รู้สึกตัว ผ่อนคลาย เฉย ๆ สบาย ๆ **กรุณา .อย่า.ได้บริจาคเงินให้ blog ผม ทาง e-wallet ครับ** **ผมขอสงวนสิทธิการเป็นเจ้าบ้านของ blog ลบข้อเขียนใดๆ ก็ได้ใน blog นี้ตามที่ผมเห็นสมควร**
Group Blog
 
<<
กันยายน 2552
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
16 กันยายน 2552
 
All Blogs
 

มือใหม่สงสัยในการปฏิบัติ ภาค 2

คุณมือใหม่มีคำถามต่อเนื่องมาดังนี้

ส่วนการฝึกในชีวิตประจำวัน เช่น ขณะที่หนูล้างจาน หนูก็จะรู้แต่การล้างจาน แต่แบบบางทีก็แว็บไปคิดเรื่องอื่น เช่น เอ เอกสารอันไหนต้องส่งตอนไหนนะ หรือคิดไปถึงเรื่องที่มีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน แล้วหนูก็จะ แบบประมาณว่า อ้าว เอาอีกแล้ว เผลอไปคิดอีกแล้ว พอพอ มาล้างจานต่อ
แบบนี้ เรียกว่า รู้ตัวหรือเปล่าคะ
คือ พอรู้ตัวว่าเราเผลอไปคิดเรื่องอื่น ก็หยุดไม่คิดต่ออย่างนี้หรือเปล่าคะ

อีกเรื่อง เนื่องจากหนูเป็นครูค่ะ บางทีเด็กนักเรียนก็ทำผิด แล้วหนูก็แบบว่า โมโหอ่ะค่ะ
ก็ว่าเด็ก ไปซะ พอเฮ้ย โมโหอีกแล้ว จะหยุดเลยก็ใช่ที ก็ขอว่าอีกสักนิด แล้วก็หยุด แบบนี้พอได้ใหมคะ

มีอะไรจะแนะนำหนูบ้างหรือเปล่าคะ

ส่วนสาเหตุที่หนูอยากมานั่งสมาธิ แล้วก็สวดมนต์ก็คือ อยากให้ศิริมงคลเกิดแก่ชีวิต แต่ถ้าพูดตรงๆ ก็คือ มีเงินทองไม่ขัดสน และพอที่จะได้ช่วยเหลือ ผู้อื่นบ้าง บางครั้งก็เลยงง กะตัวเองว่า นี่เราจะใช้ธรรมะ เพื่อความโลภหรือเปล่าแต่ถ้าระหว่าง มีเงินกับไม่มีเงิน ในชีวิตประจำวัน หนูขอมีเงินค่ะ อย่างน้อยก็อยู่สบายมากกว่านั้น ก็ได้ช่วยเหลือคนอื่นด้วย

............................

มาอ่านความเห็นของผมดังนี้ครับ

1 เมื่อเราทำงาน เช่นล้างจาน เราก็ต้องสนใจในการล้างจานครับ แต่ว่า การสนใจในการล้างจานนี้ ถ้าจะปฏิบัติไปด้วย ล้างจานไปด้วย คุณต้องลานจานแบบผ่อนคลาย ล้างจานแบบสบาย ๆ ครับ อย่าไปตึงเครียดกับการล้างจาน

ที่ผมบอกว่า ให้ล้างจานแบบสบาย ๆ นี่เป็นอย่างไร
ผมจะยกตัวอย่างให้คุณได้เห็นของจริงที่เกิดขึ้นจริงกับคนทั่ว ๆ ไปก็คือ ในขณะที่คนกำลังอาบน้ำครับ เดียวเย็นนี้ กลับบ้านไปอาบน้ำ ก็ให้สังเกตดูว่าเป็นอย่างไรที่ว่า ให้สบาย ๆ ไม่ตึงเครียด เมื่อคนอาบน้ำแบบสบายๆ ไม่ตึงเครียด เขาจะมีความสุขเล็ก ๆ กับการอาบน้ำนั้น มือก็ถูไปตามลำตัวที่สกปรก รู้สึกได้ถึงการถู การสัมผัส นั้น ๆ หูก็ได้ยินเสียงน้ำที่ไหลมา ในขณะเดียวกัน ถ้าใช้ฝักบัว ก็จะรู้สึกถึงน้ำที่กระทบสัมผัสตามร่างกายได้ด้วย จมูกก็ได้กลิ่นสบู่อาบน้ำได้ นี่คือลักษณะที่คนอาบน้ำได้และไม่เคร่งเครียด

แล้วอาบน้ำที่เคร่งเครียดเป็นอย่างไร
สมมุติว่า คุณตื่นสาย คุณต้องรีบอาบน้ำเพื่อให้ทันเวลา คุณก็จะรีบ ๆ ทุกอย่าง เมื่อคุณรีบ จิตใจก็เคร่งตึง จิตจะหนัก ไม่สบายเลย จิตใจจะจดจ่อแต่การอาบน้ำ ไม่สนใจเรื่องอื่นใด น้ำกระทบตัวก็ไม่รู้สึก เพราะมัวไปรีบอาบน้ำ

นี่คือความต่างของ 2 แบบ พอจะมองภาพออกไหมครับว่า เวลาล้างจานแบบสบาย ๆ นี่เป็นอย่างไร เวลาล้างจานแบบเคร่งตึงเป็นอย่างไร

การทำงานในชีวิตประจำวันทุกอย่าง ให้ทำงานแบบผ่อนคลายดังสภาพที่อธิบายให้เห็นเรื่องการอาบน้ำที่สบาย ๆ เช่น แปรงฟัน ใส่เสื้อผ้า รับประทานอาหาร ถูบ้าน รดน้ำต้นไม้ กวาดบ้าน การเดินเล่นพักผ่อน และอื่น ๆ อีกมาก

เหตุผลที่ให้ทำอะไรด้วยความสบาย ๆ ก็คือ ในขณะจิตใจที่สบาย ๆ นี้เป็นสัมมาสติ เมื่อฝึกให้เคยชิน ก็เป็นสัมมาสมาธิ เพื่อการพ้นทุกข์แบบพุทธศาสนา อนึ่ง การที่จิตใจสบาย ๆ ก็เท่ากับจิตได้กินอาหารจิตที่เป็นเลิศ มีประโยชน์ต่อจิตเอง ให้อ่านเรื่อง กินให้อ้วน ที่ //www.bloggang.com/viewdiary.php?id=namasikarn&month=08-2009&date=25&group=1&gblog=79

มื่อได้อ่านเรื่องการทำงานแบบสบาย ๆ แล้ว แต่ว่าในความเป็นปุถุชน ก็จะมีความคิดโผล่แว๊บขึ้นมาเสมอ ๆ เดียวคิดเรื่องโน้น เดียวคิดเรื่องนี้ ซึ่งคุณมือใหม่ ก็สงสัยว่าจะจัดการกับความคิดนี้อย่างไรดี
ซึ่งเรื่องนี้ ผมมีเขียนไว้แล้วในเรื่อง แนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับความคิด
ที่ //www.bloggang.com/viewdiary.php?id=namasikarn&month=06-2009&date=05&group=1&gblog=25

ในที่ขณะเราเผลอคิด นี่เป็นการหลงคิด ในขณะที่หลงคิดจะไม่รู้สึกตัว
แต่ในขณะวินาทีที่เรารู้ว่า เรากำลังหลงไปคิดเรืองอะไรก็ตาม ในขณะนั้นเป็นขณะที่รู้สึกตัว ในผู้ปฏิบัติใหม่ ๆ การหลงคิดนี่เป็นธรรมดาทีต้องเกิดขึ้น
ถ้าใครไม่เกิด แสดงว่า ไปกดมันไว้ไม่ให้มันไม่คิด ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ผิดทางครับ ในการปฏิบัติ เราไม่ห้ามที่มันจะคิด แต่เมื่อมันคิดแล้ว เราต้องรู้ว่า อย่างไร ควรหยุดความคิดนั้น อย่างไรไม่ควรหยุดความคิดนั้น ขอให้อ่านดูในเรื่อง แนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับความคิด ที่ผมมีเขียนไว้แล้วในนั้นได้

ในทางโลก ผมเคยดูสารคิดเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องของชายชาวอมริกัน หมอนี้ชอบว่ายน้ำที่สุด มีบริษัทหนึ่งจ้างเขาในราคาแพง ให้คิดสินค้าใหม่ๆ ออกมา บริษัทสร้างบ้านให้เขาอยู่ ทำสระว่ายน้ำอย่างดีให้เขาว่ายน้ำในบ้าน วัน ๆ เขาจะว่ายน้ำด้วยความผ่อนคลาย จิตใจสบาย ในขณะที่เขาว่ายน้ำ จิตของเขาจะปลอดโปร่งและจะคิดสินค้าใหม่ ๆ ออกมาได้บ่อย ๆ เขาจะรีบจดสิ่งที่จิตคิดนั้นออกมาได้ เพราะถ้าไม่รีบจด มันจะหายไปและจะจำไม่ได้ว่าเป็นอะไร นี่คือประโยชน์ของจิตคิดในทางโลกครับ

ในทางธรรม เมื่อจิตจะรู้แจ้งในธรรม มันก็มีลักษณะคล้าย ๆ จิตคิดเหมือนกัน มันจะโผล่งรู้ออกมาทันทีแบบไม่รู้ตัว เมื่อคุณเจอเอง คุณจะเข้าใจ
นี่เป็นประโยชน์ของจิตคิดในทางธรรมครับ

ดังนั้น อย่าไปห้ามความคิด อย่างไปกดจิตให้นิ่ง ๆ แล้วคิดว่า นี่คือสมาธิที่ถูกต้อง เราต้องมีสัมมาสติ แล้วปล่อยจิตให้เป็นอิสระ เมื่อจิตมันคิด ถ้าเป็นประโยชน์ นำมาใช้ ถ้าไม่เป็นประโยชน์ โยนมันทิ้งไปทันที แล้วก็เริ่มให้มันคิดอีก ที่ผมเขียนออกมาแบบนี้ เป็นสิ่งที่ผมเข้าใจเองจากการปฏิบัติของผมเอง ซึ่งแน่นอนว่า ถ้าคุณไปอ่านหนังสือของคนอื่น เขาอาจจะพูดไม่เป็นแบบนี้ ซึ่งเรื่องนี้ ขอให้คุณพิจารณาไตร่ครองเอาเอง อย่าเชื่อใครง่าย ๆ แม้แต่สิ่งที่ผมเขียน

2 .เมื่อสอนเด็ก เด็กทำผิด แล้วเกิดการโกรธขึ้นมา นี่เป็นเพราะสัญชาติเดิมของปุถุชนที่อยู่ในจิต มันทำงานครับ ซึ่งก็เป็นอย่างนี้กันทุกคนในปุถุชน
การที่คุณรู้สึกตัวว่า เอ้าโกรธอีกแล้ว ในขณะนั้นเป็นการรู้สึกตัวกลับมาอีกทีหนึ่ง แต่เมื่อโกรธไปแล้ว บางคนก็อาจจะเสียใจในสิ่งทีตนเองทำไปเมื่อสักครู่นี้ เมื่อโกรธยังอยู่ ซึ่งเรื่องนี้ ผมแนะนำดังนี้ครับ

2A เมื่อคุณโกรธ แล้วรู้ตัวได้ นี่เป็นการดีครับที่กลับมารุ้ตัวได้เอง แต่ถ้าเมื่อกี้ทำอะไรลงไปที่ทำให้เสียใจ ก็ถือว่า ผิดเป็นครู อย่านำสิ่งที่เสียใจ มาคิดให้เศร้าโศรก เพราะจิตใจ จะกินอาหารที่ไม่ดี ดังที่ผมเขียนไว้ในเรื่อง กินให้อ้วน ให้ตัดใจเสีย อย่าไปคิดถึงมันอีก

2B ถ้าคุณลงมือฝึกสัมมาสติ สัมมาสมาธิ ในแบบทีผมเขียนไว้จนได้ผลดีพอ จิตรู้ จะเกิดขึ้นได้ เมื่อจิตรู้ เกิดขึ้นได้แล่ว เวลาคุณโกรธ จิตรู้ มันจะเห็น เมื่อจิตรู้ เห็นอารมณ์โกรธ แล้ว อารมณ์โกรธจะหายไปได้ ซึ่งเหตุการณ์นี้จะดีกว่าแบบที่เขียนไว้ในข้อ 2A ครับ

2C ถ้าคุณฝึกได้ 2B แล้ว และฝึกต่อไป จนเกิดปัญญารู้แจ้งในทางธรรมระดับต้น ๆ จะมีเหตุการณ์อย่างหนึ่งเกิดขึ้น ก็คือ อาการโกรธ หนัก ๆ มันจะไม่โผล่มาให้เห็นอีกเลย แต่หวุดหงิด จะยังมีอยู่บ้าง ซึ่งแน่นอนว่า เมื่ออารมณ์โกรธไม่มาให้เห็นอีกเลย มันก็ดีกว่า 2B และ ทุกข์ใจก็ลดลงไปเอง เมือ่ความโกรธไม่มาเลย จริงไหมครับ นี่คือ ผลของปัญญาในพุทธศาสนา มันจะออกมาแบบนี้ ลดทุกข์ได้เพราะแบบนี้ครับ

เมื่อคุณเห็นประโยชน์ของ 2B และ 2C แล้ว ก็ลงมือปฏิบัติฝึกฝน สัมมาสติ ให้เป็นสัมมาสมาธิที่ตั้งมั่น ครับ

3. การนั่งสมาธิ การสวดมนต์ จะเป็นมงคลหรือไม่ ไม่ใช่อยู่ที่นั้น แต่อยู่ที่ว่า ในขณะที่นั่งสมาธิ ในขณะที่สวดมนต์ คุณรู้ตัวหรือเปล่า มากกว่า ถ้ารู้ตัว ก็เป็นกุศล ถ้าไม่รู้ตัว ก็เป็นอกุศล อ่านเรื่อง มาทำความเข้าใจกับคำว่า ปฏิบัติธรรม ที่ //www.bloggang.com/viewdiary.php?id=namasikarn&month=09-2009&date=06&group=1&gblog=85

4. เรืองมีเงิน ไม่ใช่เป็นความโลภ คนรู้ธรรมไม่จำเป็นว่าต้องไม่มีเงิน
การหาเงินอย่างไม่มีคุณธรรมต่างหาก นี่คือความโลภ
การช่วยเหลือคน เป็นสิ่งที่ดี แต่ก็เป็นจุดอ่อนในตนเอง ถ้าเราไม่ใช้ปัญญาในการช่วยเหลือ และนั้นก็หมายถึง หายนะที่อาจตามมาได้ถ้าช่วยเหลือใครในเรื่องใด โดยไม่ใช้ปัญญาไตร่ตรอง

5 เรื่องการสอนเด็ก ผมแนะนำว่า อย่าเพิ่งไปสอนใคร ให้คุณฝึกตัวเองก่อน ฝึกจนเข้าใจ เห็นจิตรู้เกิดได้ เห็นจิตรู้จัดการกับความโกรธได้แล้ว นั่นแหละครับ คุณจึงจะพอมีความเข้าใจในการปฏิบัติพอสมควรแล้ว และพอจะแนะนำคนอื่นได้บ้างแล้ว แต่ถ้าทุกอย่างยังไม่เกิดเลย เป็นอย่างไรก็ไม่รู้ โกรธหัวพัดหัวเหวียงอยู่ คุณจะมองไม่ออกว่า ธรรมปฏิบัติแห่งพุทธศาสนาที่แท้จริงเป็นเช่นไร ฝากไว้พิจารณาครับ




 

Create Date : 16 กันยายน 2552
14 comments
Last Update : 29 มกราคม 2555 19:07:41 น.
Counter : 1100 Pageviews.

 

สวัสดีค่ะอาจารย์
หนูตามาอ่านคำตอบค่ะ
อาจารย์ ไขข้อข้องใจของหนูทุกอย่างค่ะ


เรื่องความคิดที่แว็บๆ มา ถ้าเป็นเรื่องดีก็คิดต่อ
แต่ถ้าไม่ดี ไร้สาระ ผ่านมาแล้ว คิดไปไม่ช่วยอะไรก็เลิกคิด

ส่วนเรื่องเมื่อคืน สรุป ไม่ทันได้นั่งสมาธิค่ะ
เพราะ ดันมีเรื่องจุกจิก กวนใจ เกี่ยวกับเรื่องงานของคุณสามี เลย ดันไปพูดตัดพ้อ ต่อว่า เค้าเข้าให้อีกแล้ว ทั้งที่ก็รู้อยู่ว่า การเป็น ภรรยา ที่ดี ต้องคอยให้กำลังใจสามี เรื่องงานก็ต้องมีผิดพลาดกันได้ ต้องรู้จักพูดให้เค้าสบายใจ แต่แหม ดันคิดได้ตอนพูดไปแล้วนี่แหละค่ะ
เลยไม่ได้ นั่งสมาธิสวดมนต์อะไรเลย นอนซะเลย เฮ้อ

หนูว่า หนูจะค่อยๆ พยายามฝีกตามอาจารย์ว่านะคะ

หนูจะตามไปอ่านตามลิงค์ที่อาจารย์แนะนำค่ะ
แล้วถ้ามีเวลาเหลืออีก จะทยอย ทยอยอ่านทีละบล็อกค่ะ
...........

ลืมรายงานเรื่องการนั่งสมาธิเมื่อเช้าค่ะ
ตอนแรก หนูขี้เกียจ ลูกแขนค่ะ ก็เลยจับที่ท้อง เอ่อ ที่หน้าอกอ่ะค่ะ แบบว่า เวลาหายใจเข้า แล้ว จะขึ้นลง ใช่ใหมคะ
ทีนี้ พอจับไปมา ชักไม่ได้แหะ หนูก็เลยมาลูบที่ หลังมือแทนค่ะ เพราะรู้สึกว่า ถ้าลูบที่ต้นแขนแบบอาจารย์ว่า มันเมื่อยอ่ะค่ะ ก็เลยลูบไปสักพัก ก็รู้สึก สบายๆ ดีค่ะ

ส่วนเรื่องอาบน้ำ ช่วงนี้รู้สึกได้ค่ะ เพราะว่าหนูตื่นมาอาบน้ำตั้งกะ ตี 5 ค่ะ ก็เลยมีเวลา เหมือนว่า ถ้าเรามีเวลาทำอะไรเราก็จะรู้สึกสบายได้ด้วย ก็เลย พยายามจัดเวลาของตัวเองใหม่ด้วยค่ะ

สรุปที่หนูเข้าใจจากคำตอบบล็อกนี้ก็คือ

1. ทำอะไรก็แล้วแต่ให้รู้สึกถึงสิ่งที่เรากระทำ สิ่งที่กระทบกับตัวเรา
2. แต่ต้องทำอย่างไม่เคร่งเครียด และบังคับตัวเอง ให้ทำแบบสบายๆ
3. การเผลอไปคิดบ้างเป็นเรื่อง ปกติ แต่ต้องแยกให้ได้ว่า สิ่งใดจะคิดต่อ สิ่งใด ไม่ควรคิดต่อ


ขอบคุณอาจารย์ที่ช่วยตอบคำถามค่ะ

 

โดย: มือใหม่ (ไม่ยอมล็อกอิน) IP: 192.168.2.57, 119.42.94.211 16 กันยายน 2552 12:00:30 น.  

 

ใช่แล้วครับ คุณเข้าใจถูกแล้วครับ ขอให้สังเกตอีกอยางหนึ่ง เมื่อเราสบาย ๆ ไม่เกร็ง ไม่เครียด เราจะรู้ได้หลาย ๆ
อย่างพร้อม ๆ กัน เช่น ตาก็มองเห็นได้ หูก็ได้ยินได้ กายก็รู้สึกถึงลมที่พัดมาโดนได้
รู้สึกถึงการสัมผัสอื่น ๆ ได้ และรู้สึกได้ที่ใจที่เฉย ๆ สบาย ๆ ได้
รู้สึกได้ไหมครับ ถ้าได้ นี่แหละครับใช่เลย
ขอให้ฝึกฝนอย่างนี้ไปเรื่อยๆ


ใช่เลยค่ะอาจารย์ บางทีค่ะ หนูก็จะรู้สึกอย่างนี้อ่ะค่ะ
แล้วก็รู้สึกว่า เออ สบายใจ แต่ตอนแรกก็งง ว่า อ้าวแล้วรู้ตัวอยู่ จะไปสบายใจได้อย่างไร สรุปว่า ถ้าเป็นแบบนี้ ใช้ได้นะคะ

 

โดย: มือใหม่ (ไม่ยอมล็อกอิน) IP: 192.168.2.57, 119.42.94.211 16 กันยายน 2552 12:08:59 น.  

 

ถ้าเข้าใจแล้ว ว่าสัมมาสติ มีอาการเป็นอย่างไร
ก็ขอให้ใช้ชีวิตประจำวันแบบสัมมาสติ
ให้หัดไปเรื่อย ๆ บ่อย ๆ แล้วนิสัยเราจะเปลี่ยนไป
จากคนที่ชอบคิดเล็กคิดน้อย กลายเป็นคนมีสติทีมั่นคง

การที่มีสติทีมั่นคง อันป็นไปเองแบบธรรมชาตินี้
ทุกข์ใจที่เข้ามาแทรกจะค่อย ๆ ลดลง เรื่อย ๆ ไป
บางที่เราก็ไม่สังเกตตัวเองในเรื่องนี้ ก็ได้

ถ้าไม่ทุกข์แล้ว จะเอาอะไรอีกในชีวิต

การลูบที่หลังมือก็ได้ แต่เวลาลูบ ให้ลูบแล้วหยุด ลูบแล้วหยุด อย่าลูบติดต่อกันไปทีเดียวโดยไม่หยุด จะได้ผลดีกว่าครับ

เท่าที่อ่านคุณมา ผมรุ้สึกว่า คุณจะเข้าใจอะไรได้เร็วมาก ๆ โดยเฉพาะจุดสำคัญคือ สัมมาสติ ที่ถูกต้องมีลักษณะอย่างไร

 

โดย: นมสิการ 16 กันยายน 2552 12:21:50 น.  

 

จากบล็อก กินให้อ้วน และแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับความคิด


หนูเข้าใจเรื่องคิดประมาณนี้ถูกใหมคะ
การฝึกจิตไม่ใช่การฝึกหยุดคิด แต่ให้รู้ตัวว่า เรากำลังคิดอะไร แต่ไม่หลงไปกับความคิดนั้น แต่ให้พิจารณาว่า ความคิดนั้น เป็นความคิดอย่างไร ถ้าเป็นสิ่งดี มีประโยชน์ ก็ให้รู้ตัว และคิดต่อไปได้ แต่ถ้าเป็นสิ่งไม่ดีไม่มีประโยชน์ไร้สาระ เป็นความคิดแบบ ผูกจิตพยาบาท อย่างที่หนูมักเป็น ก็ให้หยุดทันที

 

โดย: มือใหม่ (ไม่ยอมล็อกอิน) IP: 192.168.2.57, 119.42.94.211 16 กันยายน 2552 12:22:42 น.  

 

ขอแก้ความเข้าใจของคุณมือใหม่เล็กน้อยดังนี้

การฝึกจิตนั้น ไม่ได้ห้ามความคิดเกิด แต่กลับกัน เราต้องสร้างเหตุให้ความคิดมันเกิดเองบ่อย ๆ แต่เมื่อความคิดมันเกิดเองขึ้นมาแล้ว เราต้องฝึกเพื่อให้เห็นความคิดนั้นอย่างเร็วที่สุด นีคือสิ่งที่เราต้องฝึก ที่เรียกว่า พอความคิดเกิดปุ๊บ ให้เห็นความคิดนั้นปั๊บ ขนิดรวดเร็วปานสายฟ้าแลบ
ซึ่งเราต้องฝึกมันให้เห็นความคิดเร็วอย่างนี้

ทีนี้ ถ้าในเรื่องทางโลก ที่เป็นประโยชน์ต่อหน้าที่การงาน พอความคิดเกิดมา เมื่อมันมีประโยชน์ เราก็ใช้ประโยชน์จากมัน

ถ้าเป็นเรื่องที่ไร้สาระ เรื่องฟุ่งซ่าน เรื่องไม่ดี พอความคิดเกิดมาแล้ว แล้วก็รีบ ๆ หยุดมันและเขี่ยมันทิ้งไปทันทีให้เร็วที่สุด

ส่วนที่ขอแก้ใขความเข้าใจก็คือ ไม่ใช่ว่า เราฝึกเพื่อให้รู้ว่า เราคิดเรื่องอะไร
แต่เราฝึกเพียงรู้ว่า มีความคิดมันเกิดมาแล้ว มันจะรู้เรื่องที่คิดว่าเรื่องอะไร หรือ ไม่รู้ว่าคิดเรืองอะไรก็ได้
ซึ่งคุณอาจจะงง ว่ามีด้วยหรือ ที่ความคิดเกิด แล้วไม่รู้ว่าคิดเรื่องอะไร ขอตอบว่า มีครับ ถ้าคุณฝึกไปมาก ๆ เข้า บางครั้ง คุณจะเห็นความเห็นเป็นพลังงานที่วูบขึ้นมาที่รู้ได้ ว่าความคิดมันเกิดแล้ว แต่ไม่รู้ว่า ในความคิดนั้นมันเป็นความคิดเรื่องอะไร

การฝึกเห็นความคิดอย่างรวดเร็วนี้ เป็นทางเพื่อเข้าสู่ความเข้าใจในการทำงานของขันธ์ 5 ในความเป็นธรรมชาติ เมื่อความคิดเกิด แล้ว จิตรู้ ไปเห็นความคิดที่เกิดนั้นเข้า ความคิดนั้นจะดับลงทันที ถ้าความคิดนั้นมันทำให้เราทุกช์ใจ ถ้ามันดับลงไปและเราไม่คิดมันต่อ ทุกข์ก็จะหยุดลงได้ด้วยเหตุนี้ ถ้าความคิดที่เกิดมา เราเห็นและเข้าใจมันแล้ว และเห็นว่า มันมีประโยชน์ต่อกิจการงาน เราก็คิดมันต่อไป เราก็ได้ประโยชน์จากความคิดนี้นำมาใช้งานได้

 

โดย: นมสิการ 16 กันยายน 2552 14:32:38 น.  

 

การที่จะเห็นความคิดได้อย่างรวดเร็วนั้น
ก็ต้องฝึกสัมมาสติ จนตั้งมั่นเป็นสัมมาสมาธิ ครับ
ยิ่งตั้งมั่นมากเท่าใด การเห็นความคิดได้ ก็จะยิ่งรวดเร็วมากขึ้นเท่านั้น

แต่ถ้าเราฝึกโดยการไปจ้องรอความคิดเกิด อย่างนี้ผิดทางครับ อย่าไปทำอย่างนั้น เพราะ ถ้าเราไปจ้องความคิด รอความคิดเกิด เพื่อที่จะได้เห็นมันเร็ว ๆ ความคิดจะไม่เกิดครับ

แต่เราฝึกตามปรกติ ที่ผมแนะนำไป เดียวความคิดมันจะเกิดโผล่มาเป็นระยะ ๆ เอง ใหม่ ๆ เราจะเห็นมันไม่ได้ เพราะจิตรู้ ยังไม่เกิด หรือ ถ้าจิตรู้ เกิดแต่ไม่ตั้งมั่นพอ ก็จะไม่เห็นความคิดเกิดนั้น เมื่อเราฝึกไปเรื่อย ๆ เราก็จะมีความสามารถมากขึ้นเอง ในการเห็นความคิดได้ และ ต่อมา ก็เห็นได้เร็วมากขึ้น มากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ต้องใช้เวลาครับ อาจจะสัก 1 ปีหรือมากกว่านั้นขึ้นไป

 

โดย: นมสิการ 16 กันยายน 2552 14:47:50 น.  

 

เอา หล่ะ งานนี้ มีอีกคำมาเพิ่มแล้ว
เอาเป็นว่า หนูค่อนข้างเข้าใจในสัมมาสติ
ว่ารู้คิด คือรู้ที่ตัวคิด แต่ไม่เพ่งว่า คิดเรื่องอะไร
รู้แต่ว่า ถ้าคิดไม่ดี ก็หัดหยุดให้ได้ ก่อนแล้วกันนะคะ
แล้วก็รู้ทันคิด คือ รู้ให้ไว ขึ้น

สงสัยจะมากกว่า ปี แน่ๆ ค่ะ


อันนี้ ต้องไปเปิด เรื่องขันธ์ 5 ก่อน
เอ หรือว่า ต้องเข้าใจทรัพย์พื่นฐานก่อนด้วย

วันนี้หนูลองไปเปิด หนังสือพระพุทธศาสนาของนักเรียน
ก็มีเรื่อง อริยสัจ 4 ด้วย เดี่ยวหนูไปดูความหมายก่อนดีกว่านะคะ ก่อนจงง กันไปใหญ่
เพราะหนูเรียนโรงเรียนคาทอลิกค่ะ ไม่เคยเรียนพระพุทธศาสนาเลย และก็ เบี่ยงเบน ไปมากหลายปีอยู่

ขอบคุณอาจารย์ค่ะ

 

โดย: แม่ภูมิ IP: 61.7.189.154 16 กันยายน 2552 17:29:27 น.  

 

ลองอ่านดูครับ แล้วคุณจะรู้ว่า ยิ่งอ่านจะยิ่งงง

 

โดย: นมสิการ 16 กันยายน 2552 17:59:51 น.  

 

555 กลัวจะงง ค่ะอาจารย์ ก็เลยเปิดดูแค่ความหมายให้แค่พอรู้ๆ แต่ไม่เพ่งค่ะ ไม่เพ่งว่าคืออะไร เอาแค่รู้พอ ค่ะ


ทำงานบ้านเสร็จ ดูการ์ตูนกับลูก ก็เพลียแล้วค่ะ

คืนนี้ ไปนอนก่อนค่ะ เมื่อเช้าตื่นเช้ามาก ชักง่วงแล้ว

ขอบคุณอาจารย์ค่ะ หากหนูมีข้อสงสัยอะไร จะมาถามใหม่นะคะ อันนี้ ชักเริ่มแน่ใจว่า น่าจะมาถูกทาง ส่วนเรื่องจะบรรลุธรรมหรือเปล่า ไม่คิดถึงค่ะ คิดว่า ไม่คิดฟุ้งซ่าน ให้วุ่นวายใจเป็นพอ

 

โดย: มือใหม่ค่ะ IP: 61.7.189.154 16 กันยายน 2552 19:45:45 น.  

 

มีเด็กเล็ก ถ้ามีเวลาอยู่กับเขา เช่น ตอนดูการ์ตูน อย่าปล่อยมือให้เปล่าประโยชน์ เอามือลูบตัวเด็ก ลูบแขนขาของเขาไว้ จะได้ประโยชน์ทั้งคุณแม่ ที่เป็นการฝึกสัมมาสติ และ ประโยชน์แก่ตัวลูก ที่ให้เขารู้สึกถึงการสัมผัสแต่ยังเล็ก ถ้าเขาโตสักหน่อย สัก 7 ขวบขึ้นไป ก็สอนเขาได้เรื่องสัมมาสติ เด็กเล็กสอนง่าย เป็นง่าย

 

โดย: นมสิการ 17 กันยายน 2552 6:47:31 น.  

 

สวัสดีคะ คุณนมสิการ

ตอนนี้ก็พยายามฝึกรู้กายรู้สติอยู่คะ มีคำถามตามมาหลังจากพยายามรู้กายขณะนั่งสมาธิ คือพยายามดูตัวเองว่าเป็ยยังไง ขณะนั่งจนรู้่สึกว่าเป็นการเพ่งจนเครียดและไม่สงบว่างเหมือนเคย เป็นมา 2-3 วัน ก็เลยหยุดแล้วกลับไปทำวิธีเดิมคือทำจิตให้ว่าง แต่เพิ่มความสนใจในสิ่งที่เกิดกับกายมากขึ้น จนกลับกลายเป็นคำถาม (อาการต่าง ๆ เหล่านี้เกิดขึ้นขณะนั่งสมาธิ แต่ไม่เคยสนใจ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องปกติทางเคมีของร่างกาย) เช่น

ขณะนั่งสมาธิ
- บางครั้งรู้สึกว่ากระตุกแรงเหมือนเวลาเราเคลิ้มนอนหลับแล้วเดินตกบันได แต่อันนี้เป็นความรู้สึกกระตุกขึ้น ไม่ใช่ลงเหมือนเราโดนใครฉุดแรงๆ ประมาณนั้น
- บางวันก็รู้สึกเหมือนข้างในตัวเป็นแสงสว่างวิ่งเร็วๆ วูบขึ้นไปที่ใบหน้า แล้วก็ตกลงมาที่กลางตัว
- บางครั้งก็รู้สึกว่าอยากโยกตัวไปข้างหน้าและหลัง คือโยกไปมาหน้าหลังขณะนั่งสมาธิ แต่ก็จะปล่อยให้ตัวเองทำตามสบายโดยไม่ฝืน โยกไปซักพัก ก็หยุดเอง แต่ขณะโยกก็รู้ตัวตลอดเวลา เหล่านี้เป็นต้น

อาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เป็นไม่ทุกครั้ง แต่สลับกันเป็นวันไป ทุกครั้งที่เกิดอาการเหล่านี้ ก็จะเฉย ๆ ไม่สนใจ และสงสัย เพราะคิดว่าคงเป็นเพราะเรานั่งนาน หรือเซลล์ร่างกายกล้ามเนื้อคงตึงเครียดและอยากผ่อนคลาย ไม่ใส่ใจ

แต่ พอมานั่งภาวนาแบบที่กำลังพยายยามทำ คือขณะนั่งให้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในกายนี้ จิดอยู่ตรงไหน (ก็ยังไม่เข้าใจว่าทำถูกหรือเปล่า) เลยกลายเป็นความสงสัยขึ้นมา ขอรบกวนถามว่า พอเราเริ่มสงสัยในอาการต่างๆ นี้ คือเรากำลังรู้กายรู้สติขณะปฏิบัติหรือเปล่าคะ

 

โดย: BeautyAstro 17 กันยายน 2552 13:04:30 น.  

 

ถ้าคุณพยายามทำ ไม่ว่าอะไร เช่น การทำจิตให้ว่าง การตั้งใจนั่งสมาธิเพื่อดูว่าเกิดอะไรขึ้นในกาย อะไรเกิดขึนในใจ หรือ การดูว่า จิตอยู่ตรงไหน ก็คือการทำสมถกรรมฐาน ถ้าถามว่าผิดไหม อันนี้ตอบยาก เพราะว่า ถ้าผมบอกว่า ผิด ก็จะมีคนไม่ยอมรับ ซึ่งเชื่อว่ามีมากมายในประเทศไทยเสียด้วย
ซึ่งนิสัยของผม ไม่ต้องการไปทะเลาะกับใครเสียด้วยครับ ส่วนใครจะเชื่ออะไร ผมคงปล่อยให้เป็นสิทธิของเขา

แต่ที่คุณถามผมว่า สิ่งที่ทำอยู่นี้ คือ การกำลังรู้กาย รู้สติขณะปฏิบัติหรือเปล่า อันนี้ ผมบอกว่า ยังไม่ตรงทางครับ

สิ่งที่ไม่ตรงก็คือ คุณมีความพยายามที่จะทำ มีความพยายามที่จะรู้ มีความพยายามที่จะเห็น มีความพยายามที่จะรู้สึก ซึ่งนี่คือ สิ่งที่ไม่ตรง

แล้วสิ่งที่ตรงคืออะไร ..
สิ่งที่ตรงก็คือ ไม่พยายามที่จะทำ ไม่พยายามที่จะรู้ ไม่พยายามที่จะเห็นอะไร เพียงแต่มีความรู้สึกตัวอยู่เท่านั้น แล้วปล่อยให้กลไกของระบบประสาทเขารับรู้เอง โดยไม่ต้องไปพยายามทำอะไรเลย เมื่อคุณฝึกลูบมือที่ผมแนะนำไปเมื่อคราวก่อน คุณเพียงรู้สึกตัว ลูบมือไปอย่างสบาย ๆ คุณจะเห็นว่า ตาคุณยังมองเห็นสิ่งแวดล้อมต่าง ๆรอบตัวได้ หูคุณยังได้ยินเสียงรอบ ๆ ตัวได้ ถ้าคุณเปิดพัดลมได้ เวลาลมมากระทบตัว คุณก็รู้สึกได้ และ คุณก็ยังรู้สึกได้ถึงการสัมผัสที่เกิดจากการลูบ ในขณะเดียวกัน ถ้าคุณฝึกแบบสบย ๆ ไม่เคร่งเครียด คุณยังรู้สึกถึงจิตใจที่สบาย ๆ ไม่มีอะไรอีกด้วย นี่คือการรับรู้ที่เป็นไปเอง โดยไม่พยายามทีจะทำ ที่จะรู้ เราต้องฝึกแบบนี้ครับ จึงจะก้าวต่อไปและมีการพัฒนาของกำลังสัมมาสติ

ผมเข้าใจว่า สิ่งที่คุณถามมา เพราะคุณไปนั่งสมาธิตัวนิ่งแข็ง แล้วเหตุการณ์ต่าง ๆ ก็ตามมา แล้วคุณก็พยายามจะรู้ พยายามจะหาว่าอะไรเป็นอะไร ซึ่งมือใหม่ที่นั่งสมาธิจะเป็นอย่างนี้ทุกคน ผมจึงไม่แนะนำให้เหล่ามือใหม่นั่งสมาธิตัวแข็งเลย เพราะเขาจะเป็นอย่างนี้ไปหมดทุกคน เรื่องนี้ ผมพูดมากไม่ได้ เพราะคนนั่งสมาธิตัวแข็งมีเกือบ 90 -95 % ในประเทศไทย ผมคงปล่อยให้เขาปฏิบัติไปตามที่เขาเห็นควร แต่ถ้าเขานั่งมาแล้วเป็น 10 ปีหรือมากกว่า แล้วไม่ก้าวหน้าในการดับทุกข์ เมื่อนั้น เขาอาจมีวาสนาที่จะเอะใจอะไรขึ้นมา แล้วมาไตร่ตรองดูว่าการปฏิบัติของเขามีอะไรผิด อะไรถูกก็ได้

แต่ผมไม่ได้บอกว่า การนั่งสมาธินี้ผิดนะครับ การนั่งสมาธิถูกได้ ถ้าเขาเข้าใจสัมมาสติดีแล้ว และก็จะผิด ถ้าเขาไม่เข้าใจสัมมาสติ ให้ลองอ่านเรื่องนี้ดู
การเจริญวิปัสสนาในอิระยาบทนั่งนิ่ง https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=namasikarn&month=08-2009&date=23&group=1&gblog=78

สรุปหลักการปฏิบัติที่ผมแนะนำก็คือ ให้เพียวรู้สึกตัว เฉย ๆ ผ่อนคลาย ไม่เคร่งตึง แล้วปล่อยให้ระบบประสาทในนร่างกาย เขาทำงานไป แล้วให้จิตเขารับรู้ความรู้สึกนี้ได้เอง โดยไม่ต้องพยายามทีจะรับรู้ รับรู้อะไรก็ได้ ซึ่งบางอย่างถ้ารับรู้ไม่ได้ในตอนนี้ ก็ไม่เป็นไร ให้รับรู้เฉพาะในสิ่งที่รับรู้ได้เท่านั้น
ลองอ่านเรื่อง วิปัสสนาทำอย่างไร
https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=namasikarn&month=07-2009&date=02&group=1&gblog=51

การปฏิบัติที่ผิดทาง มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อเสียก็คือ จะมีผลให้เสียเวลา ข้อดีก็คือจะเพิ่มความรู้ ความเข้าใจในความต่างระหว่างสิ่งที่ผิดและสิ่งทีถูกได้เป็นอย่างดี
ใครทีปฏิบัติผิดมามาก ๆ แล้วต่อไป ปฏิบัติถูก คน ๆ นี้จะสอนคนอื่นได้ดี และจะเข้าใจว่า ทำไมคนถึงไม่เข้าใจและปฏิบัติผิด ส่วนคนที่ปฏิบัติแล้วมีแต่ถูก คน ๆ นี้จะสอนคนไม่เป็น ไม่รู้วิธีสอน และไม่เข้าใจคนอื่นว่าทำไมปฏิบัติผิด

 

โดย: นมสิการ 17 กันยายน 2552 14:06:13 น.  

 

ขอบคุณคะ จะลองดูใหม่

 

โดย: beautyastro IP: 202.5.81.195 17 กันยายน 2552 18:07:43 น.  

 

ผมจำเป็นต้องปิดการเขียนของท่านผู้อ่าน เนื่องจากกฏหมายอินเตอร์เนท
ที่อาจมีสิ่งผิดกฏหมายใส่เข้ามาใน blog

ท่านที่จะสนทนา หรือ ถามคำถาม ขอให้ส่ง email ถึงผมได้ที่
asknamasikarn@gmail.com

หรือสำหรับสมาชิก pantip จะส่งมาทางหลังไมค์ก็ได้เช่นกัน

 

โดย: นมสิการ 29 มกราคม 2555 19:19:14 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะ VIP Friend
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


นมสิการ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 142 คน [?]




หลักปฏิบัติ ...รู้สึกตัว ผ่อนคลาย เฉย ๆ สบาย ๆ

มากกว่า 20 ปีที่ไปหลงทำสมถภาวนาแบบสมาธิแบบฤาษีโดยที่ไม่รู้จักกับคำว่า อะไรคือสัมมาสติ สัมมาสมาธิ ผลที่ได้คือความสงบขณะกำลังนั่งสมาธิจนตัวนิ่งแข็งเป็นก้อนหิน แต่ผลข้างเคียงตามมาก็คือการเป็นคนเจ้าโทสะอย่างรุนแรงขณะเวลาไม่ได้นั่งสมาธิ และ ที่อยู่ในชีวิตประจำวัน....

จนได้พบกัลยณมิตรแดนไกล ที่ได้ชักนำให้มารู้จักวิธีปฏิบัติแบบหลวงพ่อเทียน จนได้พบกับพระอาจารย์ในสายหลวงพ่อเทียน ที่ผมได้เรียนการปฏิบัติจากท่าน จนเข้าใจว่า สัมมาสติ สัมมาสมาธิ คืออะไร แล้วลงมือฝึกฝน การปฏิบัติก็รุดหน้าและได้ลิ้มรสสิ่งบริสุทธิในจิตใจอันเป็นผลจากการปฏิบัติด้วยเวลาเพียง 5 ปี

ธรรมปฏิบัติจากฆราวาสเขียนเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ยากในสังคมไทย ผมรู้ได้จากที่เขียนใน blog ผมได้พบกับการก่อกวนใน blog การเขียนเหน็บแนม กระแหนะกระแหน ตำหนิการการปฏิบัติที่ผมเขียนใน blog ว่าผิดทาง เขียนแบบคาดเดาเอา ไม่รู้จริง ให้ผมหยุดเขียนแนวนี้ได้แล้ว และไปโมทนาสาธุแนะนำการปฏิบัติสมาธิแบบฤาษีให้กับผมอีกว่านี่คือทางที่ถูกต้อง ...

บทความใน blog จึงเกิดขึ้นมา เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ในการภาวนา
แก่ผู้อื่นที่กำลังเดินทางในสายแห่งอริยมรรคนี้

เมื่อท่านได้เข้ามาอ่านข้อเขียนใน blog กรุณาอย่าได้เชื่อผมจนกว่า ท่านได้ทดลองปฏิบัติแล้วและพิสูจน์ด้วยตัวท่านเอง

**กรุณา .อย่า.ได้บริจาคเงินให้ blog ผมทาง e-wallet ครับ **

******
บทความต่าง ๆ ใน blog นี้
ขอสงวนสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
ห้ามนำไปดัดแปลง ลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

****
New Comments
Friends' blogs
[Add นมสิการ's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.