ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always be loved.
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2564
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
12 มิถุนายน 2564
 
All Blogs
 

ปราสาทบันทายสรี

วิจิตรแห่งไกรลาส ที่ “ปราสาทบันทายสรี” 

“ปราสาทบันทายสรี” หรือ “บันเตียเสรย” (Bantãy Srĕi) ปรากฏนามในจารึกว่า “อิศวรปุระ” (Īśvarapura) ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองเสียมเรียบไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 25 กิโลเมตร ใกล้กับเขาพนมได สร้างขึ้นครั้งแรกในยุคของ “พระเจ้าราเชนทรวรมัน” (Rajendravarman) ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 15 โดยพราหมณ์-ราชครู “ยัชญยวราหะ” (Yajñavarāha) ซี่งในครั้งแรกสร้างนั้น ตัวปราสาทคงเป็นเพียงปราสาทก่ออิฐ 3 หลัง มีโคปุระก่ออิฐและกำแพงอิฐล้อมรอบตามสถาปัตกรรมที่นิยมในยุคศิลปะแบบแปรรูป (Pre Rup) อย่างที่คงหลงเหลือร่องรอยเป็นซากอาคารโคปุระหลังเดิมให้เห็นอยู่ทางด้านตะวันตกของกลุ่มปราสาทประธานชั้นใน
.
ต่อมาในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 16 “พระเจ้าชัยวรมันที่ 5” (Jayavarman V) ลูกศิษย์เอกของพราหมณ์ยัชญยวราหะขึ้นครองอาณาจักร จึงได้มีการก่อสร้างปราสาทบันทายสรีขึ้นใหม่ด้วยหินทรายเนื้อละเอียดสีออกแดงทั้งหมด ตามคติฮินดูไศวะนิกาย - ตรีมูรติ (Shaivism - Trimūrti) ทับซ้อนบนปราสาทอิฐหลังเดิม ประดิษฐานพระศิวลึงค์ “ตรีภูวนมเหศวร” (Tribhuvanamaheśvara) เพื่ออุทิศถวายแด่พระราชครูของพระองค์ครับ 
.
กลุ่มปราสาทหินชั้นในสร้างขึ้นอย่างย่อส่วน มีขนาดเล็กกว่าปราสาทหินโดยทั่วไป แต่แกะสลักลวดลายประดับบนเนื้อหินด้วยความพิถีพิถัน ละเอียดบรรจง วิจิตรงดงามอย่างกับมีชีวิต จนได้รับการยกย่องว่าเป็น "อัญมณีชิ้นเอกของงานศิลปะเขมรโบราณ” (Jewel of Ancient Khmer Art) ด้วยเพราะมีการแกะสลักลวดลายประดับแทบทุกพื้นผิวตัวปราสาท อย่างรูปของนางอัปสราและพระทวารบาลประดับผนังเรือนธาตุเป็นที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก 
.
ลวดลายอันวิจิตรแห่งปราสาทบันทายสรีได้เสื่อมถอยไปตามกาลเวลา ลายใบไม้ที่ยื่นออกมาราวกับใบไม้บาง ๆ ตามธรรมชาติ แต่ที่แท้จริงแล้วเป็นเนื้อหินทรายที่ถูกคว้านเนื้อหินเข้าไปจนเหลือส่วนของใบไม้ที่บางเฉียบ ก็ได้ถูกกระทบกระเทือนแตกหักเสียหายไปเป็นอย่างมากในแต่ละยุคสมัย อีกทั้งรูปสลักสำคัญก็มีร่องรอยถูกรื้อถอนทุบทำลายในครั้งใดครั้งหนึ่งของอดีตที่ผ่านมาแล้วครับ 
.
---------------------------
*** หน้าบันเหนือซุ้มประตูโคปุระ (ย่อส่วน) ชั้นในสุด หน้าเรือนอรรธมณฑป (Ardhamaṇḍapa) ของปราสาทประธาน ปราสาทบันทายสรี เป็นจุดสำคัญที่สุดที่งานแกะสลักอันวิจิตรและขนบความเชื่อไศวะนิกายได้มาบรรจบกันอย่างลงตัว ปรากฏเป็นภาพสลัก “ศิวนาฏราช” (Shiva Natarāja) ที่ด้านหน้าเรือน รับภาพบนหน้าบันที่หันเข้าด้านใน สลักเป็นเรื่องราว “มหิงษาสุมรรทิณี” (Mahishasura Mardini) หรือพระนางปารวตี (พระอุมา) ในภาคพระแม่ทุรคา (Durgā Doddess) เทวีแห่งการสงคราม
.
เมื่อนำภาพมาบูรณะด้วยประติมานวิทยา-จิตนาการ เป็นกราฟฟิก (CG- Computer Graphic) โดยเทียบเคียงเส้นโครงร่างรอยแตกกะเทาะที่เหลืออยู่ ผสมผสานกับรูปศิลปะและคติในยุคบันทายสรีที่ร่วมสมัยกับภาพสลัก หน้าบันด้านหน้าโคปุระชั้นในเป็นภาพพระศิวะ ราชาแห่งการฟ้อนรำ 10 พระกร กำลังร่ายรำอย่างนุ่มนวลในท่า “จตุระ” (Chatura) ฟ้อนจีบนิ้วทุกพระกร แยกพระเพลาตรงพระชานุออกแบบกำลังย่อตัว ในท่ามกลางลวดลายพรรณพฤษาที่ละเอียดอ่อน มุมขวาล่างเป็นพระวิษณุกำลังตีกลอง มุมซ้ายเป็นภาพของนาง "ปุณิฑาวาธียาร์” (Punithavathiyar) หรือ “กาไลการ์ อัมไมยาร์” (Kāraikkāl Ammaiyār -Karaikkal Ammaiyar) สาวกสตรีแห่งองค์พระศิวะ ที่มีรูปลักษณ์น่าเกลียดน่ากลัว น่าขยะแขยง ผมเผ้ารุงรัง ร่างกายซูบผอมเหมือนซากศพ หนังติดกระดูก นมแหลมยาน แต่มีใบหน้าที่ร่าเริง ยินดีและมีความสุข คอยให้จังหวะดนตรีประกอบการร่ายรำ
.
*** ภาพมหิงษาสุมรรทิณี แสดงเรื่องราวพระแม่ทุรคาสังหาร “มหิงษาอสูร” (Mahishasura) ที่ได้ขอพรต่อพระศิวะให้เป็นอมตะ ไม่มีสิ่งใดและไม่มีผู้ใดสามารถสังหารได้ แม้แต่เหล่ามหาเทพ เทพเจ้า มหาเทวี มหาฤๅษี มนุษย์ อมนุษย์ หรือสรรพสัตว์ทั้งหลายที่มีอยู่แล้วในสามโลก แต่พระศิวะได้ทรงสำทับแนบไว้ว่า “...แต่เจ้าจะต้องตายเมื่อถูกอิสตรีสังหาร...” มหิษาอสูรจึงต่อรองว่า “...ขอให้อิสตรีผู้นั้นจะต้องเกิดโดยผิดปกติวิสัย ไม่ได้เกิดจากครรภ์มารดา ไม่ได้ถืออวตารมาจากเหล่าเทพเทวีบนสรวงสวรรค์ อิสตรีนั้นจะต้องมีฤทธาอานุภาพดั่งมหาเทพ มหาเทวี มหาฤๅษีทั้งปวง และมีศาตราวุธทุกอย่างที่เหล่ามหาเทพ มหาเทวี มหาฤๅษีใช้อยู่รวมกัน จึงจะสามารถสังหารตนได้...”
เมื่อมหิงษาอสูรออกอาละวาดรุกรานเข่นฆ่าผู้คน ทำลายล้างไปทั้งสามโลก จนไม่มีเทพเจ้าองค์ใดสามารถต่อกร ได้ นางทุรคาจึงได้ถือกำเนิดขึ้นจากเพลิงครรภ์แห่งรุทรเนตรเหนือนภากาศ เหล่าเทพเจ้าต่างถวายศาสตราวุธพร้อมพลังแห่งความโกรธา บังเกิดเป็น “มหาเทวีทรุคา” (นางกาตยายนี) ผู้มีความงดงามและแสงสว่างดุจดวงอาทิตย์พันดวง มีสามพระเนตร 18 กร เสด็จลงมาสังหารมหิงษาอสูรด้วยตรีศูล
.
*** ภาพจินตนากร CG แสดงภาพมหิงสาอสูรที่กำลังถอดร่างหนีออกจากควายเผือก แต่ได้ถูกรัดด้วยบ่วงบาศนาคราช และถูกแทงสังหารด้วยตรีศูลแห่งองค์พระศิวะ
.
*** ภาพสลักพระศิวะและพระนางปารวตี ไกรลาสปติผู้เป็นใหญ่แห่งสามโลกที่โคปุระชั้นในปราสาทบันทายสรี เป็นภาพในคติบุคลาธิษฐานอันศักดิ์สิทธิ์และเป็นภาพมงคลในคติฮินดู ...พระศิวะร่ายรำคือความงดงามของสมดุลแห่งชีวิตที่มีความสุข พระนางปารวตี (อุมา) ผู้เป็นพระศักติ คือ ชัยชนะเหนือความชั่วร้าย ที่ไม่มีวันจะชนะความดีงามของเราไปได้ครับ...
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy




 

Create Date : 12 มิถุนายน 2564
2 comments
Last Update : 12 มิถุนายน 2564 13:24:19 น.
Counter : 538 Pageviews.

 

ขอบคุณที่แบ่งปัน

 

โดย: Kavanich96 13 มิถุนายน 2564 5:01:44 น.  

 

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.

 

โดย: ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก 13 มิถุนายน 2564 7:29:26 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
New Comments
Friends' blogs
[Add ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.