ดาวน์โหลดโปรแกรม ดูละครย้อนหลัง อ่านเรื่องราวของความรู้รอบตัว วิทยาศาสตร์ ท่องเที่ยว สุขภาพ อาหาร รถยนต์ต่างๆ ไม่ทิ้งเรื่องราวความบันเทิงและเรื่องส่วนตัวอีกด้วย
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2553
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
28 พฤษภาคม 2553
 
All Blogs
 
ความจริง “วันโลกหายนะ”

กระชับพื้นที่คืนความจริง “วันโลกหายนะ”

ภาพจำลองดวงอาทิตย์พ่นมวลมีประจุที่เกิดขึ้นบ่อยมายังโลก ซึ่งมีเส้นสนามแมเหล็ก (เส้นสีน้ำเงิน) เป็นเกราะกำบัง (ESA)

ข่าวลือเกี่ยวกับ “วันโลกหายนะ” เป็นอีกหนึ่งสีสันของจดหมายลูกโซ่ ที่วนเวียนอยู่บนโลกออนไลน์ วันดีคืนดีข่าวลือดังกล่าวมาปรากฏบนสื่อทีวีในช่วงเวลา “ไพรม์ไทม์” ย่อมสร้างความตื่นตระหนกได้ในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคนในวงการวิทยาศาสตร์เอง คือผู้อ้างถึงข้อมูลวิทยาศาสตร์อย่างเป็นตุเป็นตะ

ตั้งแต่เดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับอีเมลลูกโซ่ เกี่ยวกับวันโลกหายนะเหมือนในภาพยนตร์เรื่อง 2012 อย่างต่อเนื่อง และมีการอ้างถึงข้อมูลวิทยาศาสตร์ เดิมเขาเชื่อว่ากระแสนี้จะซาไปแต่กลายเป็นว่ากระแสยังคงมีอยู่ จึงตัดสินใจจัดเสวนาและแถลงข่าวชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว หลังเหตุการณ์บ้านเมืองเริ่มคลี่คลาย ในเวที “ตอบทุกคำถามสังคมไทยที่กังวลต่อการล่มสลายของโลก” เมื่อวันที่ 25 พ.ค.53 ที่ผ่านมา ณ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ

- สนามแม่เหล็กกลับขั้ว-โลกพลิก

หนึ่งในประเด็นการล่มสลายของโลกคือการกลับขั้วของสนามแม่เหล็กโลกในวันที่ 22 ธ.ค.55 จากเหนือไปใต้ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ดวงอาทิตย์กลับขั้ว เกิดสนามแม่เหล็กและความร้อนบนโลก ทำให้น้ำแข็งละลาย น้ำท่วมโลก เกิดสึนามิ โลกจะเอียงจาก 23.5 องศาไปเป็น 26 องศา แล้วพลิกกลับจากเหนือไปใต้

คำถามคือจริงหรือไม่ที่แม่เหล็กโลกจะกลับขั้ว?

ดร.สธนกล่าวว่า ปรากฏการณ์แม่เหล็กโลกกลับขั้ว เคยเกิดขึ้นบนโลกมาแล้วหลายครั้ง แต่ละครั้งเว้นช่วงประมาณ 1 ล้านปี ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อ 700,000 ปีที่แล้ว ซึ่งเริ่มมีมนุษย์กำเนิดขึ้นบนโลกแล้ว และระหว่างการกลับขั้วช่วง 1 ล้านปีนั้น อาจมีการกลับขั้วในช่วงสั้นประมาณ 4-5 พันปี

การกลับขั้วแม่เหล็กโลกนี้ ไม่ได้หมายถึงโลกพลิกกลับจากเหนือไปใต้ แต่หมายถึงสนามแม่เหล็กอ่อนกำลังลง แล้วเกิดสนามแม่เหล็กที่ยุ่งเหยิงขึ้น ก่อนกลับสู่สภาพปกติ ซึ่งระหว่างที่แม่เหล็กอ่อนลงนั้น จะมีรังสีคอสมิคเข้ามาแต่ไม่มากมายนัก

“ส่งผลกระทบไหม มีผลกระทบบ้างถ้าเรายังใช้เข็มทิศอยู่ แต่เดี๋ยวนี้เราใช้จีพีเอส (GPS) กันเยอะ ผลกระทบอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ และช่วงเวลาระหว่างการพลิกขั้วเกิดขึ้นช้า เป็นระยะเวลาพันปี แสนปีขึ้นไป"

"ปัจจุบันความแรงสนามแม่เหล็กขึ้นๆ ลงๆ เมื่อ 700,000 ปีก่อน สนามแม่เหล็กโลกเคยอ่อนกว่านี้ด้วยซ้ำ ดังนั้นการกลับขั้วแม่เหล็กโลกไม่ใช่ประเด็นที่ก่อให้เกิดปัญหา โดยหลักฐานการกลับขั้วคือหินแข็งที่มีสภาพแม่เหล็กตามแม่เหล็กโลก ซึ่งเกิดจากหินร้อนๆ ในโลกออกมาเจอสภาพแม่เหล็กภายนอกแล้วแข็งตัว” ดร.สธนกล่าว

ขั้วแม่เหล็กโลกนั้น เกิดจากการไหลของกระแสโลหะหลอมเหลวในแกนกลางโลก ทำให้เกิดสนามแม่เหล็กเหมือนไดนาโมที่ใช้ขดลวดพันรอบแกนแม่เหล็ก โดยสนามแม่เหล็กจะพุ่งจากขั้วใต้ไปขั้วเหนือ ดังนั้นขั้วโลกเหนือจึงเป็นขั้วแม่เหล็กใต้ และขั้วโลกใต้จึงเป็นขั้วแม่เหล็กเหนือ

แต่การไหลของกระแสโลหะหลอมเหลวในแกนกลางโลกไม่สม่ำเสมอ ตำแหน่งขั้วแม่เหล็กจึงไม่คงที่ และเป็นบริเวณกว้าง เช่น ปี 1904 ขั้วแม่เหล็กเหนืออยู่เป็นบริเวณหนึ่ง และปี 1996 ขั้วแม่เหล็กเหนืออยู่อีกบริเวณ เป็นต้น

- ดาวเคราะห์เรียงตัวทำแผ่นดินไหวบนโลก

การเรียงตัวของดาวเคราะห์ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ถูกโยงว่าทำให้เกิดแผ่นดินไหวบนโลก เนื่องจากมีแรงไทด์ (tide) กระทำต่อโลก

หากแต่ ดร.สธนอธิบายว่าแรงไทด์คือ "แรงน้ำขึ้นน้ำลง" (tidal force) นั่นเอง เป็นแรงเสมือนว่าดึงโลกให้ยืดออก และดวงจันทร์มีบทบาทให้เกิดแรงนี้กระทำต่อโลกมากที่สุด และด้านที่อยู่ใกล้ดวงจันทร์มากที่สุดจะถูกดึงมากกว่า โดยแรงนี้มีอธิบายด้วยสมการที่มีตัวแปรเพียง 2 ตัวคือ ระยะห่างระหว่างวัตถุที่ดึง และมวลของวัตถุที่ดึง

“แรงน้ำขึ้นน้ำลง น้อยกว่าแรงดึงดูดของโลกถึง 10 ล้านเท่า แรงที่สุดของแรงนี้คือ ทำให้ของเหลวบนโลกเคลื่อนที่ หรือเกิดน้ำขึ้นน้ำลง แต่ยังน้อยเกินกว่าจะมีผลต่อโครงสร้างหรือแผ่นทวีป 10 ล้านเท่า"

"ดวงอาทิตย์ซึ่งใหญ่กว่าดวงจันทร์มากแต่อยู่ห่างโลกมากกว่า จึงมีแรงนี้น้อยกว่าดวงจันทร์ประมาณครึ่งหนึ่ง หากดวงจันทร์และดวงอาทิตย์มาซ้อนกัน ผลคือทำให้เกิดน้ำขึ้นสูงในวันขึ้น 15 ค่ำและแรม 15 ค่ำเท่านั้นเอง” ดร.สธนกล่าว

นอกจากนี้ ผลการเปรียบเทียบตำแหน่งการเรียงตัวของดาวเคราะห์ในระบบสุริยะกับการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ 10 อันดับ ซึ่งเกิดที่เกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.47 เป็นแผ่นดินไหวใหญ่อันดับ 3 และครั้งรุนแรงสุดเกิดขึ้นที่ชิลี เมื่อ 22 พ.ค.03 นั้น ไม่มีครั้งใดเลยที่ดาวเคราะห์เรียงตัวกัน โดยพิจารณาเฉพาะดาวพุธ ดาวศุกร์ ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์และโลก ส่วนดาวเคราะห์วงนอกนั้น ดร.สธนกล่าวว่าตัดออกได้ เพราะอยู่ไกลมาก

“เรียงหรือไม่เรียงไม่สำคัญ เพราะแรงไม่ถึงอยู่แล้ว คำอ้างในข่าวในฟอร์เวิร์ดเมล เป็นคำอ้างที่ไม่มีหลักฐาน การอ้างงานวิจัยก็มีความเข้าใจที่ไม่ตรง บทความยังไม่มีชื่อผู้เขียนและเป็นการคาดเดาไว้ก่อน” ดร.สธนวิจารณ์คำทำนายเรื่องโลกล่มสลาย ที่อ้างถึงผลการศึกษาของทีมนักวิจัยอิตาลี

ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าวมีอยู่จริง แต่รายละเอียดระบุว่า มีความแปรปรวนของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ก่อนเกิดแผ่นดินไหวเล็กน้อย ซึ่งคาดว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงของโลกเอง ไม่ใช่พลังงานแม่เหล็กไฟฟ้าขนาดใหญ่ จนสามารถจุดฉนวนแผ่นดินไหวอย่างที่กล่าวอ้าง

-Solar Maximum คำที่ถูกอ้างวันโลกสลาย

ความวิตกว่า โลกถึงคราวหายนะนั้น มักเชื่อมโยงการเข้าสู่ช่วง "โซลาร์ แม็กซิมัม" (Solar Maximum) ของดวงอาทิตย์ ซึ่ง ผศ.พงษ์ ทรงพงษ์ อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งร่วมเวทีเสวนาอธิบายว่า ช่วงดังกล่าว ดวงอาทิตย์มีกิจกรรม*เกิดขึ้นมาก และมีการกลับขั้วสนามแม่เหล็ก เกิดขึ้นสลับกับ "โซลาร์ มินิมัม" (Solar Minimum) ที่ดวงอาทิตย์มีกิจกรรมน้อย โดยมีระยะเวลาสลับกันประมาณ 11 ปี

“กิจกรรมต่างๆ บนดวงอาทิตย์นั้น เกิดจากสนามแม่เหล็กเนื่องจากการไหลวนของก๊าซร้อนบนดวงอาทิตย์ ครั้งล่าสุดที่เกิด Solar Maximum คือเมื่อปี 2544 ส่วนตอนนี้เรากำลังอยู่ในช่วง Solar Minimum"

"ครั้งแรกที่เราเริ่มนับจุดมืดบนดวงอาทิตย์คือเมื่อปี 2323 ซึ่งพบว่าการเกิดจุดมืดมากสลับกับไม่มีเลยนั้นเป็นช่วงๆ ชัดเจน ตอนนี้เราอยู่วัฏจักรสุริยะรอบที่ 23 และกำลังสู่รอบที่ 24 ในปี 2555 (หรือ 2012) ซึ่งจะเริ่มช่วง Solar Maximum รอบใหม่ แต่เราก็ตรวจดูสนามแม่เหล็กบนดวงอาทิตย์ทุกวันว่า เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง” ผศ.พงษ์กล่าว

เมื่อเข้าสู่ Solar Maximum สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ มีกิจกรรมบนดวงอาทิตย์มากขึ้น สนามแม่เหล็กมีการเปลี่ยนแปลง เพราะดวงอาทิตย์ส่งอนุภาคมีประจุมาเยอะขึ้น มีการพ่นมวลมีประจุมายังโลก ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เราสังเกตได้ เช่น ปรากฏการณ์แสงเหนือ-แสงใต้ ซึ่งเห็นได้ที่ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ แต่ปี 2501 มีรายงานพบแสงเหนือ-แสงใต้ที่เม็กซิโก ซึ่งอยู่ต่ำจากขั้วโลกเหนือลงมาอยู่ที่ละติจูด 30 องศาเหนือ

เมื่อปี 2532 กิจกรรมบนดวงอาทิตย์ ได้ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าในระบบส่งไฟฟ้าของแคนาดา จนหม้อแปลงไหม้และเกิดไฟดับ แต่ในปี 2544 ไม่เกิดเหตุไฟดับเนื่องจากทราบว่าจะเกิดขึ้นและได้เตรียมการรับมือไว้

- ซากดาวส่องตรงรังสีแกมมาเผาโลกเป็นจุณ

การระเบิดของรังสีแกมมา (Gamma Ray Burst: GRB) เป็นปรากฏการณ์ส่งรังสีแกมมาจากซากของดวงดาวที่กำลังดับสูญ และเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับดวงดาว ซึ่งมีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ 10 เท่าขึ้นไป โดยปกติดาวฤกษ์มีปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันเป็นแหล่งพลังงาน ซึ่งจะหลอมรวมธาตุเล็กให้กลายเป็นธาตุใหญ่ และให้พลังงานออกมา เสมือนมีแรงระเบิดนิวเคลียร์อยู่ภายในดวงดาว

ขณะเดียวกันดาวฤกษ์ยังมีแรงโน้มถ่วงดึงมวลกลับมาอยู่รวมกัน จึงเปรียบได้กับการชักเย่อระหว่างแรงระเบิดกับแรงโน้มถ่วง เมื่อธาตุตั้งต้นหมดลงการระเบิดก็น้อยลง ทำให้แรงโน้มถ่วงชนะและเริ่มดึงให้ดาวยุบลง

อย่างไรก็ดี การยุบตัวของดาวนั้น มีปลายทางที่แตกต่างกัน ดาวบางดวงยุบตัวอย่างเงียบสงบและหมดพลังงานไป บางดวงเกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ขึ้นอีกเนื่องจากแรงโน้มถ่วงทำให้เกิดการหลอมรวมของธาตุครั้งใหม่

บางดวงเกิดระเบิดอย่างรุนแรงเรียกว่า “โนวา” (nova) หรือ “ซูเปอร์โนวา” (supernova) กลายเป็นเนบิวลาและเกิดการรวมตัวของก๊าซกลายเป็นดาวอีกรอบ บางดวงยุบตัวอย่างรวดเร็วและกลายเป็นหลุมดำ แต่บางครั้งเกิดการยุบตัวและเกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ที่รุนแรงพร้อมๆ กัน ทำให้เกิดรังสีแกมมาความเข้มสูงส่งออกมาในทิศทางที่แน่นอนและเป็นลำแคบๆ หรือเรียกว่าการระเบิดของรังสีแกมมานั่นเอง

“ถ้าส่องมายังโลก ก็ตายหมดทั้งโลก การระเบิดของรังสีแกมมาการระเบิดของรังสีแกมมานี้ น่ากลัวมาก แต่ต้องกลัวไหม ไม่ต้องกลัว เพราะถ้าเกิดขึ้นก็รวดเร็วมากจนเราไม่ทันได้รู้สึก เนื่องจากรังสีเดินทางด้วยความเร็วแสง" ผศ.พงษ์กล่าว

อย่างไรก็ดี ผศ.พงษ์กล่าวเผยว่า โอกาสดังกล่าว เกิดขึ้นน้อยมาก เพราะอย่างแรกต้องเกิดใกล้ๆ เรา ประมาณกาแลกซีถัดไป และต้องหันมาทางเราพอดี ซึ่งดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้เราที่สุดคือดาวพรอกซิมา (Proxima) อยู่ไกลออกไป 4.2 ปีแสง แต่มีขนาดเพียง 1 ใน 10 ของดวงอาทิตย์ เมื่อดาวดวงนี้ดับ จะไม่เกิดระเบิดรังสีแกมมาแน่นอน แต่ถ้าถึงวันหนึ่งเราจะต้องไป เราก็ต้องไป.


---------------------------------------------------------------------------

*กิจกรรมสุริยะ (solar activities) คือปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนดวงอาทิตย์ ได้แก่

- การลุกจ้าบนดวงอาทิตย์ (solar flare) เป็นการปะทุของก๊าซร้อนภายในดวงอาทิตย์เมื่อมีช่องโหว่ที่ผิวดวงอาทิตย์ ทำให้ก๊าซร้อนกว่า 20,000 องศาเซลเซียสปะทุออกมาที่ดวงอาทิตย์ซึ่งปกติมีอุณหภูมิประมาณ 6,000 องศาเซลเซียส เห็นเป็นแสงเจิดจ้าที่ผิวดวงอาทิตย์

- โพรมิเนนซ์ (prominence) เป็นพวยก๊าซที่พุ่งออกมา แล้วพุ่งกลับเหมือนมีท่อเป็นทางเดิน ซึ่งท่อดังกล่าวจริงๆ แล้ว คือสนามแม่เหล็กที่บังคับให้พวยก๊าซพุ่งกลับสู่ดวงอาทิตย์ ขนาดของพวยก๊าซใหญ่กว่าโลกและดวงจันทร์

- ลมสุริยะ (solar wind) เป็นอนุภาคมีประจุที่ส่งมาจากดวงอาทิตย์พร้อมสนามแม่เหล็กระยะสั้น หรือเรียกว่าพายุสุริยะเมื่อมีความรุนแรงกว่าและอนุภาคถูกส่งพุ่งออกไปทั่วๆ การพ่นมวลจากดวงอาทิตย์ (coronal mass ejection: CME) เป็นอนุภาคของดวงอาทิตย์ที่พุ่งออกมาเป็นลำ ด้วยความเร็วสูงและมีทิศทางค่อนข้างแคบ เมื่อพุ่งมาแต่ละครั้งสามารถกลบโลกได้มิด โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมาโลกได้รับลำอนุภาคนี้ ส่งผลให้การสื่อสารขัดข้องและสำนักข่าวบีบีซีได้ออกประกาศเตือนถึงเรื่องนี้ด้วย

- จุดมืด (sunspots) เป็นจุดดำบนดวงอาทิตย์ ค้นพบครั้งแรกเมื่อประมาณ 400 ปีก่อนโดย กาลิเลโอ กาลิเลอิ (Galileo Galilei) หลังจากเขาประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์แล้วส่องขึ้นไปบนฟ้า โดยที่ยังไม่ทราบว่าการส่องดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่านั้นเป็นอันตราย ข้อดีของจุดมืดคือทำให้ทราบว่าดวงอาทิตย์หมุนรอบตัวเอง และจุดมืดนี้มีหลายจุดเพิ่มขึ้น-ลดลงอยู่เสมอ




ภาพโพรมิเนนซ์ขนาดใหญ่หรือก๊าซที่พวยพุ่งบนดวงอาทิตย์ตรงขวาบนของภาพ (ESA)

ที่มา
ผู้จัดการออนไลน์





Create Date : 28 พฤษภาคม 2553
Last Update : 28 พฤษภาคม 2553 12:44:32 น. 0 comments
Counter : 1050 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

scimovie
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 108 คน [?]




แหล่งรวบรวมความรู้ โปรแกรม เพลง หนัง เกมส์ วิทยาศาสตร์ ดูละคร เรื่องย่อ ภาพยนตร์ การเงิน และอื่นๆ อีกมากมาย สุดท้ายขอกำลังใจให้มีแรงอัพเดทตลอดๆ ครับ ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยียนกันครับ
Friends' blogs
[Add scimovie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.