<<
เมษายน 2552
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
30 เมษายน 2552

แปรรูปอย่างไรสังคมไทยจึงไม่เสียประโยชน์

รัตพงษ์ สอนสุภาพ ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

แนวคิดในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นและยังคงดำเนินอยู่ในปัจจุบันในสังคมหลายประเทศ ทั้งประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศกำลังพัฒนา และประเทศเปลี่ยนผ่านทั้งหลายจากระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมมาเป็นแบบกลไกตลาด ประเด็นที่มีการถกเถียงกันมากมีอยู่ว่า “รัฐควรมีบทบาทมากน้อยแค่ไหนในระบบเศรษฐกิจ” หากเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว รัฐก็จะมีบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจต่ำ แต่สำหรับประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศเปลี่ยนผ่าน รัฐก็ยังคงมีบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจสูง

การศึกษาของธนาคารโลกในช่วง 1980-1991 พบว่า มีการแปรสภาพรัฐวิสาหกิจไปแล้ว 6,832 แห่ง กระจายไปทั่วโลก โดยแยกเป็นในประเทศเปลี่ยนผ่านจำนวน 4,500 แห่ง หรือร้อยละ 66 ยุโรปตะวันออก จำนวน 805 แห่ง หรือร้อยละ 12 ส่วนภูมิภาคอื่นๆ เช่น ละตินอเมริกาและแคริบเบียนร้อยละ 12 แอฟริกา ร้อยละ 5 เอเชีย ร้อยละ 2 และประเทศพัฒนาแล้วหรือกลุ่มประเทศโออีซีดี ร้อยละ 2 ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ร้อยละ 1 จนถึงปัจจุบันมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจไปแล้วไม่น้อยกว่า 80,000 แห่งทั่วโลก

ส่วนเหตุผลหลักๆ ของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเหล่านั้นมีหลายประการ ได้แก่
ประการแรก รัฐต้องการลดบทบาทในระบบเศรษฐกิจให้ต่ำลง หรือต้องการทำให้รัฐมีขนาดเล็กลงไม่ใหญ่โต เหมือนแต่ก่อน เช่น ประเทศยุโรปตะวันตก หรือสหรัฐอเมริกา
ประการที่สอง เพิ่มบทบาทของภาคเอกชนภายในประเทศ เพราะเชื่อว่า ภาคเอกชนจะมีความคล่องตัวกว่าในการดำเนินการ และบางสาขาเศรษฐกิจก็สามารถทำงานได้ดีกว่า มีประสิทธิภาพกว่าภาครัฐ อย่างไรเสียภาครัฐยังมีหน้าที่ในการกำกับดูแลอยู่เช่นเดิม ในรูปคณะกรรมการกลางขึ้นมากำกับดูแล ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนในการพัฒนาประเทศ

ประการที่สาม ลดภาระการคลังของรัฐลงทั้งด้านงบประมาณแผ่นดินและหนี้สาธารณะในแต่ละปี

ประการที่สี่ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันและเติมความมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ ให้ดีขึ้น

แต่สำหรับประเทศไทยนั้น เวลาพูดถึงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเมื่อไหร่กลายเป็นประเด็นร้อนและเป็นข้อขัดแย้งอย่างสำคัญของสังคม เหตุเพราะว่าสังคมไทยไม่ได้รับรู้ข้อมูลอย่างรอบด้านจากภาครัฐถึงความจำเป็น ผลดี หรือผลเสียของการแปรรูป การไม่เปิดเผยข้อมูลผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งออกสู่สังคมอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งยังขาดกฎหมายดำเนินการแปรรูปที่สมบูรณ์ครบถ้วนในการดำเนินการทุกๆ ขั้นตอนของการแปรรูป นับตั้งแต่กระบวนการเข้าสู่การแปรรูปของรัฐวิสาหกิจต่างๆ ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ทำไมต้องเป็นรัฐวิสาหกิจประเภทนี้หรือประเภทนั้น และหลังการแปรรูปแล้วก็ไม่มีกลไกหนึ่งกลไกใดควบคุมหรือกำกับดูแลผลประโยชน์ของสังคมหรือบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการแปรรูป เป็นต้น ทั้งหมดที่กล่าวโดยย่อนี้สังคมจึงมองการแปรรูปที่ผ่านมาว่า “ไม่มีความโปร่งใส มีผลประโยชน์ทับซ้อนในการดำเนินการ ไปจนถึงการขายสมบัติชาติ”

นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงหลายท่านมีความเห็นคล้ายๆ กันว่า เครื่องมือในการดำเนินการแปรรูปของไทยที่ผ่านมาคือ กฎหมายนั้นยังขาดความสมบูรณ์ครบถ้วนในการดำเนินการ โดยหมายถึง พระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 ได้กล่าวแต่เพียงว่า การแปลงทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นหุ้นของบริษัทเท่านั้น แต่ในส่วนของการนำหุ้นออกไปขายนั้นกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ระบุแต่อย่างใด รวมทั้งยังมองว่าการจัดทำกฎหมายดังกล่าวก็เป็นไปอย่างรีบเร่งเพราะแรงบีบจากต่างประเทศ ทำให้ขาดการศึกษาวิเคราะห์อย่างละเอียดรอบด้านทั้งในแง่บริบทสังคมไทยและบริบทของต่างประเทศเป็นการเปรียบเทียบ

ข้อเสนอของนักวิชาการเหล่านั้นเห็นว่า ประเทศไทยควรมีกฎหมายกลางสำหรับการแปรรูปอย่างครบวงจร ตั้งแต่การแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจไปจนถึงการกระจายหุ้นให้แก่ประชาชนทั่วไป ซึ่งการดำเนินงานทุกขั้นตอนจะต้องเปิดเผย และเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ และมีกระบวนการรายงานต่อรัฐสภา
สำหรับการจัดสรรหุ้นนั้นไม่ควรมีการจัดสรรหุ้นให้แก่ผู้มีอุปการคุณ แต่ควรให้ความสำคัญกับประชาชนทั่วไป ด้วยวิธีการจัดสรรแบบขั้นบันได หรือโดยวิธีการอื่นซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความสำคัญแก่ผู้จองซื้อหุ้นรายย่อย และห้ามมิให้ผู้ใดถือหุ้นของบริษัทที่แปลงสภาพเกินกว่าร้อยละ 5 ส่วนประเด็นเรื่องสิทธิพิเศษที่มีอยู่ในรัฐวิสาหกิจนั้นก็ไม่ควรให้สิทธินั้นตามไปด้วยไม่ว่าจะเป็นอำนาจในการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์หรืออำนาจในการอนุมัติ อนุญาต หรือการได้รับการยกเว้น เป็นต้น

เมื่อสองสามวันที่ผ่านมาผู้เขียนมีโอกาสเข้าร่วมฟังความเห็นคิดในประเด็นที่ว่า “สังคมไทยมีความจำเป็นต้องแปรรูปรัฐวิสาหกิจหรือไม่” โดยมีตัวแทนจากคนหลากหลายสาขาอาชีพ มีการศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรีขึ้นไปจนถึงระดับปริญญาเอก เป็นทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัย ทนายความ เจ้าของธุรกิจ นักเล่นหุ้น นักศึกษา แพทย์ พยาบาล และนายทหาร พบว่า ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจถึงวิธีการและกระบวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจของไทยในช่วงที่ผ่านมา โดยเห็นว่าภาครัฐไม่ได้ทำการประชาสัมพันธ์อย่างจริงจังถึงผลดีผลเสียของการแปรรูปว่าถ้าแปรรูปแล้วสังคมจะได้อะไรและเสียอะไร โดยรู้แต่ว่าหากมีการแปรรูปเป็นบริษัทจำกัดแล้วต้องเข้าตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ต่อคำถามที่ว่าประเทศไทยมีความจำเป็นต่อการแปรรูปหรือไม่ เกือบทั้งหมดในที่ประชุมตอบว่า เห็นว่าจำเป็น แต่มีเงื่อนไขว่า

ประการแรก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องวิเคราะห์สถานภาพรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งก่อน เพื่อประเมินความสามารถในการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง เพื่อหาวิธีการดำเนินการแก้ไขอย่างเหมาะสม เช่น ปรับปรุง อุดหนุน ยุบเลิก หรือแปรรูป หากเห็นควรแปรรูปควรใช้วิธีแปรรูปแบบไหนจากทั้งหมดที่มี 7 วิธี ซึ่งที่ผ่านมาทราบเพียงว่าแปรรูปแล้วเข้าตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น

ประการที่สอง กิจการที่เห็นควรแปรรูปจะต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และผลักดันให้เป็นนโยบายสาธารณะ รวมทั้งจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติขึ้นมากำกับดูแลและขับเคลื่อนอย่างอิสระ โดยไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลจากฝ่ายการเมืองและข้าราชการ
ประการที่สาม ควรมีคณะกรรมการกำกับดูแลทุกๆ ขั้นตอน นับตั้งแต่ก่อนเข้าสู่กระบวนการและหลังการแปรรูป โดยในแต่ละขั้นตอนประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมด้วย โดยเน้นกรอบของธรรมาภิบาลในการดำเนินการ

ประการที่สี่ ในการกำหนดราคาหุ้นของรัฐวิสาหกิจที่จะแปรรูป ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหลายควรมีส่วนในการกำหนดราคา ส่วนการกระจายหุ้นนั้นควรกระจายให้แก่ประชาชนทั่วไปให้มากที่สุดเป็นหลักก่อน

ประการที่ห้า จะต้องมีตัวชี้วัดที่ชัดเจนถึงสถานะรายได้-รายจ่าย เปรียบเทียบทั้งก่อนและหลังการแปรรูปเพื่อให้ประชาชนรับทราบ รวมถึงการรายงานผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจต่างๆ ต่อสาธารณะ ทั้งกระบวนการในรัฐสภาและสาธารณชนทั่วไป
ดังนั้น หากสังคมไทยเห็นว่าการแปรรูปยังคงเป็นเรื่องจำเป็นอยู่ในสถานการณ์ปัจจุบัน ก็เชื่อว่าข้อเสนอทั้งจากนักวิชาการทางด้านกฎหมายและจากที่ประชุมที่กล่าวมานั้น จะเป็นกระบวนการและวิธีการที่ดีมีธรรมาภิบาลเพียงพอ สามารถใช้เป็นเครื่องมือดำเนินการแปรรูปได้ โดยที่สังคมจะไม่เสียประโยชน์มากดังเช่นการแปรรูปที่ผ่านมา

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ 30-03-52



Create Date : 30 เมษายน 2552
Last Update : 30 เมษายน 2552 10:30:47 น. 0 comments
Counter : 293 Pageviews.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

good governance
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add good governance's blog to your web]