<<
กรกฏาคม 2552
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
22 กรกฏาคม 2552

คอร์รัปชัน ประชาธิปไตย และกระบวนการยุติธรรม

โดย รัตพงษ์ สอนสุภาพ ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

ประเทศไทยมีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน โดยมีอำนาจรัฐแยกออกเป็นสามฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายนิติบัญญัติคือรัฐสภา ฝ่ายบริหารคือรัฐบาล และฝ่ายตุลาการคือศาล เพื่อการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐระหว่างกัน

นักการเมืองทั้งที่มาจากกระบวนการเลือกตั้งและการแต่งตั้ง จะเป็นผู้ที่มาใช้อำนาจรัฐผ่านกระบวนการทางรัฐสภา และเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ นัยทั้งสองบทบาทนี้จะสัมพันธ์กับระดับการคอร์รัปชันของประเทศ หากรัฐสภาและรัฐบาลมีการใช้อำนาจรัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ระดับการทุจริตคอร์รัปชันก็จะลดน้อยถอยลง แต่ในทางกลับกัน หากมีการใช้อำนาจรัฐอย่างไร้ประสิทธิภาพ ระดับการทุจริตคอร์รัปชันก็จะสูงขึ้น

เป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองทศวรรษแล้ว ที่การทุจริตคอร์รัปชันได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของชาติไปแล้ว อำนาจรัฐดูจะไร้ผลในการควบคุมแก้ไขปัญหานี้ เพื่อให้การทุจริตคอร์รัปชันอยู่ในระดับที่รัฐสามารถควบคุมได้

ดังผลการสำรวจของ Transparency Organization ในช่วงปี 2538-2551 ประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยของดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันอยู่ระหว่าง 2.75-3.80 เท่านั้น นั่นชี้ได้ว่า ประเทศไทยมีปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันอยู่ในระดับที่รุนแรงมาก อำนาจรัฐไม่อาจจะควบคุมได้ แม้ว่าในช่วงปีดังกล่าว จะมีรัฐบาลมาจากหลายพรรคการเมืองสลับกันขึ้นมาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ แต่ระดับการทุจริตคอร์รัปชันของประเทศไม่ได้ลดลงเลย

ความรุนแรงของปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทย อาจจะสะท้อนได้ถึงความไร้ประสิทธิภาพในแง่ของการจัดการปัญหาของกระบวนการยุติธรรมไทยด้วย โดยเฉพาะปัญหาการทุจริตที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับนักการเมือง พบว่ากระบวนการดำเนินการเป็นไปอย่างเชื่องช้า ทำให้บางคดีต้องหมดอายุความลง ไม่สามารถเอาคนผิดมาลงโทษได้ ในขณะที่ปัญหาการทุจริต คอร์รัปชันในปัจจุบันที่มีระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยมมาใช้ควบคู่ไปกับระบบเศรษฐกิจแบบตลาดส่งเสริมการเติบโตของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมอย่างกว้างขวาง ทำให้ธุรกิจการค้าขยายตัวและต้องอาศัยการดำเนินการทางการเมืองเพื่อกำกับควบคุมที่ทำให้ผู้ประกอบการต้องเข้าไปเกี่ยวข้องผลักดัน เพื่อลดผลกระทบทางลบของนโยบาย ก่อให้เกิดความสัมพันธ์กับนักการเมือง มีอาชีพทางธุรกิจมาก่อนเข้าสู่การเมือง และยังต้องการรักษาอาชีพหรือผลประโยชน์ที่ได้รับอยู่เดิมไว้ต่อไป

ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้จึงมีแนวโน้มว่า นักการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตประพฤติมิชอบมากยิ่งขึ้น ผลที่ตามมา ก็คือ ทำให้รูปแบบของการทุจริตคอร์รัปชันมีรูปแบบที่สลับซับซ้อนมากขึ้นตามไปด้วย ขณะที่การปรับตัวของกระบวนการยุติธรรมของไทยกลับเป็นไปอย่างเชื่องช้าและไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและแก้ไขปัญหานี้ จึงเกิดปัญหาตามมา ก็คือ "กระบวนการยุติธรรมไทยวิ่งตามปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน"

ผลกระทบของการทุจริตคอร์รัปชัน จะขึ้นอยู่กับขนาดของการทุจริต แต่ขนาดของการทุจริตขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้กระทำการทุจริต ซึ่งจะมีระดับความเข้มข้นแตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่น รูปแบบดั้งเดิม อาจจะมีตัวละครเพียงแค่ ข้าราชการ + นักธุรกิจเท่านั้น ครั้นเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ตัวละครที่กระทำการทุจริตก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น นักการเมือง + ข้าราชการ + นักธุรกิจ หรือหากเป็นสังคมสุดโต่งที่เชิดชูตัวผู้นำแบบลืมหูลืมตาหรือลัทธิผู้นำเป็นใหญ่ และมีประชาธิปไตยแบบไร้เหตุไร้ผล ตัวละครที่จะกระทำการทุจริตจะมีเพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็นรัฐบาล (ผู้นำทางการเมืองและพวกพ้องบริวาร) + ข้าราชการ + กลุ่มนักธุรกิจคนใกล้ชิด เป็นต้น

การทุจริตคอร์รัปชันไม่ได้มีแต่ผลด้านลบเท่านั้น เมื่อมองในเชิงมหภาค (Macro View) ตัวอย่างเช่น มุมมองของนักเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิกหลายสำนักได้อธิบายว่า หากรัฐสามารถควบคุมระดับการทุจริตคอร์รัปชันอยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ มันจะถูกแปรสภาพให้กลายเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายและการลงทุนในการพัฒนาประเทศ แม้ว่าจะเป็นไปภายใต้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับกลุ่มทุนเพียงบางกลุ่มเท่านั้นก็ตาม ซึ่งนักวิชาการกลุ่มนี้เรียกว่า การพัฒนาอย่างมียุทธศาสตร์ (Strategic Development) การมองเช่นนี้ของนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้ เขาจะไม่สนใจว่า ใครจะได้รับผลประโยชน์สูงสุดจากการพัฒนา แต่เขาเหล่านั้นเชื่อว่ากลไกตลาด หรือ Demand และ Supply จะเป็นกลไกสามารถจัดการกับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในระดับดังกล่าวได้

หากเรามองปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันเปรียบเสมือนกับปรอทวัดความเสี่ยงของสังคม นั่นอาจหมายความว่า สังคมไทยกำลังป่วยหนัก ตกอยู่ในภาวะความเสี่ยงสูงยิ่ง ซึ่งผลการสำรวจของ PERC (Political and Economic Risk Consultancy Ltd.) เป็นตัวฟ้องได้อย่างดีว่า ประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง โดยอยู่อันดับ 12 จากจำนวนทั้งหมด 13 ประเทศที่ถูกสำรวจ ได้แก่ ประเทศ สิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น มาเก๊า ไต้หวัน มาเลเซีย จีน เกาหลีใต้ อินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย ไทย และฟิลิปปินส์ ตามลำดับ โดยไทยมีระดับความเสี่ยงในปี 2550 อยู่ที่ระดับ 8.03 และ 8.00 ในปี 2551 ซึ่งมีความเสี่ยงสูงกว่าประเทศอินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซียเสียอีก

คำถามคือ ทำไมรัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งไม่อาจจะควบคุม และแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันได้ รัฐบาลของคุณอภิสิทธิ์ไม่ต้องตอบ แต่แก้ไขปัญหานี้เลย

เผยแพร่ครั้งแรกที่ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 20-07-52



Create Date : 22 กรกฎาคม 2552
Last Update : 22 กรกฎาคม 2552 10:59:07 น. 0 comments
Counter : 411 Pageviews.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

good governance
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add good governance's blog to your web]