<<
พฤษภาคม 2552
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
27 พฤษภาคม 2552

ต้นทุนทางการเมืองของประเทศไทย

ตรรกวิทยาของความไม่พอเพียงในระบบการเมืองของไทย ที่ผนวกกับกระแสทุนนิยมและการเปลี่ยนแปลงของสังคม ที่เน้นการบริโภคที่เกินความจำเป็น มีผลทำให้วิถีชีวิตทางสังคมที่สวยงามแบบเดิมของประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงไป จากสังคมที่มีแต่ความอาทร ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การยิ้มแย้มแจ่มใส การรู้จักให้อภัย รักและเคารพในการเป็นคนไทยด้วยกันของคนในชาติ กลายเป็นสังคมที่มีแต่ความแตกแยก แบ่งฝักแบ่งฝ่าย แบ่งสี แบ่งพวก กันอย่างชัดเจน ความรักและการเคารพกันในฐานะคนไทยด้วยกันหายไป ความเชื่อมั่นในสถาบันหลักที่ค้ำจุนประเทศ อาทิเช่น ศาล องคมนตรี และทหาร ถูกลดความน่าเชื่อถือลง กระทั่งความเชื่อในหลักการของเหตุผลของการกระทำถูกผิดของบุคคลก็ถูกบิดเบือน และถูกทำให้เป็นอื่นในฐานะของความหมายที่ผู้นำกลุ่มมวลชนนั้นๆ อยากให้เป็น

แน่นอนการขับเคลื่อนของระบบสังคมกับการเปลี่ยนแปลงในเชิงลบครั้งนี้ เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าเกิดขึ้นจากผลพวงของความพยายามที่จะพัฒนาโครงสร้างทางการเมืองของประเทศไปสู่ระบบการเมืองที่ดีกว่า มั่นคงกว่า มีเสถียรภาพมากกว่าตามแบบประชาธิปไตยในต่างประเทศ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดี ถ้าไม่เกิดปัญหาของระบอบการปกครองของไทยในปัจจุบันที่นำไปสู่การเสื่อมศรัทธา และเสียความชอบธรรมของระบบ กล่าวคือ

1. ประเทศไทยยังคงมีปัญหาในเรื่องการใช้เงินซื้อเสียงของนักการเมือง เพื่อเข้าสู่ตำแหน่งอำนาจทางการเมือง มีการทุ่มเงินเพื่อที่จะชนะการเลือกตั้งของแต่ละพรรคการเมือง เพื่อนำไปสู่อำนาจต่อรองทางการเมือง

2. ระบบการเมืองไทยยังคงมีปัญหาเรื่องการแย่งตำแหน่งอำนาจ โดยเฉพาะตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงสำคัญๆ อาทิเช่น กระทรวงที่เกี่ยวข้องกับภาคเศรษฐกิจ และการพาณิชย์

3. ประเทศไทยยังไม่สามารถสร้างระบบการป้องกันการฉ้อราษฎร์บังหลวงรูปแบบใหม่ ที่อาศัยระบบการเมืองเข้าแทรกแซงการบริหารงานของระบบราชการ และ

4. นักการเมืองไทยยังไม่มีการพัฒนาความคิดที่หลุดไปจากกรอบของผลประโยชน์ส่วนตนและพรรคพวก ทั้งยังมีความพยายามในการสร้างวาทกรรมของการผูกขาดอำนาจทางการเมืองอย่างต่อเนื่องทุกระดับ ตั้งแต่การเมืองท้องถิ่นไปจนถึงการเมืองระดับชาติ

ซึ่งความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเหล่าของการพัฒนาการทางการเมืองทุกครั้งในอดีตของไทย ก็นำมาซึ่งต้นทุนของสังคมที่ประชาชนต้องสูญเสียทั้งในรูปของค่าใช้จ่ายที่เป็นตัวเงิน และค่าเสียโอกาสของประเทศในการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันในเวทีโลก ซึ่งต้นทุนดังกล่าวที่ประชาชนต้องเสียไปโดยสังเขป อาจดูได้จาก

1. ตัวเงินงบประมาณ ที่ใช้ในการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งงบประมาณที่ใช้ในการเลือกตั้งแต่ละครั้งที่รัฐต้องเสียไปจะมีวงเงินโดยเฉลี่ยที่มูลค่าสูงถึง 2.2 พันล้านบาท ถึง 2.4 พันล้านบาท ในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง

2. ค่าเสียเวลา และต้นทุนในการจัดการทางการเมือง ซึ่งสถาบันทางวิชาการ ตลอดจนนักวิชาการได้มีการประมาณการมูลค่าเม็ดเงิน และวงเงินที่ใช้ในการเลือกตั้งของพรรคการเมืองโดยรวมว่ามีเม็ดเงินสะพัดสูงถึง 2-3 หมื่นล้านบาท กระจายไปสู่ทุกๆ กลุ่มของผู้ที่เกี่ยวข้องในการเลือกตั้งในแต่ละครั้ง

3. การชะงักงันของโครงการของรัฐ ซึ่งไม่ปรากฏตัวเลขยืนยันที่แน่นอน แต่อาจประมาณได้จากมูลค่าของโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ ตามโครงการสร้างประเทศให้ทันสมัยของรัฐบาลชุดก่อน เป็นวงเงินถึง 61,943 ล้านบาท ไม่นับโครงการย่อยอื่นที่ต้องหยุดไป เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงชุดรัฐบาล

4. ค่าเสียโอกาสในการแข่งขันกับประเทศที่เป็นคู่แข่งทางการค้า ซึ่งไม่อาจประมาณมูลค่าที่ชัดเจนเป็นตัวเงินได้แต่การที่ประเทศไม่มีความมั่นคงทางการเมือง ก็จะส่งผลโดยตรงต่อประเทศคู่เจรจาทางการค้าที่เกี่ยวกับนโยบายของรัฐในโครงการสำคัญต่างๆ

5. การสูญเสียความน่าเชื่อถือของบุคคล องค์กรต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นต้นทุนความสูญเสียเชิงสัญญะทางสังคมที่จะมีผลต่อการขับเคลื่อนประเทศในอนาคต และ

6. ความสูญเสียด้านสังคม เอกลักษณ์ และความเป็นหนึ่งเดียวของคนในชาติ ซึ่งเป็นความสูญเสียที่ไม่อาจประเมินค่าได้และน่าจะเป็นความสูญเสียที่มีต้นทุนสูงมากที่สุด ในต้นทุนทางการเมืองที่ต้องสูญเสียทั้งหมด เพราะเกี่ยวเนื่องกับสังคมของคนในชาติ

ดังนี้แล้ว ในวันนี้ ประเทศไทยคงไม่มีเวลาที่จะสูญเสียผลประโยชน์ส่วนรวมเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองอีกต่อไปได้แล้ว เพราะในช่วงเวลาที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า ต้นทุนทางการเมืองที่ประเทศใช้ไปมีมูลค่าสูงเกินกว่าผลได้ที่ประชาชนได้รับจากการบริหารงานของคนกลุ่มเล็กๆ ของประเทศ ที่มุ่งเอาแต่ประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง จนเกิดปรากฏการณ์ของการแตกแยกของคนในประเทศเช่นวันนี้ หรือว่าจะถามหาถึงทางออก คำตอบคงไม่มีในระยะเวลาอันใกล้นี้ เพราะการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองต้องการความสามัคคี การมีส่วนร่วม มีความโปร่งใส มีฉันทามติ มีความรับผิดรับชอบ มีการสนองตอบต่อประชาชน เสมอภาคและอยู่ในหลักนิติธรรม และต้องมีคุณธรรมที่สูงพอ ซึ่งการเมืองไทยคงต้องใช้เวลาอีกประมาณ 99 ปี ครับ

โดย ศรัณย์ ธิติลักษณ์ ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล


Create Date : 27 พฤษภาคม 2552
Last Update : 27 พฤษภาคม 2552 11:14:22 น. 0 comments
Counter : 348 Pageviews.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

good governance
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add good governance's blog to your web]