<<
สิงหาคม 2552
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
3 สิงหาคม 2552

การท้าทายและก้าวที่สองของ CG

สังศิต พิริยะรังสรรค์ ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า ในรอบ 10 ปีนี้ แนวคิดบรรษัทภิบาล (Corporate Governance หรือ CG) จะเป็นกระแสใหญ่ในการเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการองค์กรในประเทศไทย ทั้งในองค์กรที่เป็นส่วนราชการ ธุรกิจเอกชน และอาจจะรวมถึงองค์การมหาชน

การรณรงค์เรื่อง CG ในไทยอย่างจริงจัง เริ่มที่ภาคธุรกิจเอกชนโดยความรับผิดชอบของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และรัฐบาลในขณะนั้น (2544) สนับสนุนให้จัดเป็น "วาระแห่งชาติ" เพราะได้สรุปบทเรียนจากวิกฤติทางการเงินและวิกฤติของระบบเศรษฐกิจไทยในปี 2540 ว่า เป็นเพราะการบริหารจัดการในภาคธุรกิจเอกชนขาด ซึ่งความรับผิดชอบที่ดีต่อผู้ถือหุ้น ต่อกิจการโดยรวมของบริษัทและต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ซึ่งต่อมา ในส่วนราชการได้มีการตราเป็นพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการดำเนินงานของทุกส่วนงานของภาครัฐ ซึ่งรวมรัฐวิสาหกิจเข้าไปด้วย

อย่างไรก็ตาม สาระสำคัญของการดำเนินงานตาม CG ในภาคธุรกิจเอกชนหรือการจัดการบ้านเมืองที่ดีของภาครัฐ ก็ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างลอยๆ ในสุญญากาศ แต่ได้มีการรณรงค์ในเรื่องนี้ในช่วงหลังจากภาวะวิกฤติ ในช่วงที่นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี คนไทยได้เริ่มรู้จักแนวคิดใหม่ๆ ที่เป็นกระแสการจัดการใหม่ ตามแนวนโยบายของรัฐบาลในขณะนั้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นหลักการมีส่วนร่วม (Participation) หลักความโปร่งใส (Transparency) หลักความรับผิดรับชอบ (Accountability) และหลักการเคารพและยึดมั่นในหลักกฎหมาย (Rule of Law) คำ แนวคิด และหลักการเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นประเด็นใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้นจากแนวคิดเดิมที่มุ่งติดยึดอยู่กับเป้าหมาย เพื่อสร้างประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันแต่เพียงด้านเดียว วาทกรรมใหม่ได้กลายเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของ CG และการบริหารจัดการใหม่ ที่ต้องก้าวตามให้ทันกติกาการแข่งขัน และการจัดระเบียบเศรษฐกิจของโลก

ต้องยอมรับว่า CG เป็นหนึ่งในกลุ่มคำที่เป็นคำนำเข้า และเป็นคำที่อยู่ในระนาบเดียวกันกับคำว่า ความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility หรือ CSR) ซึ่งเป็นการนำเข้าที่เข้ามาแทนที่แนวคิด และทางการบริหารจัดการแบบเดิมๆ ที่จำเป็นต้องปรับตัวไปตามเงื่อนไขสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งเป็นเหตุให้เกิดการปะทะกับปัญหาที่เป็นตัวถ่วงรั้งองค์กร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการ คอร์รัปชัน หรือการขัดกันในประโยชน์ส่วนตัวกับส่วนรวม ฯลฯ

คำถาม ก็คือ ทำไม CG ที่มีการรณรงค์อย่างทั่วด้านในขณะนั้น ซึ่งเป็นกระแสความคิดที่หน่วยงานของรัฐและเอกชนกำหนดเป็นวิสัยทัศน์และพันธกิจขององค์กร กำหนดเป็นแนวทางปฏิบัติไว้ในแผนการปฏิบัติงานขององค์กรอย่างแพร่หลาย จึงยังไม่อาจต้านทานกับการคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณ ซึ่งเป็นเหตุที่นำไปสู่การรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 และเป็นภาระการตรวจสอบของ คตส. ที่ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งเป็นเหตุที่นำไปสู่การแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายที่เป็นฝ่ายเสื้อเหลือง เสื้อแดง และเป็นประเด็นข้อขัดแย้งที่สำคัญที่สุดทางการเมืองในปัจจุบัน รวมทั้งยังมีคำถามอีกว่า ทำไม CG ที่มีการรณรงค์กันอย่างเข้มแข็งในขณะนี้ ทั้งๆ ที่มีการจัดตั้งคณะกรรมการ อนุกรรมการ และมีแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับธรรมาภิบาลขององค์กรแล้ว จึงยังไม่อาจจะรับมือกับการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับองค์กรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการขาดทุนที่เกิดขึ้นในการบินไทย การบริหารงานของ กบข. ธอส. การคัดค้านการแปรรูปของสหภาพแรงงาน ร.ฟ.ท. และการฟ้องศาลปกครองของชาวบ้านและเอ็นจีโอที่มาบตาพุด ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับ กนอ.ในฐานะที่เป็นผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรม บริษัทและกิจการขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็น ปตท. SCG โกลว์-สุเอซ ฯลฯ แม้กระทั่งข้อสังเกตของ สตง.ที่มีต่อการใช้จ่ายเงินของ สสส.ซึ่งเป็นองค์กรที่มีลักษณะการจัดการแบบองค์การมหาชน

ประเด็นปัญหาข้างต้นพอจะแยกได้เป็นสองส่วนคือ 1. ส่วนที่เป็นปัญหาการละเลยในหลักการบริหารจัดการที่ดี หรือละเลยหลักธรรมาภิบาลขององค์กร ซึ่งเป็นประเด็นเดิมที่นำไปสู่ภาวะวิกฤติทางการเงิน 2540 อันเป็นส่วนที่มีปัญหากับผู้ถือหุ้น และ 2. ส่วนที่เป็นประเด็นใหม่ คือ การรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ว่าจะเป็นกรณีของการคัดค้านการแปรรูปของสหภาพแรงงาน ร.ฟ.ท. และการฟ้องศาลปกครองของชาวบ้าน และเอ็นจีโอที่มาบตาพุด

ดังนั้น ประเด็นที่กำลังท้าทายต่อ CG ของไทยในขณะนี้ ก็คือ จะต้องมีการรณรงค์ทั้งภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจการภายในที่มุ่งรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น และมุ่งที่จะรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไปพร้อมๆ กันอย่างเป็นรูปธรรม การมุ่งสู่การทำงานที่เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนี้ จะไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับงานในแขนงอื่น อาทิเช่น งานประชาสัมพันธ์ งานสร้างพันธมิตรและความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตร งานชุมชนสัมพันธ์ หรืองาน CSR นอกจากนั้น ยังอาจจะต้องอาศัยการสร้างประเด็นและวาระในการรณรงค์ร่วมกันเพื่อสร้างวาระแห่งชาติ หรือเป็นการร่วมรณรงค์ในพื้นที่เดียวกัน

ผมคิดว่านี่เป็นขั้นที่สองในการก้าวเดินของ CG ในบ้านเรา ที่เดินต่อเนื่องจากการทำความเข้าใจทั่วไป และเป็นการทำงานภายในองค์กรของตน เพื่อรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นเป็นเบื้องต้น เป็นก้าวที่กำลังเดินไปสู่ความร่วมมือกับองค์กรหรือหน่วยงานข้างเคียง ไปสู่การรับผิดชอบที่มีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และสังคมที่กว้างใหญ่มากขึ้น ผมคิดว่ารูปแบบความร่วมมือและการทำงานในขั้นที่สองของ CG นี่แหละที่จะเป็นภาคปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพ และทรงพลังของสังคมที่แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นที่มาบตาพุดและที่เมืองระยอง

ผมเชื่อมั่นในหลักการจัดการที่ดีที่องค์กรชั้นนำอย่าง ปตท. และ SCG ที่มีอยู่ว่าจะสามารถก้าวออกมาเป็นผู้นำ และรับผิดชอบต่อสังคมได้อย่างเพียงพอ และผมเชื่อมั่นด้วยว่า CG เป็นหลักการจัดการที่จะนำพาทุกๆ ส่วนของสังคมให้ก้าวเดินไปสู่อนาคตที่ดีร่วมกันได้เช่นเดียวกัน




Create Date : 03 สิงหาคม 2552
Last Update : 3 สิงหาคม 2552 11:18:01 น. 0 comments
Counter : 414 Pageviews.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

good governance
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add good governance's blog to your web]