<<
มีนาคม 2564
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
27 มีนาคม 2564
 

สมุดเบาใจ ทำไว้ ให้ใจเบา

จำได้ว่า หาคลิปรายการอะไรสักอย่าง  แล้วบังเอิญเจอคลิปนี้


ดูจบก็แอบน้ำตาซึม...  น่าอิจฉาความรักที่แม้แต่ความตายก็มิอาจพราก
และนี่ก็เป็นครั้งแรกที่ได้รู้จัก  สมุดเบาใจ
ดูคร่าวๆ เดาเอาจากคลิป  ก็น่าจะเป็นสมุดที่เอาไว้เขียนความต้องการของผู้ป่วยระยะสุดท้าย
เดาต่อไปว่า คงมีไว้เพื่อให้ทั้งหมอและญาติ ทำตามใจคนไข้
คิดอยู่ว่า  ก็น่าสนใจดี  น่าจะหาข้อมูลเพิ่ม  หาเล่มเต็มๆมาดู  จะได้แชร์ให้คนอื่นได้รู้
แต่....คงเพราะฉันยังไม่ป่วย  เลยมีเรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ  และมีผลกับชีวิตของฉันมากกว่าเรื่องนี้
ฉันจึงได้ละเลยเรื่องนี้ไปเสียนาน  จนกระทั่ง  เมื่อไม่กี่วันมานี้
ป้าข้างบ้าน  ซึ่งเห็นกันมานานเกิน 10ปี  จู่ๆแกก็หายไปจากบ้าน  รู้อีกทีคือ  แกไปอยู่โรงพยาบาล  จำเป็นต้องใส่ท่อช่วยหายใจ  ต้องให้ยาคลายกล้ามเนื้อ เพื่อลดการต่อตานเครื่องมือ
ทั้งหมดนี้  ทำให้แกสื่อสารกับคนอื่นแทบไม่ได้  ไม่ว่าจะเป็น คนเฝ้าไข้ หมอ  พยาบาล
ไม่สามารถบอกได้เลยว่า เจ็บตรงไหน  ปวดตรงไหน
จะตัดสินใจให้หมอดำเนินการรักษาอย่างไรต่อไป  ก็บอกไม่ได้  เพราะขยับร่างกายได้น่อยมาก
ญาติๆที่ฉันรู้ว่าป้าแกมี  ก็ไม่มีใครดูดำดูดีแกเสียอีก  ข้อนี้  ฉันเข้าใจดีหรอกว่า  ญาติที่ไม่ใช่คนใกล้ชิดอย่างลูก สามี  ซึ่งคนโสดแบบป้าก็ไม่มี  จะให้เขารับดูแลผู้ป่วยติดเตียง  ก็ออกจะเป็นภาระอยู่ไม่น้อย
จึงกลายเป็นเรื่องที่คนข้างบ้าน  ซึ่งพี่สาวของฉันได้ฝากเบอร์โทร.ไว้เมื่อวั้นที่เยี่ยมป้าที่โรงพยาบาล  ต้องไปหาทางติดต่อญาติของป้า  ให้มาเ็นเอกสารอนุญาตให้หมดทำอย่างใดอย่างหนึ่ง
รักษาแบบประคับประคอง  หรือ  ทำทุกอย่างเพื่อยื้อชีวิต
ชีวิตของป้า ร่างกายของป้า แต่ป้า เลือกอะไรไม่ได้อีกแล้ว
ถ้าป้าได้รู้จักสมุดเบาใจเสียก่อน  ได้แสดงเจตน์จำนงลงไว้ในสมุด  และ สมุดเล่มนั้นได้ส่งถึงมือหมอ  เรื่องก็อาจจะวุ่นวายน้อยกว่านี้  และไม่น่าอนาถใจเท่านี้

ความต้องการของฉันเกี่ยวกับสุขภาพช่วงสุดท้ายและการตายดี -- นี่คือ คำนิยามของ สมุดเบาใจ
สมุดเล่มบางๆนี้ จัดทำขึ้นโดยกลุ่ม Peadeful Death  ซึ่งก็คือกลุ่มเพื่อนกิจกรรม ทำงานสนับสนุนการอยูาและตายดี
ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ ปี 2550 มาตรา 12 ระบุไว้ว่า
บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้
การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้วมิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง
อานแล้วก็ออกจะงงๆ  กฏกระทรางที่กำหนดวิธีเขียนหนังสือแสดงเจตนา  ก็อาจจะเข้าใจได้ยากพอกัน
สมุดเบาใจ จึงเกิดขึ้น  เพื่อให้ง่าย และ "สมิท" กับคนเขียน  ที่สำคัญ  หากกรอกครบถ้วน  และลงชื่อ วันที่กำกับไว้เสร็จ  ก็จะมีผลตามกฏหมายทันทีอีกด้วย

เบื้องต้นที่ดูจากหลายๆคลิป  ก็ได้ข้อมูลมาประมาณนี้  ทีแรกก็เข้าใจว่า  ให้เขียนแค่ว่า  จะให้รักษาไปตามสภาพ  หรือ ยื้อไว้ให้สุด ห้ามปล่อยฉันตาย
ซึ่งคำตอบในใจ มีไว้ให้อยู่แล้ว  ถ้าจะเขียน  ก็ไม่น่ายาก
แต่พอดาวน์โหลด สมุดเบาใจ มาอ่านเข้าจริงๆ จึงพบว่า  คนคิดทำสมุดเบาใจนี้  ใส่ใจ และ ละเอียด รอบคอบมาก
สิ่งที่ต้องเขียน  ไม่ได้มีมาก  แต่กล้บดูจะยากอยู่ไม่น้อย

นอกจากสมุดเล่นนี้  จะให้เราบันทึกความต้องการของเราแล้ว  ยังมีส่วนที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการป่วยระยะสุดท้าย การดูแลแบบประคบประคอง  การกู้ชีพเพื่อช่วยชีวิต  การบื้อชีวิตเพียงเพื่อยืดการตาย....
หลายคนคงมีคำถามว่า ทำไมต้องรู้  ตอนที่ฉันยังไม่รู้  ก็คิดอยู่เหมือนกันว่า ไม่เห็นจำเป็นต้องรู้  แต่เมื่อได้รู้แล้ว  ก็พบว่า  มันเป็นเรื่องที่ควรต้องรู้จริงๆ  เพื่อจะได้ใช้สติปัญญาที่ยังสมบุรณ์์ดี พิจารณาอย่างรอบคอบ ก่อนจะตัดสินใจเลือกทางใดทางหนึ่ง  เพื่อว่าเมื่อถึงเวลาที่ต้องเผชิญหน้ากับเหตุการณ์จริง  จะได้ไม่ต้องนึกเสียใจว่า เลือกผิด

เริ่มจากเรื่องแรก การป่วยระยะสุดท้าย  ไม่ว่าจะเพราะแก่ หรือป่วย ระยะท้ายชองชีวิต  อาการจะคล้ายๆกัน หลักๆคือ อ่อนเพลีย กินอะไรไม่ค่อยได้  เคลื่อนไหวลำบาก  จะลุกจะเดินก็อาจจะทำไม่ได้  ตอนเห็นแค่มันเป็นตัวหนังสือก็ไม่เท่าไรหรอก  แต่พอลองจินตนาการภาพตัวเอง  อ่อนเปลี้ยเพลียงแรง  ได้แต่นอนมองแขนขาตัวเองที่ไม่ยอมขยับตามใจสั่ง  แลเลยไปอีก เห็นญาติมิตร คนดูแล  เขากินของยร่อย กลิ่นลอยมาเตะจมูกจนน้ำลายสอ  แต่พอเข้าปากกลับไม่มีแรงเคี้ยว  นึกจะลุกไปฉี่  ก็แสนจะเหนื่อยใจ  ระยะเดินแค่ 4-5 ก้าว   ทำไมไกลราวกับเป็นกิโล  กว่าจะ ยก ย่าง เหยียบ ไปถึงได้

ข้อต่อมา คือ การดูแลแบบประคับประคอง หรือ Paliative Care  ซึ่งก็คือการดูแลให้ได้รับความสุขสบายพอควร  เช่นการให้ยาลดปวด  ยาที่ช่วยให้ผ่อนคลาย หลับได้ง่ายขึ้น  พูดง่ายๆว่า รักษาไปตามอาการ ไม่ได้มุ่งหวังว่าจะให้หายจากอาการป่วย  และเมื่อถึงเวลา  ก็ปล่อยให้จากไปอย่างสงบ  โดยไม่มีการใช้เครื่องมือใดๆเพื่อช่วยยื้อชีวิต

อีกเรื่องหนึ่งคือ  วิธีการต่างๆที่ใช้เพื่อยื้อชีวิต -- อันนี้ขอสารภาพว่า ไม่ได้อ่านทั้งหมด  แต่ขอประมาวลเอาจากที่ฟังคุณหมอมาให้ความรู้ เช่นว่า การเจาะคอ เพื่อสอดท่อช่วยหายใจ ท่อนั้นมีขนาดเท่าหลอดชาไข่มุก ซึ่งแน่นอนว่า สอดเข้าไปก็เจ็บ
การฉีดยากระตุ้นหัวใจ  ยาไปทำให้หัวใจเต้นแรงขึ้น  ทั้งทีี่ร่างกายไม่มีแรง ความไม่สมดุลย์นั้น  คุณหมอบอกว่า  คนไขั้จะรู้สึกเหมือนถูกเหวี่ยงตอนอยุ่บนรถไฟเหาะ ซึ่งก็แน่ละ่ คนไข้ไม่อยู่ภาวะที่จะบอกได้ว่า ช่วยหยุดรถไฟที
หรือการใช้เครื่องช็อตไฟฟ้า  ซึ่งมีแรงกระแทกค่อนข้างแรง  อาจทำให้ซี่โรคงหักทิ่มปอดได้
ฟังแล้วก็ตัดสินใจได้ไม่ยากเลยว่า  จะเขียนความต้องการของตัวเองว่าอย่างไร

เจตนาข้อนึงของสมุดเบาใจ  คือ ทบทวนตัวเอง   ข้อมูลที่ควรต้องใส่ลงไปจึงมี นิสัยใจคอของฉัน  และ ความภาคภูมิใจในชีวิต
โจทย์สั้น  แต่แสนยาก  จะข้ามเสียก็มิได้  เพราะเขาว่า สิ่งนี้  จะช่วยให้ทุมสุขภาพเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของเรา  และดูแล "ใจ" เรา ได้ดีมากขึ้น
แอบสงสัยว่า  ถ้าฉันเขียนลงไปว่า ฉันภูมิใจที่ได้เป็นแฟนคลับวง Trinity ภูมิใจที่ได้สนับสนุนให้เด็กไทยโตไปเป็นศิลปินระดับโลก  เขาจะขำฉันมั้ยก็ไม่รู้
ส่วนเรื่องนิสัย  ตอนนี้ฉันยังตัดสินใจไม่ได้ว่า  เนื้อที่แค่ 2 บรรทัดนั้น ฉันควรเขียนนิสัยดี หรือ นิสัยเสียๆลงไป

มีอีกคำถามหนึ่งที่น่าสนใจคือ คือ ฉันมองความตายที่กำลังจะมาถึงว่า มันเป็นยังไง
ฉันเคยถาม หรือไม่ก็พูดคุยเรื่องความตาย การซ้อมตาย  การเตรียมตัวตาย  ฉันพบว่า 9 ใน 10 ไม่อยากคุยเรื่องนี้  และสงสัยด้วยว่า ฉันกำลังอยากตาย
ในภาวะที่ฉันรู้สึกว่า ตายตอนนี้ก็ได้นะ  ไม่มีอะไรติดค้างแล้ว  แต่พ่อแม่วัย 70 และ 80 กลับพยายามบอกให้ทุกคนฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19  เพราะพวกเขาไม่อยากตาย
ต่อมผลิตสัญชาตญาณกลัวตายของฉันคงจะหยุดทำงานไปแล้ว
ดังนั้น  ฉันจะเขียนคำตอบลงไปว่า ชิวชิว  

ฉันรู้ว่า  การคุยเรื่องความตายเป็นเรื่องยาก แม้แต่กับตัวเอง  แต่หากเชื่ออย่างฉัน ซึ่งฟังมาจากพระอีกทีว่า พรุ่งนี้ หรือ ชาติหน้า ใครจะรู้ว่า อะไรจะมาถึงก่อนกัน  ก็ควรคุยกับตัวเองเสียแต่เน่ินๆ  ทำความรู้จัก  ทำความเข้าใจ  เพื่อจะได้เตรียมตัว เตรียมใจ

ในเล่มนี้ เขายังให้เราบอกความต้องการเรื่องงานศพด้วย  ซึ่งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า นี่คือคำขอสุดท้าย ญาติๆควรจะตามใจ
ฉันเป็นคนเรียบๆ ใช้ชีวิตเรียบๆมาทั้งชีวิต  งานศพก็อยากให้จัดแบบเรียบๆ
มีโอกาสได้ถามพี่ชายคนหนึ่งซึ่งชีวิตเขามีสีสันฉูดฉาดกว่าฉันมากนัก  ฏันบอกเขาว่า  งานสุดท้ายของพี่คงเป็นงานที่สนุกมาก  เขาตอบกลับมาว่า แน่น้อนนนนนนนนนน พร้อมกับหัวเราะเสียงดังลั่น


Create Date : 27 มีนาคม 2564
Last Update : 21 พฤษภาคม 2564 23:09:25 น. 0 comments
Counter : 697 Pageviews.  
 
Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

วัลยา
 
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




[Add วัลยา's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com