ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always be loved.
Group Blog
 
 
กันยายน 2563
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
5 กันยายน 2563
 
All Blogs
 
พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร

พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร
เปล่งอานุภาพบารมี” 
มันดาราของอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจแห่งจักรวรรดิบายน
ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 18 เมื่อคติความเชื่อและงานศิลปะนิยมในนิกายวัชรยานตันตระใน“ลัทธิโลเกศวร” (Lokeśvara)  จากดินแดนหิมาลัยและจากราชวงศ์ปาละในแคว้นพิหาร ได้เข้ามาในอาณาจักรกัมพุชะเทศะ พร้อมกับเรื่องราวอานุภาพ-อำนาจบารมีอันยิ่งใหญ่ของพระโพธสัตว์อวโลกิเตศวร (Bodhisattva Avalokiteśvara ) ผู้ทรงไว้ซึ่งมหาเมตตากรุณาแก่มวลสัตว์โลกทั้งปวง พรรณนารายละเอียดผ่านคัมภีร์ต่าง ๆ ทั้ง การันฑวยูหสูตร (Kāraṇḍavyūha-sūtra) อมิตายูรธยานสูตร (Amitāyurdhyāna Sūtra) สัทธรรมปุณฑริกสูตร (Saddharma Puṇḍarīka Sūtra) และอมิตายุสพุทธานุสัมฤติสูตร กลายมาเป็นคติความเชื่อที่นิยมและรุ่งเรืองอย่างสูงสุดในราชสำนักของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จึงได้เกิดการสร้างรูปประติมากรรม “พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร – โลเกศวรเปล่งอานุภาพบารมี” (Bodhisattva Avalokiteśvara Irradiant ,Prestige-Almighty  Lokeśvara ,Irradiant Lokeśvara หรือ Radiating Avalokiteśvara) ในงานศิลปะแบบบายนขึ้น  
.
รูปแบบพระโลเกศวรเปล่งอานุภาพบารมี ที่ถอดแบบออกมาตามเนื้อความที่พรรณนาในหลายพระสูตร ทั้งรูปพระพุทธเจ้าแสดงธยานมุทราองค์เล็ก ๆ จำนวนมาก ที่ส่วนพระเกศาเหนือพระเศียร พระวรกายส่วนพระอุระ (หน้าอก) พระอุทร (ท้อง) พระปฤษฎางค์ (หลัง) ตามความที่ว่ามีพระตถาคตพุทธเจ้าจำนวนนับไม่ถ้วนสถิตและกำเนิดจากขุมพระโลม (ขน)  การสลักรูปสตรีที่หมายถึงของนางปรัชญาปารมิตา ศักติแห่งอุบายะและปัญญาคู่บารมีของพระองค์ที่กลางพระอุระ ในความหมายของบุคลาธิษฐาของคัมภีร์ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร (Prajñāpāramitā Hṛdaya) อันเป็นหัวใจของการบรรลุโพธิญาณบารมี และรูปสตรีล้อมรอบพระกฤษฎี (เอว) บุคลาธิษฐานของการบำเพ็ญบารมี ทั้ง 6 (ทาน ศีล ขันติ วิริยะ ธยาน ปัญญา) รวมทั้งการแสดงพระกรที่มีมากถึง 8 พระกร ถือ “ปัทมะ– ดอกบัว ” (Padma) “หม้ออมฤตกุมภ์” (กมัลฑลุ) (Amritakumbha) “คัมภีร์ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร” “อักษมาลา-ลูกปะคำของนักบวช” (Rudraksha Mala) “จักร” (Chakra) “วัชระ ” (Vajratrishula)  “อังกุศ – ขอสับช้าง ” (Ankusha) “พระขรรค์-ดาบ” (Sword-Chhuri) หรือ “กริช" (kris) “สังข์” (Shankha) และ“พระมานุษิโพธิสัตว์” (Mortal Buddhas) ที่บ่งบอกถึงความมีอานุภาพ-ฤทธาของพระโลเกศวรตามรูปลักษณ์ตันตระครับ 
.
งานศิลปะของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งอานุภาพบารมีในราชสำนักบายน จะสลักพระพักตร์ตามเค้าใบหน้าของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เพื่อแสดงความหมายว่า เป็นรูปประติมากรรมฉลองพระองค์ในภาคพระโพธิสัตว์ผู้ทรงไว้ด้วยอานุภาพบารมี  พระองค์จึงทรงมีอำนาจเปรียบประดุจพระโลเกศวรผู้ยิ่งใหญ่ที่มีพระราชประสงค์ที่จะลงมาโปรดเหล่าสรรพสัตว์ให้พ้นจากทุกข์ทั้งปวง รวมทั้งการแสดงอำนาจบารมีทางการเมืองทั้งภายในและการขยายจักรวรรดิของพระองค์ในดินแดนภายนอกที่ได้ทรงนำกองทัพเข้าพิชิต ดังปรากฏความจากจารึกหลายหลักในยุคของพระองค์
.
รูปพระโลเกศวรเปล่งอำนาจบารมี จึงเป็นรูปประติมากรรมที่อาจได้แสดงถึงอำนาจทางการเมืองและเส้นทางเศรษฐกิจการค้า ในช่วงระยะเวลาประมาณ 50 ปีของจักรวรรดิบายน (Bayon Empire) อันยิ่งใหญ่ในยุคสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่ได้ขยายอำนาจไปทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งด้วยวิธีการพระราชสงครามและการดองเครือญาติสืบสัมพันธ์ระหว่างกันครับ 
.
แต่ภายหลังการสิ้นอำนาจของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ( ครองราชย์ประมาณ 39 ปี) และพระราชโอรส (พระเจ้าอินทรวรมันที่ 2) ที่สืบต่อราชบัลลังก์มาในอีก 23 ปี  รูปพระโลเกศวรเปล่งอานุภาพบารมีที่เคยประดิษฐานในราชสำนักเมืองพระนคร ในราชวิหารและในปราสาทอานุภาพประจำสฺรุกตามดินแดนต่าง ๆ ของจักรวรรดิบายนเดิม จึงได้กลายเป็นเป้าหมายแรกที่จะถูกทุบทำลายให้ “ตาย” โดยนามธรรม (ทุบตา หู จมูก หักแขน ขา) ในทันที ก่อนรูปประติมากรรมแบบอื่น ๆ ที่มีเค้าพระพักตร์เดียวกัน รูปพระโลเกศวรเปล่งอานุภาพบารมีที่พบทั้งหมดจึงแทบไม่เหลือรอดจากการทุบทำลายในรูปแบบต่าง ๆ บ้างก็ยับเยินแบบแยกร่างไม่มีชิ้นดี หลายรูปถูกดัดแปลงให้เป็นพระศิวะโดยการเติมพระเนตรที่สาม หลายรูปยังคงสลักคาไว้ แล้วก็เอาไปฝังทิ้ง และหลายรูปก็ถูกแปลงเป็นพระมหาวิษณุโดยลบรูปพระพุทธเจ้าออกทั้งหมด  
.
รูปประติมากรรมพระโลเกศวรที่แสดงอำนาจเฉพาะกาลในยุคศิลปะนิยมแบบบายนนี้ เหลือรอดมาให้พบอยู่ที่ไหนกันบ้าง ก็ขอไล่เรียงไปตามภาพนะครับ 
.
1. พบบนยอดปราสาทบายน 2 องค์ โดย EFEO ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2470 เมืองพระนครธม องค์หนึ่งเหลือแต่ส่วนพระบาท อีกองค์หนึ่งส่วนพระนลาฏ (หน้าผาก) ถูกแปลงเป็นพระศิวะ เคยจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงพนมเปญ
.
2. พบจากปราสาทประธาน ปราสาทพระขรรค์ มีเค้าใบหน้าที่ดูหนุ่ม แตกต่างไปจากพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จึงอาจเป็นรูปฉลองพระองค์พระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 2 พระราชบิดา  ที่มีพระนามตามจารึกว่า “ศรีชัยวนมันเมศวร” ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงพนมเปญ
.
3. พบจากปราสาทพระขรรค์ พระเศียรไม่รู้ไปไหน มีร่องรอยการลบรูปพระพุทธเจ้าที่ขุมพระโลมา ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงพนมเปญ
.
4. พบจากปราสาทพระขรรค์ เป็นแบบรูปติดผนัง ไม่เป็นรูปลอยตัว ปัจจุบันเก็บรักษาในสำนักงานอภิรักษ์อังกอร์ (Conservation d’ Angkor/Angkor Conservation Office)  เมืองเสียมเรียบ
.
5. พบจากปราสาทตาพรหม สภาพยับเยิน ตัวไปทางหัวไปทาง (ใช้ CG  นำสองส่วนมาประกอบกัน)  ปัจจุบันเก็บรักษาในสำนักงานอภิรักษ์อังกอร์ เมืองเสียมเรียบ
.
6. พบที่ประตูผี (Porte des Morts) ด้านตะวันออกเมืองพระนครธม (ศรียโศธรปุระ) ไม่รู้ว่าถูกย้ายมาจากราชวิหารไหน แต่เหมือนว่าจะเอาออกนอกเมืองตามคติคนตาย จัดแสดงอยู่ที่ Angkor National Museum
.
7. พบที่ปราสาทโต๊ปตะวันตก (West Prasat Top) หรือ Monument 486 ภายในเมืองพระนคร เก็บรักษาไว้ในสำนักงานอภิรักษ์อังกอร์ เมืองเสียมเรียบ
.
8. พบที่ใกล้กับสะพานกำปงเกดย ตามเส้นทางถนนโบราณไปเมืองอีศานปุระ ทางตะวันออก เก็บรักษาไว้ในสำนักงานอภิรักษ์อังกอร์ เมืองเสียมเรียบ
.
9. พบที่บาราย (Baray) ในเขตเมืองกำปงธม ซึ่งก็อาจมาจากปราสาทคูหานคร (Kouk Nokor) ที่อยู่ใกล้เคียงกัน ไม่ปรากฏการทุบทำลาย แต่มีการหักของส่วนพระพาหาทั้งหมดตามการเคลื่อนย้าย ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงพนมเปญ 
.
10. พบที่ปราสาทพระถกล (Preah Thkol) กลางบารายเมืองกำปงสวายไม่ปรากฏการทุบทำลายที่พระพักตร์ แต่มีการหักของส่วนพระพาหาทั้งหมดและการหักล้มจากฐานที่ตั้ง ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะกีเมต์ (Musée Guimet) กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
.
11. พบที่ปราสาทตาพรหมแห่งโตนเลบาตี (Ta Prohm Tonle bati) ทางใต้ของทะเลสาบแม่น้ำบาติ ในจังหวัดตาแก้ว ห่างไปทางใต้ ประมาณ 35 กิโลเมตร จากกรุงพนมเปญ ในช่วงก่อนสงครามกลางเมืองยังมีส่วนพระเศียรให้เห็นอยู่ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงพนมเปญ
.
12. พบจากอำเภอมองฤๅษี (Mong Rusei) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองพระตะบอง ภาพเก่า EFEO ปัจจุบันไม่รู้ไปอยู่ที่ไหน
.
13. พบจากเมืองพระตะบอง  ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เอกชน Arthur M. Sackler Gallery : Smithsonian Institution
.
14. พบจากปราสาทพนมบานอน (Phnom Banan)  ทางใต้ของเมืองพระตะบอง สภาพถูกทุบทำลายอย่ารุนแรง ด้วยเพราะเขตนี้เป็นดินแดนของชนกลุ่มมัลยัง (Malyang) หรืออโมฆปุระ (Amoghapura) ที่ถูกปราบปรามอย่างรุนแรงในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ปัจจุบันส่วนพระบาทยังอยู่ที่ปราสาทบนยอดเขา ส่วนรูปประติมากรรมนำลงมาจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระตะบอง
.
15. พบจากซากปราสาทดอนเตย (Prasat Duan Tei) สภาพถูกทุบทำลายอย่างยับเยิน EFEO นำมาซ่อมประกอบใหม่ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในสำนักงานอภิรักษ์อังกอร์ เมืองเสียมเรียบ
.
16. พบจากคันบารายของปราสาทนาคพัน สภาพยังแกะสลักไม่แล้วเสร็จ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในสำนักงานอภิรักษ์อังกอร์ เมืองเสียมเรียบ 
.
17. พบถูกฝังอยู่บนเขาพนมได (Phnom Dei) สภาพกำลังถูกดัดแปลงเป็นพระศิวะ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในสำนักงานอภิรักษ์อังกอร์ เมืองเสียมเรียบ
.
18. พบจากเมืองวิชัยปุระ (ภาพ CG) จังหวัดบินห์ดินห์ (Bình Định) ประเทศเวียดนาม สภาพถูกทุบทำลายแบบแยกร่าง  ปัจจุบันยังเก็บรักษาอยู่ในเวียดนาม
.
19. พบจากปราสาทเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี มีร่องรอยการดัดแปลงเป็นพระศิวะด้วยการเติมพระเนตรที่ 3 สภาพไม่โดนทุบทำลาย เพราะจมอยู่ในซากปราสาทประธานที่พังทลายลงมาทับไว้ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
.
20. พบที่ถ้ำคูหาสวรรค์ ห่างไปทางตะวันออกของตัวเมืองโบราณลพบุรีประมาณ 14 กิโลเมตร จำนวน 2 องค์  
ทั้งสององค์อาจเคยประดิษฐานในปราสาทที่วัดซากและปรางค์สามยอด (?) ก่อนถูกขนย้ายมาทุบทำลายแบบไม่ให้ผุดไม่ให้เกิดภายในถ้ำที่มืดมิด ปัจจุบันถูกแปลงเป็นยักษ์ทวารบาลสีสันสดใสเฝ้าอยู่ที่หน้าถ้ำ 
.
21. พบจากซากปราสาทจอมปราสาท เมืองโบราณข้างสระโกสินารายณ์ ใกล้แม่น้ำแม่กลอง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ที่อาจเป็นเมือง “ศัมพูกปัฏฏนะ” (Śambúkapattana) ในจารึกปราสาทพระขรรค์ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี
.
22. พบจากวัดเจ้าพราหมณ์  ปัจจุบันถูกเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา พระนครศรีอยุธยา
.
23. เล่ามาว่า พบจากเมืองโบราณหนองแจง ตำบลไร่รถ อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี ที่อาจเป็นเมืองสุวรรณปุระ (Svarṇapura) ในจารึกปราสาทพระขรรค์ ปัจจุบันอยู่ที่วัดญวนแห่งหนึ่งในย่านเยาวราช
.
24. พบจากวัดกำแพงแลง จังหวัดเพชรบุรี ปราสาทกลางเมืองโบราณ “ศรีชยวัชรปุรี” (Śrí Jaya-Vajrapurí) สภาพถูกทุบทำลายแบบยับเยินเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ปัจจุบันจัดเก็บที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครคีรี
25.  เล่ามาว่า เคยมีผู้พบเห็นรูปประติมากรรมพระโลเกศวรเปล่งอานุภาพบารมีที่ถ้ำพระนารายณ์ บนเขาหลวง จังหวัดสุโขทัย ที่ปัจจุบันเหลือเพียงแค่ส่วนฐาน
.
26. มีร่องรอยว่า พบรูปประติมากรรมพระโลเกศวรเปล่งอานุภาพ ในสภาพแตกหัก ที่ปราสาทวัดนครบาเจย (Nokor Bachey) จังหวัดกำปงจาม แต่ได้สูญหายหรือถูกแปลงเป็นทวารบาลไปแล้ว
เครดิต :
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า


Create Date : 05 กันยายน 2563
Last Update : 5 กันยายน 2563 18:21:17 น. 0 comments
Counter : 503 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
New Comments
Friends' blogs
[Add ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.