กุมภาพันธ์ 2552
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
16 กุมภาพันธ์ 2552

เกิดอะไรขึ้นที่การบินไทย ?

โดย รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์

ในรอบเดือนมกราคมที่ผ่านมา ข่าวที่ช็อกความรู้สึกของคนไทยทั้งประเทศมากที่สุดชิ้นหนึ่ง น่าจะเป็นเรื่องการขาดสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทการบินไทย ที่ล่าสุด นายพิชัย ชุณหวชิร บอร์ดการบินไทยในฐานะประธานคณะทำงานจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการเชิงรุก ได้เปิดเผยตัวเลขและแผนการฟื้นฟูกิจการว่าการบินไทยขาดสภาพคล่องเพียง 1.5 หมื่นล้านบาท ไม่มากถึง 7 หมื่นล้านบาท และขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเร่งรัดการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการโดยการพึ่งตนเอง หลังจากที่ถูก นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ปฏิเสธแนวทางแก้ไขปัญหา ที่จะให้กระทรวงการคลังไปค้ำประกันเงินกู้ก้อนใหม่กับสถาบันการเงิน

ผลที่ติดตามมาก็คือ “คณะทำงานฟื้นฟูธุรกิจการบินและพัฒนาระบบการขนส่งทางอากาศ” ที่มีนายศรีสุข จันทรางศุ อดีตปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน หันไปหาแนวคิดที่จะแปลงสินทรัพย์เป็นทุนเพื่อลดภาระการกู้เงิน เพื่อนำเงินสดเข้าแก้ไขปัญหาสภาพคล่อง เป็นเงินทุนหมุนเวียน พร้อมกับระดมผู้เชี่ยวชาญทั้งภายในและภายนอกองค์กร

ตลอดจนอดีตผู้บริหารการบินไทยเข้าร่วมเป็นคณะทำงานด้วย รวมทั้งยังได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเข้ามาช่วยดำเนินการอีกสองบริษัท คือ 1. บริษัท LEK Consult ซึ่งเคยแก้ไขปัญหาธุรกิจการบินและบริษัทขนาดใหญ่ เช่น ฟิลิปปินส์ แอร์ไลน์ , นอร์ธเวสต์ แอร์ไลน์ , ยูไนเต็ด แอร์ไลน์ โดยจะทำหน้าที่จัดทำแผนธุรกิจโครงสร้าง และการบริหารจัดการทั้งระบบ และ 2. บริษัท Advantgarde เป็นที่ปรึกษาดูแลแผนการเงิน

แผนงานที่อยู่ในระหว่างการเร่งจัดการ มีทั้งการแยกหน่วยธุรกิจออกไป เช่น ครัวการบิน คาร์โก การบริหารภาคพื้นดิน การซ่อมบำรุง การปรับปรุงระบบการจองตั๋ว /เอเยนต์ การปรับลดเส้นทางการบิน ตลอดจนการลดสิทธิประโยชน์ของบอร์ดและพนักงานการบินไทย ฯลฯ

หากเป็นสถานการณ์ก่อนหน้านี้ ผมคิดว่าคงจะกลายเป็นประเด็นข้อขัดแย้งระหว่างคุณพิชัยกับใครบางคนหรือบางกลุ่มในการบินไทยเป็นแน่ ในถ้อยแถลงของคุณพิชัยที่ว่า “...ขณะนี้ทุกฝ่ายหันหน้ามาช่วยกันแก้ปัญหาและพยายามให้ข้อเสนอที่จะเสียสละร่วมกัน เพื่อให้องค์กรอยู่ได้จากที่เคยหันหลังให้กัน...” ยิ่งเป็นการยืนยันเรื่องประสิทธิภาพ ความร่วมมือกัน ก็ต้องรอให้เกิดเป็นปัญหาถึงขั้นขาดสภาพคล่องทางการเงินเป็นหมื่นล้าน แสนล้านเสียก่อน

ปัญหาที่เกิดขึ้นข้างต้น สะท้อนให้เห็นอะไรในการบินไทย ? ความอ่อนแอของการบินไทยเกิดขึ้น เพราะขีดความสามารถที่อ่อนด้อยในการแข่งขันกับสากลและโลกาภิวัฒน์ หรือเป็นเพราะการแทรกแซงจาก “กลุ่มธุรกิจการเมือง” ที่ขย่มการบินไทยมาตลอด แม้จะเป็นกิจการในตลาดหลักทรัพย์ และเป็นกิจการรัฐวิสาหกิจต้นแบบของกระทรวงการคลัง ก็ไม่อาจจะหลุดรอดจากเงื้อมมือของบรรดา “กลุ่มธุรกิจการเมืองหรือระบบทุนนิยมพวกพ้อง” ที่ว่านี้ไปได้ หรือว่าปัญหาของการบินไทยเกิดขึ้นจากทั้งสองแรงบวกเข้าด้วยกัน ?

ธุรกิจการขนส่งทางอากาศ – ธุรกิจสายการบิน เป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง เป็นธุรกิจระหว่างประเทศที่มีปัจจัยต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องเป็นองค์ประกอบในการบริหารจัดการที่ไม่อาจกำหนดได้ เพราะธุรกิจนี้เป็นเรื่องของระดับโลก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกสายการบินจะต้องแย่ลงไปหมด เพราะเป็นกิจการระดับนานาชาติ ตรงกันข้ามหลายสายการบินนับวันกลับโตขึ้นๆ เช่น สิงคโปร์ แอร์ไลน์ คู่แข่งที่เคยตีคู่กับการบินไทยมา เพราะฉะนั้นความเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงและเป็นกิจการนานาชาติ จึงไม่ใช่เงื่อนไขเสมอไปที่จะนำไปสู่ปัญหาเช่นที่การบินไทยประสบอยู่ในขณะนี้

เมื่อกลับไปอ่านแผนฟื้นฟูกิจการเชิงรุก ที่คุณพิชัย เป็นประธานคณะทำงานอยู่ก็จะพบว่า เป็นปัญหาที่เกิดจากการบริหารภายในองค์กรเป็นเรื่องหลัก ไม่ว่าจะเป็นการแยกหน่วยธุรกิจ การปรับปรุงระบบการจองตั๋ว /เอเย่นต์ การพิจารณาปรับลดเส้นทางการบิน ตลอดจนความร่วมมือในการลดสิทธิประโยชน์ของบอร์ด และพนักงานการบินไทย ประเด็นก็คือว่า สิ่งเหล่านี้ทำไมในยามปกติจึงไม่อาจกระทำได้เลย หากประเด็นเหล่านี้มีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญแล้ว ทำไมคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงขององค์กร จึงไม่เข้มงวดกวดขันการบริหารกิจการให้เป็นไปตามครรลอง?

มีบางประเด็นที่สื่อมวลชนตั้งเป็นข้อสังเกตถึงที่มาของปัญหา คือ การซื้อเครื่องบิน การซื้อน้ำมันล่วงหน้าในราคาสูง เนื่องจากเกิดความตระหนักในภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลกดีดตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงกลางปี 2551 หรือแม้กระทั่งค่าใช้จ่ายในบางเรื่องของลูกเรือ ฯลฯ รายงานข่าวของสื่อมวลชนบางสำนักให้น้ำหนักไปยังประเด็นทางการเมืองเจือปนไปกับปัญหาทางการเงินคราวนี้ด้วย

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเมือง หรือการบริหารองค์กรก็ตาม มันเป็นเรื่องที่พึงระวังได้ กำกับได้ แก้ไขปรับปรุงได้ และเป็นพื้นฐานสำคัญที่นำไปสู่การคิดที่แข่งขันกับคนอื่นรอบข้างในธุรกิจเดียวกันได้ เหตุเกิดที่การบินไทย หากจะแก้ไขได้อย่างมีพลัง คนการบินไทยทุกระดับจะต้องใส่ใจในหลักธรรมาภิบาล ต้องรีบจัดการตัวเอง

ไม่เช่นนั้นแล้ว ปัญหาในลำดับต่อไปที่การบินไทยจะต้องประสบก็คือ การตรวจสอบและการสร้างเงื่อนไขธรรมาภิบาลจากภาคพลเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เผยแพร่ครั้งแรก โพสต์ทูเดย์ , 12 ก.พ. 52



Create Date : 16 กุมภาพันธ์ 2552
Last Update : 16 กุมภาพันธ์ 2552 12:34:38 น. 3 comments
Counter : 540 Pageviews.  

 
ถ้าการบินไทย ยังไม่สามารถเลิกระบบการค้างคืน เพื่อกินค่าเบี้ยเลี้ยงของเหล่าลูกเรือ ในการเดินทางระยะสั้นๆในประเทศแล้วล่ะก็ อย่าเพิ่งฝันที่จะไปแข่งกับใคร จะค้างไปทำไม ถ้าบินไปแค่เชียงใหม่ ถ้ามันเหนื่อยขนาดนั้น แล้วลูกเรือสายการบินอื่นไม่เหนื่อยหรือไง ถึงบินไปกลับได้

เครื่อง Airbus 300-600 เพียงฟลีทเดียว ใช้เครื่องยนต์จากผู้ผลิตที่ต่างกันไปทำไมในเมื่อมันเพิ่มค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง

ช่างการบินไทย สามโมงเย็นค่อยเปิดฝาเครื่องเพื่อเอาโอที อย่างงี้ไม่ขาดทุนได้ไง มีอย่างที่ไหน ได้โอทีมากกว่าเงินเดือนตั้งไม่รู้เท่าไหร่

รับทาสีเครื่องให้สายการบินจากญี่ปุ่น ทำเครื่องเค้าไฟไหม้ เสียหายไปเท่าไหร่ ปิดข่าวได้เงียบสนิท

ที่สำคัญ องค์กรนี้ เข้ามาแล้ว อยู่ได้จนตายเพราะไม่มีการไล่ออก ไม่ว่าจะทำงานได้เลวแค่ไหนก็ตาม


ตกลงตอนแรกแข่งกะสิงคโปร์ แล้วมาไล่ตบแมลงอย่างอันดามัน ต่อมาหันมาบี้กับแอร์เอเชียจนขาดทุนกระจาย (คนละ business concept, segment จะแข่งทำไม)

อีกหน่อยไปรอสู้กับ พวกอินโดแล้วกัน....

เสียดายภาษีเป็นที่สุด






โดย: ho IP: 124.120.58.32 วันที่: 16 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:17:14:55 น.  

 
ผมว่า ที่แน่ๆ มีพนักงานที่ไม่ค่อยหวังดีกับองค์กร รวมๆอยู่ด้วย

เห็นได้จากข้อมูลภายในที่ต่างเอามาสาวใส้ให้กากินกันสนุกปากไปวันๆ

ข้อมูลที่เขาทำธุรกิจกัน เขาแก้ปัญหากันภายใน แต่หลุดออกมาสร้างภาพเลวร้ายให้อง
ค์กร ก็เอาออกมาแฉกัน หวังแค่สนุกปากหรือผลทางการเมืองในมุ้งก็ไม่ทราบได้....

ลองพิจารณาจากเนื้อหาด้วยนะจ๊ะ...



โดย: xxxxxx IP: 58.136.94.88 วันที่: 16 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:19:38:31 น.  

 
เข้าใจว่าเรื่องในมุ้งในบ้าน ต้องแก้ปัญหากันเองในองค์กร แต่นี่มันรัฐวิสาหกิจนะคุณ ข้าราชการเดินทางก็บังคับต้องใช้แต่การบินไทย ซึ่งหมายความว่าค่าเดินทางที่เป็นรายได้เข้าการบินไทยนั้นก็ภาษีพวกเราทั้งนั้น

ที่เล่าๆมาให้ฟังที่ คคห. 1 น่ะ ผมไม่ใช่คนในองค์กรหรอกครับ เพียงแต่อยู่ในอุตสาหกรรมการบินมานาน และรู้ไส้รู้พุงการบินไทยหมด ว่ามันไม่ใช่เพียงแค่โทษนักการเมือง และผู้บริหารระดับสูงเท่านั้น แต่มันสูบเลือดสูบเนื้อองค์กรกันตั้งแต่หัวยันหางเลยครับ

ถ้าไม่เชื่อ ลองไปเฉียดๆศูนย์ซ่อมเครื่องที่ดอนเมือง หรือศูนย์คาร์โก้ที่วิภาวดีดูตอนเย็นๆก็ได้ ว่าพนักงานที่นี่เค้าเริ่มทำงานกันกี่โมงกันแน่ ทำไมเย็นๆแล้วเพิ่งเริ่มงาน

นักบินกับลูกเรือ บินไปแค่เชียงใหม่ทำไมต้องค้าง ใครก็ได้ช่วยตอบหน่อย ที่ต้องแฉเพราะที่นี่เค้าอยู่สบายเสวยสุขกันมานานมากนับสิบปีแล้วครับ ถ้าบทกรรมมันจะตามมาทัน ก็ควรปล่อยให้กรรมมันทำไป ไม่ใช่จะแห่กันไปอุ้มซะงั้น

หากมีเพื่อนอยู่การบินไทย ลองไปถามๆดูบ้างก็ได้ เค้ารู้กันทั้งนั้นแหละ ว่าข้างในน่ะ มันเน่าซะขนาดไหน เมื่อเข้าไปอยู่แล้ว ก็เพียงต้องหลิ่วตาตาม


โดย: ho IP: 124.120.58.32 วันที่: 16 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:21:57:02 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

good governance
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add good governance's blog to your web]