ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always be loved.
Group Blog
 
 
กันยายน 2563
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
6 กันยายน 2563
 
All Blogs
 
พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร

“พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งอานุภาพบารมี” พลานุภาพแห่งศรีชัยวรมัน

ในอินเดียเหนือ ช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 เป็นต้นมา เกิดความนิยมในวัชรยานตันตระ (Vajrayana Tantra) ได้มีการเปลี่ยนแปลงคติเรื่องราวในวรรณกรรมและรูปลักษณ์ทางศิลปะ ของ“พระโพธิสัตว์ปัทมปาณี” (Bodhisattva Padmapāṇi) ในคติมหายานเดิม มาเป็นความนิยมใน “พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร” (Avalokiteśvara Bodhisatava)  พัฒนามาเป็นรูปตันตระอภินิหารที่ทรงอานุภาพ จากพระนามพระโลกนาถ-โลเกศวร 2 พระกร อารยาวโลกิเตศวร- เอกาทศมุข 11 เศียร 22 กร ไปจนถึงสหัสภุช-โลเกศวร (พันกร) และมีมากถึงพันกรพันเนตร ใน 108 พระนาม จนเกิดเป็นความนิยมใน “ลัทธิโลเกศวร” (Lokeśvara) หรือผู้บูชาพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรผู้ทรงไว้ซึ่งความเมตตากรุณา อานุภาพ-อำนาจบารมี เพื่อเข้าแข่งขันความศรัทธา ต่อกรกับเหล่าเทพเจ้าผู้เรืองอำนาจฤทธาของฝ่ายฮินดู
.
ในพระสูตรของลัทธิโลเกศวร ได้อธิบายถึงอานุภาพแห่งบารมีขององค์พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรไว้อย่างมากมาย ใน “คัมภีร์สัทธรรมปุณฑริกสูตร”(Saddharma Puṇḍarīka Sūtra) ได้กล่าวสรรเสริญพระองค์ในฐานะผู้พิทักษ์ภัยอันตรายให้แก่เหล่าสรรพสัตว์  ทรงมีพระมหากรุณาจิตที่ใหญ่หลวงต่อเหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลายอย่างมากเหลือประมาณ พระองค์ต้องการช่วยมวลมนุษย์และทุกสรรพสัตว์ให้พ้นจากห้วงทุกข์มาหลายมหายุคด้วยความเพียรพยายาม ทรงปรากฏกายให้เหมาะสมกับการโปรดสรรพสัตว์ในภพภูมิและมิติที่ต่างกัน พระองค์สามารถเนรมิตพระวรกาย (นิรมาณกาย) ได้อย่างไม่มีจำกัด เป็นได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง ทรงปรากฏกายในรูปพระตถาคตพุทธเจ้า พระมานุษิพุทธเจ้า พระมหาโพธิสัตว์ เทพเจ้าฮินดู ยิดัมผู้ดุร้ายและกษัตริย์ พระองค์สามารถเนรมิตให้มีพระเศียรและพระกรจำนวนมากเพื่อให้ช่วยเหลือสรรพสัตว์ได้มากขึ้นครับ  
.
เพียงเหล่าสาธุชนสวดธาริณี (dhāraṇī - มนตรา)  เอ่ยพระนามของพระองค์ ด้วยมนตรา 6 พยางค์  (Six Syllables) “โอมฺ มณิ ปทฺเม หูมฺ” (โอม-ม-ณี-ปทฺ-เม-หูม Oṃ - Auṃ maṇi padme hūṃ) ที่มีความหมายว่า “ดวงแก้วมณี (แสงสว่างเจิดจรัส) ได้อุบัติขึ้นจากดอกบัว” ก็จะได้บุญกุศลเท่ากับการถวายความเคารพบรรดาพระพุทธเจ้าซึ่งมีจำนวนหกสิบสองเท่าของเม็ดทรายในแม่น้ำคงคามาตลอดชีวิต เหล่าพระตถาคต พระมานุษิพุทธเจ้าและมานุษิพระโพธิสัตว์ ก็ล้วนแต่สวดมนตรานี้ทั้งสิ้น
.
ในพระสูตร “อมิตายุสพุทธานุสัมฤติสูตร”ของฝ่ายมหายานเดิมพรรณนาไว้ว่า พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรนั้นทรงเป็นเจ้าแห่งจักรวาล พระเกศาของพระองค์เป็นที่สถิตของพระพุทธเจ้าซึ่งมีขนาดสูงถึง 25 โยชน์ ทุกส่วนของพระองค์คือจักรวาล 1 จักรวาล พระนลาฏเป็นที่บังเกิดแห่ง “พระมเหศวร” พระเนตรเป็นที่กำเนิดแห่ง “พระสูริยา” และ “พระจันทรา” พระอังสาเป็นที่กำเนิดแห่ง “พระมหาพรหม” พระหทัยเป็นที่กำเนิดแห่ง “พระวิษณุ” พระอุทรเป็นที่กำเนิดแห่ง “พระวรุณ” พระโอษฐ์เป็นที่กำเนิดแห่ง “พระพาย” พระทนต์เป็นที่กำเนิดแห่ง “พระสุรัสวดี” และแผ่นดินคือ “พระบาท” 
.
คัมภีร์ “การันฑวยูหสูตร” (Karandavyūha Sūtra) พรรณนาว่า พระองค์เป็นผู้ให้กำเนิดเทพเจ้าฮินดู 12 องค์ โดยพระพรหมกำเนิดขึ้นจากพระพาหา พระนารายณ์ พระมหาเทพ (พระศิวะ) และพระอินทร์ กำเนิดขึ้นจากรากพระเกศา ,พระวรุณกำเนิดขึ้นจากพระอุทร ,พระพายกำเนิดขึ้นจากลมพระโอษฐ์ ,พระยม พระอาทิตย์ พระจันทร์ กำเนิดขึ้นจากพระเนตร ,พระนางปฤถิวี (พระนางภูมิเทวี) กำเนิดขึ้นพระบาท ,พระนางสุรัสวดี กำเนิดจากพระทนต์, พระนางลักษมี กำเนิดขึ้นจากพระชานุทั้งสองครับ  
.
“...พระรัศมีแห่งพระองค์ ส่องสว่างยิ่งกว่ารัศมีของบรรดาพระพุทธเจ้า... ในขุมพระโลมาของพระองค์เป็นแดนพุทธเกษตรของเหล่าพระพุทธเจ้าที่มีจำนวนมากมายมหาศาล... ด้วยเพียงพระโลมา 1 เส้นของพระองค์ก็มีอานุภาพมากกว่าพระพุทธเจ้า 62 เท่าของจำนวนเม็ดทรายในแม่น้ำคงคา..... นอกจากนั้นในขุมพระโลมาแต่ละขุมของพระองค์ ยังมีคนธรรพ์อยู่เป็นจำนวนพัน อีกขุมหนึ่งมีฤๅษีอยู่เป็นจำนวนล้าน ผู้ที่ออกมาจากพระโพธิสัตว์เปล่งรัศมีจึงมีทั้งเทวดา คนธรรพ์ ฤๅษี และเหล่าพระตาถาคตอีกมากมายมหาศาล...”
.
ในคัมภีร์ “อมิตายูรธยานสูตร” (Amitāyurdhyāna Sūtra) พรรณนาว่า “...ประภามณฑลที่ล้อมรอบพระเศียรพระโพธิสัตว์โลเกศวรประกอบด้วย พระพุทธเจ้า 500 พระองค์ แต่ละองค์แวดล้อมด้วยพระโพธิสัตว์ 500 พระองค์ และพระโพธิสัตว์แต่ละองค์ก็ยังแวดล้อมด้วยเหล่าเทพยดาอีกเป็นจำนวนมาก...”  
.
*** ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 18 คติความเชื่อและงานศิลปะนิยมในนิกายวัชรยานตันตระ ในลัทธิ “โลเกศวร” ที่ได้รับอิทธิพลมาจากดินแดนหิมาลัยและจากราชวงศ์ปาละในแคว้นพิหาร กลายมาเป็นคติความเชื่อที่นิยมและรุ่งเรืองอย่างสูงสุดในราชสำนักของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เกิดการสร้างรูปประติมากรรม “พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งอานุภาพบารมี (รัศมี)” (Bodhisattva Avalokitesvara (Irradiant) Prestige-Almighty) ตามวรรณกรรมฝ่ายวัชรยานตันตระ ในงานศิลปะแบบเขมรโบราณเป็นครั้งแรก (และครั้งเดียว) 
.
พุทธศิลป์ของพระโพธิสัตว์อวกิเตศวรเปล่งอานุภาพบารมี เป็นรูปบุคคลแบบรูปมนุษย์ประทับยืนตรงสมภังค์ (Samabhaṅga) มี 8 พระกร ตามรูปตันตระ (มีอานุภาพ-ฤทธาอภินิหาร) พระเศียรมุ่นมวยผมแบบนักบวช มีรูปพระอมิตาภะที่ด้านหน้า พระพักตร์นั้นสลักเป็นเค้าใบหน้าของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในความหมายว่า พระองค์ทรงมีอำนาจ-พลานุภาพ (ในทางโลก) เปรียบประดุจพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรผู้ทรงอานุภาพบารมีในสภาวะแห่งกษัตริย์ดังความในวรรณกรรมพระสูตร ทรงมีความประสงค์ที่จะลงมาโปรดเหล่าสรรพสัตว์ให้พ้นจากทุกข์ทั้งปวง ดังปรากฏความพระราชประสงค์ในจารึกหลายหลักในยุคของพระองค์ครับ 
.
พระวรกายส่วนบนสลักรูปของนางปรัชญาปารมิตา ศักติแห่งอุบายะและปัญญาคู่บารมีของพระองค์ เป็นบุคลาธิษฐานของคัมภีร์ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร (Prajñāpāramitā Hṛdaya) รวมทั้งรูปแห่งการบำเพ็ญบารมี ทั้ง 6 (ทาน ศีล ขันติ วิริยะ ธยาน ปัญญา) เป็นรูปบุคลาธิษฐานของสตรีล้อมรอบพระกฤษฎี  (เอว)  นุ่งภูษาสมพตลายหมี่ขาสั้น รัดพระองค์แบบแถบลายดอกไม้ต่อเนื่องที่พระโสณี ทิ้งชายผ้าหางปลาที่ด้านหน้าและด้านหลัง 
.
ช่างศิลปะได้แกะสลักตามความที่พรรณนาในพระสูตร ที่พรรณนาว่ามีพระตถาคตพุทธเจ้าที่สถิตในขุมพระโลม (ขน) เป็นจำนวนมากมายมหาศาล  จึงสลักเป็นรูปพระพุทธเจ้าแสดงธยานมุทราองค์เล็ก ๆ จำนวนมาก ที่ส่วนพระเกศาเหนือพระเศียร พระวรกายส่วนพระอุระ (หน้าอก) พระอุทร (ท้อง) พระปฤษฎางค์ (หลัง) โดยจัดรูปงานประดับพระตถาคตที่ขุมพระโลมาไม่ให้ดูน่าเกลียดรุงรัง จึงสลักรูปพระพุทธเจ้าเฉพาะที่ส่วนกรอพระศอ พาหุรัด ข้อพระกร ข้อพระบาท พระธำมรงค์ที่พระหัตถ์และพระองคุลีบาทเท่านั้นครับ
.
พระหัตถ์ทั้ง 8 ของรูปประติมากรรม ถือเครื่องสิ่งของมงคลที่มีความหมายแตกต่างกัน โดยถือ“ปัทมะ– ดอกบัว ” (Padma)  หมายถึงผู้กำเนิดขึ้นจากความบริสุทธิ์ หรือ ผู้แสวงหาความบริสุทธิ์ ที่จะกลายเป็นผู้เบิกบาน ผู้รู้แจ้ง และผู้ช่วยเหลือมวลมนุษย์จากสังสารวัฏ ถือ “หม้ออมฤตกุมภ์” (กมัลฑลุ) (Amritakumbha) ในความหมายของการเป็นผู้บำเพ็ญบารมี (นักบวช) ตามคติมหายาน ถือ “คัมภีร์ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร” ในความหมายของหัวใจแห่งการหลุดพ้นสู่โพธิญาณ และ ถือ “อักษมาลา-ลูกปะคำของนักบวช” (Rudraksha Mala) ในความหมายของการบำเพ็ญบารมี เพื่อเข้าสู่จุดหมายของการปฏิบัติโพธิญาณบารมี  ตามรูปศิลปะพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรผู้ทรงมหาเมตตากรุณาแบบ 4 กรเดิม 
.
โดยในรูปประติมากรรมแบบตันตระเพื่อแสดงอานุภาพ-บารมี ได้เพิ่มการถือ “จักร” (Chakra) ในความหมายของศาตราวุธเพื่อทำลายศัตรูแบบพระวิษณุ เพื่อทำลายความชั่วและอวิชชา ถือ “วัชระ ” (Vajratrishula) ความหมายถึงสายฟ้า ศาสตราวุธที่ทรงอานุภาพ ปัญญาที่เฉียบแหลมและคมกริบดั่งมณีเพชร  ถือ“อังกุศ – ขอสับช้าง ” (Ankusha)  ในความหมายของผู้ควบคุมดูแลเหล่าสรรพสัตว์โลก ถือ“พระขรรค์-ดาบ” (Sword-Chhuri) หรือ “กริช" (kris) ในพระหัตถ์ซ้ายล่าง ตามความหมายของศาตราวุธเพื่อทำลายศัตรู ความชั่ว หรืออวิชชา   ถือ “สังข์” (Shankha) ในความหมายของผู้ปกครองมหาสมุทรแบบพระวิษณุ และถือ “พระมานุษิโพธิสัตว์” (Mortal Buddhas) ในหัตถ์ขวาล่าง ความหมายถึงทรงกำเนิดและปกป้องผู้บำเพ็ญโพธิญาณบารมีเพื่อเป็นพระมานุษิโพธิสัตว์องค์ใหม่อย่างไม่มีที่สิ้นสุดครับ
.
ภายหลังการสิ้นอำนาจของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 รูปประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวกิเตศวรเปล่งอานุภาพบารมี ที่กำลังแกะสลักอยู่ก็คงทิ้งค้างไว้ อย่างที่พบจากบารายของปราสาทนาคพัน เขาพนมได หลายองค์ได้ถูกดัดแปลงไปเป็นพระมหาวิษณุ อย่างที่พบจากโคปุระด้านหน้าของปราสาทนครวัด ส่วนรูปสลักที่สมบูรณ์แล้วส่วนใหญ่ก็จะถูกทุบทำลายเช่นเดียวกับรูปพระพุทธรูปและรูปเหมือนของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อย่างที่พบ ปราสาทตาพรหม ประตูผี (Porte des Morts) ปราสาทโต๊ปตะวันตก (West Prasat Top) ภายในเมืองพระนคร  ปราสาทสำคัญอย่างปราสาทพนมบานอน จังหวัดพระตะบอง ปราสาทวัดนครบาเจย จังหวัดกำปงจาม สะพานกำปงเกดย ปราสาทตาพรหมโตนเลบาตี จังหวัดตาแก้ว ปราสาทพระถกล กำปงสวาย ปราสาทจอมปราสาท จังหวัดราชบุรี ปราสาทกำแพงแลง จังหวัดเพชรบุรี ฯลฯ บางรูปก็มาถูกทำลายในช่วงสงครามกลางเมืองอย่างรูปประติมากรรมจากซากปราสาทดอนเตย (Prasat Duan Tei) และรูปขนาดเล็กจากบารายตะวันออก
*** รูปประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวกิเตศวรเปล่งอานุภาพบารมีที่เหลือรอดมาในปัจจุบัน และยังคงมีพระพักตร์ที่สมบูรณ์เป็นที่รู้จัก คือ รูปประติมากรรมจากปราสาทพระถกล (Preah Thkol) เมืองกำปงสวาย จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะกีเมต์ (Musée Guimet) กรุงปารีส ฝรั่งเศส รูปประติมากรรมจากปราสาทเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร รูปประติมากรรมที่อาจหมายถึงพระราชบิดาของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จากปราสาทพระขรรค์ เมืองเสียมเรียบ จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงพนมเปญ รูปประติมากรรมขนาดใหญ่ 3 องค์ จากเขาพนมได ซากปราสาทดอนเตยและบนคันบารายของปราสาทนาคพัน ที่เก็บรักษาไว้ที่สำนักงานโครงการอภิรักษ์อังกอร์ (Conservation d’ Angkor/Angkor Conservation Office)  เมืองเสียมเรียบ รูปประติมากรรมสำริดขนาดเล็กที่พระราชวังกรุงพนมเปญ และส่วนพระเศียรที่พบจากวัดเจ้าพราหมณ์ เกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาครับ
เครดิต :
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab Academy
เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า


Create Date : 06 กันยายน 2563
Last Update : 6 กันยายน 2563 9:52:31 น. 1 comments
Counter : 1064 Pageviews.

 
เพิ่งได้รับมาบูชา


โดย: สาธุๆๆ IP: 49.229.245.119 วันที่: 14 ตุลาคม 2565 เวลา:1:38:04 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
New Comments
Friends' blogs
[Add ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.