ดาวน์โหลดโปรแกรม ดูละครย้อนหลัง อ่านเรื่องราวของความรู้รอบตัว วิทยาศาสตร์ ท่องเที่ยว สุขภาพ อาหาร รถยนต์ต่างๆ ไม่ทิ้งเรื่องราวความบันเทิงและเรื่องส่วนตัวอีกด้วย
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2553
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
9 พฤศจิกายน 2553
 
All Blogs
 
ตีตั๋วดูหนังในเทศกาล "ไซน์ฟิล์ม"

คงไม่มีโอกาสไหนที่เราจะได้รับชมภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ได้มากเท่ากับเทศกาล “ไซน์ฟิล์ม” อีกแล้ว ซึ่งไทยจัดเทศกาลนี้ต่อเนื่องถึง 6 ปี และปีนี้ยังมีประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และกัมพูชาร่วมจัดเทศกาลควบคู่กับเราเป็นครั้งแรกด้วย

ภายในเทศกาลภาพนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ ครั้งที่ 6 (Science Film Festival 2010) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-30 พ.ย.53 นี้ จัดฉายภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ทั้งหมด 47 เรื่องจาก 17 ประเทศ ซึ่งเป็นผลจากการคัดเลือกภาพยนตร์ 170 เรื่องที่ 24 ประเทศส่งเข้าร่วม โดยเทศกาลจัดขึ้นภายใต้หัวข้อความหลากหลายทางชีวภาพสอดรับกับ “ปีแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ” ที่ตรงกับปี 2553 นี้ อีกทั้ง เป็นครั้งแรกที่ภาพยนตร์จากบราซิลเข้าร่วมเทศกาลนี้ โดยส่งภาพยนตร์เรื่อง “พาหะร้ายจากป่าร้อนชื้น” (A Threat in the Tropics) ฉายในเทศกาล

ภาพยนตร์ในเทศกาลแบ่งออกเป็น 4 ประเภท โดยประเภทแรกคือภาพยนตร์สาระบันเทิง (Family Edutainment) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์สั้นๆ สำหรับรายการโทรทัศน์ เช่น อ๋อ นี่คือความรู้ (Ah! I Got It!) รายการโทรทัศน์จากเยอรมนีที่นำเสนอความรู้เป็นตอนๆ ละ 25 นาที ซึ่งปีนี้นำเสนอตอน “เพื่อนแสนรัก” เรื่องราวเกี่ยวกับเจ้าเหมียวแสนรักที่ชวนให้เราสงสัยว่าแมวที่ชอบครางเหมียวๆ นั้นมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร และ “ฝาแฝดผู้มาเยือน” ที่เล่าเรื่องการสร้างบันไดเสียงจากเครื่องดนตรี หรือภาพยนตร์สั้น 4 นาทีจากฝรั่งเศสเรื่อง “หลุมดำคืออะไร” (What is a Black Hole?) เป็นต้น

ประเภทถัดมาคือภาพยนตร์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (Ecology and Environment) ซึ่งปีนี้ออสเตรียส่งภาพยนตร์เรื่อง “ภูเขาไฟเมานท์ เซนต์ เฮเลนส์-ชีวิตเริ่มต้นจากศูนย์” (Mount St.Helens-Life from Zero) ซึ่งเล่าถึงการระเบิดของภูเขาไฟเมื่อปี 2523 และการฟื้นตัวของธรรมชาติที่เสียหายจากหายนะครั้งนั้น ส่วนฝรั่งเศสนำเสนอการวางผังเมืองของกรุงโตเกียวเพื่อรักษาระบบนิเวศน์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภาพยนตร์เรื่อง “กรุงโตเกียว ห้องปฏิบัติการแห่งอนาคต” (Mission Exploration-Tokyo, a Coming Laboratory)

ภาพยนตร์เกี่ยวกับธรรมชาติอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น อาชญากรรมสิ่งแวดล้อม ตอน สายสัมพันธ์ธิเบต (Eco Crimes- Crimes Against Nature: Tibet Connection) ภาพยนตร์จากเยอรมนี ที่เล่าเรื่องราวเสือฝูงสุดท้ายในอินเดียที่ถูกคุกคาม จากการล่าเพื่อเอาหนังไปขาย หรือเรื่องราวเกี่ยวกับ “โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ยักษ์ใหญ่ของโลก” (The Biggest Solar Power Plant in the World) จากรายการกาลิเลโอ (Galileo) ของเยอรมนี ซึ่งกล่าวถึงโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทางตอนใต้ของสเปนที่กำลังก่อสร้างแล้วเสร็จไป 1 ใน 3 จากระยะเวลาตลอดโครงการ 56 เดือน ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ระบบความร้อนนี้จะให้พลังงานราคาถูกกว่าโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั่วไป

สำหรับผู้ที่สนใจตัวเลขคงรู้สึกยินไม่น้อยกับภาพยนตร์เกี่ยวกับคณิตศาสตร์ที่มีความยาวพอๆ กับภาพยนตร์ในโรงเรื่อง “ถอดรหัสสลับผู้สร้างจักรวาล” (Cosmic Code Breakers- The Secrets of Prime Numbers) ภาพยนตร์จากสถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเคของญี่ปุ่น ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศจากสมาคมผู้สื่อข่าววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีญี่ปุ่น และรางวัลอื่นอีกมาก โดยภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าถึงความลี้ลับของโลกคณิตศาสตร์เกี่ยวกับจำนวนเฉพาะที่ 2 3 5 7 11 เหมือนตัวเลขสุ่มเลือก แต่นักคณิตศาสตร์ตั้งข้อสังเกตมานานว่าตัวเลขนี้เป็นการเรียงลำดับที่มีความหมายลึกซึ้ง และมีความพยายามถอดรหัสตัวเลขเหล่านี้ซึ่งเชื่อว่าเป็นรหัสของผู้สร้างจักรวาล

ในเทศกาลยังฉายภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เชิงวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ (Culture and History) ด้วย ตัวอย่างภาพยนตร์ที่สนใจ เช่น “ตำนานจากป่าโปแลนด์” (The Saga of the Primeval Forest: The Tale of Lynx - Against Nature) ภาพยนตร์สารคดีของโปแลนด์ที่เล่าถึงป่าโบราณในชายแดนระหว่างโปแลนด์และเบลารุสซึ่งมีตัวละครเป็นสัตว์ชนิดต่างๆ ในภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ใช้การตกแต่งภาพด้วยคอมพิวเตอร์และใช้เสียงธรรมชาติเป็นเสียงประกอบ หรือเรื่อง “ดาร์วิน (ปฏิ) วิวัฒน์” (Darwin (R)evolution) ของฝรั่งเศส ที่พาเราย้อนไปทำความเข้าใจในทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ลส์ ดาร์วิน เป็นต้น

ส่วนไทยเองได้ส่งภาพยนตร์เรื่อง “น้ำท่วมกรุงเทพฯ” (The Inundation of Bangkok) เข้าร่วมในเทศกาลนี้ ซึ่งเล่าถึงคำทำนายของนักวิทยาศาสตร์ที่ระบุถึงสาเหตุน้ำท่วมกรุงเทพฯ อาทิ การแตกของเขื่อนวชิราลงกรณ์และเขื่อนศรีนครินทร์จากเหตุแผ่นดินไหว ภาวะโลกร้อนและการทรุดตัวของแผ่นดินในกรุงเทพฯ เป็นต้น และเรื่อง “หนอนไหม” (Silk Worm) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรายการ “ไอกอทอิท” (I Got It!) ซึ่งเป็นรายการที่เกิดจากความร่วมมือของ 7 ประเทศอาเซียน ได้แก่ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซียและฟิลิปปินส์

ทั้งนี้ เทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ฯ เกิดจากความร่วมมือระหว่าง สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย สถานทูตฝรั่งเศส ประจำประเทศไทย และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ซึ่งจัดเทศกาลเป็นประจำทุกปีต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 และได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และบริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด

การจัดเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ฯ ปีนี้พิเศษกว่าปีที่ผ่านๆ มา โดย ดร.นอร์แบร์ท ชปิทซ์ (Dr.Norbert Spitz) ผู้อำนวยการสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย ระบุว่าเป็นครั้งแรกที่กัมพูชา อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ได้จัดเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์คู่ขนานไปกับไทยด้วย และในปี 2556 จะมี 10 ประเทศอาเซียนร่วมจัดเทศกาลนี้ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งเทศกาลนี้เป็นโครงการหนึ่งที่จะนำเราเข้าถึงความรู้โดยอาศัยภาพยนตรืและรายการโทรทัศน์เพื่อเรียนสิ่งน่าสนใจที่ผสานความบันเทิงและความรู้เข้าด้วยกัน

“ภาพยนตร์เหล่านี้จะสร้างให้เด็กๆ รู้จักสงสัยและกระตุ้นให้เกิดการตั้งคำถาม เช่น ทำไมเครื่องบินถึงบินได้ เป็นต้น และพวกเขาจะมีความสนใจในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น ที่สำคัญเด็กทุกวันนี้คือผู้ที่จะแก้ปัญหาของอนาคต” ผู้อำนวยการเกอเธ่กล่าว

****
ชมภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ ได้ที่
- โรงภาพยนตร์เอสพลานาด ซีนีเพล็กซ์ รัตนาธิเบศร์ โทร.0-2589-7321
- ศูนย์ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ) โทร.0-2392-1773
- อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย โทร.0-2564-7000 ต่อ 1489
- หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ศาลายา นครปฐม โทร.0-2482-2013-14 ต่อ 111
- องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) โทร.0-2577-9999 ต่อ 2108,2109
- จตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. อาคารจามจุรี สแควร์ โทร.0-2160-5356
-อุทยานการเรียนรู้ TK Park ณ สถาบันเกอเธ่ และสมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพฯ โทร. 0-2264-5963

ทั้งนี้ สามารถรับชมภาพยนตร์ได้ฟรี ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ //www.goethe.de/sciencefilmfestival


รายการ "ดอกฟันสิงโต" ที่ฉายในเทศกาล "ไซน์ฟิล์ม" เล่าเรื่องก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในแง่มุมไม่ทำร้ายโลก


เสือในเรื่อง "สายสัมพันธ์ธิเบต"


เข้าใจทฤษฎีวิวัฒนาการใน ดาร์วิน (ปฏิ) วิวัฒน์


ภาพจำลองการระเบิดของภูเขาไฟ เมานท์ เซนต์ เฮเลนส์


ภาพประกอบจากภาพยนตร์ "ก่อนจะมาเป้นเชื้อเพลิงเขียว" ของ เดนมาร์ก


"ฉลามยักษ์ผู้อ่อนโยน" จากเยอรมนีพาไปรู้จัก "ฉลามบาสกิง" ที่กินแค่แพลงก์ตอนเป็นอาหาร


"สิงโตทะเล ผู้ช่วยพิเศษ" ภาพยนตร์จากฝรั่งเศสเกี่ยวกับการใช้สิงโตทะเลเป็นผู้ช่วยสำรวจธรรมชาติด้วยการติดอุปกรณ์ส่งสัญญาณให้สิงโตทะเล


ที่มา
//www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9530000157285


Create Date : 09 พฤศจิกายน 2553
Last Update : 9 พฤศจิกายน 2553 17:14:24 น. 0 comments
Counter : 1179 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

scimovie
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 108 คน [?]




แหล่งรวบรวมความรู้ โปรแกรม เพลง หนัง เกมส์ วิทยาศาสตร์ ดูละคร เรื่องย่อ ภาพยนตร์ การเงิน และอื่นๆ อีกมากมาย สุดท้ายขอกำลังใจให้มีแรงอัพเดทตลอดๆ ครับ ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยียนกันครับ
Friends' blogs
[Add scimovie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.