"ไม่มีใครผู้ใด ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้ ตัวของเราเท่านั้น ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้"

สมาชิกหมายเลข 5067499
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ศึกษาและปฏิบัติธรรม มากกว่า 38 ปี
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 5067499's blog to your web]
Links
 

 
24. ไม่ปล่อยวางสุข (โลกียสุข) ไม่มีทางพ้นทุกข์



ความสุข หรือ สุขเวทนา ที่เกิดขึ้น  ในจิตใจของคนเรา

โดยส่วนใหญ่แล้ว เป็น “โลกียสุข หรือ ความสุขในทางโลก”

"โลกียสุข หรือ ความสุขในทางโลก" หมายถึง ความสุขอันเกิดจาก สิ่งเสพติดทั้งหลาย อบายมุขทั้งหลาย กามเมถุน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ การได้ลาภ การได้ยศ การได้สรรเสริญ

***************

“ความสุขของโลก เหมือนเหยื่อ ที่เบ็ดเกี่ยวไว้ พอปลากินเหยื่อ ก็ติดเบ็ด คราวนี้ ก็สุดแล้วแต่พรานเบ็ด จะฉุดกระชากลากไป มัสยาที่ติดเบ็ด กับ ปุถุชนผู้ติดในโลกียสุข จะต่างอะไรกัน”
(จากหนังสือ “ผู้สละโลก”)

"โลกียสุข หรือ ความสุขในทางโลก" คือ “ความสุขลวง” เป็นเหยื่อล่อของกิเลส ที่ล่อให้คนเรา หลงใหลและติดใจ จนต้องยอมมอบตนในทางผิด จนต้องยอมทำผิดศีลธรรม จนต้องยอมทำอกุศลกรรมต่างๆ จนต้องยอมเสี่ยงโรค จนต้องยอมเสี่ยงภัย จนต้องยอมเสี่ยงคุกเสี่ยงตะราง จนต้องยอมเสี่ยงชีวิต เพื่อให้ได้เสพ “โลกียสุข”

***************

กิเลสจะใช้ “โลกียสุข” เป็นเหยื่อล่อ เพื่อล่อให้คนเรา ทำทั้งกรรมดีและกรรมไม่ดี คละเคล้ากันไป

ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว จะเป็น “กรรมไม่ดี” มากกว่า “กรรมดี”

ทำให้ชีวิตของคนเรา ต้องเวียนวน อยู่ในวังวนของ “ความสุข (โลกียสุข)” และ “ความทุกข์” ไม่มีที่สิ้นสุด

ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว จะเป็น “ความทุกข์” มากกว่า “ความสุข”

***************

“โลกียสุข หรือ ความสุขในทางโลก” และ “ความทุกข์” คือสิ่งที่เกิดมา “คู่กัน”

ไม่มีใครผู้ใด จะแยกออกจากกันได้

หากต้องการจะพ้นทุกข์

หรือ ต้องการจะหลุดพ้นออกจาก วังวนของ “ความสุข (โลกียสุข)” และ “ความทุกข์” อันไม่มีที่สิ้นสุด

ต้องปล่อยวาง “โลกียสุข หรือ ความสุขในทางโลก” โดยถ่ายเดียว

ดังคำตรัสของพระพุทธองค์ ที่ว่า         

 “ดูกรอานนท์ บุคคลทั้งหลาย ผู้ที่จะรู้ว่า สุข ทุกข์ ติดกันอยู่นั้น หายาก ยิ่งนัก

มีแต่เราตถาคต ผู้ประกอบด้วยทศพลญาณนี้ เท่านั้น

บุคคลทั้งหลาย ที่ยังเป็นปุถุชนคนโง่เขลานั้น

ทำความเข้าใจว่า สุข ก็มีอยู่ต่างหาก ทุกข์ ก็มีอยู่ต่างหาก

ครั้นเราถือเอาสุข เราก็ได้สุข เราไม่ถือเอาทุกข์ ทุกข์ก็ไม่มี ดังนี้

เพราะเหตุที่เขาไม่รู้ว่า สุขกับทุกข์ ติดกันอยู่ เขาจึงไม่พ้นทุกข์

เมื่อผู้ใด อยากพ้นทุกข์ ก็ให้วางสุขเสีย ก็เป็นอันละทุกข์ วางทุกข์ด้วย เหมือนกัน

ใครเล่า จะมีความสามารถ พรากสุขทุกข์ ออกจากกันได้

แม้แต่เราตถาคต ก็ไม่มีอำนาจวิเศษ ที่จะพรากจากกันได้

ถ้าหากเราตถาคต พรากสุข แลทุกข์ ออกจากกันได้

เราจะปรารถนา เข้าสู่พระนิพพาน ทำไม

เราจะถือเอาแต่สุข อย่างเดียว

เสวยแต่ความสุข อยู่ในโลก เท่านั้น ก็เป็นอันสุขสบาย พออยู่แล้ว

นี่ไม่เป็นเช่นนั้น เราแสวงหาความสุข โดยส่วนเดียว ไม่มีทาง ที่จะพึงได้

เราจึงวางสุขเสีย ครั้นวางสุขแล้ว ทุกข์ไม่ต้องวาง ก็หายไปเอง อยู่กับเราไม่ได้

เราจึงสำเร็จพระนิพพาน พ้นจากกองทุกข์ ด้วยประการ ดังนี้

ดูกรอานนท์ อันสุขในโลกีย์นั้น

ถ้าตรวจตรองให้แน่นอนแล้ว ก็เป็นกองแห่งทุกข์ นั้นเอง

เขาหากเกิดมา เป็นมิตร ติดกันอยู่ ไม่มีผู้ใด จักพรากออกจากกันได้

เราตถาคต กลัวทุกข์เป็นอย่างยิ่ง

หาทางชนะทุกข์ มิได้

จึงปรารถนา เข้าพระนิพพาน เพราะเหตุกลัวทุกข์นั้น อย่างเดียว

พระพุทธเจ้า ตรัสเทศนาแก่ข้าอานนท์ ดังนี้แลฯ”


*** เนื้อความจาก คิริมานนทสูตร ฉบับพระยาธรรมิกราช “ความสุขในโลก”

***************

“บางคราว พระศาสดา ทรงตรัสเปรียบโลกียสุข เหมือนน้ำผึ้ง ซึ่งฉาบไล้ อยู่ที่ปลายศัสตรา อันแหลมคม
ผู้ลิ้มเลียโดยไม่ระวัง ย่อมถูกคมศัสตรา บาดปาก บาดลิ้น อย่างแน่นอน
มันเป็นภาวะ ที่น่าหวาดเสียว น่าสะพรึงกลัว มิใช่หรือ”
(จากหนังสือ “ผู้สละโลก”)

"โลกียสุข หรือ ความสุขในทางโลก" คือ "ความสุขที่เจืออยู่ในความทุกข์” เป็นบ่อเกิดของ ความทุกข์ ความโศก โรค ภัย และ สิ่งที่ไม่มีทั้งหลาย

***************

“โลกียสุข เปรียบเหมือน การกินอ้อย จากโคน ไปหาปลาย คือ ยิ่งกิน ยิ่งจืด”

"โลกียสุข หรือ ความสุขในทางโลก" คือ "ความสุขอันมีประมาณน้อย" ที่มีความไม่เที่ยง มีความไม่ยั่งยืน มีความแปรปรวน มีความไม่แน่นอน มีความไม่อาจยึดถือเอาไว้ได้ เป็นธรรมดา ต้องดิ้นรนแสวงหา ตลอดเวลา

***************

"โลกียสุข หรือ ความสุขในทางโลก" คือ "สิ่งที่ต้องทำความปล่อยวางให้ได้"

การทำความปล่อยวาง “โลกียสุข หรือ ความสุขในทางโลก” มีวิธีการ ดังนี้

๑. เพียรทำความมีสติ เพื่อรับรู้ การเกิดขึ้น ของ "อารณ์สุข ที่เป็นโลกียสุข"

เมื่อใดก็ตาม ที่มี “อารมณ์สุข ที่เป็นโลกียสุข" เกิดขึ้น ในจิตใจของเรา 

จงเพียรพยายาม ทำความระงับ ดับอารมณ์สุข ที่เกิดขึ้นนั้น

โดยพยายาม ทำจิตใจ ให้สงบระงับ ให้ตั้งมั่น ให้เป็น “สมาธิ”

และพยายามไม่ปล่อยให้จิตใจ ปรุงแต่ง (สังขาร) ไปตาม อารมณ์สุข ที่เกิดขึ้นนั้น

(ทำความมีสติ เพื่อรับรู้การเกิดขึ้น การตั้งอยู่ และ การดับไป ของอารมณ์สุข ที่เกิดขึ้นนั้น โดยไม่ปรุงแต่ง (สังขาร) ตาม)

๒. เพ่งพิจารณาให้เห็นถึง ความไม่เที่ยง ความไม่ยั่งยืน ความแปรปรวน ความไม่แน่นอน ความไม่อาจยึดถือเอาไว้ได้ (อนิจจัง) ของ "อารมณ์สุข ที่เป็นโลกียสุข" ที่กำลังเกิดขึ้น หรือ ที่เกิดขึ้นไปแล้ว

"อารมณ์สุข ที่เป็นโลกียสุข" ทั้งหลาย ที่เกิดขึ้น ในจิตใจของเรา

ล้วนมีความไม่เที่ยง มีความไม่ยั่งยืน เป็นธรรมดา

ถ้าเราไม่เอาจิตเอาใจ เข้าไปปรุงแต่งร่วม (สังขาร) มันจะดับลงไปเอง ในเวลา ไม่นานนัก

๓. เพ่งพิจารณาให้เห็นถึง ความเป็นทุกข์ ความเป็นโทษ และ ความเป็นภัย (ทุกขัง) ของ "อารมณ์สุข ที่เป็นโลกียสุข" ที่กำลังเกิดขึ้น หรือ ที่เกิดขึ้นไปแล้ว และ เพ่งพิจารณาให้เห็นถึง คุณค่าประโยชน์ ของการปล่อยวาง อารมณ์สุข ที่เป็นโลกียสุข

๔. เพ่งพิจารณาให้เห็นถึง ความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของตน ของ "อารมณ์สุข ที่เป็นโลกียสุข" ซึ่งไม่อาจจะกำหนดได้ และ ไม่อาจจะควบคุมได้ เพ่งพิจารณาให้เห็นว่า อารมณ์สุข อันเป็นโลกียสุข เป็นแค่เพียง “อุปาทาน” เท่านั้นเอง ไม่ควรหลงไปยึดมั่นถือมั่นเอาไว้ และ เพ่งพิจารณาให้เห็นว่า อารมณ์สุข ที่เป็นโลกียสุข เป็นสิ่งที่คนเรา สามารถทำให้ ลดลงได้ จืดจางลงได้ และ ดับสิ้นไปได้ (อนัตตา)

๕. เพ่งพิจารณาให้เห็นถึง “ความจริงตามความเป็นจริง” จนเห็นชัดแจ้งว่า “จริงๆแล้ว เราไม่ควรหลงไปยึดมั่นถือมั่น ในอารมณ์สุข ที่เป็นโลกียสุข” และ “จริงๆแล้ว เราควรปล่อยวาง อารมณ์สุข ที่เป็นโลกียสุข”

๖. เพ่งพิจารณาให้เห็นถึง ความลดลง ความจางคลายลง และ ความดับสิ้นไป ของ "อารมณ์สุข ที่เป็นโลกียสุข" ทั้งหลาย ในจิตใจของเรา

***************

เมื่อได้เพ่งพิจารณา จนเห็นชัดแจ้งที่ใจ ในความเป็น อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา (ไตรลักษณ์) ของ อารมณ์สุข ที่เป็นโลกียสุขแล้ว

ก็จะเกิด การปล่อยวาง “อารมณ์สุข ที่เป็นโลกียสุข” ได้ ตามมา (เกิดปัญญา ล้างอวิชชา)

และเมื่อเกิดการปล่อยวาง “อารมณ์สุข ที่เป็นโลกียสุข” ได้แล้ว

ก็จะได้รับ “วูปสโมสุข หรือ ความสุขในทางธรรม”

***************

“เตสัง วูปสโม สุโข ความระงับดับเสีย ซึ่งสังขาร (การปรุงแต่งทางจิตใจ) ทั้งหลาย นั้นแล เป็นสุขอย่างยิ่ง”

“วูปสโมสุข เปรียบเหมือน การกินอ้อย จากปลาย ไปหาโคน คือ ยิ่งกิน ยิ่งหวาน”

"วูปสโมสุข หรือ ความสุขในทางธรรม" คือความสุขสงบ ที่ยิ่งใหญ่ เหนือกว่า โลกียสุข มีความเที่ยง มีความยั่งยืน มีความไม่แปรปรวน ได้แล้วได้เลย ไม่ต้องดิ้นรนแสวงหาอีก

ที่สุดของ "ความสุขสงบ หรือ วูปสโมสุข" คือ "พระนิพพาน"

“นิพพานัง ปรมังสุขัง พระนิพพาน เป็นสุขอย่างยิ่ง (บรมสุข)”

***************

การแสวงหา “โลกียสุข” ยิ่งแสวงหา ยิ่งเหนื่อย ยิ่งหนัก ยิ่งทุกข์ ยิ่งเครียด และ ไม่มีจุดหมายปลายทาง อันเป็นที่สิ้นสุด

การแสวงหา “วูปสโมสุข” ยิ่งแสวงหา ยิ่งสุข ยิ่งสงบ ยิ่งเบา ยิ่งสบาย และ มีจุดหมายปลายทาง อันเป็นที่สิ้นสุด คือ "พระนิพพาน"
 
"ปล่อยวาง สุข (โลกียสุข) จึงได้ สุข (วูปสโมสุข)"

"ไม่ปล่อยวาง สุข (โลกียสุข) ไม่มีทาง พ้นทุกข์"

ชาญ คำพิมูล

 


Create Date : 20 กรกฎาคม 2562
Last Update : 12 พฤศจิกายน 2562 7:31:14 น. 0 comments
Counter : 2326 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.