"ไม่มีใครผู้ใด ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้ ตัวของเราเท่านั้น ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้"

สมาชิกหมายเลข 5067499
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ศึกษาและปฏิบัติธรรม มากกว่า 38 ปี
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 5067499's blog to your web]
Links
 

 
18. การปฏิบัติธรรม ให้เกิดมรรคผลจริง



การปฏิบัติธรรม เพื่อทำให้เกิดมรรคผลจริง เป็นอย่างไร?

๑. ต้องปฏิบัติให้ถูกมรรคถูกทาง

การปฏิบัติธรรม ที่ถูกมรรคถูกทาง คือ การปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ โดยใช้ ศีล สมาธิ และ ปัญญา (ไตรสิกขา) ขับเคลื่อน เพื่อชำระล้าง กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ออกจากจิตใจ ให้หมดสิ้น

ศีล คือ สิ่งที่กำหนดตั้งขึ้นมา เพื่อยึดถือปฏิบัติ ให้เป็นปกติวิสัย

สมาธิ คือ การอบรมจิต หรือ การเจริญสมถภาวนา เพื่อทำให้ กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน สงบระงับดับลง (สัมมาสมาธิ)

ปัญญา คือ การอบรมปัญญา หรือ การเจริญวิปัสสนาภาวนา เพื่อทำให้เกิด ปัญญาในทางธรรม (สัมมาทิฏฐิ)

เมื่อกำหนดตั้งศีลขึ้นมาแล้ว ต้องใช้ สมาธิ (การอบรมจิต) และ ปัญญา (การอบรมปัญญา) ขัดเกลา (ชำระล้าง) กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ที่เป็นมูลเหตุของ การละเมิดศีล ออกจากจิตใจ

การปฏิบัติ ศีล สมาธิ และ ปัญญา จะก่อให้เกิด การลดลง การจางคลายลง และ การดับสิ้นไป ของกิเลส ตัณหา และ อุปาทาน และ จะก่อให้เกิด “สัมมาทิฏฐิ” มากขึ้น (เกิดปัญญาล้างอวิชชา หรือ เกิดปัญญาล้างมิจฉาทิฏฐิ)

เมื่อ “ทิฏฐิ” มีความเป็น “สัมมา” มากขึ้น “สังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีวะ วายามะ สติ และ สมาธิ” ก็จะมีความเป็น “สัมมา” มากขึ้น


๒. ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามลำดับ

การปฏิบัติธรรม ที่ถูกต้องตามลำดับ จะทำให้กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ลดลง จางคลายลง และ ดับสิ้นไป โดยลำดับ

การปฏิบัติธรรม ที่ถูกต้องตามลำดับ จะทำให้ความทุกข์ใจ ความเครียด และ ความวิตกกังวลใจ ลดลง โดยลำดับ

การปฏิบัติธรรม ที่ถูกต้องตามลำดับ จะทำให้ได้รับความสุขสงบ มากขึ้น โดยลำดับ

การปฏิบัติธรรม ที่ถูกต้องตามลำดับ จะทำให้เกิด การบรรลุธรรม ตามลำดับ คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และ พระอรหันต์

การปฏิบัติธรรม เพื่อทำให้เกิดมรรคผลจริง

ต้องกำหนดตั้งศีล ให้ถูกต้องตามลำดับ ดังนี้

ลำดับที่ ๑ ให้นำเอากิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ในระดับหยาบ (วีติกกมกิเลส) มากำหนดตั้ง ให้เป็นศีล เพื่อยึดถือปฏิบัติ ให้เป็นปกติวิสัย (ชำระล้างออกจากจิตใจ)

ลำดับที่ ๒ ให้นำเอากิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ในระดับกลาง (ปริยุฏฐานกิเลส) มากำหนดตั้ง ให้เป็นศีล เพื่อยึดถือปฏิบัติ ให้เป็นปกติวิสัย (ชำระล้างออกจากจิตใจ)

ลำดับที่ ๓ ให้นำเอากิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ในระดับละเอียด (อนุสัยกิเลส) มากำหนดตั้ง ให้เป็นศีล เพื่อยึดถือปฏิบัติ ให้เป็นปกติวิสัย (ชำระล้างออกจากจิตใจ)

"การปฏิบัติศีล สมาธิ และ ปัญญา ต้องปฏิบัติให้เป็น อธิศีล (กำหนดตั้งศีล ให้สูงยิ่งขึ้น ตามระดับของกิเลส) เพื่อทำให้เกิด อธิจิต (เกิดจิตที่เป็นสมาธิยิ่งขึ้น) และ ทำให้เกิด อธิปัญญา (เกิดปัญญายิ่งขึ้น)"

การปฏิบัติศีล สมาธิ และ ปัญญา ที่สูงขึ้นโดยลำดับ จะทำให้เกิด การเคลื่อนที่ไปตามทาง มรรคมีองค์ ๘ สู่ความพ้นทุกข์”


๓. ต้องมีผัสสะเป็นปัจจัย

การปฏิบัติธรรม เพื่อทำให้เกิดมรรคผลจริง

ต้องมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงจะเกิดการขัดเกลาจิตใจ ได้จริง หรือ จึงจะเกิดการขัดเกลา (ชำระล้าง) กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ออกจากจิตใจ ได้จริง

ถ้าไม่มีผัสสะ เป็นปัจจัย จะเกิดการนอนเนื่องของกิเลส ตัณหา และ อุปาทาน (ไม่ทำให้เกิดมรรคผลจริง) และ จะเกิดการหลงคิดไปว่า ตนเองบรรลุธรรมแล้ว

“ผัสสะ เปรียบเสมือน แบบฝึกหัด หรือ แบบทดสอบ”

“ถ้าไม่มีผัสสะ เราจะไม่รู้ว่า เราสามารถเอาชนะกิเลสได้แล้ว จริงหรือไม่?”


๔. ต้องเพียรหมั่นอบรมจิต (สมถภาวนา) และ ต้องเพียรหมั่นอบรมปัญญา (วิปัสสนาภาวนา) ให้ติดเป็นนิสัย

การปฏิบัติธรรม เพื่อทำให้เกิดมรรคผลจริง

ต้องเพียรหมั่นอบรมจิต (สมถภาวนา) และ ต้องเพียรหมั่นอบรมปัญญา (วิปัสสนาภาวนา) ให้ติดเป็นนิสัย

จึงจะเกิด การละหน่ายคลาย และ การปล่อยวาง  กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ได้ (เกิดปัญญา ล้างอวิชชา)


๕. ต้องมองให้เห็นมรรคผล (ความก้าวหน้า) แม้มีประมาณน้อย

การปฏิบัติธรรม เพื่อทำให้เกิดมรรคผลจริง

ต้องมองให้เห็นมรรคผล (ความก้าวหน้า) แม้มีประมาณน้อย หรือ ต้องมองให้เห็น ความชนะในความแพ้ จึงจะเกิดพลัง หรือ แรงผลักดัน (ฉันทะ) ในการปฏิบัติต่อ

เพราะเหตุว่า

กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน เป็นสิ่งที่มีฤทธิ์มีแรงมาก และ เป็นสิ่งที่ถูกสั่งสมพอกพูนเอาไว้ ภายในจิตใจ ข้ามภพข้ามชาติมา ไม่รู้ว่า กี่ภพกี่ชาติ

ดังนั้น การชำระล้าง ออกจากจิตใจ จึงต้องใช้ความเพียรพยายาม ค่อนข้างสูง และ ต้องใช้ระยะเวลา ยาวนานพอสมควร

ถ้ามองไม่เห็นมรรคผล (ความก้าวหน้า) แม้มีประมาณน้อย หรือ มองไม่เห็น ความชนะในความแพ้

ก็จะเกิดความทุกข์ ความเครียด และ ความท้อแท้ (หมดฉันทะ)

***************

การปฏิบัติธรรม ที่ไม่ถูกมรรคถูกทาง และ ไม่ถูกต้องตามลำดับ จะไม่ทำให้เกิด การบรรลุธรรม ตามลำดับ

การปฏิบัติธรรม ที่ไม่ถูกมรรคถูกทาง และ ไม่ถูกต้องตามลำดับ จะทำให้เกิด ความทุกข์ และ ความเครียด มากขึ้น

การปฏิบัติธรรม ที่ไม่ถูกมรรคถูกทาง และ ไม่ถูกต้องตามลำดับ จะทำให้เกิด การเวียนวน อยู่ในวังนวนของความสุข (โลกียสุข) และ ความทุกข์ ไม่มีที่สิ้นสุด

***************

หากการปฏิบัติธรรม

ไม่เกิดความก้าวหน้าในธรรม

จงพิจารณาปรับเปลี่ยน การปฏิบัติธรรม

ให้ถูกมรรคถูกทาง และ ให้ถูกต้องตามลำดับ

ชาญ คำพิมูล

 


Create Date : 17 พฤษภาคม 2562
Last Update : 23 กุมภาพันธ์ 2563 3:30:40 น. 0 comments
Counter : 2117 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.