ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always be loved.
Group Blog
 
 
กันยายน 2563
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
6 กันยายน 2563
 
All Blogs
 
พระมหาวิษณุ ๘ กร

ปริศนา “พระมหาวิษณุ 8 กร" หน้าปราสาทนครวัด
 เคยเป็นรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งอานุภาพบารมี (รัศมี)

บริเวณโคปุระชั้นที่ 2 ขนาดใหญ่ ด้านหน้าทางทิศตะวันตกของปราสาทนครวัด มีรูปประติมากรรมลอยตัวสูงใหญ่  8 กร ตั้งอยู่ 4 รูป มี 3 รูป สภาพไม่สมบูรณ์นัก แม้ผ่านการบูรณะมาแล้ว องค์สำคัญที่ดูสมบูรณ์ที่สุดตั้งอยู่ตรงกลางถูกเรียกกันว่า “พระวิษณุ” ซึ่งดูแล้วก็ควรเป็นศิลปะในยุคบายน ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 18 ที่มีอายุในช่วงหลังการสร้างปราสาทนครวัด (บรมวิษณุโลก) ที่สร้างขึ้นในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 17
.
มีคำอธิบายว่า รูปประติมากรรม 8 กร ที่เห็นทั้งหมดนี้ เป็นรูปของ “พระมหาวิษณุ” (Mahavishnu) ที่กำลังแสดงอำนาจฤทธาแห่งสวรรค์ ในเหตุการณ์ช่วงประทานคำสอน “ภควัทคีตา” (Bhagavad-gītā) อันศักดิ์สิทธิ์ให้เป็นขวัญกำลังใจ ประจักษ์แจ้งแก่อรชุน ก่อนเข้าทำสงครามกุรุเกษตรในมหาภารตะยุทธสงคราม ที่สร้างขึ้นในยุคบายน เพื่อถวายประดิษฐานแก่ปราสาทนครวัดที่สร้างขึ้นตามคติความเชื่อแบบไวษณพนิกายค จึงกลายมาเป็นที่มาของคำอธิบายรูปพระวิษณุ 8 กร ที่ด้านหน้าปราสาทนครวัดมาโดยตลอดครับ 

*** แต่กระนั้น ภาพลักษณ์ของพระวิษณุ 8 กร กลับไม่ค่อยปรากฏความนิยมในงานศิลปะเขมรโบราณมาช่วงยุคก่อนหน้ามากนัก ภาพพระมหาวิษณุที่เด่นชัดคือภาพสลักนูนต่ำบนผนังอิฐด้านในของคูหาปราสาทประธานของปราสาทกระวาน (Kravan) ปราสาทก่ออิฐ 5 หลัง ในคติ ปาญจารตระ สร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้าหรรษาวรมันที่ 1 โดย “มหิธรวรมัน” ขุนนางเก่าแก่จากยุคพระเจ้ายโสธรวรมัน ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 15  แต่หลังจากนั้นยังไม่เคยปรากฏภาพสลักในปกรณัมเรื่องเล่าใดที่เล่าถึงเรื่องราวปางมหาวิษณุ 8 กร จากวรรณกรรมมหาภารตะ และในคติฮินดูเรื่องอื่น ๆ ให้เห็นอีกเลยครับ
.
คติไวษณพนิกายในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา ยังคงนิยมสร้างประติมากรรมลอยตัวรูปพระวิษณุ 4 กร สวมอุณหิสศิราภรณ์และทรงเครื่องกษัตริย์  และยังปรากฏภาพสลักนูนต่ำพระมหาวิษณุ ท่ามกลางผู้คนและนักบวชกำลังถวายการบูชา บนผนังเหนือประตูมณฑปทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตัวปราสาทนครวัด รวมทั้งภาพแสดงเรื่องราวของพระวิษณุจากคติอื่น ๆ อย่างเรื่องกวนเกษียรสมุทร นารายณ์บรรทมสินธุ์ ภาคอวตารปราบความชั่วร้าย บนผนังเหนือกรอบประตูของห้องระเบียงพลับพลารูปกากบาท (Cruciform Galleries) ด้านหน้าทางขึ้นชั้นประธานปราสาทนครวัด ล้วนเป็นภาพลักษณ์ที่ชัดเจนว่า พระวิษณุในยุคศิลปะแบบนครวัดนั้น จะสร้างเพียง 4 กร เท่านั้น
.
ในงานศิลปะยุคบายนที่ต่อเนื่องจากยุคศิลปะนครวัดมา ก็ยังคงนิยมสร้างรูปพระวิษณุ 4 กร สวมอุณหิสศิราภรณ์แบบกษัตริย์  ตามแบบศิลปะนครวัด แต่ก็ได้เกิดความนิยมในการสร้างรูปพระวิษณุ 4 กร ในศิลปะแบบบายนขึ้นจำนวนมาก โดยใช้รูปลักษณะแบบเดียวกับพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ที่มีเค้าพระพักต์ของพระชัยวรมันที่ 7 มีมวยผม “ชฏามุกุฏ” (Jaṭāmukuṭa) แบบนักบวชแต่ไม่มีรูปของพระอมิตาภะ นุ่งภูษาสมพตแบบกางเกงขาสั้น มี 4 กร ถือ ก้อนพสุธา จักร สังข์และดอกบัว ประดิษฐานไว้ภายในปราสาทนครวัดเอง และตามปราสาทฮินดูหลังสำคัญที่สร้างขึ้นในยุคก่อนหน้าครับ แต่ไม่เคยปรากฏว่าจะสลักเป็นรูปลักษณ์ พระมหาวิษณุ 8 กร แต่อย่างใด
 .
หากไม่เคยปรากฏคติความนิยมในยุคก่อนหน้า แล้วพระมหาวิษณุ 8 กร หน้าปราสาทนาควัดมาจากไหนกัน หรืออาจไม่ใช่รูปของพระมหาวิษณุอย่างที่เคยอธิบายกันมาในอดีตครับ ?
.
*** คำตอบของปริศนารูปพระมหาวิษณุ 8 กร หน้าปราสาทนครวัดนี้ อยู่ที่ “สำนักงานโครงการอนุรักษ์เมืองพระนคร” หรือ “อภิรักษ์อังกอร์” (Conservation d’ Angkor/Angkor Conservation Office) เหนือตัวเมืองริมแม่น้ำเสียมเรียบ ที่ตั้งขึ้นโดยสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ (École française d'Extrême-Orient หรือ EFEO) เป็นสถานที่เก็บรักษางานศิลปโบราณวัตถุจำนวนมากมาตั้งแต่ยุคอาณานิคม
.
ที่ปีกของระเบียงอาคารหนึ่ง ปรากฏรูปประติมากรรมสลักลอยตัวขนาดใหญ่แกะสลักจากหินทรายหมวดพนมกุเลนในยุคความนิยมศิลปะแบบบายน ตั้งเรียงรายอยู่ หลายองค์เป็นรูป ของ “พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งอานุภาพบารมี (รัศมี)” (Bodhisattva Avalokitesvara Irradiant) ที่ยังแกะสลักไม่แล้วเสร็จ โดยไล่เรียงจากพระเหวัชระ 10 กร ถัดมาเป็นรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งอานุภาพบารมี 8 กร จาก เขาพนมได จากซากปราสาทดอนเตย จากคันบารายของปราสาทนาคพัน  รูปของพระวิษณุ 4 กร ในศิลปะแบบบายน ที่สวมอุณหิสศิราภรณ์ และรูปทวารบาลจากปราสาทพนมกรอม
.
เมื่อมาพิจารณารูปสลักโกลนของรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งอานุภาพบารมีที่อยู่ติดกันทั้ง 3 รูปอย่างละเอียด จะพบว่าทั้งสามรูปนั้นมีขนาดความสูงใหญ่ใกล้เคียงกันกับที่นครวัด  รูปจากเขาพนมไดและบารายนาคพัน มีร่องรองการสกัดขูดผิว เพื่อลบรูปของนางปรัชญาปารมิตาและแผงรูปพระพุทธเจ้าขุมพระโลมาบนผิวหน้าออก รวมทั้งการสกัดเอารูปพระอมิตาภะพุทธะออกจากมุ่นมวยพระเกศาจนเรียบหมด แต่ก็ทิ้งโกลนค้างเอาไว้ไม่ได้สกัดขูดลบออกต่อ
.
ร่องรอยดังกล่าว อาจเป็นหลักฐานสำคัญของกระบวนการ “ดัดแปลง” (Modify) รูปสลักของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรในคติวัชรยานตันตระ ให้กลายมาเป็นเทพเจ้าในคติฮินดู ทดังที่ปรากฏให้เห็นตามศาสนสถานและรูปเคารพ ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังยุคของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นต้นมาครับ
.
รูปพระมหาวิษณุ 8 กรที่นครวัด จึงเคยเป็นรูปสลักของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งอานุภาพบารมีมาก่อน แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงคติความเชื่อของอำนาจแห่งอาณาจักรกลับไปสู่ความนิยมในคติฮินดู ในช่วงพระเจ้าชัยวรมันที่ 8  ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 จึงได้มีการแกะสลักแก้ไข รวมทั้งความพยายามที่จะเปลี่ยนการถือของในแต่ละพระกร ดังภาพเก่าของพระมหาวิษณุ 8 กร ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่แสดงให้เห็นร่องรอยของรูบนเนื้อหินส่วนพระกร ที่ใช้เป็นช่องเสียบแกนในการเชื่อมต่อหิน และรอยต่อตรงส่วนข้อพระกรและพระหัตถ์สวมใส่เข้าไปใหม่ ที่พยายามสลับเปลี่ยนมือที่ถือของเดิมของพระโพธิสัตว์เปล่งอานุภาพบารมี 8 กร อันเป็นรูปเคารพสำคัญในยุคบายน กลายมาเป็นรูปลักษณ์ของพระมหาวิษณุ โดยไม่ได้คำนึงถึงคติฮินดูใด ๆ ที่อธิบายเรื่องราวที่มาของ 8 กร ในยุคนั้น
.
สิ่งของมงคลที่ถืออยู่ในแต่ละพระหัตถ์ตั้งแต่ครั้งแรกหลังการดัดแปลงจึงไม่ได้สอดรับกันทั้งหมด 4 พระกรเหมือนถือวัตถุเป็นแท่ง 1 พระกร   และอีก 1 พระกรว่างเปล่า (เหมือนจะถือหม้อน้ำหรือลูกประคำ) จึงเป็นการจัดต่อพระหัตถ์ขึ้นใหม่ พระหัตถ์ซ้ายบนที่เคยเป็นการถือจักรแบบพระโพธิสัตว์ ถูกสกัดจนกลายเป็นการถือก้านเล็ก ๆ  เอาดอกบัวไปไว้ที่พระหัตถ์ขวาบน เอา (ด้าม) อาวุธไปวางแทนสังข์ พระหัตถ์ที่เหลืออยู่ยังมีร่อยรอบการถือหม้อน้ำอมฤต อังกุศ และคัมภีร์ (?) ซึ่งทั้งหมด เคยเป็นสิ่งของมงคลในพระหัตถ์ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งอานุภาพบารมีทั้งสิ้นครับ
.
ส่วนรูปพระอมิตาภะบนหน้ามวยผม รูปสลักแผงพระพุทธเจ้าบนผิว รูปพระพุทธเจ้าบนแหวนนิ้วมือและนิ้วเท้า ทั้งหมดถูกสกัดขูดลบออกและตกแต่งผิวใหม่ เรียกว่ารูปประติมากรรมอะไรที่ปรับเปลี่ยนมาใช้งานใหม่ได้ ก็ปรับ อะไรที่ปรับเปลี่ยนไม่ได้ ก็ (ทุบ) ทิ้ง
.
*** รูปลักษณ์ในคติเดิมของรูปประติมากรรม “พระมหาวิษณุ” ที่หน้าปราสาทนครวัด จึงเคยเป็น “พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งอานุภาพบารมี 8 กร” ในความนิยมตามศิลปะและคติความเชื่อในยุคบายน ก่อนถูกดัดแปลงมาให้มีรูปลักษณ์ใหม่ตามความนิยมของยุคสมัย กลายมาเป็นพระมหาวิษณุแห่งบรมวิษณุโลกอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ไม่ได้ถูกตั้งใจสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นพระมหาวิษณุ 8 กร มาตั้งแต่แรกครับ
เครดิต :
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า


Create Date : 06 กันยายน 2563
Last Update : 6 กันยายน 2563 9:13:49 น. 0 comments
Counter : 639 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
New Comments
Friends' blogs
[Add ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.