กุมภาพันธ์ 2552
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
18 กุมภาพันธ์ 2552

ธรรมาภิบาลภาคพลเมือง

โดย สังศิต พิริยะรังสรรค์
โครงการปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

ความปรารถนาของมนุษย์นับตั้งแต่อดีตจนกระทั่งถึงปัจจุบันคือ อยากเห็นสังคมที่ดี สังคมในอุดมคติ และสังคมที่มีความเจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ประชาคมทั่วโลกต่างพยายามผลักดันการปกครองที่ดีของสังคมตัวเองที่เรียกกันว่า ธรรมาภิบาล (Good Governance หรือ GG) ให้เกิดขึ้น

รวมทั้งยังร่วมกันผลักดันการบริหารขององค์กรธุรกิจให้เกิดสิ่งที่เรียกกันว่าบรรษัทภิบาล (Corporate Governance หรือ CG) ซึ่งมุ่งให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนภายนอกกิจการ ตลอดจนสังคมในภาพรวมและสังคมโลกมากยิ่งขึ้น แทนที่จะนึกถึงแต่ผลประโยชน์ของลูกค้า และผู้ถือหุ้นขององค์กรธุรกิจเท่านั้น

ยิ่งกว่านั้นภาคพลเมืองยังมีบทบาทอย่างสำคัญในการกดดันให้ภาคธุรกิจเอกชนแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility หรือ CSR) จนกระทั่งประมวลจริยธรรมของการทำธุรกิจกำลังกลายเป็นกติกาที่ธุรกิจเอกชนต้องปฏิบัติกันโดยทั่วไปแล้ว

ในบรรดาความเจริญก้าวหน้าของธรรมาภิบาลในภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคพลเมืองภาคที่มีการกล่าวถึงน้อยที่สุดในสังคมไทยในขณะนี้คือ ธรรมาภิบาลในภาคพลเมือง ในระยะหลังขบวนการของภาคพลเมืองมีความเข้มข้นและมีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น ประเด็นที่พวกเขาต่อสู้เรียกร้องครอบคลุมปัญหาหลายด้าน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สิทธิชุมชน สิทธิของผู้บริโภค การมีส่วนร่วมทางการเมือง ปัญหาชนกลุ่มน้อย และปัญหาสถานภาพทางเพศ ฯลฯ การเคลื่อนไหวของกลุ่มกิจกรรมข้างต้นถูกเรียกว่าเป็น "ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมใหม่ (New Social Movement : NSM)

ผู้เขียนคิดว่ากรอบของสังคมไทยในปัจจุบันกำลังกลายเป็นสนามผลประโยชน์ของการปะทะประสาน (Articulation) กันระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคพลเมือง

เป็นที่น่าสังเกตว่าในสองภาคแรกมีบทบัญญัติว่าด้วยธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติเกิดขึ้นแล้ว ในส่วนภาคพลเมืองยังมีคำถามว่าควรมีธรรมาภิบาลด้วยหรือไม่ อย่างไร?

ถ้าควรมี ภาคพลเมืองควรจะมีองค์ประกอบทางด้านธรรมาภิบาลอย่างไร?

ธรรมาภิบาล มีองค์ประกอบที่สำคัญอย่างน้อย 5 หลักการ คือ

(1) หลักการมีส่วนร่วม

(2) หลักนิติธรรม

(3) หลักความรับผิดรับชอบ

(4) หลักความโปร่งใส

และ (5) หลักของการมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

ในภาครัฐส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปยัง "หลักนิติธรรม" เป็นเบื้องต้น แล้วจึงเกี่ยวข้องไปยังหลักการอื่นๆ ทั้งนี้ เพราะรัฐจำเป็นต้องมีการตอบสนองต่อข้อเรียกร้องต้องการของสาธารณชนที่ตั้งคำถามต่อการจัดการปกครองที่ยึดตามตัวบทและตามกรอบกติกาเดิมๆ (Rule by Law)

รวมทั้งจะต้องดำเนินการให้เกิดผลในทางปฏิบัติให้มีความเท่าเทียมกัน ตลอดจนกระทั่งต้องขยายความไปยังส่วนที่เป็นนิติธรรม (Rule of Law) ที่เป็นต้นธารของการจัดการปกครองของรัฐอีกด้วย

ในขณะที่ภาคธุรกิจเอกชนที่กำลังเติบโตมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเกิดธุรกิจขนาดยักษ์ที่เรียกว่าบรรษัทข้ามชาติ ธุรกิจประเภทนี้สามารถมีรายได้หรือสินทรัพย์มากยิ่งกว่าภาครัฐในบางประเทศด้วยซ้ำ

ตัวอย่างเช่น บริษัทไอบีเอ็ม ไมโครซอฟท์ และเนสท์เล่ ฯลฯ ธุรกิจเหล่านี้มีผลต่อการดำรงชีวิตของผู้คนจำนวนหลายร้อยล้านคน และมีความผูกพันกับผู้คนมากยิ่งกว่ารัฐขนาดกลางและขนาดเล็กจำนวนมากในโลกเสียอีก

ตัวอย่างเช่น กรณีของบริษัท สุเอซ บริษัทในสัญชาติฝรั่งเศสที่ต่อมากระทรวงการคลังฝรั่งเศสเข้าไปซื้อกิจการ ซึ่งเป็นธุรกิจเกี่ยวกับน้ำและไฟฟ้า ที่มีประชากรในโลกนี้ใช้บริการอยู่มากกว่า 120 ล้านคน

คุณลักษณะของธุรกิจข้างต้นที่มุ่งเน้น CG และ CSR ในขณะนี้เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมมากยิ่งกว่าผู้ถือหุ้น (Shareholder) และมีผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) แบบเดิม

เพราะเหตุว่า GG ที่เกิดขึ้นในภาครัฐและ CG/CSR ในภาคเอกชน ไม่ได้เกิดจากการสรุปบทเรียนหรือประสบการณ์โดยตนเอง เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของการบริหารภายในขององค์กรเป็นด้านหลัก แต่เป็นผลมาจากกระแสกดดันจากปัจจัยภายนอกขององค์กรมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการชุมนุมประท้วงการจัดประชุมองค์การการค้าโลก (WTO) ของภาคพลเมืองที่เมืองซีแอตเติล ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 1998

เพราะฉะนั้นภาคพลเมือง จึงเป็นภาคที่นับวันจะมีบทบาทในการกำหนดนโยบายและกฎกติกาของภาครัฐและภาคเอกชนมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ

สำหรับสังคมไทยในช่วง 4-5 ปี มานี้ มีกลุ่มและขบวนการต่างๆ ที่ขัดแย้ง และเผชิญหน้ากันอย่างรุนแรง จนกลายเป็นวิกฤติทั่วทั้งสังคมไทย รวมทั้งยังมีม็อบต่างๆ ที่ออกมาเรียกร้องกดดันรัฐและภาคเอกชนอยู่ทั่วไป

ด้วยเหตุนี้ จึงใคร่ขอเสนอหลักการเพื่อใช้ในการพิจารณาและวินิจฉัยประเด็นความเหมาะสมของกลุ่มเคลื่อนไหวที่มักเรียกตัวเองว่า "ภาคพลเมือง" ว่าเป็นของจริงหรือของเทียมกันแน่ ดังต่อไปนี้คือ :

ประการแรก ประเด็นที่นำเสนอของภาคพลเมือง ควรเป็นผลรวมจากความเดือดร้อนของสังคมโดยรวม ทั้งโดยทางตรงและโดยทางอ้อม ซึ่งไม่ควรจะเป็นเรื่องผลประโยชน์ของใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นการเฉพาะ ซึ่งหลักการข้อนี้สอดคล้องกับหลักการมีส่วนร่วมในเรื่อง GG และ CG

ประการที่สอง การกระตุ้นหรือการกระตุกวิธีคิดของผู้คนในสังคม การทวงถาม การเรียกร้องการนำเสนอ การขัดขวาง การขัดขืน หรือการก่อการอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นของภาคพลเมือง ควรเป็นไปตามตัวบทกฎหมาย กติกาทางสังคมและได้รับการยอมรับจากประชาชนที่เป็นสุจริตชนส่วนใหญ่ ข้อเรียกร้องควรมีความชอบธรรม (Legitimacy) และมีหลักการที่สอดคล้องกับหลักนิติธรรมของ GG และ CG ด้วย

ประการที่สาม การฝืนกฎกติกาทางสังคม หรืออารยะขัดขืน (Civil Disobedience) ตามแนวทางการต่อสู้ของหญิงผิวดำที่ไม่ยอมสละที่นั่งของตนในรถโดยสารให้กับคนผิวขาว หรือการนำพาประชาชนอินเดียเรียกร้องเพื่อเอกราชของอินเดียของมหาตมะ คานธี นั้น ภาคพลเมืองควรมีความรับผิดชอบ ในผลพวงที่จะเกิดขึ้นต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านบวกและด้านลบที่จะมีต่อสังคมโดยรวม ซึ่งหลักการข้อนี้ไปในทิศทางเดียวกันกับหลักความรับผิดชอบในเรื่องของ GG และ CG

ประการที่สี่ ในสถานการณ์ที่ภาคพลเมืองมีการเคลื่อนไหวที่เข้มข้น มีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น ภาคพลเมืองควรยอมรับเรื่องที่ภาคส่วนหนึ่งจะแยกตัวออกจากส่วนที่เป็นส่วนรวมหรือส่วนทั้งหมด พร้อมไปกับการยอมรับการตรวจสอบจากส่วนรวมที่เป็นสาธารณะ ภาครัฐและภาคของเอกชนไปพร้อมๆ กัน ซึ่งเป็นหลักการที่ไปในทิศทางเดียวกันกับหลักความโปร่งใสของ GG และ CG

ประการที่ห้า ในเรื่องของประสิทธิภาพและประสิทธิผลขององค์กรในภาครัฐ และภาคเอกชนภาคพลเมืองควรคำนึงถึงผลลัพธ์จากการเรียกร้อง และการเคลื่อนไหวที่มุ่งตอบสนองผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ เพื่อเป็นการสร้างดุลยภาพใหม่ของสังคมจากการปะทะประสานกันในพื้นที่ใหม่ของสาธารณะ

หลักทั้งห้าประการข้างต้น น่าจะช่วยทำให้เราสามารถพิเคราะห์การแสดงออกของ "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" ในระหว่างปี พ.ศ.2548-2551 กับ "แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปช.) " ที่ถูกสื่อลดสถานะลงเหลือเพียงเป็น "กลุ่มคนเสื้อแดง" ว่าภาคพลเมืองกลุ่มไหนที่มีธรรมาภิบาลในการเคลื่อนไหวกันแน่

ซึ่งรวมทั้งม็อบต่างๆ ที่อ้างปัญหาของตัวเอง แต่กลับใช้ความเดือดร้อนของประชาชนมาเป็นเครื่องมือต่อรองกับรัฐบาล

เผยแพร่ครั้งแรก : มติชน , 15 ก.พ. 52



Create Date : 18 กุมภาพันธ์ 2552
Last Update : 18 กุมภาพันธ์ 2552 15:38:00 น. 0 comments
Counter : 541 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

good governance
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add good governance's blog to your web]