ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always be loved.
Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2564
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
24 ธันวาคม 2564
 
All Blogs
 
พระเจ้าองค์ตื้อ

“พระเจ้าองค์ตื้อ ภูพระ” จากทวารวดีอีสานมหายานสู่พุทธสถานเถรวาท ที่ชัยภูมิ  

“วัดศิลาอาสน์” หรือ “ภูพระ” ตั้งอยู่บนเนินเขาหินทรายเล็ก ๆ ที่บ้านนาไก่เซา ตำบลนาเสียว อำเภอเมือง จังหวัดเมืองชัยภูมิ มีภูมิวัฒนธรรมเป็นเชิงลาดเทือกเขาหินทรายทางใต้ของเขาภูแลนคาตะวันออก/ตาดโดน ใกล้กับจุดโค้งของแนวเทือกเขา ที่เชื่อมต่อมาจากเขาเพชรบูรณ์ทางตะวันตกทอดยาวไปทางตะวันออก โค้งขึ้นไปทางทิศเหนือที่อำเภอคอนสวรรค์ ต่อขึ้นไปทางเหนือถึงภูเบ็ง น้ำพอง ภูฝอยลม ภูพระบาท ในเขตตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี 
.
บนโขดเพิงหินเทินรูปดอกเห็ดตามธรรมชาติ 2 โขด ปรากฏการแกะสลักผนังของหินส่วนโคนของเพิง โขดทางทิศเหนือเป็นพระพุทธรูปใหญ่ เรียกกันว่า “พระเจ้าองค์ตื้อ” ที่หมายถึง “พระพุทธรูปใหญ่ (ที่สุด ในบริเวณนั้น)” (ตื้อ ในภาษาลาวหมายถึง มหาศาล ประมาณมิได้) อีกโขดหนึ่งอยู่ใกล้เคียงกันทางทิศใต้ แกะสลักเป็นพระพุทธรูปเรียงรายรอบผนังโคนด้านเหนือและตะวันตก 7 องค์ ครับ
.
พุทธศิลป์ของพระเจ้าล้านตื้อพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชรหงายพระบาท แต่วางพระหัตถ์ซ้ายเหนือพระบาท/พระเพลา แตกต่างไปจากขนบงานศิลปะปางมารวิชัย พระวรกายใหญ่ พระพักตร์สี่เหลี่ยม พระขนงต่อกันเกือบเป็นเส้นตรง พระเนตรเปิดและมองตรง พระนาสิกแบน พระเกศาสลักเป็นเส้นขีดถี่ ไม่ทำเป็นวงก้นหอย ห่มคลุมแต่วางผ้าสังฆาฏิเป็นแถบใหญ่เฉียงพาดตรงมาจากพระอังสาซ้าย  
.
*** ส่วนพระพุทธรูป 7 องค์ ถึงจะมีมีพุทธศิลป์ที่คล้ายคลึงกัน แต่ก็มีรายละเอียดของรูปศิลปะและปางที่แตกต่างกัน จนดูเหมือนว่าจะไม่ได้ถูกแกะสลักขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันครับ    
.
พระพุทธรูปเพิงเล็กมุมทิศตะวันออก/เหนือ และองค์แรกทางตะวันออก มีพุทธศิลป์ที่ดูเก่าแก่มากที่สุด คือแกะสลักในท่า “ธยานะมุทรา” (Dhyāna Mudra) หรือปางสมาธิ ไขว้ข้อพระชงฆ์ประสานขัดสมาธิเพชร หงายฝ่าพระบาทออกให้เห็นทั้งสองข้างแบบการปฏิบัติโยคะที่เรียกว่า “วัชราสนะ” (Vajrāsana)   พระหัตถ์ขวาวางเหนือพระหัตถ์ซ้าย อีกองค์หนึ่งปลายนิ้วพระหัตถ์ชนกัน นุ่งจีวรแบบห่มคลุม พระพุทธรูปนี้จึงควรถูกแกะสลักขึ้นครั้งแรกจากอิทธิพลของงานศิลปะแบบราชวงศ์ปาละ ***แบบทวารวดีอีสานมหายาน ส่วนพระพักตร์ พระเกศาและอุษณีษะทรงกรวยแหลม มีรูปแบบเดียวกับพระพุทธรูปในงานศิลปะแบบพระวิหาร ยุคพระเจ้าสูริยวรมันที่ 1  พระพุทธรูปสององค์เล็กที่เพิงฝั่งทิศใต้ในครั้งแรกนี้ จึงควรมีอายุในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นงานศิลปะผสมระหว่างทวารวดีอีสานกับเขมร/พระวิหารในคติมหายาน    
.
ซึ่งในการแกะสลักครั้งแรก ก็อาจได้มีการแกะสลักโกลนของพระพุทธรูปไว้ รวม 7 พระองค์ ตามคติ “พระสัปตมานุษิพุทธเจ้า”(Sapta Mortal Buddha) ของฝ่ายมหายาน รวมทั้งโกลนของพระพุทธรูปองค์ตื้อ แต่ยังแกะสลักไม่แล้วเสร็จครับ
.
ประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 จึงได้มีการแกะสลักรายละเอียดพระพุทธรูป 2 – 3 องค์ ให้สวมเทริดอุณหิสแบบเขมร และองค์ทางด้านทิศใต้องค์หนึ่งมีร่องรอยการสลักกรอศอตามแบบศิลปะแบบนครวัด จนเมื่อชาวล้านช้าง/เชียงแสน อพยพเข้ามาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 – 22 จึงได้มีการแกะสลักองค์ตื้อขึ้นใหม่จากโกลนเดิมที่ทิ้งค้างไว้ในอดีต โดยพระองค์เล็กมุมทิศใต้ของเพิงเล็กก็มีรูปแบบเดียวกัน โดยลอกแบบมาจากพระพุทธรูปองค์ที่แกะสลักครั้งแรก รวมทั้งเลือกแกะสลักผ้าสังฆาฏิแบบเถรวาทเพิ่มเข้าไปเฉพาะพระพุทธรูปแบบที่ไม่สวมเทริดอุณหิส     
.
*** บริเวณภูพระในอดีต เป็นเส้นทางสำคัญเชื่อมต่อเมืองโบราณศรีเทพ ตามเส้นทางช่องเขาพังเหย ขึ้นไปสู่แดนอีสานเหนือตามตั้งแต่ยุคทวารวดี/ปาละ นักบวชและผู้ศรัทธากลุ่มหนึ่งคงได้เริ่มเข้ามาอาศัยเพิงผาหินเทินบนลาดเขา สร้างเป็นชุมชนที่พำนักปฏิบัติธรรมตามแนวทาง “พระป่า/อารัณยกะ”(Aranyaka)” หรือ “อารัญวาสี/อรัญวาสี” (Āraṇya-vāsī /Buddhist forest monastery /Forest renunciates) ดังเช่นที่เขาถมอรัตน์ ทางตะวันตกของเมืองโบราณศรีเทพ  โดยได้ปรับปรุงพื้นที่พำนักใต้โขดหินที่เทินเป็นเพิง ปรับแต่งพื้นและผนังหิน สกัดหินเป็นบ่อน้ำขนาดใหญ่น้อยและได้แกะสลักผนังเป็นรูปพระพุทธเจ้าศากยมุนีใต้โคนหินเทิน อภิเษกให้เป็น “เจติยสถาน” (Chaitya Hall) ในการประกอบสังฆกรรม มาตั้งแต่ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 15  ต่เนื่องมาจนถึงราวพุทธศตวรรษที่ 17 แล้วปรากฏร่องรอยการทิ้งร้างไประยะหนึ่งครับ  
.
ประมาณพุทธศตวรรษที่ 21 – 22 จึงมีกลุ่มนักบวชและข้าโอกาส/กะโยม ที่นับถือพุทธศาสนาแบบเถรวาทเข้ามาใช้พื้นที่ภูพระอีกครั้ง ซึ่งในครั้งหลังนี้จึงได้มีการแกะสลักโกลนพระพุทธรูปใหญ่เดิมที่ทิ้งค้างไว้ขึ้นเป็นพระเจ้าองค์ตื้อ โดยเลียนแบบพุทธศิลป์จากพระพุทธรูปเพิงเล็กที่แกะสลักไว้ในยุคก่อนหน้า สลักเป็นท่าขัดสมาธิเพชรตามแบบพระสิงหล/เชียงแสน (หรือตามศิลปะนิยมแบบทวารวดีอีสานเดิม) ปางมารวิชัยแบบใช้พระหัตถ์ซ้ายที่เรียกว่า “ปางสะดุ้งกลับ” (กลับร้ายกลายเป็นดี) ที่ปรากฏคติและศิลปะในเชียงรุ้ง เชียงแสนล้านนาและล้านช้าง มาก่อนหน้าแล้ว ทั้งยังสลักผ้าสังฆาฏิให้กับพระพุทธรูปบางองค์เพิ่มเติมเพื่อเปลี่ยนให้เป็นพระพุทธเจ้าแบบเถรวาท ยกเว้นแต่พระพุทธรูปที่สวมเทริดอุณหิส (ที่อาจปล่อยให้เป็นพระศรีอาริยเมตไตรย)  
.
*** การใช้ประโยชน์จากภูพระเพื่อเป็นวัดป่า/อรัญวาสี (มีโคนหินเพิงสลักพระเจ้าองค์ตื้อเป็นศูนย์กลาง) คงได้สิ้นสุดลงกลายเป็นป่ารกชัฏ จนเมื่อชนกลุ่มชนลาวยุคหลังถูกกวาดต้อน/อพยพจากเวียงจันทน์ (ท้าวแล) เข้ามาในพื้นที่  จึงได้มีการมาพบเจติยสถานที่ภูพระอีกครั้ง ชาวลาวได้นำคติความเชื่อฮีตสิบสอง (ประเพณี 12 เดือน ที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนาแบบลาว) คองสิบสี่ การบูชาผีฟ้า/ผีแถน/ผีบรรพบุรุษ ตามวิถีวัฒนธรรมของตน มาประยุกต์ใช้กับเจติยสถานเก่าแก่ในพระพุทธศาสนา โดยได้จัดให้มีพิธีกรรม “ลำผีฟ้า/บูชาแถน ในช่วงเดือน 3 และเดือน 5 ของทุกปี
.
*** ลำผีฟ้า/บูชาแถนของชาติพันธุ์ลาว เป็นการนำคติความเชื่อและพิธีกรรมบูชาผีฟ้า/ผีบรรพบุรุษ เข้ามาสวมทับกับซากพุทธสถานโบราณที่เพิ่งมาพบใหญ่ในเขตที่ตั้งชุมชนของตน จึงมิใช่เป็นคติเดียวกันแบบ “ผีปนพุทธ” มาตั้งแต่แรกนะครับ
เครดิต :FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy


Create Date : 24 ธันวาคม 2564
Last Update : 24 ธันวาคม 2564 20:07:53 น. 1 comments
Counter : 406 Pageviews.

 
ขอบคุณที่แบ่งปัน


โดย: Kavanich96 วันที่: 25 ธันวาคม 2564 เวลา:4:05:41 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
New Comments
Friends' blogs
[Add ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.