<<
พฤศจิกายน 2552
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
9 พฤศจิกายน 2552

การเมืองเรื่องคอร์รัปชัน กับการล่มสลาย

โดย ศรัณย์ ธิติลักษณ์ ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม


การปะทะกันเรื่องผลประโยชน์ในลักษณะของพฤติกรรม ที่มักอ้างเอาเหตุผลของผลประโยชน์สาธารณะ (Public interest) ซึ่งเป็นของคนส่วนรวมในสังคม เริ่มมีภาวะที่รุนแรงมากขึ้น เมื่อเกิดความเคลื่อนไหวทางการเมืองของบรรดาฝักฝ่ายคู่ตรงข้ามที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงระยะเวลา 3-4 เดือนที่ผ่านมานี้ และรูปแบบของความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ที่ชัดเจนระหว่างผลประโยชน์ของบุคคลกับผลประโยชน์ของสาธารณะ เริ่มมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้น จนอาจกลายเป็น "โศกนาฏกรรมของทรัพย์สินสาธารณะ" (tragedy of the commons) ซึ่งเกี่ยวข้องกับตรรกะของผลประโยชน์ (the logic of interest) จำนวนมากของผู้บริโภค และการจัดสรรทรัพยากรในสังคม

และครั้นเมื่อพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ประกาศลั่นว่าให้ลูกพรรคเพื่อไทย ค้นหาข้อมูลเชิงลึกที่เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันในฝ่ายรัฐบาลร่วมของคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้ได้มากที่สุด เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการอภิปรายในสภา อาทิเช่น ในเรื่องของการทุจริต นมโรงเรียน ทุจริตในโครงการรถเมล์ ทุจริตในกระทรวงสาธารณสุข และทุจริตทุกรูปแบบที่มีข้อมูล นั่นแสดงให้เห็นว่า ประเด็นทางการเมืองที่ใช้อ้างและเป็นเครื่องมือที่ทรงพลานุภาพมากที่สุดในการล้มรัฐบาลนอกจากการโจมตีด้านการบริหารงานที่ไร้ประสิทธิภาพแล้ว ก็คือ "เรื่องของการทุจริตคอร์รัปชันของรัฐบาล" (ซึ่งเป็นสูตรที่มักถูกหยิบยกมาใช้กล่าวอ้างได้ทุกยุค ทุกสมัย อย่างมีน้ำหนัก) ทั้งนี้ เพราะในทุกรัฐบาลจะมีเรื่องของการทุจริตคอร์รัปชันในรูปแบบหนึ่งรูปแบบใดแฝงตัวอยู่เสมอ ขึ้นอยู่กับว่าการคอร์รัปชันนั้นจะมีความชัดแจ้ง มีขนาดของวงเงินหรือการแพร่ขยายของการทุจริตมากน้อยเพียงใด

อย่างไรก็ตาม ในทางทฤษฎีคอร์รัปชันแล้ว สิ่งที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ผู้ที่เคยเป็นถึงนายกรัฐมนตรีพูดถึงนั้น ชี้ให้เราเห็นได้ว่า เรื่องของการคอร์รัปชันในสังคมไทยนั้นยังมีอยู่อย่างทั่วไป แม้ว่าจะมีกฎหมาย หรือมาตรการต่างๆ ออกมาควบคุมพฤติกรรมที่น่ารังเกียจนี้แล้ว แม้ว่าสังคมจะตระหนักรับรู้ถึงความชั่วร้าย หรือผลกระทบของการคอร์รัปชันต่อประเทศแล้ว แม้ว่าจะมีการตั้งหน่วยงานจำนวนมากที่คอยดูแลสอดส่องเรื่องนี้แล้ว ตลอดจนถึงขั้นที่ให้มีการประกาศเป็นวาระแห่งชาติแล้วก็ตาม ก็ดูเหมือนว่าเรื่องเลวร้ายเช่นนี้ มิได้ลดความสำคัญลงเลยแม้แต่น้อย แต่กลับกลายเป็นเรื่องของการนำเอาเรื่องของการคอร์รัปชัน มาเป็นเครื่องต่อรองผลประโยชน์ของพรรคพวก และที่สุด ก็นำเอามาทำลายล้างกันในทางการเมือง เพื่อลดความน่าเชื่อถือของฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับตน โดยจงใจที่จะละเลย และมองข้ามส่วนของผลประโยชน์สาธารณะ (ทั้งในรูปแบบที่เห็นเป็นตัวเงิน และในรูปแบบของต้นทุนทางสังคม) ของคนจำนวนมากที่ต้องสูญเสียไปกับการต่อสู้ คัดง้าง และแย่งชิงผลประโยชน์กันเองของบุคคลจำนวนหนึ่ง โดยเขาเหล่านั้นจะคงเหลือไว้ซึ่งความล่มสลายของสังคมให้คนรุ่นต่อไปดูต่างหน้า

ที่จริงแล้ว การทำความเข้าใจในเรื่อง "พฤติกรรมที่มีเหตุผล" (rational behavior) ซึ่งเกิดจากการปะทะกันด้านผลประโยชน์ของกลุ่มคนต่างๆ นั้น นักเศรษฐศาสตร์และนักสังคมศาสตร์ อธิบายได้จากพฤติกรรมของคนบางคน ซึ่งอาจคิดหาเหตุผลได้อย่างถูกต้องว่าตนเองจะได้รับประโยชน์เพิ่มมากขึ้น ด้วยการกระทำที่เป็นอันตรายหรือสร้างความเสียหายให้แก่ผู้อื่น แม้อาจจะเป็นการกระทำที่เลวร้ายในทางจริยธรรมก็ตามที ผู้กระทำผิดทราบดีว่าพวกตนสามารถรอดตัวไปได้ แม้ว่าจะทำพฤติกรรมไม่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไม่มีกำหนดไว้ในกฎหมาย หรือไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างแท้จริง พวกเขารู้สึกปลอดภัยเพราะผู้ถูกกระทำผิดมักกระจุกตัวอยู่เฉพาะกลุ่ม ในขณะที่ฝ่ายสูญเสียมักกระจายกันไปในหมู่คนจำนวนมาก ทั้งตัวผู้สูญเสียแต่ละคนในสังคมซึ่งมองโดยทั่วไปก็เสียประโยชน์ไปคนละเล็กน้อย มีขนาดไม่แน่นอน และดูว่าไกลตัวเกินไปสำหรับการต่อสู้เพื่อช่วงชิงผลประโยชน์กลับมา (อาจต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว ยาวนาน เพื่อผลประโยชน์ของสาธารณะซึ่งเป็นทรัพยากรของคนหลายๆ คน) ด้วยเหตุผลนี้เอง จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เราเข้าใจได้ว่า ทำไมการคอร์รัปชันยังคงอยู่ และการต่อต้านคอร์รัปชันจึงมักล้มเหลว และแน่นอนในอนาคตภัยร้ายนี้ย่อมต้องมีผลกระทบต่อสังคมในที่สุด

มากไปกว่านี้ จากอดีตจนปัจจุบันของสังคมใดๆ อาจกล่าวได้ว่า ยังมีเหตุผลอีก 3 ประการ ที่อาจทำให้สังคมเกิดความล่มสลาย (Social Collapse) ได้ นั่นคือ

หนึ่ง เกิดจากจุดเริ่มต้นของปัญหาบางอย่างที่เป็นเรื่องยากที่จะสังเกตเห็น เนื่องจากปัญหาอาจเกิดขึ้นช้าๆ ภายใต้การผันผวนของสังคม

สอง ผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อปัญหาอยู่ห่างไกลพื้นที่ที่มีปัญหา หรือปฏิเสธข้อเท็จจริง (speculative) ในการตัดสินใจปัญหาซึ่งมีความเกี่ยวพันกับการตัดสินใจโดยอิงกับ "จิตวิทยาฝูงชน" (crowd psychology) และ

สาม ปัญหาอาจยากเกินกว่าขีดความสามารถ หรือศักยภาพในการแก้ปัญหาของคนในสังคมในปัจจุบัน

ผมไม่อยากเห็นสังคมไทย ต้องล่มสลายและเหลือแต่ความผุพังไว้ให้กับลูก หลานไทยในอนาคต ได้โปรดกรุณาหยุดทำร้ายชาติ หยุดการกระทำเพื่อตนเองและพวกพ้อง และกลับมาเสียสละเพื่อประโยชน์สาธารณะของสังคมไทยในอนาคตดีกว่าครับ



เผยแพร่ครั้งแรกที่ : กรุงเทพธุรกิจ 09-11-52




Create Date : 09 พฤศจิกายน 2552
Last Update : 9 พฤศจิกายน 2552 11:22:11 น. 0 comments
Counter : 391 Pageviews.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

good governance
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add good governance's blog to your web]