ดาวน์โหลดโปรแกรม ดูละครย้อนหลัง อ่านเรื่องราวของความรู้รอบตัว วิทยาศาสตร์ ท่องเที่ยว สุขภาพ อาหาร รถยนต์ต่างๆ ไม่ทิ้งเรื่องราวความบันเทิงและเรื่องส่วนตัวอีกด้วย
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2554
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
14 มิถุนายน 2554
 
All Blogs
 
เตรียมชม “จันทรุปราคาเต็มดวง” ครั้งแรกในรอบ 4 ปี ... พฤหัสบดีที่ 15 มิย - ศุกร์ที่16 มิย นี้

เตรียมชม “จันทรุปราคาเต็มดวง” ครั้งแรกในรอบ 4 ปี




ย่ำรุ่งวันที่ 16 มิ.ย.นี้จะเป็นครั้งแรกที่คนไทยจะได้ชมปรากฏการณ์ “จันทรุปราคาเต็มดวง” ในรอบ 4 ปี และยังมาพร้อมปรากฏการณ์พิเศษอย่างการบังดาวฤกษ์ระหว่างเกิดคราสซึ่งเกิดขึ้นได้น้อยมาก อีกทั้งปรากฏการณ์นี้ยังเกิดขึ้นขณะที่ดวงจันทร์กำลังเคลื่อนผ่านใจกลางทางช้างเผือกด้วย

จันทรุปราคาเต็มดวงในวันที่ 16 มิ.ย.นี้ เป็นปรากฏการณ์ที่ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กล่าวว่ามีความพิเศษเพราะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดคราสเต็มดวงนานเกิน 100 นาที และระหว่างเกิดคราสดวงจันทร์ยังเคลื่อนผ่านใจกลางทางช้างเผือกด้วย อีกทั้งยังเป็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาครั้งแรกในรอบ 4 ปีที่คนไทยจะได้ชมอีกด้วย โดยปีนี้มีปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงให้ชมถึง 2 ครั้ง ซึ่งครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 10 ธ.ค.

เตรียมตัวให้พร้อมตั้งแต่คืนที่ 15 มิ.ย.
จากข้อมูลเอกสารปรากฏการณ์จันทรุปราคา (Lunar Eclipse 2011) สดร. ในวันที่ 16 มิ.ย.นี้ดวงจันทร์จะเริ่มเข้าสู่เงามัวของโลกตั้งแต่ 00.26 น. หรือหลังจากผ่านเที่ยงคืนวันที่ 15 มิ.ย. แต่ในช่วงดังกล่าวซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของปรากฏการณ์จันทรุปราคานั้น เป็นช่วงที่เราสังเกตได้ยาก โดยเราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงเมื่อดวงจันทร์เริ่มสัมผัสเงามืดของโลก เวลา 01.25 น.ซึ่งดวงจันทร์จะเริ่มแหว่ง

เวลา 02.25 น.เริ่มเกิดอุปราคาเต็มดวงเมื่อขอบดวงจันทร์ทั้งสองด้านผ่านเข้าไปในเงามืดของโลก และในเวลา03.14 น.ดวงจันทร์จะเข้าไปอยู่กึ่งกลางเงามืดของโลก เรียกเหตุการณ์ดังกล่าวว่า กึ่งกลางอุปราคา (Greatest eclipse) เรายังคงเห็นจันทรุปราคาเต็มดวงไปจนถึงเวลา 04.04 น.ซึ่งดวงจันทร์เริ่มออกจากเงามืด และดวงจันทร์จะออกจากเงามืดทั้งหมดเวลา 05.04 น. และสิ้นปรากฏการณ์จันทรุปราคาเวลา 06.02 น.


5 ลำดับความสว่างจันทรุปราคาเต็มดวง
ทั้งนี้ ระหว่างเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงเราจะเห็นดวงจันทร์เปลี่ยนเป็นสีแดงอิฐ หรือบางอาจจะเรียกว่าพระจันทร์สีเลือด สำหรับสาเหตุที่จันทร์เต็มดวงไม่มืดสนิทนี้ หาคำตอบได้จากบทความ “รู้ไหมว่า? ทำไม “จันทรุปราคาเต็มดวง” จึงเป็นสีแดงอิฐ” โดยความสว่างของจันทรุปราคาตามมาตราดังชง (Danjon Scale) ที่เสนอโดย อังเดร หลุยส์ ดังชง (Andre-Louis Danjon) นักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ใช้สัญลักษณ์ L แทน ความสว่าง (Luminosities) แบ่งได้เป็น 5 ระดับ

เมื่อ L = 0 แสดงถึงจันทรุปราคาที่มืดมากจนเกือบมองไม่เห็นดวงจันทร์ , L = 1 แสดงถึงจันทรุปราคามีความมืดในระดับที่เห็นเป็นสีเทาหรือน้ำตาลอ่อน ,L = 2 แสดงถึงจันทรุปราคาที่เป็นสีแดงเข้มหรือสีสนิมคราส , L = 3 แสดงถึงจันทรุปราคาที่เป็นสีแดงอิฐ และ L = 4 แสดงถึงจันทรุปราคาที่สว่างมาก มีทองแดงหรือสีส้ม

พิเศษ! เกิดจันทร์บังดาวฤกษ์ระหว่างจันทรุปราคา
นอกจากจันทรุปราคาครั้งนี้จะเกิดคราสนานชั่วโมงกว่าๆ แล้ว ยังเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาบังดาวฤกษ์ เนื่องจากดวงจันทร์เคลื่อนผ่านทางใต้ของกลุ่มดาวคนแบกงู (Ophiuchus) แล้วเคลื่อนไปบังดาวฤกษ์ 51 โอฟีอุชี (Ophiuchi) หรือ 51 คนแบกงู พอดี โดยปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงใกล้ๆ อุปราคาเต็มดวง ซึ่งผู้สังเกตใน จ.ชุมพรขึ้นไปจะเห็นปรากฏการณ์นี้ได้ และตรวจสอบเวลาได้ในตารางการเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาบังดาวฤกษ์ 51 โอฟีอุชี

“ตามเวลา ณ เชียงใหม่ ดาวฤกษ์ 51 โอฟีอุชี เริ่มหายเข้าไปหลังดวงจันทร์สีแดงอิฐในเวลา 02.08 น. แล้วจะโผล่พ้นดวงจันทร์ออกมาในเวลา 02.12 น. ปรากฏการณ์ดังกล่าวนั้นจะเห็นได้ตั้งแต่ จ.เชียงใหม่ ลงไปถึง จ.ชุมพร ส่วนจังหวัดที่อยู่ใต้ลงไปจะเห็นเพียงจันทรุปราคาเฉียดดาวฤกษ์เท่านั้น” ดร.ศรัณย์ ยกตัวอย่างการเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคราบังดาวฤกษ์ที่ จ.เชียงใหม่

ทั้งนี้ ดาว 51 โอฟีอุชีนั้นอยู่ในตำแหน่ง “หัวเข่า” ของกลุ่มดาวคนแบกงู เป็นดาวฤกษ์สีขาวขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ และอยู่ห่างจากโลกประมาณ 426.35 ปีแสง สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่าแต่ไม่ชัดนัก ซึ่งรองผู้อำนวยการ สดร.ระบุว่าปรากฏการณ์บังดาวฤกษ์นั้นเกิดขึ้นเป็นปกติบนท้องฟ้า แต่น้อยครั้งที่จะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า

สดร.จัดเต็มถ่ายทอดสดปรากฏการณ์ 3 ภาค เหนือ-กลาง-ใต้
สำหรับการเกิดปรากฏการณ์จันทรปุราคาครั้งนี้ ทาง สดร.ได้ร่วมมือกับเครือข่าวดาราศาสตร์ใน จ.ฉะเชิงเทราและ จ.สงขลา จัดกิจกรรมและตั้งจุดสังเกตปรากฏการณ์ 3 แห่ง คือ 1.บริเวณดาดฟ้า ชั้น 3 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ จ.เชียงใหม่ 2.หอดูดาวบัณฑิต จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งทางหอดูดาวยังได้ร่วมมือกับ ร.ร.เบญจมราชรังสฤษฏิ์, ร.ร.ไผ่แก้ววิทยา จ.ฉะเชิงเทรา และ ร.ร.ชลราษฎรอำรุง จ.ชลบุรี จัดกิจกรรมและตั้งกล้องโทรทรรศน์สำหรับสังเกตปรากฏการณ์ และ 3.มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา จ.สงขลา
ทั้งนี้ ติดตามการถ่ายทอดสดปรากฏการณ์จันทรุปราคาผ่านอินเทอร์เน็ตจากจุดสังเกตุทั้ง 3 แห่งได้ที่ //118.174.34.82/lunar/

เกิดจันทรุปราคาได้อย่างไร?
องค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เกิดจันทรุปราคาคือ “เงาของโลก” ซึ่งเมื่อดวงอาทิตย์ส่องมายังโลกที่เป็นวัตถุทึบแสง จะทำให้เกิดเงาทอดไปในอวกาศ และเมื่อดวงจันทร์ผ่านเข้าไปในเงาโลกเราจึงได้เห็นปรากฏการณ์อุปราคาดังกล่าว โดยเงาโลกมีส่วน 2 ส่วน คือ เงามืด (Umbra Shadow) ซึ่งเมื่อลากเส้นสัมผัสจากดวงอาทิตย์ผ่านโลกจะได้ลักษณะเงาทอดเป็นกรวยแหลม และเงามัว (Penumbra Shadow) ซึ่งเมื่อลากเส้นสัมผัสโดยให้เกิดจุดตัดระหว่างโลกและดวงอาทิตย์จะได้ลักษณะเงาถ่างออก

ข้อมูลจากเอกสารจันทรุปราคาของ สดร.ระบุอีกว่า ในแต่ละปีจะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงประมาณ 1-2 ครั้ง และในปีที่ดวงจันทร์เต็มดวงถึง 13 ครั้ง ซึ่งมีบางเดือนที่เกิดจันทร์เต็มดวงถึง 2 ครั้งและเรียกปรากฏการณ์ในเดือนนั้นว่า “บลูมูน” (Blue Moon) จะเกิดจันทรุปราคาสูงสุดถึง 4 ครั้ง แต่ในปีดังกล่าวจะไม่เกิดจันทรุปราคาเต็มดวง

รู้จักจันทรุปราคาทุกรูปแบบ
จันทรุปราคาแบ่งออกเป็น 3 แบบ คือ 1.จันทรุปราคาเต็มดวง (Total Lunar Eclipse) คือ ปรากฏการณ์ที่ดวงจันทร์เคลื่อนผ่านเข้าไปในเงามืดของโลกทั้งดวง ซึ่งดวงจันทร์จะค่อยมืดหายไปทั้งดวงแล้วเปลี่ยนเป็นสีแดงอิฐเมื่อคราสบังเต็มดวง 2.จันทรุปราคาบางส่วน (Partial Lunar Eclipse) คือปราฏการณ์ที่ดวงจันทร์เคลื่อนผ่านเงามืดและเงามัว โดยเห็นดวงจันทร์มืดปเพียงบางส่วน เท่านั้น และ 3.จันทรุปราคาเงามัว (Penumbra Lunar Eclipse) เป็นปรากฏการณ์ที่ดวงจันทร์ผ่านเข้าไปในเขตเงามัวของโลกโดยไม่ผ่านเงามืด ซึ่งเรายังคงเห็นดวงจันทร์เต็มดวง เนื่องจากตาของเราไม่สามารถแยกแยะความความสว่างที่ลดลงไปเพียงเล็กน้อยได้

“อย่างไรก็ดี การชมปรากฏการณ์นี้ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศ หากท้องฟ้าไม่โปร่ง มีเมฆมากก็จะไม่สามารถมองเห็นได้ ซึ่งหากพลาดการชมปรากฎการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงในวันที่ 16 มิ.ย.สามารถรอชมได้อีกครั้งในวันที่ 10 ธ.ค.นี้” ดร.ศรัณย์ กล่าว


รู้ไหมว่า? ทำไม “จันทรุปราคาเต็มดวง” จึงเป็นสีแดงอิฐ

ดวงจันทร์ในช่วงเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงน่าจะมืดสนิท แต่เรากลับเห็นเป็นสีแดงอิฐ หรือบางคนจินตนาการว่าเป็น “พระจันทร์สีเลือด” ซึ่ง ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร.อธิบายถึงเรื่องนี้ว่า ระหว่างเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงนั้นยังคงมีแสงจากดวงอาทิตย์บางส่วนไปตกยังดวงจันทร์ โดยแสงอาทิตย์บางส่วนนั้นได้เดินทางผ่านชั้นบรรยากาศโลกและเกิดการหักเห ซึ่งแสงที่มีความยาวคลื่นสั้นอย่างแสงสีฟ้าและน้ำเงินนั้นจะถูกกระเจิงออกไป เหลือแสงที่มีความยาวคลื่นยาวอย่างแสงสีส้มหรือสีแดงที่ไปตกบนดวงจันทร์ เราจึงเห็นจันทรุปราคาเต็มดวงเป็นสีส้มหรือสีแดงอิฐ


แผนภาพอธิบายสาเหตุที่จันทรุปราคาเต็มดวงเป็นสีแดงอิฐ โดยแสงอาทิตย์เมื่อผ่านชั้นบรรยากาศของโลกแล้วเกิดการหักเห โดยคลื่นแสงสีฟ้ากระเจิงออก เหลือคลื่นแสงสีแดงหักเหไปตกที่ดวงจันทร์ (สดร.)



ที่มา
//www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9540000071961
//www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9540000072092











Create Date : 14 มิถุนายน 2554
Last Update : 14 มิถุนายน 2554 20:58:52 น. 2 comments
Counter : 1584 Pageviews.

 
สรุปว่า พุธที่ 15 - พฤหัสที่ 16
หรือ พฤหัสที่ 16 - ศุกร์ที่ 17 ?


โดย: tee IP: 223.204.128.18 วันที่: 15 มิถุนายน 2554 เวลา:1:00:57 น.  

 


โดย: สมภพ เจ้าเก่า วันที่: 15 มิถุนายน 2554 เวลา:11:59:27 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

scimovie
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 108 คน [?]




แหล่งรวบรวมความรู้ โปรแกรม เพลง หนัง เกมส์ วิทยาศาสตร์ ดูละคร เรื่องย่อ ภาพยนตร์ การเงิน และอื่นๆ อีกมากมาย สุดท้ายขอกำลังใจให้มีแรงอัพเดทตลอดๆ ครับ ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยียนกันครับ
Friends' blogs
[Add scimovie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.