<<
สิงหาคม 2552
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
31 สิงหาคม 2552

ปัญหาการทุจริตของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในสังคมไทย


โดย รัตพงษ์ สอนสุภาพ ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม

การทุจริตและประพฤติมิชอบของนักการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไทยจากอดีตจวบจนปัจจุบันถูกมองจากสังคมว่า ได้กลายเป็นปัญหาวิกฤติอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศชาติและประชาชนมาช้านาน เพราะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ได้เกี่ยวข้องเพียงแค่อำนาจบริหารของรัฐบาล และเป็นตัวแทนของอำนาจนิติบัญญัติเท่านั้น แต่ยังเป็นต้นทางในกระบวนการสรรหาของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระและหน่วยงานของรัฐตามกระบวนการยุติธรรมต่างๆ ด้วย จึงทำให้นักการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งข้าราชการและนักธุรกิจมีโอกาสเข้าแทรกแซงกระบวนยุติธรรมตามขั้นตอนต่างๆ ได้เพื่ออำนวยผลประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้องด้วย

ซึ่งแต่เดิมนั้นกระบวนการการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของไทยในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาฐานทุจริตประพฤติมิชอบ ได้ใช้ระบบเดียวกับการดำเนินคดีอาญาแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทอื่นและบุคคลธรรมดาทั่วไป กล่าวคือ ผู้ที่มีอำนาจฟ้องคดีอาญามี 2 ประเภท คือ พนักงานอัยการและผู้เสียหาย พนักงานอัยการจะฟ้องคดีได้ก็ต่อเมื่อมีการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน และพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนคดีโดยชอบแล้ว ส่วนผู้เสียหายนั้น แม้จะนำคดีขึ้นฟ้องร้องต่อศาลได้เองก็มีข้อจำกัดทางกฎหมาย กล่าวคือ หากเป็นคดีที่ผู้ต้องหาฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมาย ซึ่งโดยสภาพรัฐเท่านั้นเป็นผู้ได้รับความเสียหาย บุคคลอื่นจะนำคดีนั้นมาฟ้องเองไม่ได้ ดังนั้น กระบวนการดำเนินคดีอาญาที่ใช้ดำเนินคดีอาญาแก่ผู้กระทำผิดอาญาทั่วไปมาใช้กับผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองดังกล่าวจึงไม่ได้ผล เนื่องจากขาดประสิทธิภาพในการนำตัวผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งกระทำความผิดฐานทุจริตประพฤติมิชอบมาลงโทษ เพราะเป็นคดีที่มีความสลับซับซ้อน ผู้กระทำความผิดเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีอิทธิพลและบารมี อีกทั้งระบบกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาปกติทั่วไป ที่ให้ฝ่ายผู้กล่าวหาเป็นผู้พิสูจน์ความผิดของจำเลยโดยศาลจะต้องวางตัวเป็นกลาง ก็ไม่อาจจะเป็นฝ่ายค้นหาข้อเท็จจริงเองได้ง่ายนัก

แม้ว่าต่อมาจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามผลการปฏิบัติราชการ (ก.ต.ป.) สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีขึ้นมาเป็น "คณะกรรมการพิเศษ" ตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 324 และ 325 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 แต่คณะกรรมการชุดนี้ซึ่งกำเนิดขึ้นในยุคเผด็จการไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ตามหลักการที่วางไว้ได้ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลพลเรือนของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีสัญญา ธรรมศักดิ์ จึงได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ. 2518 โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ป.) ขึ้นมาดำเนินการ แต่การดำเนินงานของคณะกรรมการชุดนี้ ก็ไม่ประสบความสำเร็จอีกเช่นกัน เพราะมีปัญหาเกี่ยวกับความเป็นอิสระและอำนาจในการวินิจฉัยภายหลังจากที่ได้ทำการสืบสวนสอบสวนแล้ว เมื่อมีการปฏิวัติรัฐประหารในปี พ.ศ. 2534 คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ได้ออกประกาศฉบับที่ 26 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน (คตส.) เพื่ออายัดทรัพย์สินของนักการเมืองที่ได้มาโดยมิชอบหรือมีเพิ่มขึ้นผิดปกติมาเป็นของแผ่นดิน แม้ได้ส่งเรื่องให้เจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องดำเนินคดีอาญา แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จอีกเช่นกัน

จนกระทั่ง เมื่อประเทศไทยประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 ได้ก่อกำเนิดรูปแบบการดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรูปแบบใหม่ขึ้นมา โดยมีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และมีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อจัดการคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของข้าราชการการเมือง ข้าราชการประจำและเจ้าหน้าที่รัฐอื่นโดยเฉพาะ ส่วนรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ได้ปรับปรุงระบบการดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองขึ้นใหม่อีก โดยพยายามอุดช่องว่างของปัญหาที่เคยเกิดในช่วงที่ใช้รัฐธรรมนูญปี 2540

จนถึงปัจจุบันศาลฎีกาแผนกอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่พิจารณาไปแล้วรวม 5 คดี คือ ในปี 2544 คดีนายจิรายุ จรัสเสถียร ว่าด้วยความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86,90,148,157 ในปี 2546 คดีนายรักเกียรติ สุขธนะ ว่าด้วยความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ในปี 2548 คดีพลตำรวจเอกวุฑฒิชัย ศรีรัตนวุฑฒิ ว่าด้วยความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,158 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 125 ในปี 2550 คดีอดีตนายกรัฐมนตรี พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ว่าด้วยความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการอันมีพฤติกรรมเข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียจากการเข้าไปประมูลทรัพย์สินของรัฐ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 100,122 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 และ 157

นอกจากนี้ ในปีเดียวกันยังมีคดีนายวัฒนา อัศวเหม ว่าด้วยความผิดเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ส่วนในปี 2551 ก็มีคดีรายการ "ชิมไปบ่นไป" ของนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ด้วยความผิดฐานการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ตามมาตรา 267 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550

ดังนั้น สังคมไทยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการแสวงหากระบวนทัศน์ใหม่ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตของนักการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคู่ขนานไปกับการสร้างกระบวนการยุติธรรมที่เหมาะสม มุมมองใหม่ๆ ที่ว่านั้น อาจเป็นมุมมองเชิง "นิติ-เศรษฐศาสตร์" โดยเป็นการผสมผสานระหว่างแนวคิดทฤษฎีทางนิติศาสตร์กับแนวคิดทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์การเมืองและเศรษฐศาสตร์เชิงสถาบัน เพื่ออธิบายพฤติกรรมและรูปแบบการทุจริต ควบคู่กับการสร้างกลไกทางกระบวนการยุติธรรม เพื่อควบคุมการทุจริตของนักการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมไทยในสภาพที่เป็นจริงมากที่สุด

เผยแพร่ครั้งแรกที่ กรุงเทพธุรกิจ 31-08-52




Create Date : 31 สิงหาคม 2552
Last Update : 31 สิงหาคม 2552 9:53:25 น. 0 comments
Counter : 425 Pageviews.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

good governance
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add good governance's blog to your web]