<<
เมษายน 2552
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
30 เมษายน 2552

ธรรมาภิบาลกับกระบวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

ทวีศักดิ์ รักยิ่ง ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม


ความคิดเกี่ยวกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ จะมีความคิดเห็นแตกต่างกันในสังคม ซึ่งเราเองคงจะทราบกันดีว่า มีทั้งกลุ่มที่จะสนับสนุนและกลุ่มที่คัดค้าน และในกลุ่มที่คัดค้านยังให้เหตุผลที่แตกต่างกันอีก มีส่วนหนึ่งที่ไม่ได้คัดค้านเสียทีเดียว แต่ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการแปรรูปที่ผ่านมา ที่เห็นว่าไม่โปร่งใส นั่นคือ คิดว่าขาดหลักธรรมาภิบาลนั่นเอง

พวกเราในฐานะประชาชนเจ้าของประเทศ คงจะมีความคิดใกล้เคียงกันว่าผู้มีอำนาจจะทำอย่างไรก็ได้ ถ้าเป้าหมายหรือจุดประสงค์เพื่อก่อให้เกิดกับประชาชนโดยรวม แต่เราจะทราบได้อย่างไรว่าเป็นดังนั้น การแปรรูปรัฐวิสาหกิจก็เช่นกัน ถ้าจะให้ประชาชนยอมรับกระบวนการแปรรูปก็ต้องยึดหลักธรรมาภิบาล

หลักธรรมาภิบาลมีนักวิชาการ นักคิด หลายท่านได้ให้ความคิดความเห็นไว้อย่างหลากหลาย แต่ในที่นี้จะรวบรวมไว้เป็น 5 ประเด็นหลัก คือ

1.หลักการมีส่วนร่วม
2.หลักนิติธรรม
3.หลักความโปร่งใส
4.หลักความรับผิดรับชอบ
5.หลักความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

ทีนี้จะมาพิจารณากันในกระบวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจของเราในแต่ละหลัก เริ่มต้นจากหลักการมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นหลักพื้นฐานที่สุดของหลักธรรมาภิบาล จะเห็นได้ว่า ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้ในกระบวนการแปรรูปที่ผ่านมาในระดับใด หน่วยงานที่รับผิดชอบก็มักจะกล่าวว่าได้ทำตามกฎระเบียบอย่างถูกต้อง ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าทำพิธีกรรมครบถูกต้องแล้ว แต่การมีส่วนร่วมนั้น หัวใจที่แท้จริงได้พิจารณาถึงกันหรือไม่ การมีส่วนร่วมนั้นได้รับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจริงหรือไม่ และการกำหนดกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนั้นพิจารณากันครอบคลุมเพียงใด การมีส่วนร่วมไม่ใช่เพียงการประชุมประชาพิจารณ์ให้ครบตามข้อกำหนดเท่านั้น เราจะต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียว่าทุกกลุ่มได้แสดงความคิดเห็น ยอมรับ โดยปราศจากการครอบงำหรือชักจูงได้อย่างไร ยกตัวอย่างเช่น การจะแปรรูปไฟฟ้าฝ่ายผลิต ชุมชนรอบโรงไฟฟ้าก็เป็นกลุ่มของผู้มีส่วนได้เสีย ถ้าแปรรูปไปแล้ววิถีการทำมาหากินของชุมชนรอบโรงไฟฟ้าจะเปลี่ยนไปหรือไม่ เปลี่ยนไปอย่างไร คนเหล่านี้มีส่วนได้รับรู้หรือมีส่วนร่วมในกระบวนการแปรรูปมากน้อยเพียงใด ดังนั้น หลักการมีส่วนร่วม ต้องเริ่มจากการกำหนดกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม และต้องให้แต่ละกลุ่มได้รับรู้ผลดี ผลเสีย ที่จะเกิดขึ้นอย่างแท้จริง อาจจะต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นบ้างในการทำความเข้าใจ แต่เมื่อเข้าใจแล้ว หาทางแก้ไขล่วงหน้าแล้ว การต่อต้านก็คงจะลดลงไป การต่อต้านที่ไม่มีเหตุผลเพียงพอย่อมไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมแน่นอน

ในส่วนหลักนิติธรรมนั้น ในคำจำกัดความหลายคนอาจจะรู้สึกว่าหลักนิติธรรมจะเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานภาครัฐ แต่ความเป็นจริงภาษาง่ายๆ คือ ความชอบธรรมนั่นเอง ในส่วนของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เราต้องดูความชอบธรรมเป็นหลัก แม้ว่าการแปรรูปโดยการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์จะทำให้รัฐวิสาหกิจนั้นๆ มีเงินมาขยายการลงทุน ขยายการบริการให้แก่ประชาชน โดยลดการใช้งบประมาณของรัฐลง แต่ต้องพิจารณาความเหมาะสมชอบธรรมด้วยว่ารัฐวิสาหกิจนั้นสมควรที่จะนำมาแปรรูปทั้งหมดหรือไม่ หรืออาจจะแปรรูปเพียงบางส่วน ยกตัวอย่างของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเช่นกัน ถ้าแปรรูปทั้งหมดยกเขื่อนให้ ซึ่งแน่นอนที่ดินรอบๆ เขื่อนบางส่วนเป็นป่าสงวนนั้น ชอบธรรมหรือไม่ อีกประการหนึ่งการที่ทำประชาพิจารณ์ไปถูกต้องตามหลักและกฎระเบียบแล้ว (Rule by Law) ในความหมายของนิติธรรมมันไม่เพียงพอ มันต้องดูด้วยว่ากระบวนการทำประชาพิจารณ์นั้นชอบธรรม (Rule by Law) ตามหลักและที่มาของกฎระเบียบนั้นด้วยหรือไม่

ในหลักด้านความโปร่งใส กระบวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้น มักจะถูกตั้งคำถามจากสังคมถึงความโปร่งใสมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นทำไมถึงเลือกรัฐวิสาหกิจที่มีกำไรไปแปรรูปก่อน ขั้นตอนแต่ละขั้นพิจารณากันอย่างไร การกระจายหุ้นทำอย่างไร ทำไมโอกาสของประชาชนได้รับไม่เท่าเทียมกัน ดังนั้นทุกขั้นตอนควรจะมีการกำหนดวิธีการให้ชัดเจน ให้สังคมรับรู้ สามารถตรวจสอบได้ และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน

ส่วนหลักความรับผิดรับชอบนั้น ก็คือ สำนึกความรับผิดชอบนั่นเอง ผู้มีอำนาจในการแปรรูปจะต้องเกิดสำนึกนี้ในจิตใจเสมอว่า เราต้องรับผิดรับชอบกับผู้มีส่วนได้เสียในแต่ละกลุ่มอย่างไร รวมถึงต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบทรัพย์สินของชาติของแผ่นดินอย่างไร นั่นคือ ทำอย่างไรให้ประเทศชาติได้ประโยชน์สูงสุด รวมถึงต้องพิจารณาความถูกผิดของขั้นตอนที่จะดำเนินการในแต่ละขั้นตอนด้วย ถ้าพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ประเด็นเล็กๆ น้อยๆ ที่จะเกิดขึ้นกับผู้มีส่วนได้เสียได้รับการพิจารณา ความผิดพลาดก็จะน้อยลง ตนเองก็จะไม่เดือดร้อนในอนาคต ไม่ใช่เล็งเห็นว่าไม่ใช่ทรัพย์ส่วนตนจึงไม่ต้องให้ความสำคัญมากนัก พร้อมทั้งต้องมีการวางระบบตรวจสอบและประเมินผล มีแผนสำรอง การป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในทุกขั้นตอน นั่นคือ ความรับผิดรับชอบของผู้ดำเนินการ

ส่วนในหลักการมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลหลักนี้เป็นหลักสุดท้ายซึ่งต้องการให้เป็นผลลัพธ์ของการมีธรรมาภิบาล เพราะถ้าเราคำนึงถึงแต่ความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ จนทำให้การดำเนิน งานขาดประสิทธิภาพย่อมไม่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ดังนั้นกระบวนการแปรรูปแน่นอนจะต้องคำนึงหลักทั้งสี่ที่กล่าวมาแล้ว แต่ต้องให้ความสำคัญกับหลักนี้ให้มาก เพราะการที่แปรรูปรัฐวิสาหกิจเข้าตลาด หลักทรัพย์นั่นคือ การที่เราเอาทรัพย์สินของบรรพบุรุษที่สะสมกันมาอย่างยาวนานนำมาตีมูลค่าจำหน่ายให้กับคนทั่วไป เราต้องทำให้เกิดมูลค่าสูงสุดซึ่งสะท้อนกับความเป็นจริงในการกำหนดราคาหุ้นที่จะจำหน่ายครั้งแรก (IPO) ให้มากที่สุด พร้อมทั้งต้องพิจารณาด้วยว่าเมื่อระดมทุนแล้ว เม็ดเงินที่ได้รับจะทำให้รัฐวิสาหกิจนั้นนำไปใช้เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน นำไปใช้ในการเพิ่มการบริการที่ดีให้ กับประชาชน ไม่ใช่เพียงเพื่ออำนวยความสะดวกให้ที่ปรึกษาทางการเงินสามารถขายหุ้นได้หมดเท่านั้น รวมถึงต้องทำให้ค่าใช้จ่ายทางด้านที่ปรึกษาทางการเงินต่ำที่สุดอีกด้วย

จากหลักธรรมาภิบาลทั้งหมดที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า การแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ผ่านมายังไม่สามารถตอบคำถามของหลักธรรมาภิบาลได้อย่างครบถ้วน ซึ่งควรจะเป็นบทเรียนที่ดีให้กับผู้เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากระบวนการแปรรูปให้ดีขึ้น ซึ่งนับวันจะยิ่งยุ่งยาก ถูกตรวจสอบ และถูกต่อต้านมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ประเทศเสียโอกาสไปอย่างที่ไม่ควรเป็น



Create Date : 30 เมษายน 2552
Last Update : 30 เมษายน 2552 10:35:09 น. 0 comments
Counter : 483 Pageviews.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

good governance
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add good governance's blog to your web]