<<
พฤษภาคม 2552
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
27 พฤษภาคม 2552

การพัฒนารัฐวิสาหกิจกับตัวอย่าง..ปตท.

ผมมีความสนใจในเรื่องการพัฒนารัฐวิสาหกิจมาตลอด เพราะถ้าประเทศของเรามีการพัฒนาปรับปรุงให้รัฐวิสาหกิจมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย เช่น สามารถสร้างกำไรเพิ่มเพียง 1% ประเทศของเราจะมีงบประมาณเพิ่มมาใช้ในการพัฒนาประเทศประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งหลายท่านคงคิดว่าน่าจะไม่ใช่เรื่องยากเย็นในการดำเนินการดังกล่าว พร้อมกับผมได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ In the Eye of Power "ปฐมบทแห่งความโชติช่วงของพลังงานไทย" เขียนโดย ณัฐวิทย์ ณ นคร ซึ่งเขียนถึงอดีตรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่งที่มีการพัฒนาตนเองไปได้ไกลมาก นั่นคือ "ปตท." บริษัทด้านพลังงานของไทย ที่บ้างชมชอบ บ้างก็ชิงชัง หลากหลายแง่มุมในความรู้สึกนึกคิดของผู้คนที่มีต่อวิถีแห่ง ปตท. ซึ่งที่จริงน่าจะเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย ยิ่งทำให้ผมเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนารัฐวิสาหกิจของไทยเพิ่มมากยิ่งขึ้น ผู้เขียนสามารถสรุปเรื่องราวและอธิบายความได้ดีมาก ผมจึงขออนุญาตนำมาถ่ายทอดให้ท่านผู้อ่านได้รับรู้ไปพร้อมกันด้วย

จากอดีต...... การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ได้จัดตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2521 เพื่อเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติ โดยเป็นการรวมกันขององค์การเชื้อเพลิงและองค์การก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤตขาดแคลนน้ำมันทั่วโลก และเมื่อเกิดวิกฤตอีกครั้งในปี 2533 อิรักบุกยึดคูเวต เกิดการกักตุนน้ำมันทำให้ขาดแคลน รัฐบาลตอนนั้นตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากมาก เราขาดแคลนพลังงานและแหล่งในการจัดการ ทำให้ต้องมีการส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในกิจการน้ำมันมากขึ้น จนทำให้เกิดผู้ค้าน้ำมันรายใหม่หลายราย การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยต้องทำหน้าที่เป็น "ผู้คานอำนาจ" พร้อมกับมีความจำเป็นต้องพลิกบทบาทของตนเองไปกับการแข่งขันในเชิงธุรกิจไปด้วย ซึ่งเป็นหลักการเบื้องต้นของการพัฒนารัฐวิสาหกิจที่ต้องสร้างบรรยากาศในการแข่งขัน และเป็นจุดเริ่มต้นที่เสริมสร้างศักยภาพให้กับ ปตท. มาตั้งแต่เวลานั้น ซึ่งแตกต่างจากรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ที่มักจะเป็นการผูกขาด ปตท.ต้องอยู่ท่ามกลางการโอบล้อมของบริษัทน้ำมันต่างชาติที่ยึดครองประเทศอยู่ ทั้งที่ตนเองมีขนาดเล็กจิ๋วมีทรัพย์สินเพียง 400 ล้านบาท ทำให้ต้องมีการปรับบทบาทเชิงพาณิชย์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน แล้วกระบวนการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ก็ถูกจุดชนวนขึ้น ณ ตรงนั้น

การเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ได้เป็นสิ่งเร้ากระตุ้นให้ ปตท. และบริษัทในเครือต้องเร่งปรับโครงสร้างขนานใหญ่ ต้องขวนขวายหาเงินไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงาน ในภาวะเงินหน้าตักมีข้อจำกัด ซึ่งเป็นการเดิมพันที่สำคัญต่ออนาคตความมั่นคงทางพลังงานของชาติที่มีบรรษัทน้ำมันข้ามชาติที่อยู่ในสภาพได้เปรียบพร้อมยึดธุรกิจนี้ของประเทศเรา จากวิกฤตครั้งนั้น การลอยตัวค่าเงินบาททำให้หนี้สินต่อทุนของบริษัทพุ่งเป็น 5 ต่อ 1 ทำให้ยากที่จะกู้เงินเพิ่มและภาระดอกเบี้ยที่ต้องชำระเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ปตท.ต้องเลือกวิธีการที่ยืนบนลำแข้งของตนเองด้วยการแปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์ ระดมทุนจากทั้งในและต่างประเทศ กู้สถานการณ์เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานระยะยาว หรือขอเงินงบประมาณสนับสนุน กู้เงินให้รัฐค้ำประกัน จะเป็นการเพิ่มภาระทางการเงินให้ภาครัฐซึ่งมีปัญหาอยู่อย่างมาก

จากการแปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์ ปตท. กลายมาเป็นบริษัทมหาชนที่คล่องตัว เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2544 ด้วยทุนจดทะเบียน 20,000 ล้านบาท และเข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เมื่อเดือนธันวาคม โดยยังมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือรายใหญ่เช่นเดิม ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นยุทธวิธียอมเสียส่วนน้อย (กระจายหุ้นบางส่วน) เพื่อรักษาส่วนใหญ่ไว้ ทำให้อัตราหนี้สินต่อทุนของ ปตท. เหลือเพียง 2 ต่อ 1 และมีเงินสดที่สามารถเพิ่มทุนให้บริษัทในเครือที่ประสบปัญหาทางการเงินอย่างสาหัส เช่น ไทยออยล์ มีทุนจดทะเบียนเพียง 20 ล้านบาท แต่มีหนี้สินเพิ่มเป็นเฉียดแสนล้านบาท อยู่ในอาการโคม่าถูกบีบให้ขายกิจการให้ต่างชาติโดยเจ้าหนี้ โรงกลั่นน้ำมันระยองอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน ทำให้ ปตท. ต้องเข้าไปเพิ่มทุนรักษาสมบัติโรงกลั่นไว้เป็นของคนไทย และแก้ไขสถานการณ์ได้จนถึงปัจจุบัน ธุรกิจปิโตรเคมีของไทย เช่น บริษัทไทยโอเลฟันส์ บริษัทอะโรเมติกส์ ก็เช่นกัน ไม่สามารถจ่ายคืนเงินกู้ได้ ทางเลือกคือขายธุรกิจให้ต่างชาติ แต่ ปตท. ที่มีกำลังเงินจากการเข้าตลาดหลักทรัพย์เข้ามาช่วยเพิ่มทุนให้

การต่อสู้อันยาวนาน.......... ต้องขับเคี่ยวกับบรรษัทข้ามชาติระดับโลก ทั้งพลังงานและปิโตรเคมี ปตท. ได้ยกระดับความเข้มแข็งของตนเองจนต่อสู้ได้อย่างพอฟัดพอเหวี่ยง ขยายสู่ธุรกิจวางท่อก๊าซธรรมชาติที่ช่วงเริ่มต้นไม่ได้รับความสนใจจากภาคเอกชน เนื่องจากเวลาถึงจุดคุ้มทุนนานมาก ปตท. จึงเข้าดำเนินการเพิ่มความมั่นคงทางพลังงานของชาติ ทำให้ตกกระไดพลอยโจนเป็นการผูกขาดโดยธรรมชาติ

หากไม่ต่อสู้พัฒนามาจนถึงปัจจุบัน เราคงจะพบเจอแต่สถานีน้ำมันต่างชาติเรียงรายไปทุกถนน ปตท. กลายเป็นแหล่งใหญ่นำเงินรายได้ส่งรัฐ ตกปีละกว่าแสนล้านบาท ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางด้านอุตสาหกรรมพลังงานต่างให้ความเห็นว่า การแปรรูปเป็นตัวแปรที่สำคัญที่สุดที่ได้ยกระดับ ปตท. ขึ้นมาเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติที่ผู้ถือหุ้นกว่าร้อยละ 68 เป็นสายเลือดไทย และมีการประเมินกันว่าถ้าไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ปตท. วันนี้คงมีกำไรปีละ 30,000 - 40,000 ล้านบาท และคงไม่มีเงินพอจะไปซื้อบริษัทลูกต่างๆ ซึ่งคงตกไปเป็นของต่างชาติกันหมด ถ้าพิจารณาถึงแนวทางการพัฒนาพลังงานของประเทศอื่นๆ เช่น อินเดีย จีน รัสเซีย เวียดนาม ที่ประสบความสำเร็จในการต่อสู้กับบรรษัทน้ำมันข้ามชาติ ต่างพยายามให้การสนับสนุนและผลักดันบริษัทน้ำมันแห่งชาติของตนเองให้เข้าไปมีบทบาทในตลาดโลกด้วยการระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์เพื่อให้บริษัทมีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะลงทุนไปกับโครงสร้างขนาดใหญ่ของอุตสาหกรรมพลังงานให้สามารถขับเคี่ยวในตลาดพลังงานโลกได้

มุ่งสู่อนาคต.................. การบริโภคพลังงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจจะเดินไปควบคู่กัน หากอนาคตอีก 50 ปีข้างหน้า เกิดสถานการณ์ขาดแคลนพลังงานไปทั่วโลก ทำให้เศรษฐกิจระส่ำระสาย คงจะมีการถามกันว่าที่ผ่านมา ปตท.ทำอะไรกันอยู่ ทำให้ ปตท. ได้วางงบประมาณลงทุนในปี 2551-2555 ไว้ 900,000 ล้านบาท และในปี 2555-2563 ต้องลงทุนถึง 4 ล้านล้านบาท ทั้งการสำรวจขุดเจาะหาแหล่งพลังงานสำรอง พลังงานทดแทน ซึ่งอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ปตท. ต้องออกไประดมทุน (กู้เงิน) จากต่างประเทศด้วยเครดิตของตนเอง โดยไม่ต้องหวังขอเงินจากรัฐบาล ซึ่งจำนวนเงินมหาศาลขนาดนั้น รัฐจะได้เอาไปช่วยเหลือและเยียวยาเศรษฐกิจทางด้านอื่นๆ จะไม่ดีกว่าหรือ

นอกจากนั้นทุกครั้งที่นำเข้าก๊าซแอลพีจี ปตท. จำเป็นต้องสำรองเงินล่วงหน้าส่วนต่างแทนรัฐบาลไปก่อน ในขณะที่รัฐบาลได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ดำเนินการได้เช่นกัน แต่ไม่มีใครอยากเจ็บตัว ในฐานะที่เป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติที่ต้องหาทางแก้ไขให้ประเทศมีพลังงานใช้อย่างเพียงพอ ปตท.ก็ต้องเข้ามารับหน้าเสื่อให้ และเมื่อทาง กพช. มีมติเห็นชอบปรับราคาแอลพีจีเป็น 2 ราคา เพื่อชดเชยภาระการนำเข้าให้ ปตท. กลับมีการปลุกสาธารณชนให้งอแง เพราะคุ้นเคยกับราคาแอลพีจีที่ถูกบิดเบือนมาอย่างยาวนาน ปตท.จึงโดนกร่นด่าไปโดยปริยาย

การดำรงธุรกิจอยู่ได้ในโลกเสรีนิยมยุคใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจพลังงานนอกจากมีทุนเพียงพอในการขยายและพัฒนาธุรกิจแล้ว อีกบทบาทหนึ่งที่ทำให้เกิดการพัฒนาและสร้างความเติบโตคือ การบริหารด้วยหลักธรรมาภิบาล และการที่บริษัทในกลุ่ม ปตท. ล้วนเป็นบริษัทมหาชน จะถูกตรวจสอบมากกว่าการเป็นรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากมีผู้ถือหุ้นเข้ามาเกี่ยวข้องทำให้ ปตท. ทั้งกลุ่มเป็นบริษัทที่มีดีกรีที่นักลงทุนให้การยอมรับกันมากที่สุดในตลาดหลักทรัพย์ พร้อมกับการคว้ารางวัลแห่งความสำเร็จในระดับประเทศและนานาชาติอย่างมากมาย ด้วยการที่เป็นบริษัทที่มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและรับผิดชอบต่อสังคม

ปตท. เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการพัฒนารัฐวิสาหกิจของไทย ผ่านการแปรรูปเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ กระแสบางส่วนยังตั้งข้อสังเกตว่า การขายหุ้น ปตท. ถือเป็นการเปิดประตูให้ทุนการเมืองเข้ามาฮุบกิจการของภาครัฐ แต่หากมองย้อนมาอีกทาง การเข้ามาเป็นบริษัทมหาชนได้เป็นผลให้ ปตท. ถูกตรวจสอบมากขึ้นและเข้มข้นขึ้นอีกจากทางภาคประชาชน และต้องดำเนินการตามกรอบหลักเกณฑ์ กติกาของตลาดหลักทรัพย์ ขณะที่ ปตท. เองก็ยังต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบบัญชีจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเช่นเดิม จึงทำให้ภาคการเมืองจะต้องระมัดระวังตัวอย่างมากหากคิดจะเข้ามาแทรกแซงหรือแสวงหาผลประโยชน์จากธุรกิจพลังงาน ดังนั้นหากเราตั้งใจกันจริงที่จะร่วมมือกันพัฒนารัฐวิสาหกิจไทย นี่ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่การพัฒนาก่อให้เกิดคุณูปการกับประเทศชาติมากกว่าการสูญเสียจากความไร้ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล โดยไม่จำเป็น

โดย ทวีศักดิ์ รักยิ่ง ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล


Create Date : 27 พฤษภาคม 2552
Last Update : 27 พฤษภาคม 2552 11:19:13 น. 2 comments
Counter : 473 Pageviews.  

 
อยากให้พวกที่จะไปยึด ปตท.กลับมาวันนั้นได้อ่านบ้าง


โดย: Fray IP: 118.173.157.146 วันที่: 29 มิถุนายน 2552 เวลา:12:13:16 น.  

 


โดย: Kingkimson วันที่: 17 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา:21:19:34 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

good governance
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add good governance's blog to your web]