รู้สึกตัว ผ่อนคลาย เฉย ๆ สบาย ๆ **กรุณา .อย่า.ได้บริจาคเงินให้ blog ผม ทาง e-wallet ครับ** **ผมขอสงวนสิทธิการเป็นเจ้าบ้านของ blog ลบข้อเขียนใดๆ ก็ได้ใน blog นี้ตามที่ผมเห็นสมควร**
Group Blog
 
<<
กันยายน 2552
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
11 กันยายน 2552
 
All Blogs
 

ข้อสงสัยเกี่ยวกับวิปัสสนากรรมฐาน

ผมผู้ถามมาทางห้องสนทนา ผมเห็นว่า น่าจะนำมาเขียนอธิบายเป็นเรื่องราว จะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่ผ่านมาอ่านด้วย ต้องขอบคุณเจ้าของคำถามที่ถามมาครับ เรื่องที่เจ้าของคำถามเขียนมาเป็นดังนี้ครับ
........................

ไม่เคยฝึกภาวนา หรือวิปัสนากรรมฐานกับผู้ใดมาก่อน ไม่เคยอ่านหรือศึกษาแบบจริงจัง เวลาใครพูดถึงศัพท์บาลีว่าอย่างโน้นอย่างนี้ ก็ไม่เข้าใจ แต่ชอบอ่าน และ ฟังธรรม คำสอนของหลวงพ่อปัญญา ท่่านพุทธทาส หลวงปู่เหรียญ ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ และหลายๆ ท่าน ฟังเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง ปัจจุบันได้แต่ทำสมาธิก่อนนอน เพราะทำแล้วหลับสบาย ขณะทำสมาธิก็ใช้วิธีภาวนาพูทโธ แต่ส่วนมากจะตามดูลมหายใจตัวเองจากปลายจมูก แรกๆที่เริ่มทำก็ใช้วิธีกำหนดจิต(ไม่ทราบเรียกถูกหรือเปล่า) มองดูร่างกายตัวเอง บอกกับตัวเองว่า ร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา เป็นแค่วัตถุอินทรีย์ มีเวลาตายดับ เสื่อมไป จิตที่มีอยู่ก็ไม่ใช่ของเรา เป็นแค่พลังงานมีเพื่อใช้จับอารมณ์และความรู้สึกของร่างกาย สิ่งที่คิดว่าเป็นตัวเราก็ไม่ใช่ตัวเรา เพราะเกิดจากการรวมกันของสองสิ่ง ถ้าไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ชีวิตนี้ก็ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ ขณะทำสมาธิก็แยกมองกาย มองจิต แล้วปล่อยให้ว่าง (จนคิดว่าตัวเองหลับ เพราะขณะนั้นไม่มีสติรับรู้) จนถึงเวลาก็จะตื่นรู้สึกตัว และเข้าที่นอนหลับได้ การทำสมาธิที่ปฏิบัติอยู่ ตัวเองคิดว่า เมื่อจิตว่าง ก็จะมีสติ ปัญญาก็จะเกิดได้

ปัญหาก็คือ เมื่อมาฟังคำบรรยายธรรมของพระอาจารย์บางท่านบอกว่า การทำจิตให้ว่าง ปัญญาไม่ได้เกิด ปัญญาเกิดจากการมีสติรู้อยู่ขณะปฏิบัติ ไม่ใช่หลับ (รู้สึกจะฟังมาจากท่านพระอาจารย์ปราโมทย์)

คำถามก็คือ การวิปัสนากรรมฐาน เราทำเพื่ออะไร จุดประสงค์ที่แท้จริงและการปฏิบัติจริงๆ ควรทำอย่างไร จำเป็นแค่ไหน เพราะความเข้าใจเดิมคือ แค่ทำให้มีสมาธิ และสามารถเข้าใจและรู้ถึงความคิดได้ก็สงบได้ แต่ไม่เคยคิดถึงการมองเห็นหรือได้รับรู้ตามที่ได้ยินมาในระหว่างกรรมฐานถึง เทวดา สวรรค์ ชาติก่อน ชาติหน้าหรือชาติไหน เพราะไม่เห็นถึงประโยชน์ของการรู้หรือเห็นสิ่งเหล่านี้ และก็ไม่ค่อยเชื่อเรื่องเห็นหรือรู้เพราะคิดว่าเป็นจิตอุปทาน สร้างภาพเอง ปัจจุบันอ่านมาก ฟังมากก็เลยสับสนตัวเองว่าตกลงต้องทำอะไร หรืออย่างไร เพราะชอบและต้องการปฏิบัติแต่ก็ไม่ค่อยเข้าใจเวลาฟังคนที่ปฏิบัติแล้วคุยกัน บางคนบอกไม่ทำเองไม่รู้ไม่เข้าใจหรอก ต้องมีครูบาอาจารย์สอน ทำเองไม่ได้ จริงหรือเปล่าคะ

.........................
จากข้อเขียน ผมพอจะสรุปออกมาได้ดังนี้ครับ

1 การวิปัสนากรรมฐาน เราทำเพื่ออะไร จุดประสงค์ที่แท้จริงและการปฏิบัติจริงๆ ควรทำอย่างไร จำเป็นแค่ไหน ทำสมาธิแล้วจิตสงบก็เพียงพอแล้วจริงไหม

2 สิ่งที่รับรู้มาในระหว่างกรรมฐานเป็นจิตอุปทาน สร้างภาพเอง จริงหรือไม่ แล้วมีประโบชน์อะไร

3 อ่านมามาก ฟังมามาก แล้วสับสนว่าตกลงต้องทำอะไร ทำอย่างไร เพราะต้องการปฏิบัติ

4 มีคนบอกว่า ไม่ทำเอง ไมมีทางรู้ด้หรอก ต้องมีครูสอน ทำเองไม่ได้ จริงหรือเปล่า

...............................

มาอ่านดูความเห็นของผมครับ กรุณาอ่านด้วยวิจารณญาณด้วยครับ

1 ในขบวนการดับทุกข์ในพระพุทธศาสนานั้น จะมีอยู่กันที่แบ่งได้อย่างง่าย ๆ ได้ 3 ระดับด้วยครับ คือ

AA) การรักษาศีล อันเป็นระดับแรกสุด เช่นศีล 5 ถ้าใครรักษาศีล 5 เป็นนิสัย ก็จะพบกับความสุขในระดับโลก ๆ ได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่สามารถที่จะจัดการกับความทุกข์ทางใจได้เมื่อต้องมาพบกับความทุกข์ทางใจ ที่เกิดขึ้นเสมอที่คนยังมีชีวิตอยู่ ซึ่ง การจัดการกับความทุกข์ทางใจนั้น จะเป็นการดับทุกข์ที่ต้องมีหลักการ มีเทคนิค ซึ่งการดับทุกข์ทางใจนั้น ก็คือ สมถกรรมฐาน (การทำสมาธิเพื่อให้จิตสงบ ) และ วิปัสสนากรรมฐาน

BB) สมถกรรมฐาน (การทำสมาธิเพื่อให้จิตสงบ ) เป็นระดับขั้นกลางแห่งการดับทุกข์ ที่การปฏิบัติต้องมีความรู้ทางเทคนิคในการปฏิบัติ อันความทุกข์ทางใจนั้น จะเกิดจากความวุ่นวายภายในจิตใจของคนนั้นเอง เมื่อมาปฏิบัติสมถกรรมฐาน ก็จะทำให้จิตใจที่วุ่นวายอยู่นั้นสงบขึ้นมา
แต่การปฏิบัติสมถกรรมฐานถึงแม้ทำให้จิตสงบได้ แต่ก็ต้องมีการทำอยู่เพื่อให้จิตสงบ ถ้าไม่ทำ จิตที่วุ่นวายอยู่ก็จะไม่สงบ และในบางครั้ง เรื่องราวที่เกิดขึ้นในความเป็นคน ก็วุ่นวายมาก จนไม่สามารถจะดับลงได้ง่าย ๆ ด้วยสมถกรรมฐาน ดังตัวอย่างเช่น เรื่องความรักของวัยรุ่น เรื่องสามีไปมีภรรยาน้อย เรื่องการถูกโกงทางธุรกิจ เรื่องลูกที่ต้องคดีอาญาทางบ้านเมือง เรื่องร่างกายตัวเองเกิดเจ็บป่วยมาก เป็นต้น สิ่งที่ท่านเจ้าของคำถามปฏิบัติอยู่ ก็คือ การทำจิตให้สงบนั้นเอง

CC) วิปัสสนากรรมฐาน (การเจริญปัญญาให้เกิดขึ้น) เป็นการดับทุกข์ในขั้นสุดท้าย การเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้น เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้ทรงค้นพบ และได้ทรงประกาศออกมาในวิชาของพุทธศาสนา การเจริญปัญญานี้ เมื่อผู้ปฏิบัติได้ลงมือปฏิบัติและได้ผลบ้างแล้ว จิตใจจะเข้าใจและมีการเปลี่ยนปลงทางจิตใจขึ้นเอง คือ การปล่อยวางเรื่องราวต่าง ๆ ที่ทำให้ทุกข์ทางใจเกิดขึ้นได้ ยิ่งปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานและยิ่งได้ผลมากเท่าใด การปล่อยวางทางจิตใจที่ทำให้เกิดทุกข์ทางใจ ก็ยิ่งมากขึ้น มากขึ้น ไปเรื่อยๆ จนถ้าปล่อยวางได้หมด ทุกข์ทางใจก็เกิดขึ้นไม่ได้เลย
ดังตัวอย่างในข้อ BB) ถ้าผู้ปฏิบัติได้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานและได้ผลแล้ว ทุกข์ที่เกิดขึ้นในตัวอย่าง ก็ไม่สามารถทำให้เจ้าตัวเกิดทุกข์ทางใจได้เลย

ข้อเด่นที่สำคัญของวิปัสสนากรรมฐาน ก็คือ การดับทุกข์ที่เป็นไปเองโดยทุกข์ไม่เกิดขึ้นในจิตใจ และเป็นแบบอัตโนมัติที่เจ้าตัวไม่ต้องทำอะไรอีกเลยในการดับทุกข์ แต่ในขณะที่สมถกรรมฐานนั้น เมื่อเกิดทุกข์ ก็ต้องทำให้ทุกข์ดับลง และบางครั้งจะดับได้ และบางครั้งก็ไม่อาจดับได้ ถ้าทุกข์ที่เกิดนั้นรุนแรงเกินกว่าจะรับมือได้

การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้น มีหลักการคร่าว ๆ ก็คือ ผู้ปฏิบัติต้องลงมือฝึกฝน สัมมาสติ สัมมาสมาธิ จนเกิดความตั้งมั่นแห่งสัมมาสติ เมื่อความตั้งมั่นเกิดขึ้น จะมีสภาวะหนึ่งเกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติ ซึ่งก็คือ เกิดการแยกตัวของ .จิตรู้ ออกจากสิ่งทีถูกรู้ เมื่อจิตรู้แยกตัวออกมาได้แล้ว จิตรู้ นี้จะมีความสามารถรับรู้ขบวนการทำงานของ ขันธ์ 5 (อันเป็นองค์ประกอบแห่งความเป็นคน ) เมื่อ.จิตรู้ นี้รับรู้ขบวนการทำงานของขันธ์ 5 ได้ จิตรู้ ก็จะรู้ความเป็นจริงแห่งขันธ์ 5 ได้ เมื่อมีการบ่มเพาะความรู้นี้ไปมาก ๆ เข้าด้วยจิตรู้ ก็จะมีขบวนการอีกขบวนการหนึ่งเกิดขึ้นในจิตใจ ที่จะทำการเปลี่ยนแปลงสัญชาติญาณดิบต่างๆ ในจิตใจตนเอง จนเกิดการปล่อยวางในทุกข์ทางใจได้ ซึ่งการปล่อยวางและเปลี่ยนแปลงสัญชาติญาณดิบนี้ จะเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ ตามความรู้ที่ จิตรู้ ได้รับรู้จากขบวนการทำงานของขันธ์ 5 นั้นเอง

แนะนำอ่านเพิ่มเติม
วิปัสสนา ทำอย่างไร
//www.bloggang.com/viewdiary.php?id=namasikarn&month=07-2009&date=02&group=1&gblog=51

.....................

2 ในการปฏิบัติความสงบแบบสมถกรรมฐานนั้น จิตมันสร้างภาพขึ้นมาได้เอง ภาพต่าง ๆ ที่เป้นนิมิต หรือ เสียงต่าง ๆ ที่ได้ยิน เป็นต้น

แต่ในวิปัสสนากรรมฐานนั้น จะมีขบวนการอีกแบบ ที่เกิดขึ้นเพราะการรู้ การเห็นด้วย.จิตรู้. ซึ่งเป็นการรับรู้ขบวนการทำงานของขันธ์ 5 ที่เกิดขึ้นจริง ไม่ได้เป็นการสร้างภาพขึ้นของจิต

....................

3 คนที่อ่านมาก ฟังมาก ก็ต้องสับสนเป็นธรรมดาครับ ผมแนะนำว่า ถ้าศรัทธาใคร ก็ฟัง ก็อ่านของคน ๆ นั้นเพียงคนเดียว แล้วปฏิบัติตามนั้นไป
ถ้ามีข้อสงสัย ก็เข้าไปถามคนที่เราไปเรียน ไปอ่าน ไปฟังเขาครับ

ผมเข้าใจดีครับว่า การที่เรายังไม่รู้ เป็นการยากที่จะตัดสิ่นว่า ใครน่าจะเป็นครูอาจารย์ ที่นำทางที่ถูกต้องแห่งการปฏิบัติเพื่อการพ้นทุกข์ได้ เรื่องนี้ ก็คงต้องใช้ปัญญา และคงต้องประกอบด้วยวาสนาของตนเองด้วยครับ

.....................

4. จริงครับ ไม่ทำเอง ไม่มีทางรู้ได้เลย เปรียบเหมือน ถ้าเรายังว่ายน้ำไม่เป็น เราไปดูเขาว่ายน้ำ ช่างง่ายดาย แต่เราไม่เคยลงสระเลย เราดูเขาอย่างไร เราก็ไม่มีทางว่านน้ำเป็นได้เลย

การปฏิบัติธรรมเพื่อการพ้นทุกข์นั้น ในประวัติ ก็มีเหมือนกันที่ท่านเหล่านั้นศึกษาจากพระไตรปิฏกและลงมือปฏิบัติตามในพระไตรปิฏกจนเกิดการรู้แจ้งในธรรมได้จริง และ ก็มีมากเหมือนกัน ที่ต้องอาศัยผู้รู้ ครูอาจารย์ในการนำทาง ชีแนะทางให้ ส่วนตัวเราจะเป็นแบบไหน ก็คงต้องพิจารณาจากปัญญาตนเองว่า แบบไหนจึงจะได้ดี

การมีครูอาจารย์นี้ก็พูดยาก เพราะถ้าไปพบครูอาจารย์ที่ไม่รู้จริงเป็นผู้นำทาง เขาก็จะนำเราหลงทางไปเลย

ถ้าไปพบครูอาจารย์ที่รู้จริง และมีใจ ที่จะสอนจะแนะนำ แต่สอนไม่เป็น นี่ก็ลำบากพอ ๆ กับการงมด้วยตัวเองทีเดียว

ถ้าไปพบครูอาจารย์ที่รู้จริง และมีใจ ที่จะสอนจะแนะนำ และสอนเป็นด้วยภาษาที่เราเข้าใจได้ ก็นับว่าเป็นวาสนาของเราที่ได้พบครูที่ดีและมีความรู้จริง ถ้าเราขยันปฏิบัติตามที่ท่านแนะนำ ก็จะพ้นทุกข์ได้ ซึ่งจะเร็วกว่าการไปศีกษาหาความรู้เอง

ยิ่งสมัยนี้ มีอินเตอร์เนท มีเวปบอร์ดธรรมมากมาย ยิ่งเป็นดาบ 2 คมที่ไปพบคำสอนจากผู้ไม่รู้จริงนำมาแสดงไว้ แล้วเราเกิดไปอ่านเข้าและหลงเชือ เราก็จะเข้าใจผิดไปทันทีครับ






 

Create Date : 11 กันยายน 2552
28 comments
Last Update : 29 มกราคม 2555 20:04:02 น.
Counter : 1409 Pageviews.

 

 

โดย: นายแจม 11 กันยายน 2552 17:52:00 น.  

 

วันนี้รบกวนพี่สองข้อคับ แต่เนื่องด้วยจากการอ่านบทความนี้ ก็เลยขอถามต่อจากนี้เลยนะคับ ^^

เมื่อคืนผมไม่แน่ใจว่ามันเป็นจิตรู้หรือป่าว คือ รู้สึกร่างกายกับพวกความคิดมันอยุ่รวมกันเช่นเดิม (ก่อนหน้านี่เห็นมันขนานกัน) แต่เหมือนผมออกมาจากนั่นอ่ะคับ ไม่รุ้จะอธิบายไงดี เหมือนผมเห็นคนอีกคนนึง กำลังขยับตัว กำลังคิดอยู่ ไม่ได้รู้สึกแวปเดียว แต่ก็ไม่นานคับ ไม่กี่วินาที

หลังจากเมื่อคืน มันก็เป็นอีก แต่ไม่ชัดเจนและเป็นแค่แวปๆ จนตอนนี้บางทีก็รู้สึกว่า เหมือนเป็นคนสองคนเลย คือบางทีก็เป็นคนเดียว(แบบตอนก่อนภาวนา แต่เริ่มจะเป็นน้อยลงแล้ว) บางทีก็เป็นคนไปรู้อีกคนนึงอยู่คล้ายว่ามีสองคน แบบมันเริ่มสับสนดีใช้ได้เหมือนกับคับพี่ -*- (แล้วก็สังเกตได้อย่างนึงว่า ใจมันดิ้นน้อยลง)

ข้อนี้เนื่องจากบทความพี่น่ะคับ
ที่พี่บอกว่า จิตรู้จะเห็นการทำงานของขันธ์ห้าและเห็นความจริงของมัน ก็จะปล่อยวางได้ นี่คือมันจะเห็นครบทั้งขันธ์ห้าเลยไหมพี่ ผมรู้สึกว่า เคยเห็นเกือบครบหมดแล้วเว้นแต่ วิญญาณขันธ์หรือจิตน่ะคับ ผมเข้าใจว่า จิตนี้คือตัวรู้ คือตัวที่ไปรู้ขันธ์ต่างๆ ใช่ไหมคับ ตอนนี้เหมือนมันยังไม่เคยเห็นตัวเอง (แต่ก็ยังรู้สึกว่า จิตคือผม ผมคือคนไปรู้สิ่งต่างๆ)

รบกวนหน่อยนะครับ
ขอบคุณมากๆ ครับ

 

โดย: บั๊กคุง 11 กันยายน 2552 19:16:03 น.  

 

เมื่อตะกี้เก้าเขียนให้ความเห็นยาวเป็นวาเลยค่ะ สงสัยจะกดส่งพร้อมคุณบั๊ก เลยหายเกลี้ยง 555

สัญญาอนิจจา ..จำไม่ได้แล้วว่าเขียนบ่นอะไรไปบ้าง

คือจะอนุโมทนาว่า ดีมากๆ เลยค่ะที่นำคำถาม basic แบบนี้มาลงในบล๊อคด้วย

เพราะว่า เห็นว่ายังมีอีกหลายๆคนที่ไม่เข้าใจเลยว่า การปฏิบัติธรรมจริงๆ คืออะไร ต้องปฏิบัติอย่างไรกันแน่

 

โดย: kaoim IP: 119.31.16.79 11 กันยายน 2552 19:22:54 น.  

 

ขอบคุณสำหรับคำตอบคะ เหมือนจะเข้าใจ คำตอบของการทำวิปัสนากรรมฐาน แต่ก็ไม่รู้ว่าตัวเองเข้าใจอะไรบ้าง รู้แต่ว่าทุกวันนี้เวลาเกิดความทุกข์กังวล แป๊บนึงจะมีสติเตือนให้รู้เหตุผลหรือที่มีของอารมณ์ และความรู้สึกทุกข์หรือกังวลนั้นก็จะผ่อนคลายลง หรือบางครั้งก็หายไป คือรู้ทันความรู้สึก (ถ้าเข้าใจไม่ผิด) ปัจจุบันใจมันว่างๆ จนไม่รู้ว่าคืออะไร เพราะบางครั้งความคิดมันเตลิด แต่อารมณ์ความรู้สึกมันเฉย ถ้าเป็นเมื่อก่อนจะทุกข์ตาม เช่นจะได้เงินตามสัญญา แต่เมื่อถึงเวลาไม่ได้จะรู้สึกทุกข์มาก คิดไปเป็นตุเป็นตะ แต่ปัจจุบันมันเฉย ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เพราะตามดูอารมณ์รู้ว่าเป็นแค่ความอยากได้ ไม่ได้ไม่เดือดร้อน อย่างนี้เป็นต้น
ขอรบกวนท่านช่วยแนะนำขั้นตอนแรกที่ควรเริ่มปฏิบัติหรือหามาอ่านหรือฟัง ได้มั้ยคะ เอาแบบเริ่มใหม่เลยคะนับหนึ่งเลย

 

โดย: BeautyAstro 11 กันยายน 2552 19:37:34 น.  

 

หวัดดีคับคุณเก้า
เรานี่ โพสไล่ๆ กันมาสองหนแล้วแฮะ
ปกติผมใช้วิธีนี้คือ ถ้าจะพิมพ์อะไรยาวๆ หน่อย ผมจะพิมพ์ใน notepad ก่อน แล้วค่อยกอปมาโพสน่ะคับ เพราะหลายครั้งผมก็เจอแบบคุณเก้าแหล่ะ ปรากฎว่าจะโพสใหม่ก็ไม่เหมือนเดิมแล้ว ^^''

 

โดย: บั๊กคุง 11 กันยายน 2552 20:30:08 น.  

 

การทำสมาธิ ทำเพื่อให้ได้ปัญญาธรรมค่ะ ได้ปัญญาธรรมแล้วจะเข้าใจหลักธรรมที่ลึกซึ้ง เมื่อเข้าใจธรรมลึกซึ้งก็รู้ทางที่จะไปนิพพานค่ะ

มีเพียงถือศีล ทำสมาธิ และรอปัญญาธรรมเกิด วิธีนี้เท่านั้นค่ะถึงจะทำให้รู้วิธีไปนิพพาน

 

โดย: Chulapinan 11 กันยายน 2552 20:51:23 น.  

 

ตอบ คุณ บั๊กคุง
อาการที่คุณเล่ามานั้น เป็นผลจากสมาธิที่เริ่มมีกำลังครับ
จิต จะมีกำลังและจะเริ่มแยกออก แล้วมารับรู้กาย จะมีอาการแบบนั้นได้ ผมเคยเป็นเหมือนกัน แรก ๆ ก็ตกใจ แต่พอเป็นอีก ก็เฉย ๆ ไป
เมื่อ จิตรู้ แยกตัวออกและตั้งมั่น ใหม่ ๆ เราจะเห็นได้เพราะมันจะแสดงให้เห็นเป็น 2 ส่วนได้ชัดเจน เหมือนน้ำและน้ำมัน ที่มันแยกกันอยู่ เมื่อมันเห็นอย่างใดอย่างหนึ่งของขันธ์ 5 มันจะเด่นอยู่ จนกว่า ขันธ์ 5 ที่เห็นจะสลายไปเอง หรือ จนกว่า จิตรู้ นั้นมันจะหยุดการเห็นไปเอง

แนะนำอ่านเพิ่มเติม เรื่อง จิตรู้ 2 แบบ ที่
https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=namasikarn&month=06-2009&date=05&group=1&gblog=26


จิตรู้ ที่เห็นขันธ์ 5 นั้น มันจะเห็นทีละอย่างในขันธื 5 และ ไม่ใช่เห็นตลอดเวลา คือ บางทีก็เห็น และ ไม่เห็น
แต่ถ้าจิตรู้มีความตั้งมั่นแล้ว เมื่อเกิดขันธ์ 5 ที่แรง ๆ เช่น อารมณ์โกรธ ความเจ็บปวดทางกาย ความคิด มันจะเห็นได้ง่าย เห็นได้บ่อย ส่วนวิญญาณขันธ์ จะเห็นได้ยาก แต่ก็เห็นได้เหมือนกันในบางครั้งและนาน ๆ จะเห็นสักทีหนึ่ง

ในความเห็นของผม เราจะบังคับจิตรู้ให้เห็นทุกอย่างไม่ได้เลย มันจะเห็นของมันเองตามกำลังแห่งเหตุและปัจจัย

เมื่อคุณปฏิบัติต่อไป คุณจะทราบว่า ความทุกข์นั้น มาจากความคิดและไปยึดติดในความคิดที่เกิดขึ้น เมื่อจิตรู้ เห็นความคิดได้ มันจะทำลายความคิดปรุงแต่งนั้นได้ เมื่อความคิดปรุงแต่งที่ทำให้ทุกข์ถูกหยุดลง ทุกข์ก็จะหยุดไปด้วย
ดังนั้น จิตรู้ ที่เห็นความคิด อันเป็นจิตตสังขาร จึงมีความสำคัญต่อการหยุดลงของทุกข์ และทำให้เข้าใจได้ว่า ทุกข์นั้นมาจากการยึดติด และ เข้าใจได้ว่า ทุกข์ นั้นเป็นไตรลักษณ์ อันจะเป็นปัญญาสะสมเพื่อการรู้แจ้งต่อไป

เรื่อง จิตคือ ผม ใหม่ๆ มันก็เป็นแบบนี้เองครับ ไม่ต้องไปอยากทำให้มันเป็น จิตไม่ใช่ผม แล้วต่อไปเรื่อย ๆ ที่จิตรู้ เขาเกิดแล้ว และตั้งมั่น มันจะเริ่มมีการปล่อบวางมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว เราจะเห็นอีกแบบว่า จิตรู้ มันกระจายแตกตัวออกไป ทีนี่จะเป็นว่า จิตรู้ มันไม่ใช่ผม มันเป็นความว่าง
แต่ให้มันพัฒนาเองนะครับ อย่าไปบังคับมันให้ว่าง ให้สังเกต ไปเรื่อย ๆ จะเข้าใจได้

อีกอย่างหนึ่ง อาการเกร็งทางจิตใจ จะทำให้เป็น จิตรู้ คือ ผม ได้เหมือนกัน ดังนั้น การปฏิบัติต้องผ่อนคลาย มันจะเป็นอะไรก็ช่างมัน ปล่อยมัน แล้วเฝ้าสังเกต ที่ไม่ใช่จ้องนะครับ อ่านเรื่อง นี้ประกอบด้วยครับ https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=namasikarn&month=09-2009&date=01&group=1&gblog=82


ขอให้สังเกตอย่างหนึ่ง เมื่อจิตรู้ เห็นความคิดได้แล้ว เมื่อความคิดหยุดลง ขอให้สังเกตอย่างหนึ่งว่า เมื่อความคิดหยุดลงไป สิ่งที่จิตรู้ จะเห็นทันทีตามมีทีความคิดหยุดลง ก็คือ ความว่าง แต่นี่ไม่ใช่นิพพานนะครับ แต่เป็นความว่างที่จิตใจ ไม่มีอะไรอยู่ เมื่อ จิตใจเห็นมันว่างเมื่อไร ทีนี้ลองสังเกตจิตรู้ดูครับ มันจะกระจายแตกออกเป็นความว่างเหมือนกัน ลองสังเกตดูซิครับ

 

โดย: นมสิการ 12 กันยายน 2552 1:11:30 น.  

 

ตอบคุณ BeautyAstro

การรู้ทันความรู้สึกนั้น ขอให้สังเกตดูว่า เราเห็นความรู้สึกนั้นหรือไม่ด้วยครับ ถ้าเราเห็นมันและมันหยุดลง นี่แสดงว่า เราเห็นมันเป็นไตรลักษณ์ อีนนี้เป็นปัญญา

แต่ถ้าเราไม่เห็นมัน แต่เหมือนเรารู้ทันมัน แล้วมันเฉย อันนี้จะมี 2 แบบครับ

แบบที่หนึ่งที่เกิดในปุถุชน เกิดเพราะไปกดมันไว้ และยอมรับมันในจิตใจแล้ว ว่ามันต้องเป็นอย่างนี้เอง เช่น คนไทยจะถือเรื่องศรีษะ ห้ามคนอื่นจับเล่น แต่ถ้าใครมาจับ เราจะโกรธมาก แต่ถ้าเราไปทำผม ช่างจับเล่นได้ แต่เราไม่โกรธช่างทำผมเลย
แบบนี้ กิเลส มันเล่นกลอยู่ครับ คือ มันทำให้เราคิดว่า เราไม่ทุกข์แล้ว แต่ถ้าเมื่อไร ที่เราเกิดเผลอ ๆ ขึ้นมาแล้วมีการเกิดความรู้สึกอีก ทีนี้กิเลส มันจะแสดงตัวออกมาได้ให้เราเป็นนางมารร้ายได้ทันทีเช่นกัน

แบบที่สอง เกิดในพระอริยบุคคล ที่ทำลายกิเลสลงไปได้
แล้ว ในพระอริยบุคคลนั้น กิเลสถูกทำลายลง ด้วยวิปัสสนาปัญญาญาณ ความรู้สึกทีทำให้ทุกข์จะเกิดไม่ได้เลย

คุณลองสังเกตตัวเองว่า คุณเป็นแบบได 1 หรือ 2

จากประสบการณ์ที่ผมปฏิบัติมา การตามรู้อารมณ์โดยจิตรู้ไม่เกิดก่อนนั้น มันไม่ใช่ทางแห่งวิปัสสนาครับ เพราะจิตรู้ จะไม่เห็นอารมณ์และไม่เห็นว่า อารมณ์เป็นไตรลักษณ์
ดังนั้น การปฏิบัติจึงต้องเริมจากการพัฒนาจิตรู้ก่อน
เมื่อจิตรู้เกิดและตั้งมั่นนั่นแหละครับ จิตรู้ จึงจะใช้ทำงานได้ในการเห็นไตรลักษณ์

สำหรับการเริมต้นนั้น ผมแนะนำให้ฝึก กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ถ้าคุณฝึกเป็น เช่น รู้ลมหายใจ เดินจงกรม บริกรรมพุทโธ ก็ฝึกต่อไปครับ แต่ถ้าคุณอยากลองวิธีอื่นบ้าง ผมมีเขียนเรื่องการฝึกไว้ที่
1) ตัวอย่างการฝึกเพื่อการรู้กาย
https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=namasikarn&month=05-2009&date=30&group=1&gblog=20
2) การเจริญวิปัสสนาในอิริยาบทนั่งนิ่ง
https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=namasikarn&month=08-2009&date=23&group=1&gblog=78

อ่านเพิ่มเติมเรื่อง ทำไมผมสอนแต่กายานุปัสสนา ไม่สอนเวทนา ไม่สอนจิต ไม่สอนธรรม แล้วจะครบได้อย่างไร
https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=namasikarn&month=07-2009&date=03&group=1&gblog=53


 

โดย: นมสิการ 12 กันยายน 2552 1:30:02 น.  

 

คุณยั๊กคุง อ่านเรื่อง นี้ประกอบด้วยครับ
เมื่อจิตรู้ เกิดแล้ว ผู้ปฏิบัติจะรู้ได้อย่างไร
https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=namasikarn&month=06-2009&date=02&group=1&gblog=22

 

โดย: นมสิการ 12 กันยายน 2552 1:32:04 น.  

 

สมาธิ 2 แบบ กล่าวคือ

แบบที่ 1
การทำสมาธิ ถ้าถูกวิธี คือ จิตรู้ เกิดและตั้งมั่น
จิตรู้ จะเห็นไตรลักษณ์ของขันธ์ 5 อันเป็นปัญญาสะสมเพื่อการรู้แจ้งต่อไป

แบบที่ 2
การทำสมาธิ เพื่อจิตสงบระงับอย่างเดียว แต่ไม่เป็นการพัฒนาจิตรู้ให้เกิดและตั้งมั่น จะไม่เกิดปัญญาเพื่อการรู้แจ้ง

 

โดย: นมสิการ 12 กันยายน 2552 1:34:54 น.  

 

ผมขออนุญาตกลับมาอ่าน link ที่พี่แนะนำตอนค่ำๆ นะคับ เดี๋ยวขอตอบก่อน

ความว่างตอนที่ไม่มีความคิดนั้น ผมเคยสังเกตดูคับพี่ ตรงจุดนี้ เลยทำให้ผมเข้าใจได้ว่า ร่างกายกับความคิดมันต่างทำงานของมันได้ แยกจากกันได้ ที่ผมรู้สึกเหมือนร่างกายกับความคิดเป็นเหมือนเส้นที่ขนานกันในก่อนหน้านี้น่ะคับ เพราะไปเห็นตอนที่ว่างจากความคิด

แล้วตอนที่ไปเห็นความว่างๆ (จากความคิด)นี้ มันวนกลับมาสังเกตตัวรู้เหมือนกันคับพี่ แต่มันยังไม่ใช่เป็นแบบแตกกระจายออกเป็นความว่างอย่างที่พี่บอกนะ ตรงนี้ผมไม่แน่ใจความรู้สึกตัวเองเหมือนกัน มันสับสนนิดๆ แต่ส่วนใหญ่มันจะวนกลับมาเห็นว่า ผมเป็นผู้รู้ (มันเป็นความรู้สึกว่าเป็นตัวผม ล้วนๆ เลยคับ ไม่มีความคิดเจือปน) แต่เหมือนบางครั้ง ก็เห็นว่า ตัวรู้นี้เป็นอีกสิ่งนึงที่ถูกรู้เหมือนกัน ตรงนี้ยังไม่แน่ใจคับ เลยบอกว่า สับสนนิดๆ

หลังจากที่มันเห็นชัดๆ ที่จิตรู้มันแยกออกมาจากขันธ์ในคืนนั้น มันก็เกิดความอยากที่จะให้มันแยกชัดๆ แบบนี้อีกคับ แต่ผมก็สังเกตความอยากนี้ได้เรื่อยๆ คือจะรู้เลยว่า อยุ่ดีๆ มันจะเกิดการพยายามแยก หรือออก จากร่างกายหรือความคิดเพื่อจะไปดูอย่างเดียว

เอ้อพี่คับ รบกวนพี่อีกข้อนึงนะ
ที่พี่บอกว่า ทุกข์เกิดจากการที่เราไปยึดความคิด ตรงนี้เป็นไปได้ไหมคับว่ามันมีทุกข์จากเหตุอย่างอื่นอีก คือบางทีผมก็สังเกตได้ว่า ตอนนั้นไม่มีความคิดอะไรผุดเลย หรือมี แต่ก็รู้ได้ทัน แต่อยู่ดีๆ เหมือนมีความทุกข์โชยมาจากไหนไม่รู้

ขอบคุณมากๆ ครับ

 

โดย: บั๊กคุง 12 กันยายน 2552 4:55:14 น.  

 

ตอบ คุณบั๊กคุง

การปฏิบัตินั้น เพียงเห็นเฉย ๆ แบบเด็กแยยเบาะ ที่เขาเห็นแต่เขาไม่รู้เรื่องอะไรเลย ให้เห็นแบบนั้น คือ เพียงสังเกตเห็น มันจะเป็นอะไรก็ช่างไม่ต้องไปสนใจที่จะรู้ ให้มันเห็นไปเรื่อย ๆ แบบนั้น รู้แบบเด็กแบเยาะไปเรื่อย ๆ แบบนั้น
แล้วจิตใจ เขาจะมีการพัฒนาขึ้นมาเองอีกทีหนึ่ง ซึ่งการพัฒนาเองของจิตใจนี้จะเป็นการรู้แบบฉับพลันที่ผุดขึ้นมาเองแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุยนำ มันเกิดเองเสียววินาที แล้วจะหายไปทันที แต่ก็เป็นความรู้ทีซ่อนอยู่ภายในนั้นเอง

เรื่อง การรู้ ว่าเป็นตัวเราเต็ม ๆ นี่เป็นจุดเริ่มต้นครับ ที่ผู้ปฏิบัติเห็นว่า ตัวเราเป็นศูนย์กลางของการรู้ แต่สิ่งที่ถูกรู้ นั้นมันไม่ใช่เรา (ให้อ่านเรื่อง ภาพเปรียบเทียบสภาวะจิต 3 แบบที่ https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=namasikarn&month=06-2009&date=07&group=1&gblog=31 )

ถ้าเราไปเพ่งตัวรู้ นี่ก็ผิดนะครับ การปฏิบัตินั้นเพียงแค่รู้แบบเด็ดบแบบเบาะ ก็ใช้ได้ ไม่ต้องไปเพ่ง มันจะรู้ ก็ช่างมัน มันจะไม่รู้ ก็ช่างมัน ขอเพียงแต่ว่าให้ฝึกหัดสัมมาสติ สัมมาสมาธิ อยู่เสมอ ๆ แล้ว จิตใจ เขาจะพัฒนาตัวเองต่อไปได้เรื่อย ๆ

ทุกข์ใจ เกิดเพราะการยึดติดในทุกข์ครับ ไม่มีเหตุอื่นเลย
แต่สำหรับผู้ปฏิบัติใหม่ ๆ ผมเก็เคยเป็นในอดีต รู้สึกทุกข์แต่ไม่รู้ว่ามันทุกข์เรืองอะไร ดูจิตใจก็ไม่มีเรื่องอยู่ แต่ถ้าสังเกตตัวเองดู จะเห็นว่า ตอนทุกข์นั้น จิตใจไม่สดใส ไม่โปร่งครับ อาจมีอะไรอยู่ แต่เราไม่มันมันก็ได้ครับ

 

โดย: นมสิการ 12 กันยายน 2552 7:44:33 น.  

 

เก้าเนี่ย รู้สึกว่าจิตนี่ปกติมันชอบคิด พอเริ่มจะตื่น เห็นความคิดมันแล่นๆ เลยค่ะ จับเรื่องโน้นเรื่องนี้ ทั้งๆ ที่เราไม่ได้ตั้งใจจะคิดเลย จิตไปคิดๆ อะไรเต็มหัวไปหมด ในขณะที่กำลังงัวเงียๆ จะตื่นนอนเนี่ยอ่ะค่ะ ช่วงเวลาเนี้ย รู้สึกว่า จะไม่ค่อยสามารถที่จะตามรู้ทันจิตที่ส่งไปคิดได้เลย มันเผลอหลงไปคิดตาม เพลินเลยน่ะค่ะ

ควรจะต้องทำอย่างไรคะ


 

โดย: kaoim IP: 110.49.84.111 12 กันยายน 2552 7:54:29 น.  

 

การปฏิบัตินั้น เราไม่ห้ามความคิดไม่ให้เกิด แต่เราต้องสนับสนุนให้มันคิดครับ แต่เมื่อมันคิดแล้ว จิตรู้ เห็นความคิด ความคิดนั้นจะดับลงไป นี่จะเป็นปัญญาสะสมเห็นไตรลักษณ์ของความคิดนั้น แต่ถ้า จิตรู้ ยังไม่เกิด หรือ ว่า จิตรู้ มีกำลังน้อย ความคิดไม่ดับลงไป ให้ตัดความคิดนั้นเสีย ให้ตัวเราเองนั้นแหละหยุดคิดนั้นทันที แต่อย่าอารมณ์เสียกับความคิด นะครับ

สรุปก็คือ

1/ แหย่ให้มันคิด สนับสนุนให้คิด ถ้ามันคิดแล้วหยุดเองด้วยจิตรู้ ไปเห็นเข้า อันนี้เป็นปัญญา

2/ แหย่ให้มันคิด ถ้าจิตคิดมันไม่หยุดลงเองเพราะอะไรสักอย่างหนึ่ง ให้ตัดการคิดนั้นเองด้วยตัวเอง การตัดก็คือ การจงใจทำให้หยุดคิดครับ เมื่อจงใจให้หยุดคิดแล้ว ทีนีก็ต้องเริ่มใหม่อีก โดยยุแหย่ให้มันคิดอีก พอคิดแล้ว ให้หยุดมัน แล้วก็แย่ให้มันคิด แล้วหยุดความคิดมัน วนไปวนมาอย่างนี้เรื่อย ๆ การทำอย่างนี้ ทำให้เราชำนาญการเห็นของการเกิดของจิตคิดในอนาคต

คงไม่งงกับคำอธิบายนะครับ ว่าต้องทำอะไร เพราะอะไร เพราะคำสอนเรื่องการจัดการกับจิตคิดนี้ มี 2 แนวทางด้วยกันในสังคมนักปฏิบัติ สุดแล้วแต่ว่า ใครเชื่อแบบไหน แต่ผมเห็นว่า อย่างที่ผมเขียนไว้นี้น่าจะเหมาะสมทีสุด เพราะเป็นไปเพื่อปัญญาและสะสมประสบการณ์การเห็นจิตคิดเกิด



 

โดย: นมสิการ 12 กันยายน 2552 8:15:02 น.  

 

เข้าใจค่ะ

ในช่วงเวลาปกติ หมายถึงว่า หลังตื่นนอนไปแล้ว กระบวนความคิดเกิดขึ้นตามธรรมชาติอันนี้จะค่อนข้างทันค่ะ ไม่ค่อยเผลอคิดตาม บางครั้งก็มีแหย่ให้คิดเหมือนกัน

แต่เวลาช่วงกำลังจะตื่นนอนเนี่ยแหละค่ะ ที่ว่ามันคิดวับๆๆๆเลย กว่าจะรู้ตัวว่าเผลอไปคิด นานเลยค่ะ แสดงว่ากำลังสติ กำลังสมาธิคงจะอ่อนอยู่แน่เลย

 

โดย: kaoim IP: 119.31.51.144 12 กันยายน 2552 9:43:54 น.  

 

ขอให้ฝึกไปเรื่อย ๆ ครับ

 

โดย: นมสิการ 12 กันยายน 2552 16:49:21 น.  

 

วันนี้จะว่าแย่ก็ได้ ผมได้เจอผญ คนนึงที่ทำให้ผมเจ็บปวดเสมอแม้แต่แค่เผลอไปนึกถึง..
ความทุกข์ ความเจ็บปวด มันยังอยู่แทบจะเหมือนเดิมเลยคับพี่ แต่ว่ามันสั้นลง นับว่าสองเดือนที่ผ่านมายังมีอะไรพัฒนาได้บ้าง อาจจะยังระทมขื่นขมเหมือนเดิม แต่สั้นลงสักนาทีนึง ก็ยังดีมากแล้ว
เล่าไปก็น่าอายคับ เป็นผู้ชาย แต่กลับจมปลักกับเรื่องแบบนี้ แต่ก็อดทนคับพี่ วันนึงคงได้พ้นทุกข์แบบคนอื่นเขาได้บ้าง

ผมไล่อ่านที่พี่แนะนำครบแล้วล่ะคับ
จากที่พี่ตอบมา..
ผมไม่แน่ใจว่าผมเข้าใจถูกไหม (แต่เข้าใจจากการฟังๆ อ่านๆ ผสมคิดอีกหน่อย) ว่า แท้จริงแล้วไม่มีอะไรเป็นเราเลยแม้กระทั่งจิตรู้นี้ แต่ ณตอนนี้ เพราะความเห็นผิด จึงเห็นว่ามีเราอยู่ จึง อยาก ที่จะทำอะไรต่างๆ นาๆ เพื่อตัวผมเอง
แต่ทีนี้การรู้เฉยๆ ซื่อๆ เหมือนเด็ก อย่างที่พี่บอกนั้น มันก็จึงเป็นเหมือนการ ทำให้เกิดเหตุที่ทำให้จิตนี้มันไปรู้กายใจนี้ ตามความเป็นจริง จนวันนึง จิตมันก็จะกระจ่างแจ้งของมันเอง ตามเหตุสมควรของมัน

ขอบคุณพี่อีกครั้งครับ

 

โดย: บั๊กคุง 13 กันยายน 2552 0:00:16 น.  

 

1 เรื่องของหัวใจชายหญิง
มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่เกิดมาพร้อมกับสัญชาติญาณตัวนี้ ถ้าเราไม่ต้องการมัน มันก็จะมาเสมอ ถ้าเราต้องการมัน มันก็จะไม่มา ต้องอดทนต่อสู้กับสัญชาติญาณนี้ต่อไป ถ้าคุณต้องการออกจากเธอคนนี้โดยเร็ว ลองหาโอกาสดูตอนที่เธออารมณ์เสีย เกรี้ยวกราดดูครับ แล้วคุณอาจเปลี่ยนใจได้เร็วขึ้น

2 เรื่องการปฏิบัติธรรม
ที่เล่ามานั้นก็เป็นทฤษฏีที่กล่าวไว้ในตำรา เป็นการอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ความเป็นจริง ไม่ต้องรู้อย่างนั้นเลยก็ได้ เพราะการปฏิวัติของจิตใจนั้น ถ้าเดินตามสัมมาสติ สัมมาสมาธิ มันจะต้องผ่านอย่างนั้นอยู่แล้ว ซึ่งผู้ปฏิบัติถ้าไม่เคยอ่านตำราทางธรรมมาเลย ก็อาจไม่เข้าใจ แต่มันเป็นของมันเองอยู่อย่างนั้นแน่นอน ซึ่งเรื่องนี้ ผมอาจมีความเห็นไม่เหมือนนักปฏิบัติบางคนที่ต้องการรู้อย่างโน้นอย่างนี้ ส่วนผมไม่ต้องการรู้อะไรเลย ขอเพียงเป็นและไม่ทุกข์ ก็พอใจแล้ว
ถ้าคุณเป็นเศรษฐีมีเงินหลายร้อยล้านบาท ในชิวิตจริง คุณไม่ต้องรู้ตัวเลยว่า คุณเป็นเศรษฐษีมีเงินมหาศาลเลย แต่คุณก็ใช้ชิวิตแบบเศรษฐีได้ จริงไหมครับ
คนที่เขาเป็นพระอริยบุคคล ก็เช่นกัน เขาเป็นพระอริยบุคคลแล้ว โดยที่เขาไม่ต้องไปรู้ว่า เขาเป็นพระอริยบุคคลเลย

ถ้าคุณเรียนจบปริญญาตรีมาทำงานแล้ว คุณต้องบอกตัวเองไหมว่า คุณจบปริญญาตรี

เส้นทางสายการพ้นทุกข์ ยิ่งรู้มาก ยิ่งเป็นอุปสรรค์ แต่ไม่รู้เลยก็ไม่ได้ รู้แค่พอดี ไม่มากไป ไม่น้อยไป จะไปได้เร็วมาก ๆ ยิ่งฟังมาก ยิ่งอ่านมาก จะทำให้ยิ่งคิดมาก เดียวก็คิด เอ นี่เป็นปฐมเนกระมัง เอ นี่เป็นญาณกระมัง เอ นี่เป็นสักกายทิฐิกระมัง สิ่งเหล่านี้แหละ ปัญญาของผุ้รู้มาก จะยิ่งถ่วง จะยิ่งไปช้ากว่าครับ

 

โดย: นมสิการ 13 กันยายน 2552 6:32:56 น.  

 

ผมเจอทั้งตอนที่เป็นนางฟ้าและแม่มดมาหมดแล้วคับ ครั้งนึงเคยคิดว่า ตอนที่เป็นแม่มดนั้น ผมรับไม่ได้จริงๆ แต่พอเจอตอนเธอเป็นนางฟ้านั้น มันก็ห้ามใจยากจริงๆ ครับพี่ เหมือนใจมันฝังลึกลงไปแล้ว ทุกวันนี้ผมทำได้เพียงทำยังไงก็ได้ทีจะหลบเลี่ยง พยายามไม่พูดคุยหรือเจอหน้ากัน จะได้ไม่ต้องเก็บเอามาคิดต่อ แต่พอดีว่ามันมีเหตุที่ทำให้ต้องเจอกัน คุยกันอยู่เรื่อยๆ แต่ผมก็จะพยายามไม่เจอ โดยไม่มีธุระจริงๆ น่ะครับ

บางทีก็อยากไปบวชเลยสักพักนึงภาวนารวดเดียวไปเลย
แต่คิดๆ ดูเพศบรรพชิตก็คงมีปัญหาอย่างเพศบรรพชิตเช่นกัน อีกอย่างผมยังต้องรับผิดชอบอะไรอีกหลายอย่าง คงปลีกออกไปแบบนั้นยาวๆ ไม่ได้
ก็ยังดีที่ว่า เริ่มภาวนาในชีวิตประจำวันได้จนเป็นนิสัยแล้วน่ะคับ ก็คงต้องอดทน คนอื่นยังทำได้ ผมก็ต้องทำได้สิ ใช่ไหมคับพี่ แห่ะๆ ^^

 

โดย: บั๊กคุง 13 กันยายน 2552 10:13:02 น.  

 

เวลาเราปฏิบัติไปเรื่อย ๆ
จิตใจมันจะค่อย ๆ ตัดเรื่องพวกนี้ออกไปเองทีละนิดเอง
คุณอาจใช้วิธีนี้ก็ได้ แต่ว่า แน่ใจแล้วหรือ ???
ถ้าแน่ใจ ก็อย่าไปแสดงท่าทีว่าชอบอีกฝ่าย เดียวคุณเกิดตัดไจได้ แต่เธอนั้นตัดใจไม่ได้ เธอนั้นจะเสียใจครับ

 

โดย: นมสิการ 13 กันยายน 2552 17:38:01 น.  

 

แต่จะว่าไป ถ้าดูความรู้สึกผมตอนนี้ มันเหมือนจะไม่อาลัยอาวร หรือเสียดายกับความสุขแบบแนวๆ นี้ มากเท่าเมื่อก่อนแล้ว พอเริ่มมีการพัฒนาในการปฎิบัติบ้าง รู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นอะไรที่สำคัญ หรือสิ่งที่ต้องมาก่อนจริงๆ คับ

พี่ว่า การปฎิวัติทางจิตใจนั้น มันจะถึงขนาดเปลี่ยนมุมมองหรือทำให้ผมรู้สึกกับเรื่องแบบนี้ ต่างออกไปจากเดิมขนาดที่ว่า ตัดใจได้ทันทีเลย ทั้งที่มันหยั่งรากลึกไปแล้ว เลยเหรอคับ ?!

 

โดย: บั๊กคุง 13 กันยายน 2552 19:04:27 น.  

 

แอบมาดู เอ้ย..แอบมาอ่านค่ะ :)

เรื่องแบบนี้ เก้าก็เป็นค่ะคุณบั๊ก แม้เราครองอยู่ในเพศสมณะ มันก็มีเข้ามารังควาญเหมือนกัน (เคยบวชชีมาก่อน) ตอนที่เก้าหัดดูจิตแรกๆ และตัวเองยังบวชอยู่ มันดูยังไงก็ไม่สามารถละกิเลสได้หรอกค่ะ แค่ดูมันก็หยุด แต่เดี๋ยวมาใหม่ เอามากๆ มันก็จำเป็นต้องใช้สมถะบ้าง หรือคิดพิจารณาอสุภะบ้าง บางแง่บางมุม เก้าคิดว่า เราก็จำเป็นต้องใช้สมถะเข้ามาช่วยด้วย ถ้ากิเลสมันมาแรงมากๆ แล้วเรายังไม่มีสติ สมาธิที่เข้มแข็งพอ ดูจิตดูใจก็ยังไม่ไหว สมถกรรมฐานก็ยังมีประโยชน์อยู่ในส่วนนี้นะคะ

เพราะงั้นครูบาอาจารย์ท่านจึงมีอุบายให้คิดพิจารณา เพราะพระท่านบวชกันตั้งแต่เป็นเณร เป็นพระหนุ่มน้อย ไม่เคยเจอเรื่องทางโลกๆ เช่นหลวงปู่เจี๊ยะท่านจะให้พระ และชี คิดพิจารณาอสุภะ โดยเฉพาะอวัยวะ..ให้บ่อยๆ ขณะทำสมาธิ เพื่อข่มราคะ

ส่วนพวกอายุมากๆ (อย่างเก้าเป็นต้น) ผ่านการมีครอบครัวไปแล้ว ปล่อยวางได้ง่ายกว่า ฮา..

 

โดย: kaoim IP: 119.31.5.161 13 กันยายน 2552 19:59:20 น.  

 

ผมขอเรียกพี่เก้าคงจะเหมาะกว่านะคับ แห่ะๆ
ผมกำลังอยุ่ในช่วงวัยแบบนี้เลยคับ (ผมยังไม่ 25 เลย)

ถ้าตอนไหนสู้ไม่ไหว ผมก็หนีออกมาเลย ถ้าเป็นไปได้ แต่ถ้าเป็นแบบคิดถึง นึกถึงตลอดแม้ไม่ได้อยุ่ด้วยกัน ผมก็สมถะเหมือนกันคับ ไม่ไหวจริงๆ

 

โดย: บั๊กคุง 13 กันยายน 2552 21:20:18 น.  

 

มันคงไม่ถอนแบบนั้นครับ ผมคาดว่า น่าจะเป็นการหลบใน แล้วออกมาตีหัวเวลาเราเผลอ

การถอนจากการภาวนานั้น จะมีอาการคือ เห็นก็เฉยอยู่ได้ อาจนึกถึงแต่ก็เฉยอยู่ได้ การเฉย ก็คือ การไม่มีความรู้สึกผูกพันอะไรในจิตใจอะไรเลย ที่เป็นอย่างนี้ได้เพราะว่า เมื่อเราภาวนามาได้ดีพอแล้ว จะมีความรู้สึกอย่างหนึ่งเกิดขึ้นในจิตใจ เราจะเห็นจิตใจที่มันนิ่ง มันเงียบสงบอยู่ได้ เจ้าจิตใจทีมันนิ่งเงียบสงบนี้มันำทให้เราเฉย ๆ ต่อสรรพสิ่งที่ไปรับรู้เข้า

 

โดย: นมสิการ 14 กันยายน 2552 0:15:22 น.  

 

แห่ะๆ
ไม่เข้าใจเลยคับพี่ สงสัยคงต้องรอผมไปรู้เองนั่นแหล่ะ

ขอบคุณมากคับ

 

โดย: บั๊กคุง 14 กันยายน 2552 0:40:57 น.  

 

เช่นเดียวกันค่ะ ต้องภาวนาให้ได้พบเห็นสภาวะที่คุณนมสิการว่าไว้เอง ซึ่งตอนนี้ยังไปไม่ถึงอ่ะค่ะ

 

โดย: kaoim IP: 110.49.39.249 14 กันยายน 2552 8:05:39 น.  

 

คุณบักคุง
แนะนำให้อ่านเรื่อง เมื่อผมดูจิต ดูใจ กะเขาบ้าง
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=namasikarn&month=29-05-2009&group=1&gblog=18

 

โดย: นมสิการ 15 กันยายน 2552 0:27:01 น.  

 

ผมจำเป็นต้องปิดการเขียนของท่านผู้อ่าน เนื่องจากกฏหมายอินเตอร์เนท
ที่อาจมีสิ่งผิดกฏหมายใส่เข้ามาใน blog

ท่านที่จะสนทนา หรือ ถามคำถาม ขอให้ส่ง email ถึงผมได้ที่
asknamasikarn@gmail.com

หรือสำหรับสมาชิก pantip จะส่งมาทางหลังไมค์ก็ได้เช่นกัน

 

โดย: นมสิการ 29 มกราคม 2555 20:04:32 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะ VIP Friend
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


นมสิการ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 142 คน [?]




หลักปฏิบัติ ...รู้สึกตัว ผ่อนคลาย เฉย ๆ สบาย ๆ

มากกว่า 20 ปีที่ไปหลงทำสมถภาวนาแบบสมาธิแบบฤาษีโดยที่ไม่รู้จักกับคำว่า อะไรคือสัมมาสติ สัมมาสมาธิ ผลที่ได้คือความสงบขณะกำลังนั่งสมาธิจนตัวนิ่งแข็งเป็นก้อนหิน แต่ผลข้างเคียงตามมาก็คือการเป็นคนเจ้าโทสะอย่างรุนแรงขณะเวลาไม่ได้นั่งสมาธิ และ ที่อยู่ในชีวิตประจำวัน....

จนได้พบกัลยณมิตรแดนไกล ที่ได้ชักนำให้มารู้จักวิธีปฏิบัติแบบหลวงพ่อเทียน จนได้พบกับพระอาจารย์ในสายหลวงพ่อเทียน ที่ผมได้เรียนการปฏิบัติจากท่าน จนเข้าใจว่า สัมมาสติ สัมมาสมาธิ คืออะไร แล้วลงมือฝึกฝน การปฏิบัติก็รุดหน้าและได้ลิ้มรสสิ่งบริสุทธิในจิตใจอันเป็นผลจากการปฏิบัติด้วยเวลาเพียง 5 ปี

ธรรมปฏิบัติจากฆราวาสเขียนเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ยากในสังคมไทย ผมรู้ได้จากที่เขียนใน blog ผมได้พบกับการก่อกวนใน blog การเขียนเหน็บแนม กระแหนะกระแหน ตำหนิการการปฏิบัติที่ผมเขียนใน blog ว่าผิดทาง เขียนแบบคาดเดาเอา ไม่รู้จริง ให้ผมหยุดเขียนแนวนี้ได้แล้ว และไปโมทนาสาธุแนะนำการปฏิบัติสมาธิแบบฤาษีให้กับผมอีกว่านี่คือทางที่ถูกต้อง ...

บทความใน blog จึงเกิดขึ้นมา เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ในการภาวนา
แก่ผู้อื่นที่กำลังเดินทางในสายแห่งอริยมรรคนี้

เมื่อท่านได้เข้ามาอ่านข้อเขียนใน blog กรุณาอย่าได้เชื่อผมจนกว่า ท่านได้ทดลองปฏิบัติแล้วและพิสูจน์ด้วยตัวท่านเอง

**กรุณา .อย่า.ได้บริจาคเงินให้ blog ผมทาง e-wallet ครับ **

******
บทความต่าง ๆ ใน blog นี้
ขอสงวนสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
ห้ามนำไปดัดแปลง ลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

****
New Comments
Friends' blogs
[Add นมสิการ's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.