงานในพื้นที่มาบตาพุดและมีมูลค่าของกิจการนับหมื่นล้าน ควรจะต้องทำหน้าที่เป็นแม่แบบให้กับธุรกิจอื่นๆ ที่เป็นธุรกิจเอกชน ธุรกิจขนาดใหญ่ก้าวข้ามให้พ้นจากวังวนของการเป็นอุตสาหกรรมแบบโรงงานที่ไม่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและผู้คน เป็นอุตสาหกรรมที่รับผิดชอบต่อการลงทุนและเป็นกิจการตัวอย่าง

และยิ่งเป็นเรื่องที่ ปตท. ควรดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบทั้งในการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการผลิตและการช่วยเหลือสังคม ก็ยิ่งมีความชอบธรรมที่จะอาศัยสถานการณ์นี้ประชาสัมพันธ์ให้มีการรับรู้ว่าจะมีการดำเนินการอย่างไรต่อไป อันถือว่าเป็นการรายงานผลการดำเนินการต่อสาธารณะโดยตรง

การรายงานความรับผิดชอบต่อสังคมเช่นนี้ใช่หรือไม่ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งอาจจะรวมถึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับตลาดและหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ต้องการที่จะกำหนดเป็นแนวปฏิบัติของบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์

หากใช่ สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ก็เหมาะสมแล้วที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรจะช่วยกันรณรงค์สร้างธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรมให้เกิดขึ้น

ผู้เขียนคิดว่าเป็นเรื่องที่ท้าทาย และเป็นปฏิบัติการที่ภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมควรจะเลือกเป็นการปฏิบัติเชิงรุกมากกว่าที่จะต้องรอคำสั่งศาลและการบังคับคดี

เพราะผลจากคดีของศาลปกครองข้างต้นเป็นการตอกย้ำว่า "วันเวลาของธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม และภาคปฏิบัติการที่เป็นจริงได้มาถึงแล้ว"

ที่มา : มติชน 05/04/52



Create Date : 30 เมษายน 2552
Last Update : 30 เมษายน 2552 10:47:27 น. 0 comments
Counter : 485 Pageviews.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

good governance
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add good governance's blog to your web]