"ไม่มีใครผู้ใด ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้ ตัวของเราเท่านั้น ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้"

สมาชิกหมายเลข 5067499
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ศึกษาและปฏิบัติธรรม มากกว่า 38 ปี
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 5067499's blog to your web]
Links
 

 
101. การปฏิบัติโอวาทปาฏิโมกข์ 3 เพื่อความดับทุกข์ ตอนที่ 11



การปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา
 
เพื่อปรับเปลี่ยน “กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม และ การประกอบการงานอาชีพ” ให้เป็นสัมมา
 
ต้องใช้ “ความเพียรที่เป็นสัมมา หรือ สัมมาวายามะ” เป็นที่ตั้ง
 
***************
 
ความเพียรที่เป็นสัมมา มีอยู่ 4 ประการ ชื่อว่า สัมมัปปธาน 4
 
สัมมัปปธาน 4 ประกอบด้วย
 
  1. สังวรปธาน คือ เพียรระวังยับยั้งอกุศลบาปธรรม ที่ยังไม่เกิด มิให้เกิดขึ้น
 
  1. ปหานปธาน คือ เพียรละอกุศลบาปธรรม ที่เกิดขึ้นแล้ว
 
  1. ภาวนาปธาน คือ เพียรทำกุศลธรรม ที่ยังไม่เกิด ให้เกิดมี
 
  1. อนุรักขนาปธาน คือ เพียรรักษากุศลธรรม ที่เกิดขึ้นแล้ว ให้ตั้งมั่น และ ให้เจริญยิ่ง
 
***************
 
[๑๖๘] สัมมาวายามะเป็นไฉน
ภิกษุในศาสนานี้ ทําฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียรประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ เพื่อป้องกันอกุศลบาปธรรม ที่ยังไม่เกิด มิให้เกิด ฯลฯ เพื่อละอกุศลบาปธรรม ที่เกิดแล้ว ฯลฯ เพื่อสร้างกุศลธรรม ที่ยังไม่เกิดให้เกิด ทําฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียรประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ เพื่อความดํารงอยู่ ความไม่สาบสูญ ความภิยโยยิ่ง ความไพบูลย์ ความเจริญ ความบริบูรณ์แห่งกุศลธรรมที่เกิดแล้ว นี้เรียกว่า สัมมาวายามะ
 

...จาก พระอภิธรรมปิฎกเล่ม ๒ วิภังคปกรณ์ - หน้าที่ 99 พระไตรปิฏกฉบับหลวง เล่มที่ 35
 
***************
อกุศลบาปธรรม หมายถึง สิ่งที่ไม่ดี สิ่งที่ชั่ว สิ่งที่เลวทราม ได้แก่ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม และ การประกอบการงานอาชีพ ที่ไม่เป็นสัมมา หรือ ที่เป็นมิจฉา
 
กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม และ การประกอบการงานอาชีพ ที่ไม่เป็นสัมมา หรือ ที่เป็นมิจฉา เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจาก กิเลส ตัณหา และอุปาทาน
 
กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม และ การประกอบการงานอาชีพ ที่ไม่เป็นสัมมา หรือ ที่เป็นมิจฉา เป็นสิ่งที่จะทำให้เกิด “วิบากกรรมที่ไม่ดี หรือ อกุศลวิบาก”
 
***************
 
กุศลธรรม หมายถึง สิ่งที่ดี สิ่งที่ชอบ สิ่งที่เป็นสัมมา ได้แก่ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม และ การประกอบการงานอาชีพ ที่ดี ที่ชอบ ที่เป็นสัมมา เช่น การทำวัตถุทาน การทำอภัยทาน การช่วยเหลือเกื้อกูลโลก การช่วยเหลือเกื้อกูลสังคม การช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นและสัตว์อื่น การเจริญจิตเมตตา ฯลฯ
 
กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม และ การประกอบการงานอาชีพ ที่ดี ที่ชอบ ที่เป็นสัมมา จะทำให้เกิด “วิบากกรรมที่ดี หรือ กุศลวิบาก”
 
***************
 
สัมมัปปธาน 4 คือ ความเพียรปฏิบัติโอวาทปาฏิโมกข์ 3 ดังนี้
 
1. การไม่ทำบาปทั้งปวง คือ การเพียรระวังยับยั้งอกุศลบาปธรรม ที่ยังไม่เกิด มิให้เกิดขึ้น (ข้อ 1) และ การเพียรละอกุศลบาปธรรม ที่เกิดขึ้นแล้ว (ข้อ 2)
 
การเพียรระวังยับยั้งและการเพียรละอกุศลบาปธรรมทั้งหลาย ทั้งทางกาย ทางวาจา ทางใจ และ ทางการประกอบการงานอาชีพ คือ การนำเอา “กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม และ การประกอบการงานอาชีพ” ที่ยังไม่เป็นสัมมา หรือ ที่ยังก่อให้เกิดอกุศลบาปธรรมอยู่ มากำหนดตั้งให้เป็น “ศีล” เพื่อใช้ยึดถือปฏิบัติ แล้วใช้ “การเพียรอบรมจิต (สมถะ)” เพื่อยับยั้งไม่ให้เกิดการละเมิดศีล (ยับยั้งไม่ให้เกิดอกุศลบาปธรรม) และ ใช้ “การเพียรอบรมปัญญา (วิปัสสนา)” เพื่อชำระล้างกิเลส ตัณหา และอุปาทาน ที่เป็นมูลเหตุของการละเมิดศีล หรือ ที่เป็นมูลเหตุของอกุศลบาปธรรม ออกไปจากจิตใจ เพื่อทำให้ศีลเป็นปกติ (ละอกุศลบาปธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว)
 
2. การทำกุศลให้ถึงพร้อม คือ การเพียรทำกุศลธรรม ที่ยังไม่เกิด ให้เกิดมี (ข้อ 3) และ การเพียรรักษากุศลธรรม ที่เกิดขึ้นแล้ว ให้ตั้งมั่น และ ให้เจริญยิ่ง (ข้อ 4)
 
การเพียรทำกุศลธรรม ที่ยังไม่เกิด ให้เกิดมี คือ การเพียรทำกุศลธรรมให้ถึงพร้อม ทั้งทางกาย ทางวาจา ทางใจ และ ทางการประกอบการงานอาชีพ
 
การเพียรรักษากุศลธรรม ที่เกิดขึ้นแล้ว ให้ตั้งมั่น และ ให้เจริญยิ่ง คือ การเพียรทำกุศลธรรม ให้เป็นปกติวิสัย หรือ ให้มีปกติ เป็นคนคิดดี พูดดี ทำดี มีจิตเมตา ฯลฯ
 
การเพียรทำกุศลธรรม ให้เป็นปกติวิสัย คือ การเพียรทำกุศลธรรม โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อ “ชำระล้างกิเลส ตัณหา และอุปาทาน ออกจากจิตใจ
 
ตัวอย่างเช่น
 
การทำวัตถุทาน มีจุดมุ่งหมายเพื่อ “ชำระล้าง ความโลภ ความหลงห่วงหวง ความหลงใหลติดใจ ความหลงยึดมั่นถือมั่นเป็นของของตน ออกจากจิตใจ” (เป็นบุญกิริยาวัตถุ)
 
การทำอภัยทาน มีจุดมุ่งหมายเพื่อ “ชำระล้าง ความโกรธ ความขัดเคืองใจ ความไม่ชอบใจไม่พอใจ ความหลงยึดมั่นเป็นตัวเป็นตนของตน ความหลงยึดมั่นเป็นของของตน ออกจากจิตใจ” (เป็นบุญกิริยาวัตถุ)
 
3. การทำจิตใจให้บริสุทธิ์ คือ การชำระล้างกิเลสตัณหาและอุปาทาน ออกจากจิตใจ
 
การชำระล้างกิเลสตัณหาและอุปาทาน ออกจากจิตใจ เพื่อ “ละอกุศลบาปธรรมทั้งหลาย” (ทำศีลให้เป็นปกติ)
 
และ การชำระล้างกิเลสตัณหาและอุปาทาน ออกจากจิตใจ เพื่อ “รักษากุศลธรรม ที่เกิดขึ้นแล้ว ให้ตั้งมั่น และ ให้เจริญยิ่ง” (ทำให้การทำกุศลธรรม เป็นปกติวิสัย)
 
จะทำให้ “จิตใจสะอาดบริสุทธิ์
 
***************
 
การชำระล้างกิเลสตัณหาและอุปาทาน ออกจากจิตใจ เพื่อละอกุศลบาปธรรมทั้งหลาย

และ การชำระล้างกิเลสตัณหาและอุปาทาน ออกจากจิตใจ เพื่อทำให้ การทำกุศลธรรม เป็นปกติวิสัย

ต้องใช้กำลังความเพียร ค่อนข้างสูง และ ต้องใช้ระยะเวลา ยาวนานพอสมควร

ดังนั้น เราจึงต้องมองให้เห็น “มรรคผล” แม้มีประมาณน้อย

เพราะ การมองเห็น “มรรคผล” แม้มีประมาณน้อย

จะช่วยเสริมสร้างความเพียร ให้โตขึ้น และ ให้มีกำลังมากขึ้น
 
***************
 
ความเพียรที่เป็นสัมมา หรือ สัมมาวายามะ” เป็นหนึ่งในอินทรีย์ 5 ชื่อว่า “วิริยินทรีย์”

กำลังของ “ความเพียรที่เป็นสัมมา หรือ สัมมาวายามะ” เป็นหนึ่งในพละ 5 ชื่อว่า “วิริยะพละ”
 
ความเพียรที่เป็นสัมมา หรือ สัมมาวายามะ” เป็นสิ่งที่จะต้อง “ทำให้โตขึ้น และ ทำให้มีกำลังมากขึ้น” เพื่อช่วยให้การปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา” บรรลุมรรคผลเร็วขึ้น


การมองเห็น “มรรคผล” แม้มีประมาณน้อย
จะช่วยเสริมสร้าง “ความเพียรที่เป็นสัมมา หรือ สัมมาวายามะ” ให้โตขึ้น และ ให้มีกำลังมากขึ้น
 
***************
 
“การชำระล้าง (ขจัด) กิเลส ตัณหา และอุปาทาน ออกจากจิตใจ

คือ การต่อสู้เพื่อเอาชนะกิเลส ตัณหา และอุปาทาน ที่ครอบงำจิตใจของเราอยู่”
 
“การต่อสู้เพื่อเอาชนะกิเลส ตัณหา และอุปาทาน

ที่ครอบงำจิตใจของเราอยู่นั้น

มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

เราอาจต้องแพ้แล้ว แพ้อีก ไม่รู้ว่า จะกี่ครั้ง

ดังนั้น ในทุกๆครั้งที่เราแพ้

เราต้องมองให้เห็น “ความชนะในความแพ้

เพราะ ถ้าเรามองไม่เห็น “ความชนะในความแพ้

เราจะหมดกำลังในการต่อสู้”
 
ชาญ คำพิมูล

 


Create Date : 26 มิถุนายน 2565
Last Update : 7 มกราคม 2567 3:36:28 น. 0 comments
Counter : 383 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.