<<
กันยายน 2552
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
14 กันยายน 2552

ธุรกิจบาปโดยรัฐกับแหล่งผลประโยชน์ที่ซ่อนเร้น

โดย ศรัณย์ ธิติลักษณ์
ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

ความหมายของคำว่า "รัฐวิสาหกิจ" ที่ใช้เป็นหลักและอ้างอิงอยู่เสมอ คือ ความหมายของรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 ซึ่งสรุปไว้ว่า รัฐวิสาหกิจ คือ องค์กรของรัฐบาลหรือหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของหรือบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจมีทุนรวมอยู่ด้วยเกินกว่าร้อยละ 50 (เช่นบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจ) ดังนั้น รัฐวิสาหกิจจึงเป็นหน่วยงานทางธุรกิจ หรือกิจการของรัฐที่มีภารกิจในการให้บริการสาธารณะด้านอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม รวมถึงเป็นเครื่องมือในการดำเนินงานทางเศรษฐกิจให้แก่รัฐบาล จากภารกิจของรัฐวิสาหกิจข้างต้น จึงทำให้รัฐวิสาหกิจ มีลักษณะองค์การและการดำเนินงานที่มีลักษณะผสมระหว่างกิจการเอกชนต้องมีความคล่องตัวในการดำเนินงานและมีเป้าหมายคือกำไรในการดำเนินงานอันเป็นเป้าหมายทางเศรษฐกิจกับการเป็นหน่วยงานของรัฐแบบมหาชนซึ่งเป็นเครื่องมือของรัฐที่ต้องดำเนินการต่างๆ ภายใต้ระเบียบกฎเกณฑ์ของกฎหมายและมีเป้าหมายคือผลประโยชน์ต่อส่วนรวมอันเป็นเป้าหมายทางสังคมอีกประการหนึ่งด้วย

อย่างไรก็ตาม ในจำนวนธุรกิจหลากหลายที่รัฐลงมือร่วมดำเนินการ (จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม) ยังคงมีธุรกิจอีกบางประเภทที่รัฐต้องดำเนินการเสียเองด้วยเหตุผลสำคัญที่ว่า ลักษณะของธุรกิจนั้นเป็นธุรกิจ ที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบทางด้านศีลธรรมหรือสุขภาพของประชาชน เช่น สลากกินแบ่งรัฐบาล และโรงงานยาสูบ ซึ่งด้วยนัยแห่งเหตุผลนี้เอง รัฐบาลไทยในขณะนั้นจึงได้ดำเนินการบริหารจัดการธุรกิจผูกขาดทั้งสองแห่งนี้ไว้เอง และธุรกิจของรัฐที่ดำเนินการนี้ก็สามารถที่จะส่งเงินเข้ารัฐได้อย่างเป็นกอบเป็นกำเสมอต้นเสมอปลายด้วยดีตลอดมา กล่าวคือ ผลการนำส่งรายได้รัฐวิสาหกิจประจำเดือนสิงหาคม 2552 ในสาขาอุตสาหกรรมจำนวน 2,201.80 ล้านบาท (เป็นเงินนำส่งรายได้จากโรงงานยาสูบจำนวน 2,000 ล้านบาท และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 201.80 ล้านบาท) ในสาขาพาณิชย์และบริการจำนวน 1,043 ล้านบาท (เป็นเงินนำส่งรายได้จากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจากการจำหน่ายสลาก 1,030.40 ล้านบาท และเงินรางวัลค้างจ่ายสลากบำรุงการกุศล 12.60 ล้านบาท) (ประชาชาติธุรกิจ วันพุธที่ 9 กันยายน พ.ศ.2552) ซึ่งจากข้อมูลนี้ทำให้เราเห็นได้ชัดเจนว่าธุรกิจบาปสามารถทำเงินเข้ารัฐได้เป็นจำนวนมหาศาล และนี่คือภาพที่ประชาชนทั่วไปมองเห็น จนบางคนเกือบลืม..คิดถึงส่วนที่เป็นอีกด้านหนึ่งซึ่งธุรกิจลักษณะนี้ก็ได้สร้างและบ่มเพาะปัญหาทางสังคมหรือสุขภาพขึ้นมาพร้อมๆ กันด้วย มากไปกว่านั้นยิ่งหากจะขุดและเจาะลึกถึงปัญหาภายในองค์กรด้วยแล้วมันยิ่งเกี่ยวพันถึงผลประโยชน์ที่มีมูลค่าอีกเป็นจำนวนมาก ที่นักการเมือง และกลุ่มผลประโยชน์ (ทุกยุคทุกสมัย) สามารถแสวงหาผลประโยชน์ในธุรกิจบาปของรัฐที่ไม่มีใครสนใจนี้ได้อย่างแนบเนียน โดยสามารถแสวงหาผลประโยชน์ได้ตั้งแต่ขั้นตอนของคณะกรรมการบริหารจนถึงผู้ที่ต้องการผลประโยชน์ทางธุรกิจ

ตัวอย่างที่น่าสนใจในกรณีแรก เป็นกรณีของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งมีปัญหาในเรื่องของการจัดการเรื่องโควตาการจัดสรรสลากกินแบ่งรัฐบาลให้กับกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มต่างๆ ที่ต้องการจำหน่ายสลาก (ซึ่งท้ายที่สุดก็ไปอยู่ที่รายใหญ่อยู่ดี) ปัญหาการขายสลากราคาแพง ปัญหาการออกสลาก 2 ตัว 3 ตัว ปัญหาการเมืองภายในองค์กร ตลอดจนการแทรกแซงทางการบริหารของนอมินีทางการเมือง ฯลฯ จนปัจจุบันหากจะจัดสรรแบ่งผลประโยชน์กันใหม่อย่างเป็นธรรมก็คงดำเนินการยาก เพราะรายชื่อผู้ได้รับสิทธิ ได้เปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว (ทั้งโควตาสลากกินแบ่งและผู้ที่จะค้าสลากชนิด 2 ตัว 3 ตัว) ส่วนการที่กองสลากจะสำรวจว่าใครขายจริงหรือไม่ก็เป็นปัญหาในทางปฏิบัติอยู่มาก (เพราะต้องใช้งบประมาณสูงและเมื่อสำรวจไปก็เจอผู้มีอิทธิพล) ดังนั้น หากจะกล่าวถึงบทสรุปการแก้ปัญหาในกรณีกองสลากนี้ ก็อาจสรุปได้ว่าผู้มีอำนาจจะเลือกไม่แก้ไขหรือแก้ไขให้ล่าช้าเพราะเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ของตนและพวกพ้อง ที่สำคัญกว่าก็คือไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใดเข้ามาก็จะได้ประโยชน์ทั้งสิ้น ซึ่งในทางทฤษฎีอาจเรียกได้ว่าเข้าข่ายของการคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ (Systemic Corruption)

อีกกรณีก็น่าสนใจ กรณีนี้เกิดในธุรกิจยาสูบซึ่งกระทรวงการคลังเป็นผู้ดูแล ในกรณีนี้เป็นการแสวงหาผลประโยชน์แบบนิ่มๆ ดำเนินการกันมานาน มีการวางแผนกันอย่างเป็นขั้นเป็นตอน มีการสมคบคิดกันระหว่างผู้เสนอผลประโยชน์และผู้บริหารองค์กร ทำกันตั้งแต่การชงเรื่อง ตั้งเรื่อง การเสนอต่อคณะกรรมการบริหารจนถึงขั้นตอนของการอนุมัติ โดยมีอดีตผู้บริหารและเครือข่ายกลุ่มหนึ่งที่มีอิทธิพลสูงเป็นผู้ร่วมดำเนินการ กับผู้ค้ารายหนึ่ง ซึ่งโดยรวมแล้วทำให้รัฐเสียประโยชน์ไปกว่าพันล้านบาทต่อปี (รายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ วุฒิสภา) นอกจากนี้ยังมีประเด็นการวางแผนการขจัดบุคคลผู้ขัดผลประโยชน์โดยใช้การเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานเป็นเครื่องมือเพื่อกดดันผู้บริหารให้ลาออก จากกรณีการปรับโครงสร้าง การบริหารโรงงานยาสูบให้เป็นนิติบุคคล ซึ่งโดยแท้จริงมีเป้าหมายอยู่ที่เรื่องของโครงการก่อสร้างโรงงานยาสูบแห่งใหม่ ส่วนเรื่องของการบริหารงานภายในองค์กร ก็เป็นปัญหาทางการเมืองตั้งแต่คณะกรรมการบริหารจนถึงตัวผู้บริหารบางฝ่ายงานที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลกลุ่มอำนาจเดิม ทำให้การทำงานขาดประสิทธิภาพ จนไม่สามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดระหว่างบุหรี่ไทยกับบุหรี่ต่างประเทศไว้ได้ ทั้งๆ ที่จำนวนผู้เสพมีการเปลี่ยนแปลงลดลงเล็กน้อย และกลุ่มผู้ค้าระดับต่างๆ ก็มีความสามารถในการดำเนินการได้ (ถ้าได้รับความเป็นธรรมทางการค้าที่เสมอกันทุกราย ซึ่งผู้บริหารไม่มีการแก้ไขปัญหานี้มากว่า 2 ปีแล้ว)

ดังนั้น หากจะกล่าวถึงบทสรุปในกรณีปัญหาของโรงงานยาสูบแล้ว ก็สรุปได้เช่นเดียวกันว่าผู้มีอำนาจเลือกที่จะไม่แก้ไข ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากกว่าเพราะผู้เสนอผลประโยชน์ยินดีจ่ายเสมอไม่ว่าจะมาจากรัฐบาลใด ส่วนผู้รับประโยชน์ก็ไม่ต้องทำอะไรเพราะระบบได้คอร์รัปชันไปแล้ว (อยู่เฉยก็ได้ประโยชน์) ที่สำคัญเอาไว้ขอการสนับสนุนเมื่อต้องการงบอำนวยการจากโรงงานยาสูบจะดีกว่า ซึ่งกรณีนี้ก็จัดได้ว่าเป็นการคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ (Systemic Corruption) ด้วยเช่นกัน เห็นหรือยังครับว่า ธุรกิจบาปของรัฐเป็นแหล่งผลประโยชน์ที่ไม่เคยมีใครสนใจจริงๆ

เผยแพร่ครั้งแรกที่ กรุงเทพธุรกิจ 14-09-52



Create Date : 14 กันยายน 2552
Last Update : 14 กันยายน 2552 10:06:29 น. 0 comments
Counter : 357 Pageviews.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

good governance
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add good governance's blog to your web]