<<
กรกฏาคม 2552
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
22 กรกฏาคม 2552

ธรรมาภิบาลการเงินของคนด้อยโอกาส

โดย สุวิทย์ พูลศิลป์ ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ข่าวผ่านสื่อสาธารณะเกี่ยวกับแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะ 2 ที่ได้เสนอกระทรวงการคลังเพื่อประกาศใช้ในปีนี้ โดยหยิบยกประเด็นน่าสนใจในส่วนของการจัดตั้งสถาบันการเงินสำหรับกลุ่มคนฐานรากที่ยังด้อยโอกาสและไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินในระบบปัจจุบันได้ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์ของเอกชน หรือธนาคารประเภทต่างๆ ของรัฐ เช่น ธนาคารกรุงไทย ออมสิน SME หรือแม้แต่ ธ.ก.ส. ที่อยู่ใกล้ชิดพี่น้องเกษตรกรในชนบทก็ตาม

ผมเองก็ยังไม่เคยเห็นหน้าค่าตารายละเอียดของแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินฉบับนี้ของ ธปท. แต่โดยประสบการณ์ที่ผ่านมา กลุ่มคนฐานรากผู้เป็นประชาชนด้อยโอกาส หากนำหลักคิดเส้นความยากจน (Poverty - Line) ของสหประชาชาติ มาแบ่งแยกตามรายได้ประชาชนของบ้านเรา ผมคิดว่า คนยากจนในประเทศไทยถ้านับกันละเอียดจริงๆ น่าจะอยู่ใกล้หลัก 10 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อย เทียบได้ถึง 10-15% ของคนไทยทั้งประเทศ คำถามสำคัญอยู่ที่ว่า คนยากจนเหล่านี้ได้รับการดูแล หรือได้รับประโยชน์จากนโยบายภาครัฐได้ทั่วถึงขนาดไหน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการให้บริการต่างๆ ซึ่งผมเห็นว่า มีตัวอย่างดีๆ ที่แสดงถึงการให้โอกาสและความเป็นธรรมแก่คนยากจนของสถาบันการเงินในบางประเทศ เช่น บังกลาเทศ ถ้ายังจำกันได้ก็คือ

ธนาคารกรามีนแบงก์ (Grameen Bank) และ ศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนูส (ผู้ก่อตั้งธนาคาร และปัจจุบันยังดูแลรับผิดชอบธนาคารแห่งนี้อยู่) ที่ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ในปี ค.ศ.2006 (The Nobel Peace Prize for 2006) ซึ่งในคำประกาศให้รางวัล ณ กรุงออสโล (Oslo) เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2549 สะท้อนชัดเจนว่า การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจากครัวเรือนระดับล่าง โดยอาศัยเครื่องมือทางการเงินที่เรียกว่า การให้สินเชื่อแก่ผู้กู้รายย่อย (Micro - credit) มาต่อสู้กับความยากจน เป็นหนทางนำไปสู่การพัฒนาของระบอบประชาธิปไตย และการเข้าถึงสิทธิมนุษยชน (human rights) ของประชาชนผู้ยากไร้ได้ สิ่งที่ กรามีนแบงก์ และยูนูส ลงมือกระทำ เป็นการให้โอกาสความเป็นธรรมทางการเงินแก่คนยากจน เจาะลึกลงไปถึงระดับคนขอทาน (Beggars) ในประเทศ แม้ว่าจะเป็นจำนวนเงินเล็กน้อยไม่กี่ร้อยบาทต่อราย แต่มีคุณค่าใหญ่หลวงต่อความเป็นอยู่และการลุกขึ้นมาต่อสู้ชีวิตของคนเหล่านั้นในอนาคตข้างหน้า บางหมู่บ้านที่ผมเคยไปสัมผัสในบังกลาเทศ คนขอทานบางรายก็กลับมามีอาชีพใหม่ที่สุจริตและอยู่ร่วมกันในชุมชนได้อย่างปกติ

สำหรับบ้านเรา ก่อนหน้านี้ในแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินของ ธปท. ระยะแรก เมื่อราวปี พ.ศ.2547 มีความพยายามพูดถึงการจัดระบบขององค์กรการเงินในระดับฐานรากมาบ้างแล้ว องค์กรการเงินเหล่านั้นมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งมีและไม่มีกฎหมายรองรับ เช่น กลุ่มออมทรัพย์ในหมู่บ้านกลุ่มสวัสดิการชุมชน สหกรณ์ประเภทต่างๆ ฯลฯ ซึ่งอาจมีข้อจำกัดในการดำเนินงานแตกต่างกันออกไป ฉะนั้น การนำประเด็นจัดตั้งสถาบันการเงินใหม่เพื่อให้บริการแก่ผู้ไม่มีโอกาสได้รับการดูแลจากระบบสถาบันการเงินที่มีอยู่เดิม มาบรรจุไว้ในแผนฯ ระยะที่ 2 นี้ จึงควรค่าแก่การยกย่องและท้าทายประเด็นธรรมาภิบาลเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าสถาบันการเงินใหม่ของคนจนผู้ด้อยโอกาสจะเกิดขึ้นมาเป็นรูปเป็นร่างในลักษณะใด หรือเป็นจริงเป็นจังได้ขนาดไหน ผมมีข้อคิดเห็นเบื้องต้นที่อยากเสนอเพิ่มเติมแก่สถาบันใหม่ในอนาคต คือ

ประการแรก การหยิบยื่นความช่วยเหลือให้แก่คนจนหรือคนระดับฐานล่างสุดของพีระมิด นับเป็นกุศโลบายอันประเสริฐ ควรจะให้คนเหล่านั้นได้เข้าถึงการให้บริการมากที่สุด อย่าไปกังวลว่าคนจนจะมีปัญหาตามมาในการชำระคืนหนี้หรือไม่ เราควรต้องเชื่อมั่นและระลึกไว้ว่า แม้นพวกเขาเป็นคนยากจนแต่ใช่ว่าจะเป็นคนโกงไปทั้งหมด ดังนั้น การให้โอกาสทางการเงินแก่คนจนได้มีช่องทางหารายได้จากการประกอบอาชีพโดยสุจริต จะช่วยให้คนจนตระหนักและหวงแหนชื่อเสียงของตนไม่ให้เกิดความเสียหาย และจะรักษาเอาไว้อย่างดีที่สุดเพื่อแลกกับโอกาสที่ได้รับ

ประการที่สอง ขณะเดียวกัน ผู้บริหาร พนักงาน และผู้เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินใหม่นี้ ไม่ว่าจะดำรงบทบาทในฐานะเป็นตัวการ (Principal) หรือเป็นตัวแทน (Agent) ก็ตาม ท่านจะต้องมีความเป็นธรรมในการให้บริการ ไม่เอาเปรียบคนจน เพราะคนจนมีเพียงความเชื่อมั่นและความเชื่อถือไว้วางใจให้แก่ท่าน คนจนไม่มีสินทรัพย์หรือสินจ้างอื่นใดมาตอบแทนแลกเปลี่ยนได้ สถาบันการเงินใหม่นี้ จึงต้องตระหนักในคุณธรรม และจริยธรรมในการปฏิบัติต่อคนจนอย่างเท่าเทียมเสมอภาคด้วย

ประการที่สาม ในระยะยาว ภาครัฐไม่จำเป็นต้องใช้นโยบายอุดหนุนสถาบันการเงินแห่งใหม่นี้ การจะมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลจากการดำเนินงาน ควรได้มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้ด้อยโอกาสและผู้เห็นคุณค่าในสิ่งเหล่านี้ มาร่วมด้วยช่วยกัน ขับเคลื่อนพัฒนาองค์กรของพวกเขา เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืนต่อไป การพยายามใช้การอุดหนุนของรัฐมากเท่าไร จะยิ่งซ้ำเติมการทำลายความเข้มแข็งและศักดิ์ศรีของคนเหล่านี้มากขึ้นเท่านั้น

นั่นคือ ความเห็นที่มีเจตนาจุดประกายก่อนลงมือทำ และขอทิ้งประเด็นส่งท้ายให้คิดว่า คนยากจนที่เรียกกันนั้น เป็นความคิดจากมุมมองด้านใดและเป็นมุมมองของใคร ตัวคนจนจริงๆ เขาอาจไม่จน ก็ได้ ใช่หรือไม่ ?

แผยแพร่ครั้งแรกที่กรุงเทพธุรกิจ 06-07-52



Create Date : 22 กรกฎาคม 2552
Last Update : 22 กรกฎาคม 2552 10:57:01 น. 1 comments
Counter : 349 Pageviews.  

 
เป็นมุมมองที่น่าคิดที่คนในสังคมปัจจุบันควรจะเอาเวลามาคิดสร้างสรรค์เพื่อประเทศชาติจะดีกว่า


โดย: มยุริญ IP: 58.8.225.41 วันที่: 24 กันยายน 2552 เวลา:20:13:18 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

good governance
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add good governance's blog to your web]