<<
มิถุนายน 2552
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
29 มิถุนายน 2552

น้ำลด ตอผุด คอร์รัปชันโผล่

โดย ศรัณย์ ธิติลักษณ์
ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม


หลายปีที่ผ่านมา เรื่องที่ว่าด้วยการทุจริตประพฤติมิชอบที่เกิดในประเทศไทย ดูเหมือนว่าจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาและผู้คนก็คงจะชินชาต่อพฤติกรรมหรือปรากฏการณ์นี้เสียแล้ว ทั้งนี้เราสามารถดูได้จากผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนและผู้ประกอบการของสำนักโพลล์ต่างๆ อาทิเช่น เอแบคโพลล์ ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์ หรือผลสำรวจของหน่วยงานราชการเองที่ได้ชี้ให้เห็นถึงประเด็นและสภาพปัญหาของการคอร์รัปชันในเมืองไทยว่ามีแนวโน้มของความรุนแรงและมีผลกระทบต่อสังคมไทยอย่างไร เช่น ผลของกลุ่มประชาชน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 63.2 คิดว่ารัฐบาลทุกรัฐบาลมีการทุจริตคอร์รัปชันด้วยกันทั้งนั้น แต่ถ้าทุจริตคอร์รัปชันแล้วทำให้ประเทศชาติรุ่งเรือง ประชาชนกินดีอยู่ดีก็ยอมรับได้ ผลของกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจ พบว่า เห็นด้วยว่าการติดสินบนทำให้ได้รับความสะดวกสบายที่แตกต่าง เห็นด้วยว่าการติดสินบนหาหลักฐานในการเอาผิดได้ยาก และการติดสินบนในการประกอบการธุรกิจเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ ส่วนผลของกลุ่มข้าราชการ พบว่า เห็นด้วยว่าเจ้าพนักงานที่รับสินบนมักไม่ถูกดำเนินการเอาผิด เห็นด้วยว่าคอร์รัปชันเกิดขึ้นในกลุ่มข้าราชการชั้นผู้น้อย และเห็นด้วยว่าการเลี้ยงดูปูเสื่อคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ยอมรับได้ ส่วนกลุ่มสุดท้ายคือนักการเมือง พบว่า ปัญหาทุจริต คอร์รัปชันที่พบส่วนใหญ่พบในกลุ่มนักการเมืองในระดับชาติและในระดับท้องถิ่นในอัตราที่ใกล้เคียงกัน คือ ร้อยละ 86.5-86.2 ตามลำดับ

ซึ่งก็ด้วยข้อเท็จจริงเช่นนี้เอง จึงไม่น่าแปลกใจนักที่การสำรวจล่าสุดขององค์กรความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) จึงให้ลำดับของความโปร่งใสของประเทศไทยปี พ.ศ.2551 ไว้ในลำดับที่ 80 โดยมีคะแนนเพียง 3.5 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน

ทีนี้เรามาดูข้อมูลอีกชุดหนึ่งซึ่งเป็นความพยายามของคนทำงานกลุ่มเล็กๆ ในสังคมที่ทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริตมาอย่างต่อเนื่อง งานด้านนี้เราพบว่า ผลงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา (6 ตุลาคม 2549 ถึง 6 ตุลาคม 2551) คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีการชี้มูลความผิดทางวินัย ทางอาญา และความร่ำรวยผิดปกติไปแล้วจำนวน 131 เรื่อง (ปี พ.ศ.2550 จำนวน 68 เรื่อง พ.ศ. 2551 จำนวน 63 เรื่อง) ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเรื่องที่สำคัญๆ จำนวน 9 เรื่อง ดังเช่น กรณี นายวัฒนา อัศวเหม จากกรณีทุจริตคลองด่าน กรณีอดีตอธิบดีกรมป่าไม้และพวก จากกรณีเสือโคร่งเบงกอล กรณีอดีตอธิบดีกรมสรรพากรกับพวก จากกรณีการตรวจสอบภาษีหุ้นชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ชี้มูลเพิ่มเติมในปีต่อมาอีกหลายกรณี เช่น กรณีปลัดกระทรวงการคลังปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีทุจริตรถดับเพลิง-เรือดับเพลิง กรณีชี้มูลความผิดอดีตเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมในการทำสัญญาเช่า จัดหา และดำเนินการระบบงานเทคโนโลยีสารสนเทศแรงงาน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ตามรายละเอียดของข้อมูลเชิงตัวเลขกลับพบว่า ยังมีคดีค้างอยู่ที่ ป.ป.ช. อีกจำนวน 5,590 คดี และจะมีคดีที่สำคัญๆ ทยอยสำเร็จออกมาอีกเป็นระยะๆ ซึ่งแน่นอนผลของการพิจารณาของคณะกรรมการย่อมต้องส่งผลกระทบต่อภาคการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงได้ยากยิ่ง และตรงนี้เองหากเราจะวิเคราะห์กันอย่างเป็นธรรม ก็คงจะตอบได้ว่า นี่คือดอกผลของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (ที่เกิดภายหลังจากกลุ่มอำนาจเก่าหมดพลัง) โดยได้วางยุทธศาสตร์ในการต่อต้านการทุจริต คอร์รัปชันไว้อย่างสำคัญ ทำไมผมจึงกล่าวเช่นนั้น ? ก็เพราะ

1.ยุทธวิธีที่สำคัญของการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชันอยู่ที่การตรวจสอบ ดังนั้นเมื่อสามารถเพิ่มกลไกของระบบตรวจสอบได้ก็เป็นการช่วยลดปัญหาของการคอร์รัปชันลงได้ระดับหนึ่ง

2.ทุจริตในปัจจุบันมีความซับซ้อนมากขึ้น มีระบบความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกับกระบวนการเชิงโครงสร้างเพื่อการคอร์รัปชันหลายด้านและเกี่ยวข้องกับบุคคลหลายกลุ่ม การใช้เครื่องมือและมาตรการทางกฎหมายทุกระดับจะต้องส่งผลต่อความกังวลที่จะทำการคอร์รัปชันในอนาคตได้ ซึ่งปัจจุบันก็เป็นประจักษ์ได้ว่าสามารถทำได้ดีพอสมควร และ

3.ไม่ใช่เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือ ที่ทำให้นักการเมืองรุ่นเก่าทุกพรรคการเมืองที่ชอบแสวงหาผลประโยชน์กังวลใจและกลัวที่จะถูกจับทุจริตได้ จนต้องออกมาเคลื่อนไหวเพื่อขอแก้รัฐธรรมนูญ

ก็ต้องเห็นใจและเป็นกำลังใจให้กับท่านคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติชุดนี้ (รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ คณะทำงาน และบุคลากรของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ครับ เพราะการต่อสู้กับการทุจริตในปัจจุบันที่มีลักษณะของการทุจริตเชิงโครงสร้าง (Structural Corruption) จำเป็นต้องใช้บุคคลที่มีจิตใจ พละกำลัง และความกล้าหาญในระดับสูงในการต่อต้านผู้ทุจริต (ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากและยังมีอำนาจทางการเมืองสูงยิ่ง) ทั้งยังต้องทำงานภายใต้ความกดกันต่างๆ ที่รุมเร้าจากสังคมที่มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน โดยเฉพาะเหล่าผู้ทุจริตที่พยายามจะทำลายระบบการตรวจสอบ เช่น มีความพยายามที่จะให้คณะกรรมการทั้งหมดหยุดปฏิบัติหน้าที่ โดยใช้กรณีตัดสินชี้มูลความผิดอดีตนายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นเครื่องมือ เป็นต้น

นับแต่นี้ไป เราคงจะได้เห็นวาทกรรมของการคอร์รัปชันในกรณีต่างๆ ผ่านการตรวจสอบของคณะกรรมการชุดนี้ออกมาเป็นระยะ และก็หวังต่อไปอีกด้วยว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยคงจะมีกลไกการทำงานที่สอดคล้องกับระบบการตรวจสอบได้เป็นอย่างดี เพราะถ้าหากระบบตรวจสอบและระบบกระบวนการยุติธรรมทำงานประสานกันได้เป็นอย่างดีและรวดเร็วแล้ว ผลประโยชน์ส่วนเกินทางเศรษฐกิจที่เคยตกอยู่กับคนทุจริตก็จะกลับมาอยู่กับประชาชนชาวไทยอย่างเป็นธรรมได้ ประเทศของเราไม่มีเวลาในการประนีประนอมกับการคอร์รัปชันอีกต่อไปแล้วครับ


Create Date : 29 มิถุนายน 2552
Last Update : 29 มิถุนายน 2552 11:39:37 น. 1 comments
Counter : 472 Pageviews.  

 
อะ


โดย: กะ IP: 125.25.221.90 วันที่: 12 กันยายน 2552 เวลา:13:40:32 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

good governance
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add good governance's blog to your web]