ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always be loved.
Group Blog
 
 
กันยายน 2563
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
5 กันยายน 2563
 
All Blogs
 
นางอัปสรแห่งเนินทางพระเมืองสุพรรณ

นางอัปสรแห่งเนินทางพระเมืองสุพรรณ
“อัปสรา-นางฟ้า” แห่งเนินทางพระ เมืองสุพรรณบุรี
ในบรรดารูปปูนปั้น (Stucco) ประดับประดาที่จากซากปราสาทหินศิลาแลงเก่าที่ “ดอนถ้ำพระ” หรือ “เนินทางพระ” ตำบลบ้านสระ อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี  มีรูปบุคคลชิ้นหนึ่งที่เหลือเพียงส่วนของเศียร สวมอุณหิสประดับกลีบใบไม้แหลมเป็นเทริดสูง มีใบหน้าที่ดูเกลี้ยงเกลาสวยงาม เปลือกตาเหลือบลง ปลายหางตาเรียวขึ้น เป็นปูนปั้นที่ดูโดดเด่นที่สุดของเนินทางพระ ที่อาจเป็นได้ทั้งรูปของพระพุทธเจ้าไมเตรยะอนาคตพุทธะและรูปของนางอัปสรา-นางฟ้า  
.
เนินทางพระ อยู่ที่บ้านสระ อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี บนเนินดินเก่าเคยมีซากปราสาทหินหลังหนึ่ง ซึ่งจากภาพถ่ายทางอากาศเก่าและจากเศษซากกองหินที่เหลืออยู่ได้แสดงว่า เคยมีแนวกำแพงศิลาแลงผังจัตุรัสล้อมรอบ 2 ชั้น ชั้นนอกกว้างยาวประมาณ 150 เมตร ชั้นในประมาณ 50 เมตร มีปราสาทหินก่อด้วยศิลาแลงเป็นประธานอยู่ตรงกลางค่อนไปทางตะวันตก มีสระน้ำติดกำแพงบริเวณด้านทิศเหนือเยื้องฝั่งตะวันออกครับ
.
ปราสาทหินแบบวัฒนธรรมเขมรโบราณที่เนินทางพระ มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18-19 ในสมัยความนิยมในศิลปะแบบบายนต่อเนื่องมาจนถึงยุคหลังบายน ได้ผ่านการถูกทำลายมาแล้วหลายครั้งในอดีต ซึ่งดูเหมือนว่าตัวปราสาทประธานจะถูกรื้อถอนจนพังทลายลงมาทับถมเป็นกองหินใหญ่ ต่อมาเมื่อประมาณ 60 -70 ปีที่แล้ว เริ่มมีการขุดหาเศษซากวัตถุโบราณอย่างรูปประติมากรรมและพระเครื่องทั้งโลหะและหินทราย ขนย้ายนำออกไปจากซากเนิน ทั้งที่นำไปเก็บรักษาตามวัดอย่างพระพุทธรูปนาคปรกองค์ใหญ่ที่วัดวังหินและวัดวิมลโภคาราม รวมทั้งเพื่อการค้าเป็นจำนวนมากครับ
.
จนถึงปี พ.ศ. 2522 จึงเริ่มมีการขุดค้นศึกษาทางโบราณวิทยาเป็นครั้งแรก ได้พบซากของปราสาทหินศิลาแลงแกนดินอัดด้วยอิฐตรงกลาง แต่ด้วยเพราะถูกลักลอบขุดทำลายอย่างยับเยิน ในหลายยุคสมัยช่วงก่อนหน้ามาแล้ว จึงยากที่จะทำการศึกษารูปแบบทางสถาปัตยกรรมได้อย่างชัดเจน คงพบชิ้นส่วนบัวกลุ่มยอดปราสาทและเครื่องปักบรรพแถลง กลีบขนุนประดับเรือนยอดแตกหักกระจายอยู่จำนวนหนึ่งครับ
.
วัตถุโบราณที่ขุดพบยังมีรูปประติมากรรมเศียรทวารบาลหินทราย นนทิเกศวร-มหากาล (แต่ไม่เจอส่วนร่างกาย) พระพิมพ์เนื้อดินเผาและโลหะ รวมทั้งชิ้นส่วนปูนปั้นประดับปราสาทจำนวนมากที่จมดินอยู่ จึงเหลือรอดจากการลักลอบขุดหาวัตถุโบราณในอดีต อย่างรูปพระพุทธเจ้าถือผลสมอ (หม้อยา) พระวิษณุในอวตารตรีวิกรม พระคเณศ พระโพธิสัตว์ เทพยดา รูปบุคคลสตรี อัปสรา ครุฑยุดงวงช้าง อสูรา มกร หน้ากาลและรูปสัตว์ เต่า ลิง ช้าง รวมทั้งลวดลายพรรณพฤกษาอย่างลายดอกซีกดอกซ้อน ลายกลีบบัวเชิง ชุดบัวหัวเสาในขนบการจัดวางลวดลายแบบปราสาทเขมร
----------------------------------
*** เมื่อพิจารณาปูนปั้นรูปเศียรบุคคลชิ้นนี้ ในเบื้องต้นก็อาจดูเหมือนกับรูปของพระพุทธเจ้าทั้งในคติไมเตรยะอนาคตพุทธะ พระวัชรสัตว์ราชา และ พระมหาไวโรจนะ ที่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 – 19 นั้น นิยมทำรูปศิลปะเป็นแบบสวมเทริดกลีบบัวหรือเทริดขนนกแบบทรงเครื่องกษัตริย์ สวมทับลงบนจีวร ที่ได้รับอิทธิพลทางศิลปะมาจากปาละ พุกามและหริภุญชัย ผสมผสานกับคติและศิลปะของฝ่ายละโว้คณะกัมโพชสงฆ์ปักขะครับ  
.
ส่วนปูนปั้นชิ้นอื่น ๆ จากเนินทางพระ ยังปรากฏรูปปั้นของของพระพุทธเจ้าไม่สวมเทริดถือผลสมอ ซึ่งเป็นคติเถรวาท แต่ก็พบรูปประดับจากคติความเชื่อของฝ่ายฮินดู อย่างรูปพระคเณศและรูปนารายณ์ตรีวิกรม รวมทั้งรูปพลังศักติ (พลังของเพศหญิงผ่านรูปบุคลาธิษฐานสตรี) ในคติวัชรยาน-ตันตระ อย่างรูปนางฑากิณี (Dakinis) บุคลาธิษฐานแห่งผู้เป็นพลังอำนาจ ความรู้แจ้งและพลังแห่งเครื่องเพศ  สัญลักษณ์ของการกำเนิดพลังแห่งพุทธะ ที่แสดงออกมาในรูปสตรีแยกขายกสูงขึ้นมาเหนือศีรษะ
.
การปรากฏปูนปั้นประดับรูปสตรีตามคติศักติจำนวนมาก รวมทั้งรูปของฝ่ายฮินดู และพระพุทธเจ้าของเถรวาทในปราสาทองค์เดียวกัน รูปเศียรบุคคลที่พบนี้ จึงอาจเป็นรูปของนางอัปสรา-นางฟ้า ด้วยเพราะรูปพระพุทธเจ้าที่พบหลายชิ้นนั้นได้แสดงรูปศิลปะเป็นพระพุทธรูปแบบปกติไม่สวมเทริดอย่างชัดเจนครับ
.
เมื่อพิจารณารายละเอียดของเศียรปูนปั้นจะพบว่า ส่วนใบหน้านั้นสามารถเป็นได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง ส่วนของเทริดนั้นมีดอกไม้สี่กลีบประดับที่ด้านหน้า ส่วนของปูนปั้นข้างพระกรรณเป็นกรรเจียกยอดแหลม แยกออกมาจากเทริด มีลอนมาลัยเป็นสายใหญ่ขนานด้วยก้านดอกไม้ประกบออกมาจากกรรเจียก โค้งลงมาด้านล่าง สายก้านด้านบนสั้นโค้งมาหยุดทำเป็นปลายงอน ดูเป็นการประดับดอกไม้ของสตรีมากกว่าจะเป็นสายมาลัยของพระพุทธรูปสวมเทริดขนนกแบบหลังบายน ที่หลายรูปก็มีการประดับกรรเจียกจรแต่จะแนบไว้ที่ด้านหลังของพระกรรณ   
.
รูปปูนปั้นชิ้นเด่นจากเนินทางพระนี้ จึงอาจเป็นรูปของนางอัปสราหรือนางฟ้าตามศิลปะงานประดับแบบบายน   ที่นิยมนำรูปนางอัปสรามาใช้ในการประดับตกแต่งมากกว่าที่จะเป็นรูปของพระพุทธเจ้าไมเตรยะอนาคตพุทธะ ที่ไม่ปรากฏความนิยมในการนำมาใช้ประดับภายนอกปราสาท นอกจากการทำเป็นพระพุทธรุปหล่อลอยตัวและพระพิมพ์จากวัสดุต่าง ๆ
.
และเป็นรูปปูนปั้นตามคตินางอัปสรา-นางฟ้า ประดับปราสาท จากอิทธิพลของงานศิลปะบายน-หลังบายน ที่ดูงดงามที่สุด ที่เหลืออยู่เพียงชิ้นเดียวด้วยครับ
เครดิต :
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy
เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า


Create Date : 05 กันยายน 2563
Last Update : 5 กันยายน 2563 12:16:40 น. 0 comments
Counter : 601 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
New Comments
Friends' blogs
[Add ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.