ดาวน์โหลดโปรแกรม ดูละครย้อนหลัง อ่านเรื่องราวของความรู้รอบตัว วิทยาศาสตร์ ท่องเที่ยว สุขภาพ อาหาร รถยนต์ต่างๆ ไม่ทิ้งเรื่องราวความบันเทิงและเรื่องส่วนตัวอีกด้วย
Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2553
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
2 ธันวาคม 2553
 
All Blogs
 
พลูโตจะโดนโหวตกลับมาอยู่ระบบสุริยะ อีกครั้ง ?

รู้ไหมว่า? ใครฆ่าดาวพลูโต

“ดาวพลูโต” (Pluto) ที่เรารู้จักในฐานะ 1 ใน 9 ดาวเคราะห์แห่งระบบสุริยะมาเป็นเวลายาวนาน ก็ถูกปรับลดระดับลงเป็นดาวเคราะห์แคระ หลังจากการค้นพบ “อีริส” (Eris) ซึ่งทำให้เกิดการนิยามและจัดระเบียบวัตถุต่างๆ ในระบบสุริยะกันใหม่

ผลกระทบต่อนิยามของดาวพลูโต ในปี 2006 ทำให้ “ไมเคิล บราวน์” (Mike Brown) ผู้ค้นพบอีริสได้ติดอันดับ 1 ใน 100 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลของนิตยสารไทม์ พร้อมกันฉายาว่า “ชายผู้พิฆาตดาวพลูโต” เพราะนับจากนั้น เราจะต้องเรียกดาวพลูโตว่า “134340 พลูโต” อันเป็นวิธีเรียกขานวัตถุอื่นๆ บนท้องฟ้าที่ไม่ใช่ดาวเคราะห์

ดร.บราวน์วัย 45 ปี เป็นศาสตราจารย์ด้านดาวเคราะห์ ที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย (คาลเทค) สหรัฐฯ โดยเขาและทีมงานได้ค้นพบวัตถุพ้นดาวเนปจูน (Trans-Neptunian objects : TNO) แล้ว 14 ดวง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “อีริส”

นอกจากนี้ ชื่อของบราวน์ยังได้รับเกียรติให้เป็นชื่อดาวเคราะห์น้อย 1998 HQ51 ที่โคจรอยู่ในแถบดาวเคราะห์น้อยหลัก ซึ่งค้นพบในปี 1998 ว่า “11714 ไมค์บราวน์” (11714 Mikebrown)

อีกทั้งบราวน์กำลังจะวางแผงขายหนังสือ “How I Killed Pluto and Why It Had It Coming” ในวันที่ 7 ธ.ค.นี้



ไมเคิล บราวน์



หนังสือที่บราวน์เขียนถึงการค้นพบอีริส จนเกิดการจัดระเบียบดาวเคราะห์กันใหม่



พลูโตดาวสีน้ำตาล (NASA)



พลูโตจะโดนโหวตกลับ?

ดาวเคราะห์แคระน้อย “พลูโต” ซึ่งถูกอัปเปหิจากทำเนียบ “ดาวเคราะห์” ไปได้เพียง 4 ปี กำลังถูกผลักดันให้กลับเข้าสู่ดาวชั้นนำแห่งระบบสุริยะ โดยต้นเหตุยังคงมาจาก “อีริส” ดวงเดิม

ย้อนความกลับไปเมื่อปี 2006 ในวันที่สหพันธ์ดาราศาสตร์สากล หรือ ไอเอยู (International Astronomical Union : IAU) ได้จัดประชุมลำดับนิยามของดาวเคราะห์ใหม่ อันเป็นผลให้ “พลูโต" ถูกลดชั้นจากดาวเคราะห์เป็น "ดาวเคราะห์แคระ"

เหตุเพราะก่อนหน้านั้นเพียงปีเดียว มีการค้นพบดาว "2003 UB313” วัตถุพ้นดาวเนปจูนในย่านเดียวกับดาวพลูโต และเชื่อว่ามีขนาดใหญ่กว่ามาก จึงทำให้สถานภาพของพลูโตถูกสั่นคลอน

ไมเคิล บราวน์ นักดาราศาสตร์จากคาลเทค ผู้ค้นพบดาวใหม่นี้ ถึงกับระบุว่าเป็นดาวเคราะห์ดวงที่ 10 นั่นทำให้เหล่านักดาศาสตร์ต้องมาพิจารณากันว่า จะยกระดับดาวดวงใหม่ของบราวน์เป็นดาวเคราะห์ หรือถ้าไม่เช่นนั้นก็ต้องจัดประเภทใหม่ รวมถึงดาวพลูโตที่มีลักษณะใกล้เคียง และอยู่ในบริเวณเดียวกันด้วย

ที่ประชุมไอเอยูในปีนั้นจึงได้เคาะนิยาม "ดาวเคราะห์" ใหม่ออกมาว่าต้อง 1.โคจรรอบดวงอาทิตย์ 2.มีมวลมากพอที่จะมีแรงโน้มถ่วงดึงดูดตัวเองให้อยู่รูปร่างใกล้เคียงกับทรงกลม และ 3. มีวงโคจรที่ชัดเจนและสอดคล้องกับดาวเคราะห์ข้างเคียง

ทว่า เมื่อดาวพลูโตมีวงโคจรซ้อนทับกับวัตถุอื่นๆ ในแถบไคเปอร์ (Kuiper Belt) แนวน้ำแข็งบริเวณดาวเนปจูน จึงทำให้ทั้งพลูโตและ 2003 UB313 ถูกจัดชั้นต่อจากดาวเคราะห์ นั่นก็คือ “ดาวเคราะห์แคระ”

ส่วนดาวเคราะห์ในระบบสุริยะที่เราคุ้นเคยว่ามี 9 ดวงก็ลดเหลือลงเพียง 8 ดวงนับจากนั้น

ต่อมาดาว 2003 UB313 ที่บราวน์เรียกเล่นๆ ว่า “ซีน่า” ได้รับชื่อใหม่ว่า “อีริส” (Eris) ตามพระนามของเทพเจ้าแห่งความวุ่นวาย (เพราะการปรากฎตัวของอีริสทำให้ต้องมีการจัดนิยามวัตถุในระบบสุริยะกันใหม่)

เรื่องยังไม่จบเพียงแค่นั้น เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา นักดาราศาสตร์มีโอกาสวัดขนาดของอีริสอีกครั้ง โดยใช้เทคนิคการบัง (occultation) พร้อมกล้องโทรทรรศน์บนโลกถึง 3 ตัว ก็พบว่าอีริสนั้นมีขนาดเล็กกว่าที่เคยวัดไว้ ซ้ำยังใกล้เคียงกับพลูโตอีกด้วย

พลูโตมีรัศมีประมาณ 1,172 ก.ม. ขณะที่อีริสที่วัดขนาดใหม่หมาดๆ มีรัศมีประมาณ 1,170 ก.ม. แตกกต่างกันเพียง 2 ก.ม.เท่านั้น ข้อมูลจากบรูโน ซิการ์ดี (Bruno Sicardy) แห่งหอดูดาวในกรุงปารีส (Paris Observatory) ให้สัมภาษณ์ลงนิตยสารสกายแอนด์เทเลสโคป (Sky and Telescope Magazine)

ทว่า ที่น่าแปลกใจคือ ความหนาแน่นเฉลี่ยของพลูโตคือ 2.03 กรัม/ลบ.ม. ส่วนอีริสมีความหนาแน่น 2.5 กรัม/ลบ.ม. ซึ่งบราวน์ถึงกับเกิดความสงสัยว่าดาวทั้ง 2 ดวงเหมือนจะกำเนิดมาจากคนละแหล่ง แต่ไฉนถึงได้มาสถิตย์อยู่ในย่านเดียวกันได้

ข้อค้นพบใหม่ครั้งนี้ ทำให้ดาวพลูโตผู้ถูกลดชั้น ได้รับความสนใจอีกครั้ง มีข้อถกเถียงเพิ่มขึ้นอีกมากไม่ว่าจะเป็น...

จะนำพลูโตกลับมาขึ้นทำเนียบชั้นดาวเคราะห์เหมือนเดิมหรือไม่?

แล้ววัตถุที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ในแนววงโคจรเดียวกับดาวเนปจูนล่ะ?

หรือดาวเคราะห์ในระบบสุริยะที่มีเพียง 8 ดวงมานานกว่า 4 ปีก็เหมาะสมดีอยู่แล้ว?

ส่วนตัวของบราวน์ก็ยังคงเห็นด้วยที่พลูโต รวมถึงอีริสกลายเป็นดาวเคราะห์แคระ และยังมีวัตถุอีกจำนวนมากในแถบไคเปอร์ที่มีความแตกต่างจากดาวเคราะห์ทั้ง 8 ดวง

"เหมือนเป็นอุบัติเหตุทางประวัติศาสาตร์ ที่เราพบพลูโตไวมาก แต่หลังจากนั้นกว่าจะได้รู้จักเข้าจริงๆ ก็ใช้เวลาอีกยาวนาน" บราวน์บอกสเปซด็อทคอม ซึ่งเขาเชื่อว่าคงจะไม่มีใครเรียกร้องให้พลูโตกลับมาเป็นดาวเคราะห์เหมือนเดิม เพราะนักดาราศาสตร์ในปัจจุบัน ได้รู้จักพลูโตมากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก

"พวกเรามีการศึกษาที่ก้าวหน้าว่าระบบสุริยะเป็นอย่างไร พร้อมด้วยคุณลักษณะของวัตถุที่แปลก แตกต่างกันไปในระบบ ทำให้พวกเราสามารถทบทวนในสิ่งที่คนรุ่นก่อนทำผิดพลาดไว้"

ขณะที่ความเห็นของนักดาราศาสตร์หลายคนก็ชี้ว่า พลูโตควรอยู่ในประเภทที่ถูกต้อง เหมือนๆ กับวัตถุอื่นๆ ในแถบไคเปอร์ มากกว่าจะพยายามขึ้นไปอยู่ในทำเนียบดาวเคราะห์

อย่างไรก็ดี ยังมีนักดาราศาสตร์บางกลุ่มที่ยังคงค้างคาใจกับการจัดระเบียบดาวเคราะห์ใหม่ เพราะนิยามของไอเอยูยังไม่ชัดเจนพอ โดยถ้าใช้นิยามนี้อย่างเคร่งครัด ก็จะไม่มีดาวดวงใดเข้าข่ายดาวเคราะห์

ตามข้อคิดเห็นของ อลัน สเติร์น (Alan Stern) นักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ จากสถาบันวิจัยเซาธ์เวสต์ ในโคโลราโด สหรัฐฯ เห็นว่า ดาวเคราะห์คือวัตถุใดก็ตามที่เข้าข่าย 2 ข้อแรกตามไอเอยู ดังนั้นในมุมมองของเขา ทั้งพลูโตและอีริสก็สมควรจะเรียกว่า “ดาวเคราะห์”

สเติร์นยังอธิบายอีกว่า ในแถบไคเปอร์มีวัตถุที่มีความหลากหลาย วัตถุเหล่านั้นไม่ได้ก่อตัวมาในแบบที่เหมือนๆ กัน ซึ่งเป็นลักษณะที่พบได้ในดาวเคราะห์ อย่างดาวพุธ โลก และดาวอังคาร ต่างก็เป็นดาวหิน ส่วนแกนด้านในก็แตกต่างกันออกไป อย่างดาวพุธก็มีแกนใหญ่กว่าโลก ขณะที่โลกมีแกนใหญ่กว่าดาวอังคาร

“หลายคนคิดว่าดาวเคราะห์เป็นสิ่งพิเศษ จึงต้องการให้มีจำนวนน้อยๆ ไม่ใช่เหตุผลทางวิทยาศาสตร์” สเติร์นแสดงความเห็น พร้อมทั้งย้ำว่า บนท้องฟ้ายังมีดาวเคราะห์อีกเป็นจำนวนมาก ใหญ่บ้างเล็กบ้าง ทั้งมีขนาดใกล้โลก และเป็นดาวยักษ์ หลากหลายเกินกว่าจะคาดเดา

อย่างไรก็ดี ยังมียานนิวฮอไรซอนส์ (New Horizons) ที่กำลังเดินทางไกล มีเป้าหมายลงจอดที่ดาวพลูโตในปี 2015 เมื่อนั้นเราจะได้เจาะลึกถึงชั้นบรรยากาศของดาวพลูโต และข้อมูลอื่นๆ อย่างใกล้ชิดที่สุด นับตั้งแต่มีการค้นพบในปี 1930 ที่ผ่านมา และถึงเวลานั้นเรื่องราวของ “พลูโต” อาจได้ยกขึ้นมาถกเถียงกันอีกครั้ง.



ภาพจำลองพื้นผิวของพลูโต เต็มไปด้วยมีเทน (ESO)



ดาวพลูโตดวงกลาง เมื่อเทียบกับโลกสีน้ำเงิน (ขวา) และ UB313 ในปี 2005 (spaceref.com)



ยานนิวฮอไรซอนส์ออกเดินทางตั้งแต่ปี 2006 จะไปถึงพลูโตในปี 2015 (NASA)



ที่มา
ผู้จัดการออนไลน์


Create Date : 02 ธันวาคม 2553
Last Update : 2 ธันวาคม 2553 9:56:57 น. 2 comments
Counter : 1530 Pageviews.

 
ซับซ้อนซ่อนเงื่อนจริงๆ

ดาวพลูโตจะมีจุดจบยังไงนะ

แต่ไม่ว่าจะปลดหรือไม่ปลดมันลงจากตำแหน่ง มันก็ยังโคจรไปเหมือนเดิมเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลยนะ ว่ามั้ยครับ


โดย: สมภพ เจ้าเก่า วันที่: 2 ธันวาคม 2553 เวลา:18:13:16 น.  

 
ผมก็อยากให้มันกลับมานะครับ
คุณสมบัติของตัวมันเองก็ผ่านนะ
และมันเป็นดาวที่อยู่กับเรามานาน
ตลอดระยะเวลาที่ได้รู้จักมากว่า 80 ปีแล้ว


โดย: sunshine IP: 183.89.239.82 วันที่: 26 มกราคม 2554 เวลา:1:02:30 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

scimovie
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 108 คน [?]




แหล่งรวบรวมความรู้ โปรแกรม เพลง หนัง เกมส์ วิทยาศาสตร์ ดูละคร เรื่องย่อ ภาพยนตร์ การเงิน และอื่นๆ อีกมากมาย สุดท้ายขอกำลังใจให้มีแรงอัพเดทตลอดๆ ครับ ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยียนกันครับ
Friends' blogs
[Add scimovie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.