ดาวน์โหลดโปรแกรม ดูละครย้อนหลัง อ่านเรื่องราวของความรู้รอบตัว วิทยาศาสตร์ ท่องเที่ยว สุขภาพ อาหาร รถยนต์ต่างๆ ไม่ทิ้งเรื่องราวความบันเทิงและเรื่องส่วนตัวอีกด้วย
Group Blog
 
<<
กันยายน 2553
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
28 กันยายน 2553
 
All Blogs
 

พ่อแม่ลูก...จริงไหมพิสูจน์ได้ด้วยการตรวจ DNA

ดีเอ็นเอคำตอบสุดท้ายพิสูจน์พ่อ-แม่-ลูก
โดย...ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน

หากถอดรหัสดีเอ็นเอออกมาแล้ว จะสามารถยืนยัน “เอกลักษณ์” ของตัวเอง รวมทั้งพิสูจน์ความเชื่อมต่อระหว่าง “บรรพบุรุษ” และ “ทายาท” ได้....

"ผมตั้งใจจะไปตรวจดีเอ็นเอเร็วๆ นี้ ถ้าผลออกมาเป็นลูกผม ผมยินดี ถ้าผมทำจริง ผมยินดีรับ" ฟิล์ม-รัฐภูมิ โตคงทรัพย์

********************

"เคยมีความพยายามที่จะให้มีการตรวจดีเอ็นเอ แต่ว่าตอนนั้นได้ผ่านมาแล้ว มาตอนนี้ก็คือ หนูก็ได้บอกไปแล้วว่าอย่างนั้นหนูไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องขอความช่วยเหลือจากใคร หนูเลี้ยงลูกของหนูเองได้ เเพราะฉะนั้นไม่เป็นไรช่างมันค่ะ" แอนนี่ บรู๊ค

********************

"เรื่องของฟิล์มและแอนนี่ เป็นเรื่องส่วนตัวของ 2 คน ควรทำเรื่องราววันนี้ให้ดีถูกต้องเหมาะสมที่สุด อย่างน้อยเด็กควรได้รู้ว่าใครเป็นพ่อ ผู้ชายคนนึงหากมีส่วนทำให้เด็กคนนึงเกิดมา ก็ควรต้องรับผิดชอบ แต่หากผู้ชายคนนึงต้องยอมรับสิ่งนี้โดยที่ยังคาใจ ก็น่าเห็นใจ ความจริงจะปกป้องทุกคน" เฮียฮ้อ-สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์

********************

ตรวจดีเอ็นเอ คืออะไร? ยากง่ายหรือไม่? พิสูจน์ได้ไหมว่าใครเป็นพ่อ-แม่?

ดีเอ็นเอ หรือ กรดดีออกซีไรโบนิวคลีอิก (Deoxyribonucleic acid) หรือ สารพันธุกรรม เป็นกรดที่พบในเซลล์ (cell) ของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ภายในจะบรรจุข้อมูลทางพันธุกรรม ซึ่งมีลักษณะผสมผสานมาจากสิ่งมีชีวิตรุ่นก่อนๆ ไว้ และสามารถถ่ายทอดไปยังรุ่นถัดไปได้ โดยมีลักษณะรูปร่างเป็นเกลียวคู่ มีขา 2 ข้าง แต่ละข้างคือการเรียงตัวของนิวคลีโอไทด์ (Nucleotide) และ เบส ซึ่งการเรียงตัวของเบสนี่เองทำให้เกิดข้อมูลทางพันธุกรรมต่างๆ

นั่นหมายความว่าหากถอดรหัสดีเอ็นเอออกมาแล้ว จะสามารถยืนยัน “เอกลักษณ์” ของตัวเอง รวมทั้งพิสูจน์ความเชื่อมต่อระหว่าง “บรรพบุรุษ” และ “ทายาท” ได้

พล.อ.ต.นพ.วิชาญ เปี้ยวนิ่ม หัวหน้าหน่วยนิติเวช ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี อธิบายขั้นตอนการตรวจดีเอ็นเอเพื่อพิสูจน์ทราบพ่อแม่ลูกว่า เริ่มจากการเจาะเลือดหรือใช้วัสดุป้ายเยื้อบุที่กระพุ้งแก้ม เพื่อนำเซลล์ของคนทั้ง 3 คือ พ่อ แม่ ลูก ออกมาตรวจ

เมื่อตรวจสอบแล้วว่าในเซลล์ที่นำมานั้นมีปริมาณเพียงพอ คือมีดีเอ็นเอพอที่จะนำไปตรวจ ก็จะนำไปเข้าเครื่องอัตโนมัติ จากนั้นเครื่องจะประมวลผลออกมาเป็นตัวเลขและกราฟ โดย 1 ตำแหน่งจะมีตัวเลขกำกับ 2 ตัว ซึ่งผู้เชี่ยวชาญก็จะนำตัวเลขเหล่านั้นมาเปรียบเทียบกันระหว่าง พ่อ แม่ ลูก ว่าตรงกันหรือไม่ ทั้งนี้จะตรวจประมาณ 9 – 15 ตำแหน่ง

ตามหลักการแล้ว ไม่เกิน 1 วันก็จะสามารถอ่านผลได้ แต่ข้อเท็จจริงคือทุกโรงพยาบาลจะมีผู้มาตรวจเป็นจำนวนมาก ทำให้ส่วนใหญ่จะทราบผลใน 1 เดือน ส่วนราคาค่าบริการประมาณ 5,000 บาทต่อ 1 คน กรณีครอบครัวก็ 1.5 หมื่นบาท

“ถ้าผลตรวจออกมาแล้วจะไม่มีโอกาสคลาดเคลื่อนเลย แต่ปัญหาคือตอนที่นำเซลล์ไปตรวจนั้น มักจะมีปัญหาคือเอาไปไม่พอ ทำให้ต้องทำซ้ำๆ จนล่าช้า”นพ.วิชาญระบุ

พญ.คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม อธิบายในรายละเอียดเพิ่มเติมว่า การเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอ ได้จาก 2 ที่มา คือ บุคคล และวัตถุพยาน โดยในบุคคลนั้นจะได้จากเนื้อเยื่อของร่างกาย หรือเลือดและน้ำลาย รวมทั้งเยื้อบุในกระพุ้งแก้ม

ส่วนวัตถุพยาน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือทางตรง และจากการล้างออก โดยทางตรงคือเก็บจากการขูดคราบเลือดหรือก้อนชิ้นเนื้อจากร่างกาย ส่วนการล้างออกนั้น อาจจะล้างจากก้นบุหรี่ หลอดกาแฟ เหงื่อในเสื้อผ้า คราบอสุจิ ทั้งนี้จะต้องเก็บให้ห่างจากความเปียกชื้น และอากาศร้อน มิเช่นนั้นดีเอ็นเอจะสลายไป

สำหรับขั้นตอนการตรวจ นักวิทยาศาสตร์จะใช้น้ำยาเคมีตรวจพิสูจน์ก่อนว่าเป็นดีเอ็นเอจากอะไร จากนั้นก็ใช้น้ำยาอีกชนิดหนึ่งสกัดดีเอ็นเอออกมา นำดีเอ็นเอมาวัดปริมาณว่าเพียงพอต่อการตรวจหรือไม่ ถ้าพอก็นำเข้าเครื่องตรวจสอบพิสูจน์ทราบ แล้วตัวเลขก็จะแสดงออกมาหลังประมวลผลเสร็จสิ้น โดยมีผู้เชี่ยวชาญเป็นคนอ่านค่า

“เราก็เอาค่านี้ไปเทียบกับผู้ต้องสงสัยได้เลยว่าตรงกับเขาหรือไม่ หรือนำไปเทียบกับฐานข้อมูลบุคคลที่บางหน่วยงานมี หรือในส่วนของการตรวจพ่อแม่ลูก ก็เทียบดูว่า ลูกจะมีดีเอ็นเอของพ่อครึ่งหนึ่ง แม่อีกครึ่งหนึ่ง ตรงนี้จะเห็นได้อย่างชัดเจน”หมอพรทิพย์ระบุ

ดาราไทยใครเป็นใคร!ในอดีตที่เคยผ่านการตรวจดีเอ็นเอ

หากตรวจสอบข้อมูลย้อนหลัง ฟิล์มไม่ใช่ผู้ชายคนแรกในวงการบันเทิง ที่ตกอยู่ในชะตากรรม “ท้องไม่รับ ทับไม่ร้อง จนต้องขอตรวจดีเอ็นเอ” ก่อนหน้านี้อดีตนักร้องดัง เจ-เจตริน วรรธนะสิน ก็เคยสร้างความความฮือฮาไปทั่ววงการบันเทิงมาแล้ว เมื่อถูกขุดคุ้ยจนต้องออกมายอมรับว่า เป็นพ่อของ น้องเจด้า ที่เกิดกับรองนางสาวไทย จิดาภา ณ ลำเลียง

ยังมีรายของนักร้องวงร็อกชื่อดังขวัญใจวัยรุ่นนาม แด็กส์ บิ๊กแอส ก็เคยถูก น้องฝ้าย นางแบบหนังสือปลุกใจเสือป่าออกมาเปิดตัวว่า ตุ๊บป๋องกับหนุ่มแด๊กส์ จนต้องโร่ขอตรวจดีเอ็นเอ ร้อนถึง ปวีณา หงสกุล ต้องออกโรงมาปกป้องและค้นหาความจริง แต่ผลพิสูจน์ออกมาปรากฏว่า ดีเอ็นเอไม่ตรงกับนักร้องดัง ในช่วงมีคดีความชื่อเสียงของแด๊กส์ป่นปี้ไปบ้าง แต่เมื่อผลออกมาคลีนชื่อเสียงความโด่งดังของแด๊กส์ บิ๊กแอส ก็กู่กลับมาเหมือนเดิม

ผิดกับรายของนักร้องลูกทุ่งคนดัง เจ้าของลูกคอหลายชั้น มนต์สิทธิ์ คำสร้อย ถ้ายังจำกันได้ เขาถูกหางเครื่องสาวออกมาเรียกร้องให้รับเป็นพ่อ จนต้องใช้วิธีตรวจดีเอ็นเอเหมือนกัน ผลออกมามนต์สิทธิ์กลายเป็นพ่อคนโดยความประมาทไปโดยปริยาย กลายเป็นสมภารหม่ำไก่วัดซะงั้น

หากย้อนไปก่อนหน้าโน้น สีกาอรปวีณา ก็เคยออกมาเรียกร้องให้ พระยันตระ อมโรภิกขุ พระนักเทศน์รูปงามชื่อเสียงโด่งดังระดับประเทศ ไปตรวจดีเอ็นเอพิสูจน์ความเป็นพ่อลูกเหมือนกัน หลังจากฝ่ายหญิงออกมาร้องเรียนมีลูกกับพระ จนพระยันตระต้องระหกระเหิ

หนีไปอยู่ต่างประเทศ หลบหน้าหลบตาญาติโยมและสังคม จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่กลับมาเมืองไทย

อย่างไรก็ตาม ฟิล์มกลายเป็นดาราคนดังรายล่าสุด ที่ออกมาเรียกร้องให้ฝ่ายหญิงและลูกชายตรวจดีเอ็นเอ เพราะไม่แน่ใจว่าเด็กน้อยที่ออกมาลืมตาดูโลก จะใช่เลือดเนื้อเชื้อไขของตนเองหรือไม่

ส่วนในเชิงข้อมูลทางวิชาการนั้น ผมได้ค้นเจอมาว่า

DNA ย่อมาจาก deoxyribonucleic acid ซึ่งเป็นสารพันธุกรรม ซึ่งพบอยู่ในนิวเคลียสของเซลล์ทุกเซลล์ในร่างกาย DNA ที่อยู่ในนิวเคลียสจะได้รับถ่ายทอดครึ่งหนึ่งมาจากพ่อ และอีกครึ่งหนึ่งจากแม่ DNA จะไม่ซ้ำกันยกเว้นในกรณีแฝดที่มาจากไข่และอสุสิตัวเดียวกัน หรือที่เรียกว่าแฝดแท้นั่นเอง และพี่น้อง พ่อแม่เดียวกันก็จะไม่มี DNA ที่ไม่เหมือนกันด้วย เรานำเอาความไม่เหมือนกันนี้ เอามาใช้ประโยชน์ทางด้านนิติเวชได้ ซึ่งนิยมกันเอามาใช้ในการพิสูจน์ตัวบุคคลนั้นเอง ทีนี้เราจะรู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นใคร ประการแรกเราต้องเก็บตัวอย่าง DNA ของผู้ที่ต้องการจะพิสูจน์เสียก่อน ซึ่งสามารถเก็บตัวอย่างได้หลายชิ้นส่วน เช่นเลือด เนื้อเยื้อ, กระดูก, เส้นผม หรือแม้แต่ฟัน จากนั้นเราก็เก็บตัวอย่าง DNA จากพ่อและแม่ มาทำการ match ข้อมูล หรือการเทียบข้อมูลนั้นเอง ตรวจวิเคราะห์ DNA

สิ่งสิ่งตรวจที่นิยมคือ เลือดครบส่วนเจาะใส่สารกันเลือดแข็ง (EDTA BLOOD)

ส่วนของ DNA ที่นำมาทำการศึกษาวิเคราะห์ ได้แก่

1. chromosomal DNA หรือ nuclear DNA (nDNA): เทคนิคการวิเคราะห์มีตั้งแต่การวิเคราะห์ลายพิมพ์นิ้วมือของ nDNA และส่วน VNTRs ปัจจุบันนำเทคนิคการเพิ่มขยาย DNA ด้วย polymerase chain reaction ร่วมกับการวิเคราะห์ความหลากลายอัลลีลของ Dna ที่มีลำดับเบสซ้ำๆ หรือ short tandem repeats ซึ่งมีกระจายอยู่ทั่วทุกโครโมโซมเพื่อพิสูจน์บุคล และพิสูจน์ความเป็นพ่อ แม่ ลูก

การวิเคราะห์ short tandem repeats (STRs) ที่อยู่บน Y-chromosome ใช้สำหรับการพิสูจน์พ่อ ลูก และเครือญาติทางพ่อ แต่ไม่อาจใช้พิสูจน์ความเป็นครอบครัว พ่อ แม่ ลูก

2. mitochondrial DNA (mtDNA) เป็น DNA นอกนิวเคลียส อยู่ใน mitochondria ใช้ประโยชน์เพื่อการพิสูจน์ แม่ ลูก และเครือญาติทางแม่ ไม่อาจพิสูจน์ความเป็นครอบครัว พ่อ แม่ ลูก

อย่างไรก็ตามแม้ว่าการพิสูจน์บุคคลในปัจจุบันมุ่งเน้นการตรวจวิเคราะห์ DNA แต่การตรวจบุคคลทางกายภาพ เช่น ลายนิ้วมือจากสถานที่เกิดเหตุ ลายนิ้วมือจากศพ มีข้อได้เปรียบการตรวจ DNA โดยเฉพาะกรณีการพิสูจน์คู่แฝดจากไข่ใบเดียวกัน เนื่องจากการตรวจ DNA ในคู่แฝดซึ่งตรวจด้วยทุกเทคนิคที่ใช้กันในปัจจุบัน ไม่สามารถแยกหรือบอกความแตกต่างของคู่แฝดไข่ใบเดียวกันได้

ในการตรวจดีเอ็นเอนั้นสามารถทำได้ 2 วิธีด้วยกัน กล่าวคือ

1.เทคนิคดั้งเดิม อาร์เอฟแอลพี (RFLP,Restriction Enzyme Fragment Length Polymorphism) ซึ่งค้นพบโดย เอ็ดเวิร์ด เซาร์เทอน (Edward Southern) นักเคมีชีวภาพ ชาวสก็อตแลนด์ ในช่วงทศวรรษที่ 1970

2.เทคนิค พีซีอาร์ (PCR,Polymerase Chain Reaction)
เป็นเทคนิคสำหรับเพิ่มปริมาณดีเอ็นเอภายในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งพัฒนาขึ้นโดย Kary Mullis และคณะ แห่งบริษัท Cetus Corporation ในช่วงทศวรรษที่ ๑๙๘๐

ข้อดีของเทคนิคนี้ คือ สามารถเพิ่มปริมาณดีเอ็นเอได้อย่างเฉพาะเจาะจง โดยมีขั้นตอนการทำงานน้อย และใช้เวลาไม่นาน PCR เป็นเทคโนโลยีที่สำคัญมาก โดยสามารถนำไปใช้ได้กับงานวิจัยทางชีวโมเลกุล และพันธุวิศวกรรม เช่น การเพิ่มปริมาณยีน (gene cloning) การวิเคราะห์ลำดับเบสของยีน (gene sequencing) การสร้าง DNA probe และการวิจัยประยุกต์ เช่น การสร้างยีนกลายพันธุ์ (PCR based mutagenesis) การศึกษาการแสดงออกของยีนจาก mRNA การตรวจหาดีเอ็นเอของไวรัสซึ่งเป็นสาเหตุของโรค เป็นต้น

หลักการพื้นฐานของ PCR คล้ายกับการจำลองตัวเองของดีเอ็นเอโดยใช้ดีเอ็นเอสายหนึ่งเป็นต้นแบบในการสร้างดีเอ็นเอสายใหม่ เอนไซม์ ดีเอ็นเอโพลีเมอเรส และอุณหภูมิที่ทำให้ดีเอ็นเอแยกจากกันหรือจับคู่กันใหม่ ซึ่งปฏิกิริยา PCR โดยจะทำหมุนเวียนต่อเนื่องกันไป ภายใต้สภาวะที่เหมาะสมของแต่ละขั้นตอน

ทั้งสองเทคนิคใช้วิธีการแยกลำดับดีเอ็นเอที่แตกต่างกัน และบันทึกไว้ในแบบที่สามารถมองเห็นได้

ซึ่งเทคนิค RFLP จะสามารถแสดงผลได้ชัดเจนกว่า เทคนิค PCR แต่ว่าต้องใช้จำนวนตัวอย่างมากกว่า และใช้ระยะเวลานานกว่ามาก ซึ่งเทคนิค RFLP ใช้ตัวอย่างถึง 20–50 นาโนกรัม และใช้ระยะเวลานานหลายสัปดาห์ เทคนิคนี้จะให้แผนที่ DNA ขึ้นมาคล้ายบาร์โค๊ด

ในขณะที่เทคนิค PCR ใช้ตัวอย่างเพียง 2 นาโนกรัม และใช้ระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน เทคนิคนี้เป็นเทคนิคที่ใช้กันทั่วไปเพราะสามารถทำเป็นเครื่องตรวจวิเคราะห์ DNA อัตโนมัติได้ การพิสูจน์บุคคลจากสึนามิโดยทีมงานคนไทยก็ใช้วิธีนี้

ทั้งนี้การกำหนดว่าจะใช้เทคนิคใดขึ้นอยู่กับตัวอย่างที่ได้มา ถ้าหากเป็นตัวอย่างที่คุณภาพดีและใหม่ ผู้วิจัยมักจะใช้เทคนิค RFLP ซึ่งจะได้ผลที่ชัดเจนแน่นอนกว่า

ในการแปลและวิเคราะห์ข้อมูลของดีเอ็นเอนั้นจำเป็นต้องใช้วิธีการทางสถิติ พันธุกรรมประชากร และทฤษฎีความน่าจะเป็นมาประยุกต์ใช้กับผลการวิเคราะห์ที่ได้จากห้องทดลอง โดยหลักการแล้วนักวิจัยจะทดสอบว่าตัวอย่างที่ได้จากคนที่ 1 กับ คนที่ 2 ซึ่งอาจจะเป็นพ่อกับลูกกันมาเปรียบเทียบโดยการสุ่มตัวอย่างกับประชากรทั่วไป ซึ่งโดยหน่วยวัดโดยทั่วไปแล้วจะแสดงให้เห็นถึง 1 ต่อ 5,000,000 คน ซึ่งหมายความว่า ในจำนวนคน 5,000,000 คนนั้น มีเพียงสองตัวอย่างนี้เท่านั้นที่มีลักษณะทางพันธุกรรมดีเอ็นเอเหมือนกัน ซึ่งสามารถวิเคราะห์ได้ว่ามีโอกาสเป็นพ่อ-ลูกกัน ซึ่งในขณะที่การตรวจพิสูจน์โดยตัวอย่างเลือดที่ทำกันโดยทั่วไปนั้นสามารถบอกได้เพียงหน่วย 1 ต่อ 200 เท่านั้น

โดยสรุปแล้วการตรวจพิสูจน์ความสัมพันธ์ของบุคคลทางพันธุกรรมดีเอ็นเอนั้น เป็นวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายทั่วโลก ซึ่งเป็นวิธีการตรวจหาความจริงอย่างมีหลักการและขั้นตอนที่รัดกุม จึงสามารถอ้างได้ว่าเป็นหลักฐานแบบหนึ่งซึ่งสามารถยืนยันถึงความสัมพันธ์ของบุคคลได้เป็นอย่างดี

การสรุปผลต้องไม่มีข้อขัดแย้งตามเกณฑ์ คือ จะต้องตรงกันทั้งสิบตำแหน่ง เช่นในการพิสูจน์ พ่อ - แม่ - ลูก ผลการตรวจที่จะบอกว่า เป็นลูกแน่นอนนั้น ต้องตรวจพบ DNA ของลูกมาจาก พ่อ และแม่ อย่างละ 50% ทั้งสิบตำแหน่ง

ตัวอย่างผู้ที่มาตรวจ เป็นแขกพาลูกซึ่งโตแล้ว มาตรวจขอพิสูจน์เพียงเพื่อเป็นหลักฐานประกอบในการโอนสัญชาติ

ปรากฏว่าผลการตรวจออกมาแปลก เพราะลูกมี DNA ไม่เหมือนฝ่ายชายเพียงหนึ่งในสิบตำแหน่ง พอคุณหมอลองขยายการตรวจออกไปอีกก็พบว่า ลูกมี DNAต่างกับพ่อ เพียงสองใน 16 ตำแหน่ง ซึ่งแสดงว่าไม่ใช่พ่อแน่นอนค่ะ แต่คงใกล้เคียงพ่อมากๆทีเดียวค่ะ เพราะส่วนใหญ่ คนที่ไม่ใช่พ่อ มักจะมี DNA แตกต่างกัน 5-6 จุดขึ้นไป

**มาตรฐานสากลในการตรวจ DNA ควรดำเนินการตรวจอย่างน้อย 10 ตำแหน่งขึ้นไป อเมริกาได้กำหนดให้ตรวจอย่างน้อย 13 ตำแหน่งและกำลังจะขยับไปเป็น 16 ตำแหน่ง สำหรับประเทศไทยหน่วยงานที่รับผิดชอบบางหน่วยงานตรวจเพียง 1 ตำแหน่ง แต่บางหน่วยงานใช้ 6 ตำแหน่ง ทำให้มีปัญหาในเรื่องของความเชื่อถือ

**ปกติการตรวจ DNA สามารถตรวจได้จากเลือด โดยมีวิธีการตรวจเรียกว่า Electrophoresis มีการตรวจโดยการเทียบรหัสทางพันธุกรรมวัตถุประสงค์ของการตรวจเช่นดูว่าเป็นพ่อแม่ลูก หาความผิดปกติของยีนหรือโรคบางชนิด หาความผิดปกติของทารกในครรภ์ เป็นวิธีการตรวจที่ยืนยันรหัสทางพันธุกรรมได้ดีในขณะนี้

สามารถตรวจได้ที่กรุงเทพ. ก็มีดังนี้
1.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม
2.สถาบันนิติเวชวิทยา สำนักงานแพทย์ใหญ่ สำนักงานกรมตำรวจแห่งชาติ
3.ภาควิชา นิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล
4.หน่วยมนุษย์พันธุศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ในส่วนของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม
แต่ควรสอบถามและนัดล่วงหน้าถึงช่วงเวลาที่ตรวจได้ก่อนไป

หน่วยมนุษย์พันธุศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ตำแหน่งสถานที่
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
270 ถนนพระราม 6 แขวง ทุ่งพญาไท เขต ราชเทวี กรุงเทพฯ
อาคาร 1 ชั้น 1 หลังลิฟท์ สีแดง
โทร. 02- 201-1145, 02- 201-1186 FAX : 02- 201-1145
เปิดบริการ จันทร์ - ศุกร์ เวลา 8.30 น.- 14.00 น.
บุคคลที่ต้องการตรวจจะต้องเดินทางไปตรวจพิสูจน์ ณ.หน่วยนั้นๆตั้งอยู่เท่านี้ และพร้อมกับถ่ายรูปและทำประวัติการตรวจ เนื่องจากทางหน่วยไม่รับการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างทางไปรษณีย์ เพื่อป้องกันผลผิดพลาดและเกิดเป็นคดีความฟ้องร้องภายหลังได้ ทราบผลการตรวจภายใน 1 เดือน

หลักฐานที่ต้องใช้คือ
1.ใบยินยอมให้ทำการตรวจพิสูจน์ความสัมพันธ์ทางมารดาบิดาและบุตร
2.สำเนาทะเบียนบ้านพร้อมตัวจริง ทั้งชายและหญิงรวมไปถึงบุตร
3.สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนพร้อมตัวจริง ทั้งชายและหญิง
4.สูติบัตร ( บุตร)
5.หมายศาล (หากมีคำสั่งของศาลให้ดำเนินการตรวจ)

ค่าตรวจวิเคราะห์ (เฉพาะที่ส่งตรวจที่ หน่วยมนุษย์พันธุศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ส่งตรวจที่อื่นๆราคาอาจแตกต่างไปจากนี้)

- เพื่อพิสูจน์ความสัมพันธ์ทางมารดาและบุตร ประมาณ 5,000 บาท
- เพื่อพิสูจน์ความสัมพันธ์ทางบิดา,มารดาและบุตร ประมาณ 6,500 บาท

ข่าวจาก
//www.posttoday.com
ข้อมูลจาก
//nampadlab.igetweb.com/index.php?mo=14&newsid=79430#




 

Create Date : 28 กันยายน 2553
0 comments
Last Update : 28 กันยายน 2553 16:53:22 น.
Counter : 5207 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


scimovie
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 108 คน [?]




แหล่งรวบรวมความรู้ โปรแกรม เพลง หนัง เกมส์ วิทยาศาสตร์ ดูละคร เรื่องย่อ ภาพยนตร์ การเงิน และอื่นๆ อีกมากมาย สุดท้ายขอกำลังใจให้มีแรงอัพเดทตลอดๆ ครับ ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยียนกันครับ
Friends' blogs
[Add scimovie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.