<<
สิงหาคม 2552
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
19 สิงหาคม 2552

มาร่วมกันเป็น สายสืบอาสา ดูแลเงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ 8 แสนล้าน

โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ต่อตระกูล ยมนาค

ศูนย์บริการธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม


ในที่สุด เม็ดเงินสำคัญ 800,000 ล้านบาท ที่จะต้องใช้เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ตามที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ ต้องการก็ได้ผ่านขั้นตอนสำคัญ คือ การผ่านร่างกฎหมายทั้ง พ.ร.ก. และ พ.ร.บ. ผ่านจากทั้ง 2 สภาแล้ว แต่ภัยที่ร้ายแรงต่อความสำเร็จในโครงการนี้ และเป็นภัยร้ายแรงต่อความอยู่รอดของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เองยังมีอีก


นั่นก็คือ การป้องกันไม่ให้ เงิน 800,000 ล้านบาท รั่วไหลและถูกการทุจริตนำไปใช้ในผิดที่ผิดทางจนไม่ได้ผลในการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจตามที่ต้องการ และรัฐบาลอาจไม่อยู่รอดจนใช้เงินครบ ที่ตั้งใจไว้


วุฒิสภาได้ติงไว้ว่า รัฐบาลยังขาดรายละเอียดที่จำเป็นในการตรวจสอบเพื่อป้องกันการทุจริต ฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเดิมเป็นกลไกสำคัญในการตรวจสอบการใช้เงินงบประมาณทุกบาททุกสตางค์ จะไม่มีส่วนในการตรวจสอบเลย กลายไปเป็นอำนาจตรวจสอบกันเองของฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวล


วุฒิสภา ในที่สุดก็ได้รับการอธิบายจนมีความเชื่อมั่น ว่า จะมีระบบที่ดูแลการใช้เงินให้ปลอดการคอร์รัปชันได้ ตามที่ฟังคำมั่นจากนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ให้คำมั่นกับสมาชิกวุฒิสภาว่า จะกำกับดูแลไม่ให้มีการทุจริตในโครงการต่างๆ พร้อมย้ำอย่างมั่นใจว่าในไตรมาสสุดท้ายตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ จะเปลี่ยนจากลบมาเป็นบวกได้แน่นอน


นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวอีกว่า ในอดีตที่ยังเป็นฝ่ายค้านมีคนถาม ว่า ถ้ามีอำนาจแล้วจะรับประกันได้หรือไม่ว่า จะไม่มีการคอร์รัปชันเกิดขึ้น ท่านตอบว่าไม่รับประกันว่าจะแก้ได้ทั้งหมด แต่เชื่อว่า ถ้าผู้นำเป็นตัวอย่างที่ดีช่วยกันดูแลรัดกุม การทุจริตจะมีน้อย แต่ถ้ามีก็จะไม่ปล่อยไว้แน่ และจะแจ้ง ป.ป.ช. ด้วย


ความจริงที่นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทราบอยู่เกี่ยวกับมาตรการป้องกันคอร์รัปชันของระบบราชการไทยในขณะนี้ยังไม่ได้ผลนั่นเองจึงไม่กล้ารับประกัน และที่น่าเป็นห่วงมาก ก็คือ เงินกู้ 800,000 ล้านบาทนี้ ก็เป็นระบบการใช้เงินแบบใหม่ ที่ยังไม่มีระบบป้องกันและตรวจสอบที่ดีนั่นเอง


ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะชี้แจงว่าสำนักงบประมาณ จะยังเป็นผู้กำกับดูแล ตั้งแต่ขั้นการตรวจสอบโครงการ ขั้นประมูล และทำราคากลางที่จะใช้ในการประมูล ฉะนั้นจะไม่แตกต่างจากระบบปกติ ก็ยิ่งทำให้ประชาชนทั่วไปเห็นภาพไปในทางร้ายเหมือนๆ เดิม มากกว่าจะให้ความมั่นใจเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด เพราะเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าระบบการจัดซื้อจัดจ้างของประเทศไทยมีปัญหา แม้การนำระบบใหม่ๆ เข้ามา อาทิเช่น ระบบการประมูลทางอินเทอร์เน็ต ก็เกิดปัญหามากกว่าเดิม


นางแอนเน็ต ดิกสัน ผู้อำนวยการธนาคารโลก ประจำประเทศไทย ก็ได้เคยกล่าววิจารณ์ระบบวิธีจัดซื้อจัดจ้าง ที่มีอยู่ในระบบปัจจุบัน ว่า ยังมีปัญหาอยู่เดิมอยู่แล้ว อาทิเช่น กรณี อีออคชั่น ว่า


ประเทศไทยต้องทบทวนวิธีจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีประมูลผ่านระบบอินเทอร์เน็ตหรืออีออคชั่น เพราะวิธีอีออคชั่นของไทยแตกต่างจากต่างประเทศในโลกมาก เราใช้ระบบอีออคชั่นกับการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าทุกประเภท ขณะที่ประเทศอื่นใช้รองรับเฉพาะจัดซื้อครุภัณฑ์ ธนาคารโลกชี้ว่าอีออคชั่นทำให้เกิดอุปสรรคล่าช้างานกองกันเป็นคอขวด อีกทั้งยังไม่ได้ลดการรั่วไหลของเม็ดเงิน และแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้ ที่สำคัญ แม้จะใช้วิธีนี้เมื่อถึงเวลาประมูลก็ยังมีช่องทางให้เกิดการสมรู้ร่วมคิดระหว่างผู้เข้าร่วมประมูล แนะนำให้ใช้วิธีอื่น ธนาคารโลก อาสาที่จะส่งผู้เชี่ยวชาญมาช่วยไทยด้านการปรับปรุงวิธีการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของไทย เพื่อให้มีมาตรฐานเช่นหลายประเทศในโลก


เราต้องยอมลงทุนในด้านงบประมาณ อย่างพอเพียงในการสร้างระบบติดตามและตรวจสอบ การใช้เงิน 800,000 ล้านบาทนี้ ต้องใช้งบเพียง 2% ในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน เพื่อยับยั้งการทุจริตงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างและการลงทุนของรัฐ จากยอดเงิน 800,000 ล้านบาท ก็ย่อมคุ้มค่าแน่นอน เพราะไม่เพียงจะป้องกันเงินที่จะศูนย์เสียไปจากการทุจริต 5-10% ซึ่งจะเป็นเงินถึง 40,000-80,000 ล้านบาท ไปให้กับเหล่าคนโกงชาติแล้ว เรายังสามารถตัดวงจร นักการเมือง และข้าราชการ ที่ชั่วร้ายให้ออกไปจากระบอบประชาธิปไตยของไทยได้ในที่สุด นำเงิน 2% นี้ไปจ้างอาสาสมัครจากนิสิต นักศึกษา ให้ติดตามดูแลโครงการ ให้ไปทำหน้าที่ ร่วมกันเป็นสายสืบอาสา ดูแลเงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ 8 แสนล้าน เดิมสิ่งที่ประเทศไทยขาดและเป็นอุปสรรคต่อการต่อสู้กับการคอร์รัปชันมาก ก็คือ เราขาด "นายกรัฐมนตรีที่ไม่คอร์รัปชันและไม่ยินยอมให้คนแวดล้อมคอร์รัปชัน" ฉะนั้น กุญแจแห่งความสำเร็จในงานปราบคอร์รัปชัน จึงอยู่ที่ "ผู้นำที่เอาจริง" นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับความเชื่อถือว่าเป็น "นายกรัฐมนตรีที่ไม่คอร์รัปชันและไม่ยินยอมให้คนแวดล้อมคอร์รัปชัน"


นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงต้องเป็นผู้นำเองในการเป็นกำลังหลักที่จะนำไปสู่การป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชันที่แท้จริง ความมั่นคงของประเทศไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของเศรษฐกิจ หรือการปกครองประเทศเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับการที่ประเทศต้องปราศจากการทุจริตคอร์รัปชันด้วย


เผยแพร่ครั้งแรก กรุงเทพธุรกิจ 17-08-52



Create Date : 19 สิงหาคม 2552
Last Update : 19 สิงหาคม 2552 16:23:12 น. 0 comments
Counter : 343 Pageviews.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

good governance
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add good governance's blog to your web]