ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always be loved.
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2563
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
28 ตุลาคม 2563
 
All Blogs
 
พระกฤษณะ

12 ฉาก “ชีวประวัติในวัยเด็กของพระกฤษณะ” เทวาลัยไกรลาสนาถ ถ้ำเอลโลร่าที่ 16
“เทวาลัยไกรลาสนาถ” (Kailāsanātha Temple) หรือ “ถ้ำเอลโลร่า ที่ 16” (Ellora 16) เป็นเทวาลัยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาถ้ำเจาะ (Rock-cut) เชิงหน้าผาหินบะซอลต์ กว่า 100 จุด เรียกว่า “หมู่ถ้ำเอลโลร่า” (Ellora Caves)  เขตเทือกเขาฆาฏตะวันตก (Western Ghats range) ของที่ราบสูงเดกข่าน (Deccan Plateau)  ในเขตเมืองออรังกาบัด (Aurangabad) รัฐมหาราษฏระ (Maharashtra) 
เทวาลัยไกรลาสนาถ เกิดขึ้นจากการออกแบบทางสถาปัตยกรรมผสมผสานกับการสำรวจเนื้อหินภูเขา จึงเกิดเป็นการสร้างสร้างอาคารที่มีการจัดวางซุ้มประตู ระเบียง เสาประทีป มณฑป วิมานประธาน ให้มีห้องคูหาและรูปสลักในคติฮินดูมากมาย จากการเจาะเนื้อของภูเขาหินเข้าไปเพียงก้อนเดียว (Single rock) ไม่มีการตัดหินมาประกอบเป็นโครงสร้างแบบเทวาลัยอื่น ๆ 
เทวาลัยไกรลาสนาถ สร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้ากฤษณะที่ 1 (Krishna I)  ราชวงศ์ราชฐากุฏะ (Rashtrakuta) ในช่วงปลายสุดของพุทธศตวรรษที่ 13 จนถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 14 เพื่อสถาปนาเขาไกรลาส (Kailasha) ที่ประทับแห่งองค์พระศิวะ และ สถานที่สถิตของวิญญาณหลังความตายแห่งกษัตริย์ หลอมรวมกับพระศิวะ (ปราสาทหันหน้าไปทางตะวันตก) โดยมี “ห้องครรภคฤหะ” (Garbha-grihya)  หรือ “ปริมณฑลประธาน” (แซงทัม แซงทอรัม - Sanctum Sanctorum) ประดิษฐานรูปศิวลึงค์ (Shiva Lingam) บนฐานโยนีโธรณี (Yonidorini) ทรงกลมขนาดใหญ่ ใจกลางวิมานเทวาลัยประธาน รอบล้อมไปด้วยงานศิลปะรูปสลัก ปูนปั้นและภาพเขียนสีตามคติความเชื่อในวรรณกรรมเทพเจ้า
บริเวณผนังกำแพงข้างมุขหน้าฐานอาคาร “สถามณฑป” (Sabhā-maṇḍapa)  ด้านหน้าของวิมานประธาน ฝั่งทิศใต้สลักเป็นแผงแสดงเรื่องราวของมหากาพย์ “รามายณะ”  (The Epic Rāmāyaṇa Cycle)  ส่วนทางฝั่งทิศเหนือสลักเป็นแผงภาพในเรื่องราวของมหากาพย์ “มหาภารตะ” (The Epic Mahābhārata) ที่ด้านล่างนั้นเป็นเรื่องราว “ชีวประวัติแห่งพระกฤษณะ” (Krishnacaritra)  ในวัยเด็ก (Childhood of Kṛṣṇa) บนแผงภาพจำนวน 12 ฉาก ซึ่งภาพสลักบนแผงนี้เคยมีงานปั้นปูน (Stucco) เป็นรายละเอียดและมีการลงสีสันสวยงาม
--------------------------------------
*** ฉากแรกนั้น เริ่มจากมุมขวาล่างของแผงภาพคือตอน “กำเนิดพระกฤษณะ” (Kṛṣṇajanma) เป็นภาพของนางเทวกี (Devakī) ให้กำเนิดพระกฤษณะ (พระวิษณุ อวตารลงมาจุติเป็นโอรสองค์ที่ 8 )  โดยมีพระวาสุเทพ (Vasudeva)  พระบิดา กำลังเตรียมสับเปลี่ยนลูกของตนกับลูกสาวของนางยโสธา (Yaśodā) ภรรยาของนายนันทะ (Nanda) โคปาลกะ (Gopika ผู้เลี้ยงวัว) เพื่อหนีจากการตามล่าของพญากังสะ (Kaṃsa) กษัตริย์อสูรผู้ปกครองนครมถุรา
*** ฉากที่ 2 คือตอน “การพาพระกฤษณะหนีออกจากที่คุมขัง” (Deliverence from jail) เป็นภาพของพระวาสุเทพกำลังพากฤษณะกุมารหนีออกจากที่คุมขังในยามดึก โดยมีภาพของทหารยามเฝ้าอยู่ ในวรรณกรรมหริวงศ์ (Harivanśha) เล่าว่า ขณะที่พระวาสุเทพกำลังอุ้มกฤษณะกุมารที่นอนหลับอยู่ตะกร้า ตรงประตูทางออกนั้นปรากฏฝูงลา (Donkeys) นอนขวางอยู่ กำลังจะส่งเสียงร้องเมื่อเห็นเขา พระวาสุเทพจึงก้มลง “กราบลา” เพื่อไม่ให้มันตกใจจนทำให้ผู้คุมตื่น กลายมาสุภาษิตโบราณของฝ่ายฮินดูที่ว่า "ถ้าจะทำงานให้สำเร็จลุล่วง จะต้องกราบลาเสียก่อน” (To get one's work done, one has to prostrate even before a donkey) 
*** ฉากที่ 3 คือตอน “ความปิติยินดีที่โคกุลา” (Rejoicing in Gokula) เป็นภาพของเหล่า พระวาสุเทพ นำพระกฤษณะกุมมาร ข้ามแม่น้ำยมุนา (Yamuna) มายังหมู่บ้านคนเลี้ยงวัวชื่อว่า “โคกุลา” เหล่าโคปาลกะและนางโคปี (Gopis - ผู้หญิงเลี้ยงวัว) ต่างแสดงความยินดีปรีดา ในวรรณกรรมเล่าว่า มีการเล่นดนตรี เป่าขลุ่ย ตีกลองรำมะนา และการฟ้อนรำของเหล่านางโคปีอย่างอบอุ่นและยิ่งใหญ่
*** ฉากที่ 4 คือตอน “ปุตนาวธ” (Pūtanāvadha) สังหารนางอสูรที่มีชื่อว่า “ปุตนา” (Pūtanā) เป็นภาพของนางยโสธา กำลังตำข้าว โดยมีพระกฤษณะกุมารในพระอู่-เปล กำลังดูดนมจากเต้าของนางปุตนา แม่นมอสูรที่แอบเข้ามาให้นมพิษ หมายจะสังหารพระกฤษณะ แต่พิษก็ไม่สามารถทำอะไรได้ ทั้งยังถูกพระกุมารดูดพลังชีวิตของนางออกทางหน้าอกจนแห้งตาย
*** ฉากที่ 5 คือตอน “นมและการปั่นเนย” (Navanītacaurya) เป็นภาพวิถีชีวิตของชาวหมู่บ้านโคกุลา ที่เลี้ยงโคนม นางโคปีจะเป็นคนรีดนม นำน้ำนมใส่หม้อดินมาปั่นเป็นเนยสดและโยเกิร์ต
*** ฉากที่ 6 สันนิษฐานว่า คือตอน  “โควรรธนะธารณ” (Govardhanadhāraṇa) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่พระกฤษณะกุมารกำลังยกภูเขาโควรรธนะให้เป็นที่พักพิง ช่วยเหลือเหล่าโคปาลกะและปศุสัตว์จากความพิโรธของพระอินทร์จากเหตุที่ผู้คนเลี้ยงโคไม่เซ่นสรวงบูชาพระองค์ จึงบันดาลฝนตกหนัก 7 วัน 7 คืน 
*** ฉากที่ 7 สันนิษฐานว่า คือตอน “โคโธหนะ” (Godohana) หรือ ตอนพระกฤษณะกุมารรีดนมวัว (ภาพยังสลักไม่เสร็จ) เป็นช่วงเวลาที่พระกฤษณะกุมาร ถูกนางโคปีนำมาฝึกรีดนมวัวพร้อม ๆ กับ “พระพลราม” (Balarāma) ผู้เป็นพี่ชาย และเหล่าลูกหลานของครอบครัวโคปาลกะ ในคอกวัวของ “พฤษภานุมหาราชา” (Vrishabhanu Maharaja) ที่มีวัวมากมายนับแสนตัว ซึ่งในวรรณกรรมเล่าว่า พระกฤษณะกุมารแสนซนได้หลอกให้ “นางราธา”  (Radha) เด็กสาวโคปีมาฝึกรีดนมกับพระองค์ แล้วพระกฤษณะกุมารก็ได้เล็งให้น้ำนมจากเต้าพุ่งไปใส่หน้าของเธอจนเปียกโชกให้เป็นที่ขบขันกัน 
แต่นั่นก็คือ จุดเริ่มต้นของความรักครั้งแรกในวัยเด็ก ระหว่างพระกฤษณะกับพระแม่ราธาเทวีครับ
*** ฉากที่ 8 “ พระกฤษณะกุมารแอบขโมยนมเนยมากิน” (Ulūkhalabandhana)  ภาพสลักแสดงตอนที่พระกฤษณะ กำลังแอบเข้าไปลักกินนมและโยเกิร์ตซึ่งเป็นอาหารโปรดของพระองค์ ซึ่งในวรรณกรรมเล่าว่า ด้วยเพราะพระกฤษณะกุมารชอบชักชวนพระพลรามกุมารแอบเข้าไปในห้องเก็บเนยและโยเกิร์ตเป็นประจำ เหล่านางโคปีแต่ละบ้านจะนำนม เนยสดและโยเกิร์ต ไปซ่อนไว้ในห้องมืด หากสองกุมารแอบเข้ามาก็จะมองเห็นแสงสว่างออกมาจากพระวรกายของทั้งสอง หลายบ้านยังได้แขวนหม้อเก็บเนยสดและโยเกิร์ตไว้กับเพดาน แต่ก็ไม่อาจรอดพ้นฝีมือของทั้งสอง ที่ช่วยกันวางแผ่นไม้ต่อขึ้นไปจากครกบด และถ้ายังไม่สามารถขึ้นไปถึงปากหม้อได้ พระกฤษณะกุมารก็จะเจาะรูที่ก้นหม้อและนำลงมาแบ่งกันทานอย่างเอร็ดอร่อย 
*** ฉากที่ 9 คือตอน “สังหารบากาสูร-อสูรจนกนกกระเรียน” (Killing Bakāsura)  เป็นภาพของพระกฤษณะกุมารนอนอยู่บนเตียง กำลังบีบคออสูรนกกระเรียนที่มีชื่อว่าบากาสูร และมีภาพของอสูรยักษ์กำลังแสดงท่าพ่ายแพ้อีกตนหนึ่งที่ปลายเตียงที่อาจมีความหมายถึงเหล่าอสูรอื่น ๆ ที่พญากังสะส่งมาสังหารพระกฤษณะกุมาร ทั้ง อสูรเหินฟ้า ศักตาสูร (Saktasura) อสูรลมหมุน ตรีนะวัตร (Trinavasta) หรืออสูรยักษ์ ประลัมพะ (Pralamba) 
*** ฉากที่ 10 อาจหมายถึงเหตุการณ์ตอน “เทวีผู้ชนะความตาย” (The Goddess victorious over death)  ที่ย้อนกลับไปตอนที่พระวาสุเทพได้แอบนำพระกฤษณะกุมารไปสับเปลี่ยนกับกุมารีของนายนันทะกับนางยโสธา แล้วได้นำไปมอบให้พญากังสะ ซึ่งพญากังสะจึงได้จับขาของทารกน้อยโยนเข้ากระแทกกับกำแพงเพื่อให้สิ้นชีวิต แต่ทารกนั้นกลับกลายร่างเป็นเทวีผู้ชนะความตาย มีสิงห์เป็นวาหนะ (อาจหมายถึง “พระแม่ชคัทธาตรี” (Jagaddhatri) อวตารแห่งพระแม่ทุรคา “พระแม่มายา” (Māyā Devi) หรือพระแม่กาตยายะณี" (Kātyāyanī) ที่เหล่านางโคปีบูชา เพื่อให้พระกฤษณะเลือกตนเป็นภรรยา)  เทวียังได้กล่าวกับพญากงส์ก่อนกลับสู่สวรรค์ว่า “...บัดนี้ผู้ที่จะมาสังหารท่าน ได้ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกแล้ว.."
*** ฉากที่ 11 “สังหารอสูรรถเข็น” (The smashing of the Cart Demon) ย้อนกลับไปตอนที่พระกฤษณะกุมารที่ยังเป็นทารกแรกเกิด เพิ่งผ่านพิธีรับขวัญลงพระอู่ “อุธานา” (Uthana ceremony)  นางยโสธาได้เผลอวางพระกฤษณะกุมารในเปลตะกร้าไว้บนรถเข็น ที่เป็นอสูรนามว่า “ศากตะภังก้า”  (Śakaṭabhaṅga)  โดยไม่รู้ว่าเป็นอสูรแปลงร่างมา อสูรได้แล่นล้อหมุนออกไปอย่างรวดเร็วเพื่อพาทารกไปสังหาร แต่พระกุมารที่ยังเป็นทารกน้อยก็ได้ใช้ขากระแทกด้วยพลังที่รุนแรงจนล้อแยกออกจากดุมเพลา รถเข็นพลิกคว่ำพังพินาศ สิ่งของบนรถกระจัดกระจายกระจัดกระจาย นางยโสธากับเหล่านางโคปีก็ให้งุนงงว่า รถเข็นนั้นพังได้อย่างไร เด็ก ๆ ที่เห็นเหตุการณ์ ต่างก็เล่าว่า พระกุมารเป็นผู้ทำลาย แต่ก็ไม่มีใครเชื่อว่าทารกน้อยนั้นจะมีพละกำลังมากมายได้เช่นนี้ “.. มันควรเป็นความโชคดีของพระกุมาร จากอุบัติเหตุมากกว่านะคะเด็ก ๆ ...” 
*** ฉากที่ 12  “กังสะวธ” (Kaṃsavadha) หรือ “ สังหารพญากงส์” (Killing of Kamsa) เป็นเรื่องราวตอนสุดท้ายในวัยเด็ก เมื่อพระกฤษณะและพระพลรามเติบโตขึ้น พระอวตารทั้งสองไปเดินทางข้ามแม่น้ำยมุนา ไปยังเมืองมถุรา ตามคำลวงของพญากงส์ที่ได้จับพระวาสุเทพและนางเทวกีเป็นตัวประกัน ทั้งสองเดินฝ่าเข้าไปในท้องพระโรงใหญ่ของพระราชวังแห่งมืองมถุรา เข้าต่อสู้และสังหารนักมวยปล้ำอสูร จาณูระและมุสติกะ (Cāṇūra - Muṣṭika) รวมทั้งนักมวยปล้ำผู้เป็นบริวารจนราบคาบทั้งหมด พระกฤษณะได้ทรงกระโดดขึ้นไปบนพลับพลาที่ประทับของพญากงส์อย่างรวดเร็ว ทรงยืนชี้หน้ากล่าวประณามถึงความผิดบาปและความชั่วช้าสามาลย์ที่พญากงส์ได้ก่อขึ้นไว้แก่พระวาสุเทพและพระนางเทวกีผู้เป็นบิดามารดาของพระองค์ รวมทั้งกษัตริย์อุกรเสนะและเหล่าประชาราษฏร 
พญากงส์ลุกขึ้นจากบัลลังก์ทองด้วยความโกรธ คว้าดาบและโล่พุ่งเข้ามาหมายสังหารพระกฤษณะในทันที
พระกฤษณะกระโดดเอาศีรษะกระแทกเข้ากับหน้าผากของพระยากงส์จนมงกุฎหลุดกระเด็น แล้วคว้าผมยาวของเขาไว้ในมือ จากนั้นก็ลากพญากงส์ลงมาจากท้องพระโรง ขว้างร่างอสูรไปบนพื้นดินของเวทีมวยปล้ำด้วยพละกำลังอันมหาศาล พญากงส์พยายามลุกขึ้นต่อสู้อีกครั้ง แต่ก็ไม่สามารถต้านทานพลังของหนุ่มน้อยผู้เป็นพระอวตารได้
พระกฤษณะเหยียบพระบาทบนหน้าอก กดทับพญากงส์ราบไว้กับพื้นลาน แล้วประสานมือเป็นกำปั้นใหญ่ ทุบเข้าไปที่หน้าอกเป็นครั้งสุดท้ายจนพญากงส์สิ้นชีวิตในทันที พระองค์ลากร่างพญากงส์ไปรอบ ๆ ลานประลอง ผู้คนต่างตะโกนร้องปลงสังเวช และกล่าวพระนาม “กฤษณะ ๆๆๆๆๆ” ร่วมสรรเสริญยินดีในชัยชนะอย่างกึกก้อง 
พระกฤษณะกุมารได้ถวายพระราชสมบัติคืนแก่กษัตริย์อุกรเสนะ (Ugrasena) ผู้ทรงคุณธรรม ให้คืนกลับมาปกครองบ้านเมืองมถุราดังเดิม
เครดิต ;
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy
เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า
Ref : Scenes from the Childhood of Kṛṣṇa on the Kailāsanātha Temple, John Stratton Hawley : 1981


Create Date : 28 ตุลาคม 2563
Last Update : 28 ตุลาคม 2563 17:13:41 น. 3 comments
Counter : 659 Pageviews.

 
ขอบคุณที่แบ่งปัน


โดย: Kavanich96 วันที่: 29 ตุลาคม 2563 เวลา:1:36:49 น.  

 
สาธุ สาธุอนุโมทามิ
ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก


โดย: ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก วันที่: 18 ธันวาคม 2563 เวลา:13:09:38 น.  

 
ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always be love. _/|\_


โดย: ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก วันที่: 18 ธันวาคม 2563 เวลา:13:10:31 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
New Comments
Friends' blogs
[Add ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.