ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always be loved.
Group Blog
 
 
กันยายน 2563
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
10 กันยายน 2563
 
All Blogs
 
ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดสุวรรณดารามอยุธยา


จิตรกรรมฝาผนังวัดสุวรรณดารารามฯ อยุธยา 
“#จังหวัดพระนครศรีอยุธยา” เชื่อว่าหลายคนคงเคยเดินทางมาวัดเพื่อไหว้พระ หรือสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์กันบ้างแล้ว แต่สำหรับใครที่ยังไม่เคยมา วันนี้ KiNd ขออาสาเป็นไกด์พาไปย้อนเรื่องราวในอดีตกาลผ่านงานจิตรกรรมไทยพร้อม ๆ กัน ที่ “วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร” หรือหากใครที่เคยมา ณ วัดแห่งนี้แล้ว แต่ยังไม่เคยทัศนางานศิลป์บนผนังในวิหารอย่างลุ่มลึกแล้วละก็ วันนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีทีเดียว

“วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร” เป็นวัดเก่าที่มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ตั้งอยู่ในเกาะเมืองเขตพระนคร ด้านทิศตะวันออกค่อนลงมาทางใต้ใกล้ป้อมเพชร ตำบลหอรัตนไชย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สถาปนาขึ้นโดยพระสุนทรอักษร (ทองดี) พระบรมชนกในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ 

วัดแห่งนี้เดิมมีชื่อว่า “วัดทอง” ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ พม่าได้ยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาแตก วัดทองจึงถูกพม่าทำลายกลายเป็นวัดร้างมานานถึง ๑๘ ปี

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๒๘ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์ และทรง พระราชทานนามใหม่ตามชื่อของพระราชบิดา (ทองดี) และพระราชมารดา (ดาวเรือง) ว่า “วัดสุวรรณดาราราม”

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๒๘ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์ และทรง พระราชทานนามใหม่ตามชื่อของพระราชบิดา (ทองดี) และพระราชมารดา (ดาวเรือง) ว่า “#วัดสุวรรณดาราราม”
__

#จิตรกรรมสีน้ำมันบนผนังวัด_กับเรื่องราวกษัตริย์ไทย

ในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ก่อนที่งานจิตรกรรมของไทยจะได้รับอิทธิพลศิลปะจากวัฒนธรรมตะวันตกนั้น มีลักษณะเป็น “จิตรกรรมประเพณี” กล่าวคือ เป็นงานจิตรกรรมที่สร้างขึ้นด้วยอิทธิพลความเชื่อด้านพุทธศาสนา มีเนื้อหา รูปแบบ และวิธีการแสดงออกเป็นระเบียบแบบแผนสืบทอดกันมาอย่างช้านานเป็น “ศิลปะแบบอุดมคติ” (Idealistic) มีการวางรูปทรง เส้น สี องค์ประกอบศิลป์ประสานกันอย่างกลมกลืน 

ส่วนด้านเนื้อหาของภาพจะเป็นเรื่องราวพุทธประวัติ อดีตของพุทธเจ้า ทศชาติชาดก หรือไตรภูมิ โดยมีแบบแผนการวางที่ไม่แตกต่างกัน นอกจากนี้การแสดงออกของจิตรกรรมไทยประเพณี ยังไม่คำนึงถึงความเป็นจริงทางทัศนียวิทยา สัดส่วนระหว่างรูปทรง แสงเงา บรรยากาศของกาลเวลา และส่วนใหญ่จะแสดงภาพแบบสองมิติ
ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา ลักษณะการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม และค่านิยม จะมีลักษณะแตกต่างจากสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นผู้นำของประเทศตระหนักถึงอำนาจตะวันตกที่กำลังเข้ามามีอิทธิพลอย่างมาก และเห็นว่าควรปรับประเทศในทุก ๆ ด้าน เพื่อความเจริญก้าวหน้า พร้อมทั้งคงไว้ซึ่งเอกราชของบ้านเมือง 
เฉกเช่นเดียวกับงานด้านจิตรกรรม เนื้อหาของช่างเขียนไทยในเวลาดังกล่าว ได้รับอิทธิพลเรื่องคติการเขียนภาพเล่าเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับพุทธศาสนา โดยได้พัฒนาอย่างชัดเจนเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๘๙ ในแผ่นดินของรัชกาลที่ ๔ จากนั้น
ต่อมาในรัชกาลที่ ๕ ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการปฏิรูปงานจิตรกรรมไทยสู่การเขียนภาพสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการผสมผสานรูปแบบการเขียนตะวันตกเข้ากับเนื้อเรื่องแบบไทย การพัฒนาเทคนิคการลงสี การใช้แสงและเงา รวมถึงการคำนึงถึงความสมจริง
“จิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารวัดสุวรรณดาราราม” เป็นงานที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้โปรดให้ “พระยาอนุศาสน์จิตรกร” (จันทร์ จิตรกร) เขียนขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ซึ่งงานจิตรกรรมมีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งทางด้านรูปแบบที่มีลักษณะสมจริงตาม “หลักทัศนียวิทยาแบบตะวันตก” มีการใช้สีน้ำมันในการสร้างงาน ซึ่งแตกต่างจากงานจิตรกรรมไทยแต่เดิมที่นิยมใช้สีฝุ่น มีการแสดงความลึกและระยะใกล้ไกลแบบสามมิติ รวมทั้งคำนึงถึงความเหมือนจริง (Realistic) เช่น การเน้นเรื่องอิริยาบถต่าง ๆ มีรายละเอียดของใบหน้า สีผิว ตลอดจนการแต่งกาย และมีการนำหลักทัศนียวิทยามาช่วยในการสร้างบรรยากาศของการเคลื่อนไหวอย่างสมจริง เป็นต้น 
รวมถึงมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาจากเรื่องราวทางพุทธศาสนา มาเป็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ไทยสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงแนวคิดในการสร้างงานว่าอาจจะมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความพยายามในการสร้างความรู้สึกชาตินิยม ให้เกิดในหมู่ประชนชนชาวไทยในขณะนั้น ท่ามกลางกระแสของวัฒนธรรมตะวันตกที่กำลังเข้ามามีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทยทุก ๆ ด้าน
เนื้อเรื่องของจิตรกรรมนั้นกล่าวถึงพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจที่สำคัญของวีรกษัตริย์ไทยคือ “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ซึ่งเป็นกษัตริย์สมัยกรุงศรีอยุธยาผู้กอบกู้อิสรภาพของไทยจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น ๒ ส่วน ดังนี้
ส่วนแรกคือ การเล่าเรื่องราวพระราชพงศาวดารของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นภาพเขียนการทำสงครามยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชมังกะยอชวาแห่งเมืองหงสาวดี ซึ่งเป็นสงครามที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๑๓๕ เนื้อหาของภาพสะท้อนเรื่องราวประวัติศาสตร์ เมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงฟันพระแสงของ้าวถูกพระมหาอุปราชาเข้าที่อังสะขวา จนสิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง 
ส่วนที่สองคือ การเล่าพระราชประวัติของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยเขียนตามช่องว่างระหว่างประตู และหน้าต่างช่อง แบ่งออกเป็นตอน รวมทั้งสิ้น ๒๐ ตอน พร้อมคำบรรยายประกอบอยู่ใต้ภาพ ลำดับภาพเริ่มจากทางด้านซ้ายมือของพระประธาน วนไปตามเข็มนาฬิกา เขียนเล่าเรื่องตั้งแต่ตอนพระอิศวรแบ่งภาคลงมาประสูติเป็นสมเด็จพระนเรศวร จนถึงเรื่องราวตอนที่สมเด็จพระนเรศวรสวรรคต และอัญเชิญพระบรมศพกลับมาสู่อยุธยา เป็นภาพเขียนที่มีความเหมือนจริง เพราะได้รับอิทธิพลมาจากตะวันตกและได้นำมาประยุกต์ใช้ในงานจิตรกรรมไทย ซึ่งเชื่อว่าเป็นจิตรกรรมสีน้ำมันบนฝาผนังปูนแห่งแรกในประเทศไทย
นอกจากนี้ภายในบริเวณวัดยังมีส่วนอื่น ๆ อีก ได้แก่ “พระอุโบสถ” ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น สังเกตได้จากที่ผนังด้านหน้ามีการเจาะช่องประตู ๓ ช่อง อาคารหลังนี้มีฐานเป็นท้องสำเภา คือมีลักษณะโค้งแอ่นกลาง ซึ่งเป็นแบบอย่างของฐานรากอาคารที่นิยมในสมัยอยุธยาตอนปลาย ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย และมีจิตรกรรมฝาผนังเป็นภาพเขียนเรื่องทศชาติชาดก ส่วนด้านหลังพระวิหารจะมี “พระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ” องค์เจดีย์สีขาวตั้งตระหง่านอยู่
หากใครชื่นชอบงานจิตรกรรมไทยโบราณ และเรื่องราวประวัติศาสตร์ไทย ลองแวะไปทัศนากันได้ที่นี่... ที่อยุธยา
ที่มา:
วาสนา พบลาภ. (๒๕๔๖). การศึกษาจิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารวัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ, มหาวิทยาลัยศิลปากร
https://www.sookjai.com/index.php?topic=198354.0
https://www.dailynews.co.th/article/510452
https://www.silpa-mag.com/history/article_26665


Create Date : 10 กันยายน 2563
Last Update : 10 กันยายน 2563 19:59:02 น. 2 comments
Counter : 556 Pageviews.

 


โดย: สมาชิกหมายเลข 2876811 วันที่: 10 กันยายน 2563 เวลา:17:58:38 น.  

 
ขอบคุณที่แบ่งปัน


โดย: Kavanich96 วันที่: 12 กันยายน 2563 เวลา:11:49:57 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
New Comments
Friends' blogs
[Add ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.