Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2552
 
6 กุมภาพันธ์ 2552
 
All Blogs
 

จุดอ่อนของห้องน้ำ

จุดอ่อนของห้องน้ำ

ปัญหาต่างๆในห้องน้ำคงเป็นเรื่องน่ากลุ้มใจ สำหรับเจ้าของบ้านหลายๆคน
ทั้งการรั่วซึม กลิ่นไม่พึงประสงค์ แสงสว่างไม่เพียงพอ ฯลฯ
ซึ่งปัญหาเหล่านี้มีการหยิบยกมาพูดกันมากมายตามยุคสมัยของบ้าน และสุขภัณฑ์ที่แตกต่างกันไป
และครั้งนี้เราขอนำเรื่องจุดอ่อนของห้องน้ำที่สำคัญๆ รวมถึงแนวทางการป้องกันมานำเสนอ ดังนี้


1. "ส้วมเต็ม-ตัน"
สาเหตุเกิดจากการทิ้งสิ่งของลงไปอุดตัน การฝังบ่อบำบัดในระดับที่เสมอหรือสูงกว่าโถ
บ่อบำบัดมีขนาดเล็กไม่พอกับจำนวนผู้ใช้
กรณีที่ใช้บ่อเกรอะ-บ่อซึม ดินรอบๆบ่ออาจชุ่มน้ำเกินไป น้ำจึงไหลย้อนกลับเข้าบ่อ ทำให้ส้วมเต็มบ่อยๆ
การไม่ได้ติดตั้งท่อระบายอากาศในท่อส้วม หรือท่อระบายอากาศอุดตัน
เมื่อเวลาที่ของเสียย่อยสลาย จะมีก๊าซเกิดขึ้น แล้วไม่มีทางระบายออก เป็นสาเหตุของการกดน้ำไม่ลง



2. "กลิ่นไม่พึงประสงค์"
สาเหตุหลักๆที่พบมักเกิดจาก
- กลิ่นจากท่อระบายน้ำที่พื้น น้ำที่ขังอยู่ภายในท่อจะเป็นตัวดักกลิ่น
แต่ถ้าปล่อยให้น้ำแห้งกลิ่นจะย้อนขึ้นมา จึงต้องหมั่นเติมน้ำอยู่เสมอ

- กลิ่นอับในห้องน้ำ มาจากความชื้นที่ระบายออกไม่ได้หรือไม่ทัน และการที่แสงสว่างส่องถึงได้ยาก
วิธีแก้ไข คือทำช่องบานเกล็ดระบายอากาศที่ประตูห้องน้ำให้อากาศไหลเวียน
หรือติดตั้งพัดลมดูดอากาศ ทั้งชนิดติดผนังหรือติดฝ้าเพดาน
ซึ่งจะช่วยให้ห้องไม่มีกลิ่นอับ และยังขจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ หลังการใช้ห้องน้ำให้หายไปโดยเร็วอีกด้วย

- กลิ่นที่เกิดจากระดับน้ำที่คอโถสุขภัณฑ์ท่วมไม่พอ เป็นสาเหตุให้กลิ่นย้อนขึ้นมา
ให้ตรวจที่ระดับลูกลอยในโถเก็บน้ำอาจมีปัญหา ทำให้น้ำไม่พอตามปริมาณที่กำหนด
หรือปัญหาวาล์วปล่อยน้ำเข้าโถชำรุด ทำให้น้ำไหลเข้าไม่พอก็เป็นได้



3. "ห้องน้ำมืดทึบ"
ห้องน้ำที่มีแสงสว่างน้อยเกินไป อาจทำให้สิ้นเปลืองการใช้พลังงานไฟฟ้า
และยังเป็นสาเหตุหนึ่งของความอับชื้นในห้องน้ำด้วย

- กรณีที่เริ่มออกแบบบ้าน แนะนำว่าถ้าเป็นไปได้ควรวางตำแหน่งของห้องน้ำไว้ทางทิศตะวันตก
เพื่อให้โดนแสงแดดในช่วงบ่าย ห้องน้ำจะแห้งอยู่เสมอ และยังช่วยกันความร้อนให้กับห้องอื่นๆของบ้านด้วย

- ถ้าสามารถทำช่องแสงบนหลังคาให้แสงส่องผ่านลงสู่ห้องน้ำได้ จะทำให้ห้องสว่างและแห้ง

- การเจาะช่องแสงห้องน้ำในปัจจุบัน ไม่จำเป็นจะต้องเจาะให้พ้นจากระดับสายตาที่ประมาณ 1.70 เมตร
แต่สามารถเจาะช่องแสงได้หลากหลายรูปแบบและตำแหน่ง
ทั้งแบบยาวจรดพื้นกรุลูกฟักกระจกฝ้า หรือการทำผนังอิฐแก้วเป็นช่องแสงแทนก็ได้

Tip
การก่อผนังแยกส่วนแห้งกับส่วนเปียก ในบางครั้งไม่จำเป็นต้องก่อทึบสูง1.80 เมตร เสมอไป
เราอาจก่อทึบแค่ระดับ 80 เซนติเมตร จากพื้น
แล้วส่วนถัดขึ้นไปอาจกรุกระจกแทนก็ได้ จะช่วยให้ห้องดูโล่งและสว่างมากขึ้น
หรือการกรุผนังด้วยอิฐแก้วแทนช่องแสง จะช่วยให้แสงสว่างส่องเข้าได้มากขึ้น
และยังป้องกันการมองเห็นจากภายนอกได้ด้วย



4. "สุขภัณฑ์ไม่สะดวกต่อการใช้งาน"
ปัญหาที่พบ เช่น การวางสุขภัณฑ์ผิดตำแหน่งทำให้ใช้งานไม่สะดวก พื้นที่ใช้งานคับแคบ
ในส่วนนี้ควรคำนึงถึงการจัดแปลนที่ถูกต้อง
และการเตรียมขนาดพื้นที่ที่เหมาะสมกับการติดตั้งสุขภัณฑ์แต่ละชนิด ซึ่งควรเริ่มทำตั้งแต่การออกแบบ
หากวางผังหรือกำหนดพื้นที่ติดตั้งสุขภัณฑ์ไม่เหมาะสม การแก้ปัญหาในภายหลังก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก
เพราะต้องรื้อระบบท่อต่างๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อโครงสร้าง หากต้องมีการสกัดเจาะ



5. "น้ำรั่วน้ำซึม"
ในที่นี้จะกล่าวถึงการรั่วซึมของงานระบบท่อ ซึ่งแบ่งได้เป็นสองส่วนใหญ่ๆ ดังนี้
- ระบบน้ำดี หรือน้ำประปาที่เรานำมาใช้ ส่วนนี้มักไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องท่อตัน
เนื่องจากมีแรงดันท่อทำให้น้ำไหลออกมาเมื่อเปิดใช้
แต่ปัญหาที่พบบ่อยๆคือ การรั่วซึมตามรอยต่อต่างๆ เมื่อกาวต่อท่อพีวีซีเสื่อมสภาพ

- ระบบน้ำทิ้ง คือท่อระบายน้ำที่ใช้แล้วซึ่งมักมีเศษสิ่งปฏิกูลต่างๆ เช่น คราบสบู่ เส้นผม กระดาษชำระ ฝุ่นผง
รวมทั้งเศษตะกอนต่างๆที่มากับน้ำ วิธีสังเกตง่ายๆเมื่อเกิดการอุดตันคือ เมื่อใช้งาน น้ำจะระบายออกได้ช้า
ควรแก้ไขด้วยการถอดข้อต่อท่อออกมาทำความสะอาด และหมั่นดูแลรักษาบ่อยๆ นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นๆอีก
เช่น การใช้ท่อระบายน้ำที่มีขนาดไม่ได้มาตรฐาน โดยทั่วไปท่อน้ำทิ้งควรมีขนาดไม่ต่ำกว่า 2.50 นิ้ว
ท่อโสโครกควรใช้ขนาด 4 นิ้ว ควรเดินท่อให้ลาดเอียงตามมาตรฐานที่กำหนดเป็นอย่างน้อย
แต่ถ้าลาดเอียงได้มาก การอุดตันจะยิ่งน้อยลง และที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ ต้องมีช่วงต่อหักงอให้น้อยที่สุด

Tip
ปัญหาการรั่วซึมที่น่ากลัวที่สุดอีกอย่างหนึ่ง คือการรั่วซึมจากห้องน้ำชั้นบนลงสู่ชั้นล่าง
ซึ่งการแก้ไขให้ได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์เป็นเรื่องยาก เราควรป้องกันแต่แรกจะดีกว่า
โดยเฉพาะการรั่วซึมจากใต้อ่างอาบน้ำซึ่งเป็นส่วนที่เรามองไม่เห็น
ฉะนั้นจึงควรจัดเตรียมพื้นใต้อ่างให้ลาดเอียงไปสู่ท่อระบายน้ำ และฉาบปูนขัดมันกันซึมเสียก่อน
เพื่อให้แน่ใจว่าน้ำจากอ่างอาบน้ำจะไม่รั่วซึมไปยังห้องข้างล่าง



6. "ปัญหาอื่นๆ"
นอกจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีจุดอ่อนที่เรามองข้ามหรือคาดไม่ถึงอีก เช่น
- ปัจจุบันเรานิยมติดตั้งเครื่องทำน้ำร้อนในห้องน้ำกันมากขึ้น
ทั้งชนิดหม้อต้มสำหรับใช้ในปริมาณมากหรือหลายๆจุด และชนิดติดตั้งเฉพาะจุด
บางครั้งเราลืมนึกถึงการเตรียมพื้นที่ที่จะติดตั้ง ซึ่งอาจส่งผลต่อความสวยงามและความปลอดภัยแก่ตัวผู้ใช้

และสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ
ระบบท่อจ่ายน้ำร้อนจากเครื่องไปยังก๊อกผสม ต้องเดินท่อทองแดงแยกจากท่อน้ำดีเสมอ

- ควรเลือกซื้อสุขภัณฑ์ก่อนการเทพื้นห้องน้ำ
เพราะแต่ละยี่ห้อจะมีระยะ หรือตำแหน่งการวางท่อเข้าสุขภัณฑ์แตกต่างกัน
และควรเลือกซื้ออุปกรณ์ประกอบไปพร้อมกับการซื้อสุขภัณฑ์ เพื่อป้องกันปัญหาติดตั้งไม่ได้เพราะขนาดต่างกัน

- ในบางครั้งเรามักลืมนึกถึงเรื่องการซ่อมบำรุงในภายหลัง
จึงควรทำช่องเปิดใต้ฝ้าเพดาน เพื่อให้ขึ้นไปดูแลรักษา หรือหาจุดรั่วซึมของระบบท่อต่างๆได้ง่าย
และควรเตรียมช่องเดินท่อทางตั้ง เพื่อความเรียบร้อยและช่วยป้องกันการเกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์
ในกรณีที่ท่อเกิดการรั่วซึม พร้อมทำประตูเปิดปิดสำหรับการเข้าไปบำรุงรักษาด้วย


ข้อมูลอ้างอิง :
- คู่มือการจัดและตกแต่งห้องน้ำ เล่มที่ 1-3 สำนักพิมพ์บ้านและสวน
- ร้อยพันปัญหาในงานก่อสร้าง สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์
- ARCHITECTS DATA Granada Publishing


เรื่อง : "ศุภวัฒน์ อริญชยวัฒน์"
ที่มา : //www.baanlaesuan.com
ภาพจาก : //www.krystynawojcik.co.uk


สารบัญ ตกแต่งบ้าน และ จัดสวน




 

Create Date : 06 กุมภาพันธ์ 2552
1 comments
Last Update : 28 เมษายน 2553 0:57:36 น.
Counter : 1898 Pageviews.

 

ดีจังเลยค่ะ หวานกะลังจะสร้างบ้านใหม่พอดี ได้ความรู้เพิ่มอีก
ขอบคุณนะค๊ะ

 

โดย: หวานเย็น (Phumpanit ) 6 กุมภาพันธ์ 2552 12:58:39 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.