<<
พฤศจิกายน 2552
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
23 พฤศจิกายน 2552

จับตาการรถไฟ ทิศทางถูก หลักการผิด


โดย สังศิต พิริยะรังสรรค์
ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

ในที่สุด กระทรวงคมนาคมก็สามารถคลอดแผนพัฒนา ร.ฟ.ท. ซึ่งเป็นแผนใหม่ล่าสุดออกมาได้สำเร็จ โดยได้รับความเห็นชอบจาก ครม. เศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แผนนี้ถูกมองว่า เป็นการถอยกันคนละก้าวระหว่างสหภาพการรถไฟกับฝ่ายบริหาร กล่าวคือ สหภาพอาจยอมให้ฝ่ายบริหารตั้งบริษัทลูกที่เรียกว่าแอร์พอร์ตลิงค์ ซึ่งเป็นรถไฟที่เชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกับสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมืองได้ แต่ในส่วนของ 1. การบริหารจัดการเดินรถ 2. การบริหารด้านทรัพย์สิน และ 3. ฝ่ายการช่างกลและซ่อมบำรุงจะตั้งเป็นหน่วยธุรกิจ ซึ่งเป็นไปตามข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงาน

สำหรับแผนพัฒนา ร.ฟ.ท. จะแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก คือ 1. การปฏิรูประบบรถไฟเพื่อความปลอดภัย อาทิเช่น การปรับปรุงความแข็งแรงของราง การจัดหาหัวรถจักรใหม่ ฯลฯ 2. การเชื่อมโยงโครงข่ายระบบรางและการขนส่งกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิเช่น เส้นทางบัวใหญ่-มุกดาหาร-นครพนม และเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และ 3. การลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด เทรน) ในระบบรางมาตรฐาน แผนงานใหม่ของการรถไฟมีความน่าสนใจ คือ

1. จะมีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งบูรณะเส้นทางเดิม 2,272 กิโลเมตร และเพิ่มเติมหัวรถจักร เป็นวงเงิน 46,000 ล้านบาท

2. ขยายโครงข่ายสายใหม่ คือ สิงคโปร์-คุนหมิง เชื่อมเส้นทางฉะเชิงเทรา-อรัญประเทศ เชื่อมรถไฟสายปอยเปต-ศรีโสภณ และเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของเชื่อมกับประเทศจีน จำนวน 2,651 กิโลเมตร วงเงิน 392,348 ล้านบาท

3. เพิ่มทางคู่เร่งด่วน 5 ปีแรก (2553-2557) 767 กิโลเมตร วงเงิน 66,110 ล้านบาท ส่วนที่เหลือปี 2558-2567 ระยะทาง 2,272 กิโลเมตร วงเงิน 258,600 ล้านบาท

4. เร่งศึกษารถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพฯ เชียงใหม่ หนองคาย จันทบุรี และปาดังเบซาร์ 2,675 กิโลเมตร วงเงิน 708,855 ล้านบาท โดยจะใช้รูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และ

5. จะนำที่ดินของรถไฟทั่วประเทศ จำนวน 234,977 ไร่ ออกมาให้เอกชนเช่า

ผมยังไม่แน่ใจว่าแผนยกเครื่องการรถไฟเที่ยวนี้ จะเดินหน้าไปอย่างราบรื่นหรือไม่ เพราะ

ประการแรก ถึงแม้แผนนี้จะได้รับการยอมรับจาก ครม. เศรษฐกิจแล้ว แต่ยังไม่มีสัญญาณตอบรับในเชิงบวกจากสหภาพแรงงานแต่อย่างใด นี่ยังเป็นความเสี่ยงของการรถไฟในอนาคต

ประการที่สอง การปรับปรุงโครงสร้างและการขยายโครงข่ายสายใหม่จำนวนมหาศาลในไม่กี่ปีข้างหน้า ภายใต้งบประมาณมากกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ภายใต้การบริหารงานของหน่วยธุรกิจจะมีหลักประกันอะไรให้สังคมมั่นใจได้ว่าการรถไฟจะสามารถบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความโปร่งใสได้ตามที่สังคมคาดหวังไว้ ผมมีความวิตกว่าองค์กรบริหารงานที่มีวัฒนธรรมเป็นราชการ และมีกฎระเบียบที่ขาดความคล่องตัวจะบริหารธุรกิจขนาดนี้ได้อย่างไร ความเป็นราชการจะไม่กลายเป็นอุปสรรคขัดขวางความสำเร็จของโครงการข้างต้นหรือ

ประการที่สาม การบริหารที่ดินกว่า 200,000 ไร่ ภายใต้หน่วยงานธุรกิจที่มีความเป็นราชการ มีโอกาสสูงที่จะกลายเป็นขนมเค้กก้อนใหม่ของนักการเมือง กลุ่มอิทธิพล นักธุรกิจ และผู้บริหารระดับสูงของการรถไฟ หากไม่มีแผนงาน และกระบวนการจัดการที่ดีเพียงพอ

ผมคิดว่าขณะนี้ การเคลื่อนไหวยกเครื่องการรถไฟอยู่ภายใต้บรรยากาศที่ดี ที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างกว้างขวาง แต่ปัญหา คือ ฝ่ายการเมืองและฝ่ายบริหารของการรถไฟจะทำงานภายใต้ความคาดหวังนี้ให้ได้ดีได้อย่างไร ผมเกรงว่าถ้าหากฝ่ายการเมืองและฝ่ายบริหารไม่ระมัดระวังการบริหารจัดการในแต่ละขั้นตอนให้ดีเพียงพอ ก็อาจจะกลายเป็นจุดอ่อน และกลายเป็นความล้มเหลวของการรถไฟ และระบบการขนส่งของประเทศไทยในท้ายที่สุด พูดอย่างตรงไปตรงมา ผมอดแปลกประหลาดใจไม่ได้ ที่แผนยกเครื่องการรถไฟซึ่งจะใช้เงินกว่า 1.5 ล้านล้านบาท สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้อย่างรวดเร็วเพียง 1-2 สัปดาห์ ภายหลังจากที่เกิดความขัดแย้งและความวุ่นวายในการรถไฟขึ้น หากเข้าใจไม่ผิด ผมเข้าใจว่าแผนฉบับนี้คงจะปรับปรุงขึ้นมาจากแผนของการรถไฟเดิมที่ได้ดำเนินการเอาไว้อยู่แล้ว

เพราะฉะนั้น แผนการที่ดูดีขึ้นนี้ อาจขัดกับหลักการบริหารจัดการที่ดี ที่อย่างน้อยที่สุดที่การรถไฟควรมี คือ หลักที่ว่าด้วยการมีส่วนร่วม ผมไม่แน่ใจว่าแผนฉบับนี้จัดทำขึ้นโดยฝ่ายบริหารหรือได้มีการเชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ อาทิเช่น สหภาพรถไฟ กลุ่มผู้ใช้บริการ กลุ่มธุรกิจ กลุ่มคุ้มครองผู้บริโภค สื่อมวลชน นักวิชาการ ผู้เช่าที่การรถไฟ ฯลฯ มาให้ความเห็นด้วยหรือไม่ ถ้าหากผู้บริหารการรถไฟไม่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกิจการรถไฟ แผนของการรถไฟก็จะเป็นแผนที่ขาดความรอบด้าน มีแต่มิติทางด้านเทคนิค แต่ขาดมุมมองทางด้านสังคมและเสียงร้องจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ การบริหารโครงการต่างๆ ของรถไฟ โดยใช้หน่วยธุรกิจจะสามารถตอบคำถามในเรื่องหลักการที่ว่าด้วยประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของการรถไฟให้ดีขึ้นได้หรือไม่และอย่างไร ผมคิดว่าผู้บริหารการรถไฟต้องตอบให้ได้ว่าทางเลือกในการปรับปรุงประสิทธิภาพของการรถไฟมีกี่ทางเลือก และเพราะเหตุใดท่านจึงเลือกทางนี้ และทางเลือกนี้เป็นประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศและประชาชนใช่หรือไม่ ท่านต้องตอบคำถามนี้เพื่อทำให้ หลักที่ว่าด้วยความโปร่งใส และ หลักที่ว่าด้วยความรับผิดรับชอบ ต่อผลที่จะติดตามมาจากการตัดสินใจของท่าน จะได้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ

ส่วนหลักการสุดท้ายสำหรับการรถไฟ คือ หลักการควบคุมการทุจริต ของนักการเมืองและผู้บริหารระดับสูง เพื่อให้สหภาพรถไฟเกิดความเชื่อมั่นต่อองค์กร ฝ่ายบริหารควรอธิบายให้ชัดเจนว่าจะปรับปรุงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง และเพิ่มความเข้มข้นในการควบคุมการทุจริตภายในองค์กรในอนาคตได้อย่างไร



เผยแพร่ครั้งแรกที่ : กรุงเทพธุรกิจ 23-11-52



Create Date : 23 พฤศจิกายน 2552
Last Update : 23 พฤศจิกายน 2552 11:01:52 น. 1 comments
Counter : 512 Pageviews.  

 
ถ้าวางระบบดี ไม่ต้องกลัวว่าคนดีจะไม่เล่นการเมือง แต่ระบบไม่ดี ใส่คนดีอย่างไรก็อยู่ยาก กฎหมายต้องเด็ดขาด และรัฐธรรมนูญต้องเพื่อประชาชนจริง ๆ แค่แก้อย่าให้นักการเมืองดำรงตำแหน่งนานจน คนกลัว ไม่อย่างนั้นมันไม่มีทางที่จะใส่คนรุ่นใหม่เข้ามาได้ อยู่นาน อำนาจมาก บารมีมาก ใครจะกล้า ทำผิดยึดทรัพย์ ตัดสินตลอดชีวิต นั้นแหละคนดี ยังกล้าทำ กล้าเสียสละเพื่อบ้านเมือง


โดย: poo IP: 203.150.232.78 วันที่: 24 พฤศจิกายน 2552 เวลา:14:57:56 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

good governance
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add good governance's blog to your web]